เป็นเรื่องปกติของการทำงานร่วมกันในออฟฟิศที่อาจเกิดความรู้สึกผิดใจหรือหงุดหงิดระหว่างเพื่อนร่วมงานบางคนเป็นครั้งคราว แต่หากคุณต้องทำงานร่วมกับคนที่ทำตัวเป็นภัยคุกคามเงียบๆ ต่อความปลอดภัยของคุณและเพื่อนร่วมงานคนอื่นๆ หรือเป็นคนที่คอยทำลายขวัญกำลังใจที่ดีในที่ทำงาน อาจถึงเวลาแล้วที่ต้องทำอะไรสักอย่างกับสถานการณ์เช่นนี้
ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นวิธีไหน ให้ตระหนักเสมอว่าสิ่งที่คุณทำกำลังอาจส่งผลใหญ่หลวงต่อชีวิตของคนคนหนึ่งได้ ลองพิจารณาตามข้อต่อไปนี้ดู
1. ต้องมั่นใจว่าคุณมีเหตุผลที่ถูกต้องเพียงพอในการทำให้ใครบางคนถูกเลิกจ้าง
ก่อนอื่นต้องเข้าใจว่า การไม่ชอบใครเป็นการส่วนตัวนั้นไม่ใช่เหตุผลที่เพียงพอในการพยายามทำให้ใครบางคนถูกเลิกจ้าง แม้ว่าคุณกับเพื่อนร่วมงานจะไม่ถูกกัน แต่พวกเขาก็อาจต้องอาศัยงานที่ทำอยู่เพื่อหาเลี้ยงครอบครัว ลองใคร่ครวญให้ดีว่าคุณรับผิดชอบไหวหรือไม่กับการที่อาจต้องพรากบางสิ่งที่สำคัญไปจากเพื่อนร่วมงาน หากยังไม่แน่ใจ ลองพิจารณาตามนี้
เพื่อนร่วมงานคนนั้น…
– รบกวนการทำงานของคุณและเพื่อนร่วมงานคนอื่น
– ฉกฉวยเวลาของบริษัทด้วยการมาสาย ขี้เกียจ หรือไม่ให้ความร่วมมือ
– หมั่นสร้างศัตรูหรือสร้างบรรยากาศที่ไม่เป็นมิตรต่อสภาพแวดล้อมที่ดีในการทำงาน
– มีการล่วงละเมิดทางเพศทางร่างกายหรือทางวาจาต่อคุณหรือพนักงานคนอื่น
2. หาพรรคพวก
ข้อพิสูจน์ของคุณจะมีน้ำหนักและน่าเชื่อถือมากขึ้น หากคุณได้รับการสนับสนุนจากเพื่อนร่วมงานคนอื่นๆ ลองใช้วิธีสอบถามหรือพูดคุยกันดูว่า มีใครในที่ทำงานที่รู้สึกแบบเดียวกับที่คุณรู้สึกกับเพื่อนร่วมงานคนที่คุณไม่พึงใจหรือไม่ อย่างไรก็ดี การ ‘หาพวก’ นั้นต้องไม่เป็นไปในทางของการแพร่ข่าวลือหรือพยายามโน้มน้าวให้คนอื่นเริ่มเกลียดเพื่อนร่วมงานคนนั้น แต่อาจลองเริ่มด้วยการถามคำถามเช่น ‘เออนี่ คุณคิดอย่างไรกับกฤตนัย คนที่อยู่แผนกXXXน่ะ’
หากพบว่า มีเพื่อนร่วมงานอย่างน้อยหนึ่งคนหรือมากกว่าเห็นด้วยกับสิ่งที่คุณคิด ขั้นถัดมาจึงค่อยลองถามว่าพวกเขายินดีร่วมร้องเรียนอย่างเป็นทางการกับหัวหน้างานหรือไม่
3. คอยจับตาดูเพื่อนร่วมงานคนนี้ไว้
ลองสวมบทบาทเป็น ‘โคนันคุง’ โดยให้ความสนใจกับพฤติกรรมของเพื่อนร่วมงานคนดังกล่าวในที่ทำงาน เพื่อที่คุณจะได้มีหลักฐานเพียงพอเมื่อไปร้องเรียนกับหัวหน้างาน พยายามสังเกตความผิดพลาดที่สำคัญๆ และเก็บบันทึกเอาไว้ ทั้งเวลา สถานที่ และคำอธิบายโดยละเอียดของเหตุการณ์ เพื่อให้ข้อสังเกตของคุณน่าเชื่อถือมากขึ้น และเพื่อให้หัวหน้างานจัดการต่อได้ง่าย
อย่างไรก็ดี พยายามแยกแยะระหว่างข้อผิดพลาดที่ร้ายแรงซึ่งส่งผลต่อสภาพแวดล้อมในการทำงาน กับความผิดพลาดเล็กๆ น้อยๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องให้ดี
4. ร้องเรียนอย่างเป็นทางการ
เมื่อมีข้อมูลหลักฐานเพียงพอ ลองนัดประชุมกับผู้จัดการหรือหัวหน้างานของคุณ นำบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร หรืออาจรวมถึงเพื่อนร่วมงานคนอื่นๆ ที่เห็นด้วยกับคุณไปด้วย ในจุดนี้ คุณอาจขอให้ไม่มีการเปิดเผยรายชื่อผู้ที่ร้องเรียนด้วยก็ได้ ซึ่งจะเป็นการหลีกเลี่ยงการสร้างศัตรูกับเพื่อนร่วมงานที่เป็นปัญหาโดยไม่จำเป็น ทางที่ดีควรพยายามหลีกเลี่ยงการร้องเรียนในรูปแบบการส่งอีเมล ซึ่งง่ายต่อการเพิกเฉยและเป็นทางการน้อยกว่า
มีเคล็ดลับเล็กๆ น้อยๆ ในการประชุม คือคุณต้องแพลนสิ่งที่จะพูดให้ดี ลองเริ่มต้นด้วยการชี้ให้เห็นข้อดีบางประการของเพื่อนร่วมงานคนดังกล่าวก่อน เช่น “กฤตนัยเป็นคนฮาดีนะ และฉันคิดว่าเขาเป็นคนดี ฉันหวังอย่างยิ่งว่าเขาจะกลับใจได้ แต่ฉันก็ค่อนข้างเป็นห่วงเขา…” ที่สำคัญ อย่าเพิ่งบอกหัวหน้างานไปตรงๆ ว่าให้ไล่เพื่อนร่วมงานคนนั้นออก แต่หากหัวหน้ามีคำถามกลับมาว่า “แล้วคุณคิดว่าผม/ฉันควรทำอย่างไร” ก็อย่าลังเลที่จะแจ้งสิ่งที่อยู่ในใจให้เขาหรือเธอรับทราบ
พึงระลึกไว้อย่างหนึ่งว่า คุณไม่ได้เป็นผู้ตัดสินใจในขั้นตอนสุดท้าย เมื่อร้องเรียนกับหัวหน้างานแล้ว คุณไม่ต้องรับผิดชอบในการจับตาดูเพื่อนร่วมงานคนนั้นหรือพยายามทำให้เขาถูกไล่ออกอีกต่อไป แค่กลับไปโฟกัสชีวิตการทำงานของตัวเองและอยู่ห่างจากเพื่อนร่วมงานคนนั้นก็พอ ที่เหลือให้หัวหน้าจัดการเถอะ
5. ใช้วิธีทางอ้อม
วิธีนี้ไม่ค่อยอยากแนะนำ มันดูเป็นหนังเป็นละครไปหน่อย แต่หากรู้สึกว่าการสังเกตหรือรวบรวมข้อมูลเพื่อกำจัดเพื่อนร่วมงานที่เป็นปัญหานั้นน่าเหนื่อยหน่าย วิธีการปลดปล่อยความชั่วช้าในตัวคุณอาจได้ผล นั่นคือการ ‘สร้างสถานการณ์’ ที่ทำให้เพื่อนร่วมงานคนนั้นทำงานต่อได้ยาก เช่น หากสังเกตว่าเพื่อนร่วมงานคนดังกล่าวมาสายเป็นประจำ ให้ลองวางแผนนัดประชุมย่อยที่สำคัญกับหัวหน้างานของคุณในเช้าวันถัดไป และชวนเพื่อนร่วมงานคนนั้นออกไปเที่ยวหลังเลิกงานคืนก่อนประชุมให้เมาเละ ตื่นไม่ไหว ก่อนที่คุณจะนั่งอยู่ในห้องประชุมเช้าวันถัดมา และทำตาใสไม่รู้ว่าทำไมเพื่อนร่วมงานถึงไม่โผล่มาประชุม ซึ่งจะทำให้หัวหน้าเพ่งเล็งเพื่อนร่วมงานคนนั้นมากขึ้น
ย้ำอีกทีว่า สิ่งที่คุณทำกำลังอาจส่งผลใหญ่หลวงต่อชีวิตของคนคนหนึ่ง แต่หากพิจารณาอย่างถ้วนถี่แล้วว่าพฤติกรรมที่เพื่อนร่วมงานทำ กำลังสร้างผลเสียต่อทั้งคุณ คนอื่นๆ และองค์กรโดยรวม การพยายามหาทางออกในสถานการณ์เช่นนี้ก็เป็นสิ่งที่พึงกระทำ
อ้างอิง:
– foxbusiness.com
– inc.com
– monster.co.uk
Tags: พนักงานออฟฟิศ, Work Tips