Gen Z กลายเป็นสนามอารมณ์ชนิดทำอะไรก็ผิดไปหมด เลือกงานบ้าง ไม่ทนงานบ้าง เถียงทุกเรื่องบ้าง ไม่อ่านไลน์วันเสาร์-อาทิตย์บ้าง สารพัดปัญหาโยนใส่ Gen Z ราวกับเป็นกระโถนคอยรับทุกสิ่ง
“เด็กพวกนี้กำลังคิดว่า โลกกำลังหมุนรอบตัวเอง”
“บริษัทสหรัฐฯ ผิดหวังบัณฑิตจบใหม่ ทำงานไม่ได้ 60% เลิกจ้างใน 1 ปี”
“เปราะบาง ขี้เกียจ หวังแต่เงินเดือนสูงๆ”
ข้อความเหล่านี้คือสิ่งที่ขึ้นฟีดโซเชียลมีเดีย ผู้ใหญ่จำนวนหนึ่งแชร์เพราะเจอเด็กแบบนี้ในชีวิตความเป็นจริง ขณะที่เด็ก Gen Z ตั้งคำถามว่า “กูอีกแล้วเหรอ” ทำไมถึงกลายเป็นเจเนอเรชันที่โดนเหมารวมเช่นนี้
คำถามที่ใหญ่กว่าก็คือ แล้ว Gen Z ‘แย่’ อย่างที่ทุกคนว่าจริงไหม เพราะอะไรทุกคนถึงด่าแต่คนรุ่นนี้ แล้วพวกเขาไม่มีอะไรดีเลยหรือ
Work Tips อาทิตย์นี้ พาไปหาคำตอบว่า ทำไมเป็นเด็กรุ่นนี้ มันถึงเจ็บปวดนัก
1. พวกเขาโตมาในสังคมที่ไม่ได้เคารพ Seniority แล้ว
เอาจริงๆ เมื่อ 10 ปีที่แล้ว Generation Y ซึ่งมาก่อน Gen Z ก็โดนวิพากษ์ในลักษณะคล้ายกันคือ พวกเขา ‘ไม่สู้งาน’ เอาเสียเลย
ฉะนั้นนี่เป็นเรื่องปกติที่จะได้ ‘ด่าเด็ก’ ที่มาทีหลัง Gen Z เติบโตในยุคที่มีเครื่องมือสื่อสารทันสมัย ความรู้มีให้ศึกษาทุกที่ทุกเวลา ย่อมต่างจากคนยุคก่อนหน้าที่หากต้องการอะไร ต้องเรียนรู้จาก ‘ผู้ใหญ่’ จาก ‘หัวหน้า’ เท่านั้น
ขณะเดียวกันโลกที่พวกเขาโตมา ไม่ได้มีคำว่า Seniority เท่าไร ต้องไม่ลืมว่าในยุคนี้มหาวิทยาลัยดังๆ เลิก ‘รับน้อง’ ไปหมดแล้ว เขาไม่ได้รู้จักว่าต้องเคารพผู้ใหญ่ ต้องเคารพหัวหน้าทำไม หากไม่ได้ทำตัวน่าเคารพ เหล่านี้จึงทำให้พวกเขาเลือกจะเป็น ‘มืออาชีพ’ มากขึ้น เลิกเล่นการเมืองในที่ทำงานมากขึ้น พร้อมกับโฟกัสงานของตัวเอง
วัฒนธรรม ‘หัวหน้า-ลูกน้อง’ กลายเป็นวัฒนธรรมแบบ ‘เพื่อนร่วมงาน’ ซึ่งมีทั้งข้อดีและข้อเสีย แตกต่างกันออกไป
คนที่เก่ง เรียนรู้ด้วยตัวเอง จะไปได้ไกล ในวัฒนธรรมองค์กรที่ไม่ได้มีเรื่อง ‘ผู้ใหญ่-ผู้น้อย’ เข้มแข็ง แต่หากอยู่ในระบบ ‘อาวุโส’ พวกเขาก็จะเผชิญความยากลำบาก
แต่คนที่คิดว่าตัวเองเก่ง อีโก้สูงลิบ อยากให้โลกหมุนรอบตัวเองตลอดเวลา ก็อาจเติบโตได้ประมาณหนึ่ง อาจสร้างปัญหากับทีมได้มากขึ้น
เรื่องพวกนี้จึงเป็นเรื่องปวดเศียรเวียนเกล้าของบรรดาผู้ใหญ่ว่า จะจัดที่ทางให้เด็กรุ่นใหม่อย่างนี้แบบไหน วัฒนธรรมองค์กรที่แข็งมากๆ จึงไม่อาจปรับตัว อย่ากระนั้นเลย รวมตัวกันด่าเด็กเป็นเรื่องง่ายกว่า
2. แค่ไหนเรียก Balance
เอาจริงๆ คำว่า Work Life Balance เพิ่งเข้ามาแวดล้อมสังคมการทำงานไม่นานนี้ ในห้วงเวลาก่อนหน้า เราต่างบูชาการทำงานหนัก การอดข้าวอดน้ำอดนอน เพื่อให้งานเสร็จ (และเมื่อเสร็จพวกเขาจะภูมิใจมาก) แต่วันนี้ในโลกทุนนิยม ทุกคนล้วนตั้งคำถามว่า ต้องทำงานหนักไปเพื่ออะไร หากคนที่ได้ประโยชน์สูงสุดคือ ‘นายทุน’ ถึงที่สุดแล้ว การทำงานหนักจะมีอะไร Return กลับมาบ้าง และเส้นทางการทำงาน Career Path ภายใต้ระบบเศรษฐกิจแบบนี้จะเป็นอย่างไร
ฉะนั้นคำถามภายใต้คำว่า Work Life Balance จึงเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ และ Gen Z ก็มีสิทธิตั้งคำถามเหมือนข้อแรก ต้องไม่ลืมว่า พวกเขาโตขึ้นมาท่ามกลางโลกที่หมุนเร็ว เรื่องสิทธิเป็นเรื่องใหญ่กว่าการต้องฟังตามคำสั่ง และพวกเขาไม่เคยรู้ว่า การทำงานหนักแล้วได้ผลตอบแทนที่ดีนั้นเป็นอย่างไร
ประกอบกับวัฒนธรรมการทำงานแบบไทยนั้นไม่ได้แข็งแรง ไม่เคยถูกบ่มเพาะว่าคนไทยต้องทำงานหนักแค่ไหน ประเทศอื่นที่เป็น ‘คู่แข่ง’ ทำงานหนักแค่ไหน ภายใต้สภาพเศรษฐกิจเช่นนี้
หากองค์กรทำความเข้าใจได้ หาจุดกึ่งกลางระหว่างการทำงานหนักกับการ ‘เรียกร้อง’ ทุกอย่าง ใช้ความสามารถของพวกเขาได้เต็มที่ แต่หากไม่ก็จะกลายเป็นข้อถกเถียงที่เป็นพิษไม่น้อย
3. หรือจริงๆ แล้ว ‘ผู้ใหญ่’ ต่างหากที่เป็นปัญหา
“คนรุ่นผม 60 กว่านี่ เป็นรุ่นล้มเหลว เพราะเทียบกับคนอายุเท่าๆ กัน ที่เขาทำประเทศชาติบ้านเมืองอื่นๆ นี่ เขาทำให้ประเทศเขาเจริญก้าวหน้ามากกว่าเรา เรากล้าไปพูดอะไรวะ” วีระ ธีรภัทร พูดในรายการฟังหูไว้หู ทางช่อง 9 ไม่กี่วันก่อน
เรื่องที่ชวนให้คิดกลับก็คือ แล้วที่เป็นอยู่ก่อนหน้านี้ดีจริงไหม จริงๆ แล้ว แย่ที่ผู้ใหญ่ไม่สร้างระบบการเมือง ระบบเศรษฐกิจ ไม่สร้างประเทศให้ตั้งมั่น รองรับการเปลี่ยนแปลงได้มากพอ
หรือเอาให้ไกลกว่านั้น การที่ประเทศนี้ยังมีระบบอุปภัมภ์ มีการทุจริตคอร์รัปชัน มีกระบวนการยุติธรรมที่ไม่ยุติธรรมนั้นผิดที่ผู้ใหญ่หรือผิดที่เด็ก และในบางที่จะให้พวกเขายอมรับเรื่องพวกนี้ แล้ว ‘ตามน้ำ’ ไป เช่นนั้นหรือ
เพราะฉะนั้นข้อเท็จจริงก็คือไม่มี Gen ไหนที่ผิด และไม่มี Gen ไหนที่ถูกทุกเรื่อง เพียงแค่ว่าเมื่อเป็นผู้ใหญ่แล้วทำอะไรไม่สำเร็จสักอย่าง การที่มีคนผิดสักคน ปัดความผิดออกจากตัวเอง ถือเป็นเรื่องที่ง่ายกว่า จริงไหม?
4. ต้องหาจุดสมดุลให้ Gen Z
จริงๆ แล้ว หากมองในมุมกลับ พวกเขาเป็นเด็กรุ่นที่น่าสงสาร พวกเขาโตมาท่ามกลางวิกฤตโรคโควิด-19 แม้แต่เพื่อนรุ่นเดียวกัน พวกเขายังไม่มีโอกาสได้เห็นหน้า ได้ทำความรู้จักครบถ้วน ขณะเดียวกันพวกเขายังไม่เคยเจอกับช่วงเวลาที่เศรษฐกิจไปได้ดี นอกจากนี้ ความท้าทายหลายอย่าง การเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง ยังเกิดในห้วงเวลานี้ พวกเขาไม่สามารถใช้สูตรเดิมๆ เติบโตในโลกใหม่ได้ พวกเขาต้องหาทางของเขาเอง
วิธีการอาจเป็นการคุยกับพวกเขามากขึ้น ทำความเข้าใจมากขึ้น ใช้วิธีการที่เป็นเหตุเป็นผล อยู่ในโลกความเป็นจริงมากขึ้น สิ่งที่ต้องตระหนักก็คือ พวกเราทุกคนล้วนเคยเป็นเด็กมาก่อน มีช่วงเวลาที่ ‘เฮี้ยว’ มาก่อน เข้าใจอะไรยากๆ มาก่อน
หากเติมความเข้าใจของคนรุ่นเก่า รุ่นก่อนหน้าเข้าไป เลิกใช้อคติในการมองเหมาขลุม สังคมที่ทำงานก็จะสงบสุขมากขึ้น