ในยุคที่นวัตกรรมและเทคโนโลยีเติบโตอย่างก้าวกระโดด ข้อมูลข่าวสารเดินทางได้อย่างรวดเร็ว ก่อให้เกิดแนวทางในการทำงานใหม่ๆ ที่ผู้เชี่ยวชาญมักจะให้การรับรองว่า ‘ให้ผลดีจริง’ จนทำให้องค์กรเร่งรีบที่จะเรียนรู้ และนำหลักการทำงานใหม่ที่กำลังเป็นกระแสไปใช้งาน เพราะกลัวว่าบริษัทคู่แข่งขันจะแซงหน้าไป
แต่แท้จริงแล้ว การกระทำเช่นนั้นกลับเป็นความเสี่ยงมากกว่า แม้ว่าแนวคิดบางอย่างจะได้รับการรับรองโดยผู้เชี่ยวชาญก็ตามที แต่สิ่งที่จะพิสูจน์ได้ดีที่สุดคือ ‘กาลเวลา’ โดย นัสซิม นิโคลาส ทาเลบ (Nassim Nicholas Taleb) นักสถิติชาวเลบานอน-อเมริกัน ได้ทำการเก็บข้อมูลเกี่ยวกับอายุขัยของสิ่งต่างๆ เช่น เทคโนโลยี ภาพยนตร์ ศิลปะ แนวคิด ผัก ผลไม้ หรือแม้กระทั่งชีวิตของผู้คน จนได้ข้อสรุปว่า ‘สำหรับสิ่งที่ไม่สามารถเสื่อมสลายได้ ยิ่งอายุขัยของสิ่งนั้นอยู่มานานเท่าใด มีแนวโน้มว่าในอนาคตสิ่งนั้นจะอยู่ยืนยงต่อไป’ และตั้งชื่อให้กับทฤษฎีดังกล่าวว่า Lindy Effect
ยกตัวอย่างเช่น ละครโทรทัศน์ที่ได้รับความนิยมจนมีการฉายซ้ำมาเป็นเวลา 5 ปี มีแนวโน้มว่าจะได้รับความนิยม และฉายต่อไปอีกใน 5 ปีข้างหน้า หรือแม้แต่ช้อน ส้อม ล้อรถ วัตถุเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่อยู่ยืนยงมาตลอดพันปี ทฤษฎีดังกล่าวยังใช้ได้กับเรื่อง ‘แนวคิด’ อีกด้วย จึงเป็นสาเหตุที่หนังสือ Outliers ของ มัลคอล์ม แกลดเวล (Malcolm Gladwell) ที่ขายดีมาตลอด 10 ปี ก็มีแนวโน้มว่าจะขายดีไปอีกใน 10 ปีข้างหน้า
ต้นตอที่ทำให้เทเลบสามารถคิดค้นทฤษฎี Lindy Effect เกิดขึ้นจากความสงสัยของเขาต่อนักวิทยาศาสตร์ที่มีความสามารถในการประดิษฐ์คิดค้น เนื่องจากเทคโนโลยีอันก้าวหน้าของโลกเราในปัจจุบันสามารถสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ได้มากมาย แต่เหตุใดสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์ประดิษฐ์ขึ้นใหม่กลับไม่ได้รับการยอมรับจากผู้คน และถูกหลงลืมไปอย่างง่ายดาย ในขณะที่วิทยาศาสตร์ที่ถูกบิดเบือนกลับถูกเผยแพร่อย่างต่อเนื่อง เทเลบจึงได้ข้อสรุปว่า การตัดสินว่าสิ่งใดมีประสิทธิภาพหรือไม่ คงจะมีเพียงแค่ ‘เวลา’ เท่านั้น
การเข้าใจถึง Lindy Effect จึงช่วยเตือนให้เราคอยอยู่กับปัจจุบัน และไม่ต้องกังวลต่ออนาคตเกินไป โดยเฉพาะกับการทำงานที่ช่วยให้เราสามารถโฟกัสกับข้อดีข้อด้อยของตัวเองในอดีต เพื่อปรับปรุงตัวเองในปัจจุบัน และเป็นคนที่ตัวเราต้องการในอนาคต ไม่ใช่การไล่ตามแนวคิด หรือทฤษฎีในอนาคตที่ยังไม่ได้รับการพิสูจน์ว่าจริงแท้มากน้อยเพียงใด
เพราะการคาดการณ์พยากรณ์เป็นสิ่งที่ยาก เจฟฟ์ เบโซส์ (Jeff Bezos) จึงเป็นอีกหนึ่งนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จมาตลอด 10 ปี แต่ไม่ใช่เพราะตัวเขาในอดีตสามารถพยากรณ์ได้ว่าโลกเราในวันนี้จะเป็นอย่างไร ในทางกลับกัน เขาคาดการณ์ว่า 10 ปีข้างหน้า สิ่งใดจะยังคงอยู่และไม่เปลี่ยนไปต่างหาก ซึ่งนั่นก็คือ ‘สินค้าราคาถูก ประสบการณ์ซื้อของที่สะดวกสบาย และการบริการที่ยอดเยี่ยม’ นั่นจึงเป็นสิ่งที่ Amazon ของเบโซส์ใช้เป็นจุดแข็งในการดำเนินธุรกิจ เพราะกาลเวลาได้พิสูจน์ไว้แล้วว่า อะไรคือหัวใจหลักสำหรับธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ
ปัจจุบันมี Buzz Word และเทรนด์ต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย ทฤษฎี Lindy Effect จึงช่วยย้ำเตือนไม่ให้เราต้องเต้นตามกระแสโลกจนหัวหมุน เพราะบางทีการอยู่กับที่ ขณะที่โลกหมุนไปอย่างรวดเร็ว อาจเป็นคำตอบที่ถูกต้องก็เป็นได้
Tags: Work Tips, Lindy Effect