การสื่อสารนับเป็นกุญแจสำคัญในการรักษาความสัมพันธ์เชิงบวก ไม่ว่ากับเพื่อนร่วมงาน ครอบครัว หรือเพื่อนฝูง โดยเฉพาะในที่ทำงานซึ่งเราต้องพบคนมากมายที่แตกต่างกันทั้งภูมิหลังชีวิต ความคิด หรืออุปนิสัย และเมื่อต้องทำงานร่วมกัน การสื่อสารจึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ มีคนจำนวนไม่น้อยที่เกิดปัญหากับการทำงาน บางครั้งอาจรุนแรงถึงขั้นอยากลาออกจากงาน เนื่องจากมีปัญหาในการสื่อสารกับเพื่อนร่วมงาน

เช่นเดียวกันกับเรื่องอื่นๆ เราสามารถปรับปรุงและพัฒนาการสื่อสารกับเพื่อนร่วมงานได้ด้วยการฝึกฝนทักษะบางอย่างเป็นประจำ เพื่อให้สามารถสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และแน่นอนว่ามันจะส่งผลต่อการทำงานและการใช้ชีวิตในที่ทำงานของคุณให้ดีขึ้น รวมถึงนำไปต่อยอดใช้กับความสัมพันธ์รูปแบบอื่นๆ ในชีวิตได้

หากคุณอยากเป็นคนที่สื่อสารกับเพื่อนร่วมงานได้ดีขึ้น ลองหมั่นฝึกฝนตามเคล็บลับเหล่านี้

1. ใช้การสื่อสารแบบเห็นหน้ากัน

การสื่อสารแบบเห็นหน้ากันจะมีความเป็นส่วนตัวมากกว่าการส่งอีเมลหรือส่งข้อความผ่านแชต เมื่อเผชิญหน้ากัน ทั้งคุณและเพื่อนร่วมงานสามารถพูดคุยเรื่องต่างๆ ได้อย่างเปิดเผย รวดเร็ว และเป็นมืออาชีพ ตัดปัญหาที่อาจเกิดขึ้นจากการสื่อสารรูปแบบอื่นๆ เช่น การส่งข้อความผ่านแชต เพราะการอ่านข้อความที่ไม่เห็นหน้าหรือน้ำเสียงผู้พูด อาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดได้ง่าย

2. ฟังอย่างตั้งใจและสบตากับฝ่ายตรงข้ามบ่อยๆ

ในขณะที่เพื่อนร่วมงานของคุณพูด สิ่งสำคัญคือต้องฟังและใส่ใจกับสิ่งที่พวกเขากำลังพูด การฟังจะแสดงให้เพื่อนร่วมงานเห็นว่าคุณใส่ใจในมุมมองของพวกเขาอย่างแท้จริง แต่หากคุณยังไม่เข้าใจหรือยังไม่ชัดเจนในสิ่งที่เพื่อนร่วมงานของคุณต้องการสื่อสาร การขอคำอธิบายอย่างสุภาพเป็นหนทางที่ดีที่สุด นอกจากนี้ การสบตาขณะพูดคุยจะทำให้คู่สนทนารู้ว่าคุณกำลังฟัง ให้ความสนใจ และมีส่วนร่วมกับการสนทนา

3. ใส่ใจกับอากัปกิริยาที่นอกจากคำพูด

เมื่อกำลังสนทนาแบบเห็นหน้ากับเพื่อนร่วมงาน นอกจากคำพูด ให้ลองใส่ใจกับอวัจนภาษาหรือกิริยาท่าทางที่ไม่ใช่คำพูดด้วย เช่น หากแขนของเพื่อนร่วมงานคุณดูผ่อนคลายและเปิดกว้าง หมายถึงพวกเขาพร้อมที่จะรับฟัง หากเพื่อนร่วมงานของคุณสบตา หมายถึงพวกเขาพร้อมที่จะโฟกัสและรับฟังสิ่งที่คุณจะพูด เช่นเดียวกับตัวคุณเองที่นอกจากเรื่องของการพูด การพยายามรักษาท่าทางและน้ำเสียงที่เป็นกลาง รวมถึงการสบตาตลอดการสนทนาก็ช่วยให้การสื่อสารเป็นไปในเชิงบวกได้

4. มีสมาธิและตัดสิ่งรบกวน

คุณสามารถแสดงให้เพื่อนร่วมงานเห็นว่าคุณยังมีสมาธิและมีส่วนร่วมในการสนทนา โดยมุ่งความสนใจไปที่เพื่อนร่วมงานของคุณในขณะที่พวกเขาพูด เช่น ปิดหรือเก็บโทรศัพท์และสิ่งรบกวนอื่นๆ ไว้ก่อน รับฟังคำพูดของเพื่อนร่วมงานและตอบกลับ เช่น รอยยิ้ม การพยักหน้า หรือท่าทางสุภาพที่แสดงความรู้สึกของคุณที่มีต่อคำพูดของพวกเขา

5. พยายามมีส่วนร่วมในการสนทนา

พยายามใช้โอกาสในการสนทนาแบบเห็นหน้ากับเพื่อนร่วมงานในการแสดงให้เห็นว่าคุณเข้าใจในสิ่งที่พวกเขาพูดหรือต้องการคำชี้แจงเพิ่มเติมหรือไม่ การสนทนาที่ดีและมีประสิทธิภาพจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อทั้ง 2 ฝ่ายมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในการสนทนา ดังนั้น หากความคิดของคุณแตกต่างจากเพื่อนร่วมงาน คุณต้องให้เกียรติและคำนึงถึงความรู้สึกของพวกเขาด้วย อย่างไรก็ดี คุณต้องซื่อสัตย์กับสิ่งที่คิดและอธิบายต่อเพื่อนร่วมงานอย่างสุภาพเช่นกัน

6. ค่อยๆ พูด จริงใจ และเปิดเผย

เมื่อถึงโอกาสของคุณในการพูด พยายามทำตัวให้เป็นมืออาชีพ อยู่ในความสงบ หายใจเข้าลึกๆ และคิดก่อนพูดออกไปเสมอ หากมีบางสิ่งที่เป็นปัญหาและรบกวนคุณในการทำงาน ให้พยายามพูดอย่างจริงใจและเปิดเผยให้เพื่อนร่วมงานรับทราบ รวมถึงขอคำแนะนำหรือแจ้งวิธีที่พวกเขาสามารถช่วยเหลือคุณได้

7. รับรู้ว่าเวลาของเพื่อนร่วมงานเป็นสิ่งสำคัญ

พยายามรับรู้ว่าเวลาของเพื่อนร่วมงานคุณเป็นสิ่งสำคัญ โดยการขอบคุณที่พวกเขาสละเวลามาพูดคุยกับคุณ และแสดงให้เห็นว่าคุณใส่ใจความคิดของพวกเขาอย่างแท้จริงจากการได้สนทนากันในครั้งนี้

 

ที่มา

indeed.com

Tags: , , , ,