‘การฝึกงาน’ ถือเป็นช่วงที่สำคัญสำหรับนักศึกษาทั้งหลาย เนื่องจากเป็นประตูบานแรกๆ ที่จะทำให้ได้เข้าไปสัมผัสบรรยากาศของโลกการทำงานจริงในองค์กร บริษัท หรือหน่วยงาน ที่สนใจ เพื่อเรียนรู้ระบบ ขั้นตอนของการทำงานในเชิงลึก ได้ ‘รับ’ ประสบการณ์ที่มีประโยชน์ พร้อมความเข้าใจที่ชัดเจนว่าธุรกิจในหน่วยงานต้นสังกัดดำเนินไปอย่างไร 

ไม่ใช่แค่นั้น การฝึกงานยังเป็นโอกาสให้นักศึกษาที่มีทักษะหรือความสามารถได้ ‘ฉายแสง’ อย่างเต็มที่ และหากสามารถสร้างความประทับใจให้กับหน่วยงานต้นสังกัดมากพอหรือเกินความคาดหมาย ก็อาจมี ‘คำเชิญชวน’ ให้เป็นพนักงานประจำได้เลย

แน่นอนว่าก้าวแรกสู่การเป็นเด็กฝึกงานนั้นอาจเต็มไปด้วยความประหม่าหรือตื่นเต้น เพราะต้องไปเจอทั้งบรรยากาศการทำงานจริง คนทำงานจริง แต่จำไว้อย่างหนึ่งว่า ความโชคดีของเด็กฝึกงานคือ ยังมีเวลาที่สามารถ ‘ผิดพลาด’ ได้ ดังนั้น ไม่จำเป็นต้องทำให้ความกังวลในสิ่งนี้มาบดบัง ‘แสง’ ของเรามากเกินไป

แต่สิ่งที่ต้องทำคือ เรียนรู้และสร้างความประทับใจให้มากที่สุด เพราะหากไม่ใช่บริษัทหรือองค์กรที่สนใจอยากจะร่วมงานด้วย เราคงไม่สมัครไปตั้งแต่แรกจริงไหม 

หรือแม้ว่าอาจจะไม่ใช่บริษัทในฝันหรือตัวเลือกแรก แต่อย่างน้อยหากเป็นบริษัทที่ตรงกับสาขาอาชีพที่เราอยากทำในอนาคต การพยายามเรียนรู้ในสิ่งที่เราสนใจให้มากที่สุดก็เป็นสิ่งสำคัญ

แล้วเราจะมีวิธีสร้างความประทับใจในฐานะเด็กฝึกงานอย่างไรดี

1. คิดไว้ว่ากำลังทำงานจริง

จดจำไว้ว่า การฝึกงานก็เหมือนการเรียนรู้ว่า หากเราต้องเป็น ‘พนักงาน’ ในบริษัทหรือองค์กรนั้นจริงๆ จะเป็นอย่างไร เพราะหากเราไม่ได้มีเป้าหมายเช่นนั้น อาจส่งผลต่อความรู้สึกในการฝึกงานที่ต่อเนื่องไปถึง ‘คุณค่า’ ที่จะได้รับจากการฝึกกงาน ไปจนถึงโอกาสในการถูก ‘ทาบทาม’ ในภายภาคหน้า ดังนั้น การทำตัวเสมือนกำลังทำงานจริง เช่น เข้า-ออก ให้เหมือนกับคนทำงานในบริษัท (บางครั้งอาจมีการทำงานล่วงเวลาบ้างแน่ๆ) รวมถึงการแต่งกายตามวัฒนธรรมองค์กรนั้นๆ หากไม่แน่ใจเรื่องอะไร ให้สอบถามและปฏิบัติตามคำแนะนำของพนักงานรุ่นพี่

2. ค้นหาทักษะตนเองที่ทีมยังขาด

สิ่งสำคัญคือต้อง ‘ค้นหา’ งานที่จำเป็นต้องทำ แต่ยังไม่มีใครทำ และทำให้งานนั้นกลายเป็นความสำคัญหลักของเรา เพราะโอกาสที่บริษัทจะมองเห็นเรา ขึ้นอยู่กับ ‘บทบาท’ ของเรา ดังนั้น ทักษะที่เรามี อาจเป็นสิ่งที่บริษัทขาดเหลืออยู่ก็เป็นได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับนักศึกษาที่เติบโตมากับโลกเจนใหม่ บางสิ่งที่เรามองว่าเป็นเรื่อง ‘ปกติ’ เช่นความสามารถในการใช้โซเชียลมีเดีย หรือการถ่ายรูปผ่านสมาร์ตโฟน อาจกลายเป็นจุดสำคัญให้กับบริษัทก็เป็นได้ แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่าบริษัทที่คุณฝึกงานนั้นมีลักษณะอย่างไร

3. อย่าปฏิเสธงานจุกจิก

ถึงแม้ว่าปัจจุบันบริษัทหลายแห่งจะตระหนักถึงบทบาทของนักศึกษาฝึกงานมากขึ้น ว่าเป็นเรื่องไม่ยุติธรรมหากจะให้เด็กฝึกงานทำเพียงงานจุกจิก เช่น ยื่นเอกสาร ถ่ายเอกสาร หรืองานเล็กๆ น้อยๆ ที่ไม่ได้ตื่นเต้นหรือน่าเรียนรู้ แต่อย่าลืมว่าแม้งานจุกจิกจะน่าเบื่อ แต่มันก็ยังมีพื้นที่บางอย่างเพื่อสร้างความประทับใจได้ เช่น เราอาจจะสังเกตเห็นว่า ยังมีข้อผิดพลาดบางอย่างจากระบบการจัดการเอกสารบางอย่าง หากเราสามารถใช้ความคิดสร้างสรรค์เพื่อเสนอวิธีการที่ดีขึ้นได้ ก็อาจเป็นโอกาสที่ทำให้บริษัทมองเห็นความคิดสร้างสรรค์ และยังเป็นโอกาสให้ได้ปฏิสัมพันธ์กับคนทำงานในบริษัทได้

4. หมั่นถามเข้าไว้ ทำตัวขี้สงสัยก็ดี

บางครั้งการถามกลายเป็นสิ่งน่ากังวลสำหรับเด็กฝึกงาน เพราะอาจทำให้เราดูเหมือนไม่มีความรู้หรือทำให้คนอื่นเสียเวลา แต่อย่าลืมว่า เรามาฝึกงานเพราะอยาก ‘เรียนรู้’ หากคำถามนั้นน่าสนใจหรือเกี่ยวข้องกับประสิทธิภาพการทำงาน ย่อมส่งประโยชน์ทั้งเราและบริษัทด้วย และจำไว้ว่า คำถามที่ดีจะสามารถช่วยสร้างความประทับใจให้แก่บริษัทที่มีต่อเราได้ด้วย

5. สร้างปฏิสัมพันธ์และสนุกกับการเรียนรู้

บางครั้งโอกาสของการถูก ‘ทาบทาม’ หลังฝึกงานจบ อาจไม่ได้มาจากเพียงแค่การทำงานได้ดีหรือสร้างความประทับใจให้กับเพื่อนร่วมงาน แต่มาจาก ‘ใครบางคน’ ที่พูดถึงการทำงานของเราในขณะฝึกงาน หรือ ‘สนุก’ ไปด้วยกับการฝึกงานของเรา ดังนั้น จำไว้ว่าช่วงเวลาเล็กๆ น้อยๆ เช่น อาหารกลางวันก็สามารถสร้างความแตกต่างให้กับเรากับเพื่อนร่วมงานคนอื่นที่มีทักษะหรือความสามารถพอๆ กับเราได้ เมื่อคิดแบบนี้ สิ่งสำคัญที่สุดคือพยายามสนุกไปกับการฝึกงานให้มากที่สุด และตั้งใจเรียนรู้ไปพร้อมกับสร้างปฏิสัมพันธ์

อ้างอิง

https://www.indeed.com/career-advice/finding-a-job/internship-to-full-time

https://www.oxford-royale.com/articles/5-ways-to-impress-as-an-intern/ 

Tags: , ,