เคยรู้สึกไหมว่า ทำอะไรก็ไปไม่สุด รู้อะไรก็รู้ไม่ครบทุกเรื่อง เจอเพื่อนๆ รอบๆ ล้วนแต่สามารถตอบปัญหา อธิบายงานได้ฉะฉาน เฉียบคม แต่มองกลับมาที่ตัวเรา กลับไม่มีอะไรที่ภาคภูมิใจสักอย่าง ทั้งที่ในความเป็นจริง อาจทำงานได้ดีไม่แพ้ใคร และตัวเองก็มีของบางอย่างอยู่ในตัว
อาการอย่างนี้อาจเรียกได้ว่าเป็น Impostor Syndrome หรืออาการแห่งความ ‘ไม่มั่นใจ’ ในตัวเอง เป็นอาการทางจิตเวชอย่างหนึ่ง โดยคนที่มีอาการนี้มักสงสัยในความสำเร็จของตัวเอง และมักกลัวถูกผู้อื่นเปิดโปงว่าเป็นคนหลอกลวง
อาการของ Impostor Syndrome เป็นได้ตั้งแต่การตั้งคำถามกับตัวเองตลอดเวลาว่า มีความสามารถ หรือไม่ มีทักษะหรือไม่ กระทั่งในทักษะเฉพาะบางอย่างที่หลายคนอาจไม่ได้มี ขณะเดียวกันเมื่อประสบความสำเร็จก็อาจยกให้เป็นปัจจัยอื่นๆ เช่น ‘โชคช่วย’ ‘จังหวะดี’ หรือเป็นเพราะคนอื่น มากกว่าเป็นด้วยตัวเอง และคนที่อยู่ใน Impostor Syndrome มักจะบอกว่า ตัวเองเป็นพวก Perfectionism เซ็ตมาตรฐานตัวเองให้สูงเข้าไว้
ที่น่าสนใจคือ อาการนี้เป็นได้ตั้งแต่เด็กจบใหม่ เพิ่งเริ่มเข้าทำงานแรกๆ ที่มักตั้งคำถามว่า ทำไมเพื่อนรุ่นเดียวกันถึงเก่งกว่า มนุษย์ออฟฟิศระดับกลางที่รู้สึกว่า ชีวิตตัวเองเริ่มตัน ไม่สามารถพัฒนาตัวเองได้มากกว่านี้ กระทั่งระดับซีอีโอก็มีบางคนที่นอนไม่หลับในยามค่ำคืน ฝันร้ายอยู่ตลอดเวลาว่า ผลประกอบการไตรมาสนี้อาจไม่ประสบความสำเร็จเท่าไตรมาสที่ผ่านมา ซีอีโอคนก่อนหน้าอาจทำได้ดีกว่า และองค์กรของเขาจะไม่สามารถแข่งขันกับคนอื่นในระยะยาวได้
ครั้งหนึ่ง มิเชลล์ โอบามา (Michelle Obama) อดีตสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งของสหรัฐฯ เคยบอกในหนังสือชีวประวัติของเธอว่า ตัวเองมีอาการนี้ และโปรเฟสเซอร์เคยบอกเธอว่า เธอ ‘ไม่เหมาะ’ ที่จะเรียนที่มหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน (Princeton University) มหาวิทยาลัยชั้นนำ หนึ่งในสถาบันไอวีลีก (Ivy League) ทั้งที่เธอขวนขวายจนเข้ามหาวิทยาลัยนี้ได้
“ฉันยังจำความรู้สึกสงสัยนั้นได้ ความรู้สึกที่ผู้ใหญ่คนอื่นสร้างกำแพงกั้นฉันไว้ มันกลายเป็นว่า คนที่ทำหน้าที่ช่วยเหลือเยาวชนให้บรรลุความฝันกลับเห็นฉัน แล้วบอกกับฉันว่า ความฝันของฉันนั้นสูงเกินไป” มิเชลล์ระบุ
นับจากนั้น เธอก็กลายเป็น Impostor Syndrome ผู้ที่สงสัยว่า ตัวเธอเองดีพอหรือไม่ตลอดเวลา และมิเชลล์ก็ยังรู้สึกแบบเดียวกัน กระทั่งวันนี้ วันที่ทุกคนบอกเธอว่า นอกจากเธอจะเป็นสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งที่ดีที่สุดคนหนึ่งแล้ว เธอยังดีพอที่จะลงชิงเป็นตัวแทนประธานาธิบดีของพรรคเดโมแครตด้วยซ้ำ
สำหรับสาเหตุของ Impostor Syndrome แม้จะมีการศึกษาไม่กว้างขวางนัก แต่ปัจจัยหนึ่งอาจมาจากการเลี้ยงดูของครอบครัว อีกปัจจัยอาจมาจากการโหยหาความสำเร็จที่คนอื่นเซ็ตมาตรฐานไว้ รวมถึงบุคลิกส่วนตัวที่บางคนอาจเสพติดความ Perfectionism
ส่วนเส้นทางในการไปต่อ สิ่งแรกเลยคือนั่งดู ‘เช็กลิสต์’ ก่อนว่าคุณมีอาการข้างต้นไหม ไม่ว่าจะเป็นความเครียด ความกลัว เหงื่อออกมือตลอดเวลา สิ่งต่อมาคือ พยายามจัดระบบความคิดว่าด้วยความสำเร็จอีกครั้ง โดยอาจเป็นได้ตั้งแต่การนิยามความสำเร็จเสียใหม่ว่า อาจเป็นได้ตั้งแต่การพรีเซนต์งานแล้วมีคนฟังรู้เรื่อง ทำงานบางอย่างแล้วมีคนเริ่มเห็นคุณค่า หรือทำงานเสร็จตามเวลา ขณะเดียวกันคุณอาจเริ่มพูดดีๆ กับตัวเองให้มากขึ้น เมื่อรู้ว่าสิ่งสำคัญของอาการนี้คือ การรู้สึกดูแคลนตัวเอง ฉะนั้นใจดีกับตัวเองบ้างก็ได้
หลักการสำคัญอีกอย่างคือคุณควรมี ‘เพื่อน’ ที่คอยประเมินคุณ เป็นเพื่อนที่ไม่ได้เพียงแต่บอกว่า ทุกอย่างดีแล้ว เหมาะสมแล้ว แต่พร้อมที่จะวิพากษ์คุณอย่างตรงไปตรงมา คอยเป็นสายซัพพอร์ต เมื่อคุณต้องตัดสินใจเรื่องยากๆ และคอยให้กำลังใจในวันที่คุณรู้สึกว่าตัวเองไม่เก่งอีกครั้ง และเพื่อนของคุณบางครั้งก็อาจมาในรูปของ ‘หัวหน้า’ หากมีอาการอย่างนี้บางทีอาจบอกกับหัวหน้าตรงๆ ได้ว่า มีอาการเช่นนี้อยู่และอาจต้องการคำปรึกษาที่มากขึ้นสักนิด เพื่อช่วยในการประเมินทั้งการทำงานของตัวเองและ ‘อารมณ์’ ของคุณที่อยู่ข้างใน
ส่วนวิธีของมิเชลล์ก็น่าสนใจไม่น้อย แม้เธอบอกว่าจะยังมีความรู้สึก Impostor Syndrome จนถึงวันนี้ แต่คือการพยายามทำงานอย่างหนักให้คนอื่นยอมรับ
“แต่เหนือสิ่งอื่นใด ความรู้สึกนี้จะไม่มีวันหายไป เพียงแต่คุณก็ต้องทำงานหนัก ทำใจเรียนรู้ที่จะอยู่ในโลกความเป็นจริง แต่ถึงที่สุดคือต้องใช้เวลา ต้องใช้วุฒิภาวะ และสร้างความสำเร็จจนคุณตระหนักว่าคุณดีพอ” อดีตสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งของสหรัฐฯ ระบุ
ที่มา:
Tags: Work Tips, Impostor Syndrome, ด้อยค่าตัวเอง, การทำงาน