สิ่งที่พบบ่อยวันนี้คือ ผู้นำที่วันหนึ่งพูดอย่างหนึ่ง อีกวันกลับแสดงออกอีกอย่าง ราวกับว่าคำพูดเดิมนั้นไม่มีความหมาย และเป็นการพูดเพื่อวัตถุประสงค์แบบหนึ่งเท่านั้น

หากใช้ภาษาอันไพเราะก็อาจบอกได้ว่า เป็นเพราะสถานการณ์จำเป็น เหตุการณ์บีบบังคับให้ต้องทำ มีข้อมูลใหม่ หรือการกระทำนั้นเป็นไปเพื่อรักษาผลประโยชน์ขององค์กร เป็นการทำเพื่อประชาชน บลา บลา บลา 

แน่นอน นั่นไม่ใช่คุณสมบัติที่ดีของผู้นำ ที่ทุกอย่างควรพูดอย่างตรงไปตรงมา มีความมั่นคงแน่นอน เปรียบเสมือน สัญญาประชาคมที่มีให้ต่อกัน แต่เราไม่สามารถหาผู้นำที่จะพูดอย่างแล้วทำอย่างนั้นทุกอย่างได้ 100% ฉะนั้น เราจะมาลองสำรวจว่า ทำไมผู้นำจำนวนไม่น้อยถึงต้อง โกหกต้องยอม เสียสัตย์หรือต้องกล้าปฏิเสธว่า ไม่เคยพูดทั้งที่มีดิจิทัลฟุตปรินต์อยู่เต็มไปหมด…

ก่อนอื่น The Momentum ขอลองพูดถึงเหตุผลที่ผู้นำคนนั้นๆ อาจพูดกลับไปกลับมา

1.‘เขาไม่ได้เป็นตัวของตัวเอง

มีคนตัดสินใจอยู่เบื้องหลัง ไม่ว่าจะเป็นบุคคลคนเดียว หรือกลุ่มคนอีกจำนวนมากที่คอยดันหลัง เป็นต้นว่า คณะกรรมการของบริษัทอาจจะมีอิทธิพลเหนือเขาจนเกินไป กลุ่มผู้สนับสนุนอาจคาดหวังให้เขาต้องทำ 1 2 3 4 5 โดยไม่บิดพลิ้ว หรืออยู่ดีๆ ผู้มีอิทธิพลอาจมีข้อเรียกร้องใหม่เพื่อตอบแทนที่ช่วยดันหลังเขาให้ขึ้นเป็นผู้นำ

ถึงตรงนี้ เรื่องของ บุญคุณต้องทดแทนแบบไทยๆ ย่อมบีบบังคับให้เขาตัดสินใจบางอย่างที่ยากยิ่ง อย่างเรื่องที่ขัดแย้งกับคำพูดของตัวเองที่มีมาแต่เดิม แน่นอนว่าการเป็น ผู้ใหญ่แล้วผิดคำพูดของตัวเองไม่ใช่เรื่องดีนัก และสุดท้าย สำหรับผู้นำก็เป็นเรื่องของการ ชั่งน้ำหนักว่าจะยอมผิดคำพูด เสียตัวตน เพื่อจะไปสู่เป้าหมายบางอย่างที่ใหญ่กว่า หรือจะอยู่เพื่อรักษาคำพูดทุกกระเบียดนิ้ว

2.ข้อมูลใหม่ สถานการณ์เปลี่ยน

ข้ออ้างยอดฮิตของบรรดาผู้นำก็คือ จำเป็นต้องตัดสินใจบางอย่างที่ขัดกับสิ่งที่เคยพูด เพราะสถานการณ์นั้นเปลี่ยนไป สถานการณ์บีบให้ต้องตัดสินใจอีกอย่างเพื่อรักษาตัวเองและสถานะขององค์กรไว้ หรือหากตัดสินใจแบบที่พูดไว้ อาจสร้างความเสียหายมากกว่า

ในทางการเมืองไทย ข้อมูลใหม่มีความหมายบางอย่างที่สำคัญ เมื่อปี 2523 พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรีในระบอบ ประชาธิปไตยครึ่งใบกล่าวคือ เป็นนายกรัฐมนตรีที่ไม่จำเป็นต้องสังกัดพรรคการเมือง แต่พรรคการเมืองสนับสนุนให้เป็นนายกฯ ถูกพรรคร่วมรัฐบาลกดดันให้ลาออกจากตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก และให้เลือกเป็นนายกฯ เพียงตำแหน่งเดียว ทว่าอยู่ดีๆ พรรคร่วมรัฐบาลก็เกิดเปลี่ยนใจพร้อมกันกะทันหัน เปลี่ยนมาสนับสนุนพลเอกเปรมให้ดำรงตำแหน่ง ควบโดยให้เหตุผลว่ามี ข้อมูลใหม่ บางอย่างที่อาจเปลี่ยนการตัดสินใจ

ใช่ – ข้อมูลใหม่ยังวนเวียนอยู่กับการเมืองไทยมาจนถึงทุกวันนี้ เป็นสาเหตุอีกอย่างที่ทำให้ผู้นำอาจต้องเปลี่ยนการตัดสินใจโดยกะทันหัน บางพรรคการเมืองอาจตัดสินใจเปลี่ยนขั้วรัฐบาล และแทบทุกครั้ง ข้อมูลใหม่เป็นเรื่องอันลึกลับ ไม่สามารถหาคำตอบได้ เมื่อตอบไม่ได้ด้วยเหตุผลร้อยแปดประการ ก็อ้างว่าได้ ข้อมูลใหม่จนเป็นเรื่องปกติ

3.ตระบัดสัตย์เพื่อชาติและประชาชน อีกหน่อยเธอคงเข้าใจ’ 

คำว่าตระบัดสัตย์นั้นมีความหมายสำคัญ และในแง่หนึ่งได้กลายเป็นคำรุนแรง 

‘ตระบัด’ เป็นคำไทยโบราณ แปลว่า ฉ้อโกง ‘ตระบัดสัตย์’ จึงแปลว่าฉ้อโกงคำสัญญาที่ให้ไว้ อาจเป็นได้ทั้งคำสัญญาที่เคยให้กับบุคคลหรือให้กับสาธารณะ 

การ ‘ตระบัดสัตย์’ อันลือลั่นที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย เกิดขึ้นในปี 2535 เมื่อ พลเอก สุจินดา คราประยูร อดีตผู้นำคณะปฏิวัติที่เคยบอกไว้ว่าจะไม่รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ตัดสินใจ เสียสัตย์เพื่อชาติยอมเปลี่ยนใจเป็นนายกฯ ทีหลัง ด้วยเหตุผลสำคัญคือเพื่อขัดขวางการตั้ง สภาเปรซีเดียมของ พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ และการตั้งศาสนาใหม่ของ พลตรี จำลอง ศรีเมือง ผลของการเสียสัตย์เพื่อชาตินำมาซึ่งเหตุรุนแรงในเดือนพฤษภาคม 2535 มีผู้บาดเจ็บเสียชีวิต จำนวนมาก แต่ก็พาประเทศไทยหลุดออกจากการเมืองแบบ ทหารนำไปได้ระยะหนึ่ง

โดยปกติ การตระบัดสัตย์ครั้งใหญ่มักใช้เหตุผล ใช้คำใหญ่ๆ เพื่อให้ตัวเองดูดี แล้วมักจะให้มองในระยะยาวว่า การตระบัดสัตย์นั้นอาจคุ้มค่า อาจทำไปเพื่อแก้ปัญหาบางอย่างได้ในโลกของความเป็นจริง และหลายครั้งก็ใช้คำแบบเพลงของ ธเนศ วรากุลนุเคราะห์ เป็นการอธิบาย 

“อีกหน่อยเธอคงเข้าใจ ว่าอะไรสำคัญไปกว่าแค่รักกัน”

4.ทุกการโกหกมีราคาที่ต้องจ่าย

แน่นอนว่าการโกหกเป็นเรื่องที่อาจเกิดขึ้นได้ คำที่ใช้กันบ่อยคือคำว่า ‘White Lie’ หรือ โกหกสีขาวซึ่งหมายถึงการโกหกด้วยความปรารถนาดีเพื่ออธิบายความบริสุทธิ์ใจ ให้อีกฝ่ายสบายใจ โดยไม่ได้ส่งผลร้ายตามมา 

การโกหกแบบนี้เกิดขึ้นหลายครั้งในแวดวงธุรกิจ เช่น ตั้งเป้าหมาย บอกยอดขายให้สูงเกินจริง เพื่อให้คู่ค้า-พนักงานในองค์กรสบายใจ หรือการบอกว่า สบายดีทั้งที่กำลังป่วยหนัก เพื่อไม่ให้คนอื่นเป็นห่วง ไม่ให้คนอื่นหวาดวิตก แต่คำถามก็คือ White Lie เป็นผลดีจริงหรือ 

ใช่ – White Lie อาจเป็นผลดีหากทำให้อีกฝ่ายสบายใจชั่วขณะ แต่หากเขาจับได้ว่านั่นคือคำโกหก ไม่ว่าจะเป็นคำโกหกสีขาวหรือสีดำ ก็ย่อมทำให้เรื่องใหญ่ได้อยู่ดี 

อันที่จริง White Lie มีอายุการใช้งานอันแสนสั้น เพราะเมื่อโกหกไปสักครั้งหนึ่งแล้วถูกจับได้ ความน่าเชื่อถือและเครดิตของคุณจะค่อยๆ ลดลงไป ยิ่งการโกหกอย่างการตระบัดสัตย์นั้น มีผลกระทบเป็นวงกว้าง เป็นต้นว่า ทำร้ายจิตใจคนอื่น ทำให้ผู้อื่นสูญสิ้นความหวัง ก็เป็นเรื่องยากที่จะฟื้นศรัทธาขึ้นมาใหม่ 

แล้วจะรับมือกับพวก ตระบัดสัตย์ได้อย่างไร?

1.จดบันทึก-จดจำเรื่องราวของพวกเขาไว้เสมอ

ในโลกสมัยใหม่ การมี Digital Footprint ดีอยู่อย่างว่า ใครพูดอะไร มักถูกบันทึกด้วยคลิปวิดีโอ ด้วยรูปภาพ ด้วยโน้ต เสมอ เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะอ้างเหตุผลอะไร คุณย่อมมีหลักฐานยืนยัน และไม่ว่าจะเป็นหัวหน้างาน หัวหน้าองค์กร หรือผู้นำประเทศ หากพูดอะไรไม่ตรงกันรอบที่ 2-3 ย่อมแปลว่าเขาก็มีค่าเป็นแค่ ตัวตลกในสายตาคนอื่น

2.อย่าลืม ต้อนเขาให้จนมุม

ใช่ – คนโกหกมักจะไม่บอกว่าตัวเองโกหก แปลว่าคุณต้องตามทันเขา รับมือเขาให้ทัน การจับโกหกเป็นเรื่องท้าทาย และแปลว่าคุณต้องรู้ทันเขามากกว่าหนึ่งขั้น ฉะนั้น หากคุณเริ่มสงสัยว่าเขาเป็นจอมตระบัดสัตย์ เป็นพวกไม่อยู่กับร่องกับรอย ก็หาข้อมูลไว้ให้เต็มกระเป๋า แล้วสักวันหนึ่งอย่าลืม ต้อนเขาให้จนมุมด้วยคำถามหรือการรับมือของคุณอย่างแน่วแน่

3.เปลี่ยนรูปแบบความสัมพันธ์

การอยู่กับคน ลื่นไหลไปเรื่อยๆ โกหกไปเรื่อยๆ นานวันเข้าจะทำให้คุณเหนื่อยเปล่า เพราะคุณจะไม่มีทางรู้เลยว่าในสิ่งที่พูดนั้นเขาพูดจริงไหม มีอะไรที่คุณเชื่อถือได้บ้าง แล้วถ้าพูดไปแล้ว อีกวันหนึ่งจะกลับคำหรือไม่ 

เพราะฉะนั้น หากคนแบบนี้เป็นเพื่อนร่วมงานคุณ ก็ควรหลีกเลี่ยง หากเป็นหัวหน้างานคุณ ก็ควรแจ้งผู้บังคับบัญชาระดับสูงกว่าให้จัดการ เพราะการโกหก การตระบัดสัตย์ ย่อมไม่สามารถสร้าง ทีมเวิร์กที่ดีได้ เพราะไม่มีใครเชื่อในเป้าหมาย ในการทำงานของคุณ ซ้ำยังจะเกิดการนินทาลับหลังต่อไปไม่รู้จบ

แต่นั่นล่ะ ความสัมพันธ์กับคนโกหกเป็นเรื่องที่ต้องเจอในชีวิตประจำวัน บางครั้งเป็นเรื่องที่เลี่ยงไม่ได้ ฉะนั้น ตั้งสติให้มั่น ยืนบนหลักการให้มั่นคง แล้วรับมือกับคนประเภทนี้ไปทีละเปลาะ ทีละเรื่อง 

แต่ทางที่ดี อย่าเจอกับคนแบบนี้ในชีวิตประจำวันเลย…

อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก

https://medium.com/practical-growth/deal-with-liars-the-right-way-bf10d77c5bc2

Tags: , ,