หากคุณเป็นพนักงานคนหนึ่งที่มีหัวหน้าหรือผู้บังคับบัญชา เป็นเรื่องปกติที่คุณจะไม่เห็นด้วยกับความคิดของพวกเขาในบางครั้งของการทำงาน แต่มักรู้สึก ‘ไม่กล้า’ ในการทักท้วง เพราะไม่ใช่หัวหน้าทุกคนที่ใจกว้างพอจะรับฟังความคิดเห็นแย้งของพนักงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวัฒนธรรมอนุรักษนิยมของเอเชีย ที่ยังคงยึดถือระบบอาวุโสในการทำงานอยู่ไม่น้อย

ในขณะที่การพูดหรือการยืนยันความคิดของตนเองเป็นเรื่องปกติในฟากฝั่งของชาวตะวันตก การตั้งคำถามหรือความคิดเห็นที่ขัดแย้งต่อผู้มีอำนาจของฝั่งเอเชียกลับเป็นสิ่งน่ากลัว การไม่เห็นด้วยกับเจ้านายอาจหมายถึงการขัดต่อบรรทัดฐานของวัฒนธรรม และท้ายที่สุด ‘ความอาวุโส’ ก็มักมีชัยเหนือทุกสิ่ง

อย่างไรก็ดี ความเปลี่ยนแปลงของมุมมองผู้คนในปัจจุบันต่อสิ่งต่างๆ รวมถึงค่านิยมและความคิดที่เปิดกว้าง ได้กระจายสู่ทุกส่วนของโลกมากขึ้น ผ่านโซเชียลมีเดียที่เชื่อมโลกเข้าหากัน และสิ่งนี้ก็เริ่มแผ่ขยายมาสู่วัฒนธรรมการทำงานแบบเอเชียด้วยเช่นกัน

ข่าวดีก็คือ แม้จะยังคงมีบริษัทหรือองค์กรแนว ‘อนุรักษนิยม’ ที่คาดหวังให้พนักงานก้มหน้าก้มตารับคำสั่งและทำงานไปเรื่อยๆ โดยไม่มีปากเสียง แต่ก็มีบริษัทจำนวนไม่น้อยที่เริ่มเปิดกว้างต่อความคิดเห็นของพนักงาน โดยเฉพาะบริษัทของคนรุ่นใหม่

แต่ถึงอย่างนั้น ก็อาจไม่ใช่เรื่องง่ายดายสำหรับบางคนในการ ‘แสดงความไม่เห็นด้วย’ ต่อความคิดบางอย่างของหัวหน้างาน เพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่อาจส่งผลต่อบรรยากาศการทำงาน แต่หากปล่อยไว้ก็อาจกลายเป็นปัญหาที่ไม่ลงรอยกันในภายหลัง แล้วจะทำอย่างไรดี?

หากคุณกำลังตัดสินใจว่าจะไปคุยกับหัวหน้าต่อสิ่งที่ไม่เห็นด้วยดีหรือไม่ วิธีเหล่านี้อาจช่วยได้

1. เริ่มต้นด้วย ‘เจตนา’ ก่อน ‘เนื้อหา’

เมื่อคุณมีข้อสงสัยหรือไม่เห็นด้วยกับความคิดของหัวหน้าและต้องการพูดคุย เป็นไปได้ว่าพวกเขาอาจเริ่มต้นด้วยการ ‘ตั้งรับ’ เพราะคิดว่าความเห็นแย้งของคุณเป็นภัยคุกคามต่อเป้าหมายบางอย่างของพวกเขา ดังนั้น พยายามเริ่มด้วยการแสดงเจตนาว่าคุณกำลังจะพูดคุยในบริบทของวัตถุประสงค์บางอย่างที่หัวหน้าของคุณสนใจ ไม่เช่นนั้น หัวหน้าของคุณอาจเชื่อว่าสิ่งที่คุณไม่เห็นด้วยคือความพยายามในการ ‘ขัด’ ผลประโยชน์ของพวกเขา ซึ่งจะทำให้การพูดคุยไม่ได้นำไปสู่เนื้อหาที่แท้จริง

2. เตรียมคำแนะนำให้พร้อม

แม้การไม่เห็นด้วยจะเป็นเรื่องปกติ แต่การเห็นแย้งกับหัวหน้าของคุณโดยไม่มีคำแนะนำที่เป็นประโยชน์ในการแก้ปัญหาอาจส่งผลตรงกันข้าม คือทำให้หัวหน้ารู้สึกหงุดหงิดหรือรำคาญ ดังนั้น พยายามเตรียมข้อมูลของคุณด้วยข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องต่อสิ่งที่ไม่เห็นด้วย รวมถึงเสนอวิธีแก้ปัญหาที่สร้างสรรค์ เพื่อให้หัวหน้ามีแรงจูงใจในการรับฟังและพิจารณาความคิดเห็นของคุณ

3. พยายามเน้นไปที่ภาพใหญ่

ถามตัวเองให้ชัดว่า คุณกำลังมองสถานการณ์จากมุมมองของบริษัทมากกว่ามุมมองของตัวเองหรือไม่ วิธีคิดของคุณช่วยให้บริษัทบรรลุเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น หรือมุมมองของคุณสอดคล้องกับผลประโยชน์สูงสุดของบริษัทหรือไม่ การไม่เห็นด้วยเพียงเพราะคุณไม่เห็นด้วย ‘เป็นการส่วนตัว’ กับมุมมองของหัวหน้า นอกจากจะไม่ได้นำไปสู่การแก้ปัญหาในภาพใหญ่แล้ว ยังอาจทำให้คุณถูกหัวหน้าซ้ำเติมได้

4. แสดงความอ่อนน้อมถ่อมตน

‘วิธี’ ที่คุณแสดงความคิดเห็นมักเป็นตัวกำหนด ‘ปฏิกิริยา’ ที่คุณจะได้รับ ดังนั้น ในขณะที่คุณมีโอกาสได้พูดกับหัวหน้า จำไว้เสมอว่านั่นเป็นเพียงมุมมองของคุณ สิ่งที่ต้องทำคือ ให้ความมั่นใจกับหัวหน้าว่าคุณยังเคารพในความคิดเห็นของเขา แม้คุณอาจไม่เห็นด้วยกับพวกเขาก็ตาม พยายามเปิดบทสนทนาในเชิงบวกเสมอ และอย่าเข้าหาหัวหน้าด้วยการแสดงท่าทีว่าคุณเป็นคนประเภท ‘รู้ทุกอย่าง’

5. เลือกเวลาและสถานที่ให้เหมาะสม

มีคำกล่าวหนึ่งที่บอกว่า ‘มีเวลาและสถานที่สำหรับทุกอย่าง’ ซึ่งหากแปลเป็นสำนวนไทยก็คงได้ความหมายว่า ‘การรู้จักกาลเทศะ’ ดังนั้น แม้คุณจะไม่เห็นด้วยกับหัวหน้า ก็พยายามเลือกจังหวะเวลาในการพูดคุยให้ดี เช่น วันที่พวกเขาผ่อนคลายและไม่ได้มีความเร่งรีบในการทำงาน

หรือหากคุณมีความเห็นที่ขัดแย้งในระหว่างการประชุม ก็เลือกคำพูดที่ให้เกียรติ เพื่อให้หัวหน้าของคุณไม่รู้สึกเสียหน้า แต่หากเป็นการประชุมกับบุคคลภายนอก ก็ควรรอจนกว่าจะมีโอกาสได้คุยกันเป็นการส่วนตัว เพราะการแสดงความไม่เห็นด้วยกับหัวหน้าของคุณต่อหน้าบุคคลที่สามจะทำให้คุณและองค์กรของคุณดูไม่เป็นมืออาชีพ

ท้ายที่สุด ความกลัวในการแสดงความไม่เห็นด้วยของคุณอาจเป็นเพียงการ ‘คิดไปเอง’ และหัวหน้างานอาจชื่นชมมุมมองที่แตกต่างออกไปที่มาจากคุณด้วยซ้ำ ตราบใดที่คุณได้เสนอหรือพูดคุยกับเขาด้วยวิธีที่ถูกต้องและมีความเป็นมืออาชีพ

อ้างอิง

hbr.org

economicstime.com

Tags: , , ,