บรรยากาศฝนตก รถติดแบบนี้ สำหรับพนักงานออฟฟิศถือว่าเป็นช่วงฤดูที่ทดสอบสภาพจิตใจอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะเรื่องการเดินทาง 

เพราะไม่ว่าจะฝ่าฟันการจราจรบนท้องถนน เพื่อไปตอกบัตรหรือสแกนนิ้ว หลายครั้งกลับต้องติดอยู่บนถนน ท่ามกลางสภาพการจราจรที่ติดขัดเป็นชั่วโมง หรือในบางรายอาจเคราะห์ร้ายต้องตากฝนในระหว่างทาง จากพายุที่ตั้งเค้ามาตั้งแต่หัววัน ทำให้กว่าจะมาถึงออฟฟิศ ชุดทำงานก็เปียกปอน ไม่พร้อมที่จะเริ่มงานเท่าไรนัก

แม้จะเป็นปัญหาที่พอจะคาดการณ์ได้ แต่ด้วยความรับผิดชอบและหน้าที่ หลายคนก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องต่อสู้กับการเดินทางในแต่ละวัน ยอมหน้าเปื้อนฝุ่น ตัวชุ่มฝน ใช้เวลาเป็นชั่วโมงบนท้องถนน เพื่อหวังจะเป็นพนักงานดีเด่น ทำงานได้มีประสิทธิภาพตามที่บริษัทคาดหวัง

แต่รู้หรือไม่ว่าจริงๆ แล้ว การเดินทางที่ใช้เวลานานเกินไป ท่ามกลางสภาพอากาศที่ยากลำบาก กลับส่งผลต่อคุณภาพในการทำงานของพนักงานในเชิงลบ

อ้างอิงจากงานวิจัยโดย Vitality Health บริษัทประกันสุขภาพ ซึ่งทำร่วมกับมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ (University of Cambridge) ระบุว่า การเดินทางมาทำงานที่นานกว่าปกติ ซึ่งคือระยะเวลาตั้งแต่ 30 นาทีขึ้นไป กว่า 33% มีแนวโน้มที่จะประสบภาวะซึมเศร้า และกว่า 12 % จะมีภาวะเครียดจากการทำงานในวันนั้น 

สิ่งที่น่ากังวลกว่าคือเรื่องสุขภาพ เนื่องจากผู้ที่ใช้เวลาเดินทางมาทำงานมากกว่า 1 ชั่วโมงส่วนใหญ่นั้น จะมีเวลานอนในแต่ละคืนน้อยกว่า 7 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งส่งผลให้มีโอกาสเกิดโรคอ้วนมากถึง 21%  

“ดังนั้นสิ่งที่พนักงานต้องคำนึงถึงเป็นสำคัญ คือการเปลี่ยนรูปแบบการเดินทางมาทำงาน เพื่อให้เอื้อต่อสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น รวมไปถึงด้านนายจ้างเอง อาจต้องมองถึงรูปแบบการทำงานที่ควรยืดหยุ่นด้านการเข้าออฟฟิศ ทั้งในแง่ระยะเวลาหรือการใช้ระบบ Work from Home โดยพิจารณาถึงสุขภาพของพนักงานและประสิทธิภาพในการทำงานเป็นสำคัญ” ชอน ซูเบิล (Shaun Subel) ผู้อำนวยการฝ่ายกลยุทธ์ของ VitalityHealth กล่าว

สำหรับพนักงานที่กำลังเผชิญปัญหาด้านการเดินทางอยู่ แนวทางในการแก้ไขเรื่องนี้จำเป็นต้องพิจารณาถึง 3 ปัจจัยเป็นสำคัญ หากกำลังจะปรับเปลี่ยนที่อยู่ หรือเปลี่ยนวิธีการเดินทาง คือ 

1. การจราจรในชั่วโมงเร่งด่วนของเส้นทางที่ทำงาน เนื่องจากเวลาเข้าออฟฟิศส่วนใหญ่ ย่อมหนีไม่พ้นช่วงเวลาเร่งด่วน (Rush Hour) ซึ่งหากเส้นทางระหว่างที่พักกับที่ทำงานนั้น มีปัญหาจราจรที่ติดขัด บางทีระยะทางที่ควรจะใช้เวลาแค่ 15 นาที อาจกลายเป็น 40 นาทีในชั่วโมงเร่งด่วนก็เป็นได้ กลับกันหากอยู่ในพื้นที่ที่ไกลกว่าในเขตชานเมือง แต่ใช้เส้นทางอื่น อาจจะไกลขึ้นหน่อย แต่สุดท้ายกลับถึงที่หมายไวกว่าคนบ้านใกล้ในตัวเมือง

2. ค่าใช้จ่ายในการเดินทาง อีกส่วนที่ต้องพิจารณาไม่ใช่แค่เรื่องระยะเวลา หรือความใกล้-ไกลออฟฟิศ แต่เป็นเรื่องค่าใช้จ่าย เพราะในบางกรณี แม้จะอยู่ใกล้ออฟฟิศ แต่ต้องใช้บริการวินจักรยานยนต์ที่ราคาสูงทุกวัน ก็อาจเป็นวิธีแก้ปัญหาประเภทใช้เงินซื้อเวลา ไม่ยั่งยืน และเป็นมิตรกับเงินในกระเป๋าเท่าไรนัก ในขณะเดียวกัน การเดินทางจากบ้านที่ไกล ด้วยรถยนต์ส่วนตัว ก็อาจหมายถึงค่าน้ำมันในแต่ละเดือนที่ไม่ต่างกับการเดินทางไปต่างจังหวัดก็เป็นได้ ดังนั้นจึงต้องพิจารณาเรื่องงบประมาณอย่างละเอียดรอบคอบ

3. ปัญหาเรื่องสภาพอากาศ โดยเฉพาะช่วงหน้าฝนเช่นนี้ การที่พนักงานหลายคนเลือกอยู่ในย่านที่ใกล้ออฟฟิศ แต่มีการจราจรติดขัด โดยหวังจะพึ่งพาวินรถจักรยานยนต์ ก็อาจเจอปัญหาต้องนั่งวินตากฝนอยู่บ่อยครั้ง ดังนั้นในการเลือกที่อยู่นั้น ควรจะมีการเดินทางสำรองสำหรับวันที่สภาพอากาศไม่เป็นใจเผื่อเอาไว้เช่นกัน 

https://timetracko.com/blog/distance-from-work-to-home/

https://www.independent.co.uk/news/business/news/long-commutes-work-employee-depression-obesity-productivity-workers-research-travel-a7749206.html

https://persquaremile.com/2012/08/22/commute-time/

https://www.emexmag.com/commuting-to-work-the-ideal-distance/

Tags: , , , , ,