หนึ่งในสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน ณ วันสัมภาษณ์งาน พอกับ ‘คำตอบ’ จากคุณ คือช่วงท้ายของการสัมภาษณ์งานที่เปิดโอกาสให้คุณได้ถามผู้สัมภาษณ์ เมื่อผู้สัมภาษณ์ถามคนถูกสัมภาษณ์ว่า ‘มีอะไรจะถามไหม?’ หลายครั้งผู้ที่ถูกสัมภาษณ์มักจะตอบว่า ‘ไม่มี’ เพราะเกรงว่าจะ ‘เซ้าซี้’ หรือถามอะไรที่ไม่ฉลาดออกไป

เอาเข้าจริง หลายครั้งองค์กรที่ต้องการความคิดสร้างสรรค์มักคัดสรรผู้สมัครจากคำถาม ‘ถามกลับ’ เหล่านี้ และคนที่ไม่ถามอะไรเลยมักจะถูกคัดออกเป็นอันดับต้นๆ ยิ่งหากไม่มีประวัติการทำงานที่เกี่ยวข้องอันโดดเด่น คนกลุ่มนี้อาจถูกคัดออกเป็นอันดับแรกๆ

Work Tips วันนี้ จะช่วยคุณทำเช็กลิสต์ว่า ข้อมูลอะไรบ้างที่คุณควรรู้หากอยากได้งานที่ใฝ่ฝัน คำถามอะไรบ้างที่ควรถามกลับ คำถามแบบไหนที่สะท้อนสติสัมปชัญญะของคุณว่าคุณสนใจงานนี้จริง และคำถามใดที่ไม่ควรถาม ถามแล้ววงแตก ถามแล้วทำให้บรรยากาศเสีย

1. เตรียมคำถามไปสัก 4-5 คำถามในเบื้องต้น

คำถามแรกๆ มักจะเริ่มจากการเปิดเรื่องเบาๆ ที่เปิดโอกาสให้ผู้สัมภาษณ์ได้สร้างบทสนทนาขนาดยาว อาจเป็นคำถามเช่น ‘โดยปกติ ในแต่ละวันที่นี่ พนักงานในตำแหน่งนี้ต้องทำอะไรบ้าง?’ บทสนทนาที่ผู้สัมภาษณ์ (ซึ่งมักจะเป็นผู้บริหารหรือผู้มีอำนาจตัดสินใจในการรับคนเข้าทำงาน) อธิบายตำแหน่งหน้าที่ บรรยากาศในการทำงาน และทำให้คุณเข้าใจลักษณะงานตำแหน่งที่คุณสมัครในเบื้องต้น

คำถามอีกอันที่น่าสนใจและน่าหยิบไปใช้คือ ‘ใน 3 เดือนแรก คุณคาดหวังอะไรในตำแหน่งที่ผม/ดิฉันจะสมัคร?’ คำถามนี้จะทำให้ผู้สัมภาษณ์เห็นว่าตัวคุณกระตือรือร้นมากเพียงใดที่จะได้ตำแหน่งนี้ และยังทำให้คุณเห็นภาพชัดขึ้นว่าคุณต้องทำอะไรให้องค์กรเห็นในช่วง 3 เดือนแรก ในช่วงก่อนผ่านช่วงทดลองงาน เพื่อให้เห็นภาพตรงกัน และไม่ทึกทักเอาเองว่าเป้าหมายที่องค์กรต้องการเป็นอย่างไร

คำถามอื่นๆ อาจเป็นคำถามที่สะท้อนเป้าหมายขององค์กร เช่น ‘องค์กรนี้มีเป้าหมายที่จะเติบโตต่อไปอย่างไรในหนึ่งปีข้างหน้า?’ ซึ่งสะท้อนว่าคุณมีความสนใจไม่ใช่เฉพาะงานเฉพาะหน้าที่ต้องทำในแต่ละวันเท่านั้น แต่ยังสนใจในการวางเป้าหมายร่วมกันในระยะยาว และหวังจะเติบโตไปพร้อมกับองค์กร หรือ ‘องค์กรนี้มีวัฒนธรรมในการทำงานอย่างไร’ ที่สะท้อนว่าคุณไม่ได้สนใจเพียงแต่ตำแหน่งของตัวเอง หากแต่สนใจเพื่อนร่วมงานคนอื่นๆ และองค์กรในภาพรวมไปพร้อมกัน

2. คำถามเพื่อหาตัวตนของ ‘หัวหน้า’ ในอนาคต

อย่างที่บอกไปข้างต้นว่า มีโอกาสสูงที่คนสัมภาษณ์จะเป็นหัวหน้างาน หัวหน้าฝ่าย หัวหน้าแผนกของคุณในอนาคต ฉะนั้นอย่าลืมค้นหาว่า ‘เขา’ เป็นคนอย่างไร คำถามที่จะหาตัวตนของหัวหน้า อาจเป็นได้ทั้ง ‘คุณทำงานที่นี่มากี่ปี แล้วข้อดี-ความท้าทายของการทำงานที่นี่เป็นอย่างไร?’ หรือ ‘หากเทียบกับงานอื่นที่ผ่านมา งานที่นี่แตกต่างอย่างไรบ้าง’

คำตอบของหัวหน้าจะสะท้อนชัดว่าหัวหน้าคุณในอนาคตมีทัศนคติอย่างไร เป็นหัวหน้าที่อยู่ไปวันๆ หรือเป็นหัวหน้าที่พร้อมโอบรับคนใหม่ๆ ความคิดใหม่ๆ ทั้งยังสะท้อนชัดว่าเขามีวิสัยทัศน์กับงานนั้นมากเพียงใด เพราะอย่าลืมว่าหากคุณได้งานที่นี่ คุณต้องอยู่กับเขา ลูกน้องเขา (ซึ่งน่าจะเป็นคนที่ศีลเสมอกัน) ไปอีกสักระยะ ฉะนั้นรีบหาคำตอบตั้งแต่วันนี้จะเป็นการดีที่สุด

3. อย่าลืมถามเกี่ยวกับ Career Path

สิ่งสำคัญเกี่ยวกับการทำงานยุคนี้คือการค้นหาว่าคุณจะเติบโตในตำแหน่งงานที่จะสมัครได้อย่างไร ในโลกอันผันผวน หลายหน่วยงานไม่ได้กำหนดเส้นทางการเติบโต เพียงแค่รับคุณเข้ามาทำงานแบบขอไปที ให้ผ่านพ้นไปได้แต่ละวันแต่ละเดือนเท่านั้น บางองค์กร หัวหน้างานอาจจะตอบว่า ‘ไม่รู้ ไม่รู้’ หรือวนไปวนมา เพราะไม่ได้มี Career Path ชัดเจน

ข้อนี้สำคัญเป็นอย่างยิ่ง หากคุณมีงานหลายงานที่สมัครไว้พร้อมกัน คุณสามารถเปรียบเทียบได้ว่าเมื่อเทียบงานนี้กับงานที่คุณเคยผ่านมา เส้นทางการเติบโตจะ ‘ไปต่อ’ อย่างไร แล้วหัวหน้าคุณขีดเส้นไว้กับตำแหน่งนี้อย่างไร อย่าลืมว่าองค์กรที่ดี จะมีระบบการประเมินที่มีมาตรฐาน มีเส้นทางการเติบโตให้กับพนักงานที่มีผลงานดี มีประสิทธิภาพดี ส่วนองค์กรที่แย่ มักจะมองพนักงานเป็นเพียงหุ่นยนต์ ไม่ได้ขีดเส้นทางให้เติบโต เพียงแค่ทำงานจบๆ ไป ไม่ต้องเติบโตอะไรทั้งนั้น ถ้าทนไม่ได้ก็ลาออกกันไปเอง

4. แล้วอะไรที่ไม่ควรถาม?

เรื่องสำคัญคือเรื่องเกี่ยวกับ ‘เงินเดือน’ อย่าลืมว่าในขั้นตอนการนั่งสัมภาษณ์นั้น คุณยังอยู่ในสถานะอันคลุมเครือ นายจ้างยังไม่ได้รับคุณเข้าทำงาน ฉะนั้นการตั้งคำถามว่า ‘เงินเดือนที่ร้องขอถือว่ามากเกินไปไหม’ หรือ ‘จะได้เงินเดือนและสวัสดิการเท่าไร’ นั้น อาจไม่ใช่เวลาที่ถูกต้องนัก การต่อรองเงินเดือนควรเกิดขึ้นในห้วงเวลาที่ ‘เขา’ ตัดสินใจจะรับคุณเข้าทำงานแล้ว และการถามว่าเงินเดือนที่เรียกนั้นสูงไปไหม ให้พึงระลึกเสมอว่าการที่เขาเรียกคุณมาสัมภาษณ์นั้นหมายความว่าเขา ‘รับได้’ กับเงินเดือนระดับนี้อยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องถามเซ้าซี้

ขณะเดียวกัน อย่าตั้งคำถามที่เกี่ยวกับว่า ‘บริษัทจะทำอะไรให้ตัวคุณ’ มากเกินไป จริงอยู่ว่าสวัสดิการ และ Work-Life Balance เป็นเรื่องสำคัญ แต่การถามคำถามเดียวว่า ‘บริษัทนี้มีสวัสดิการอะไรบ้าง’ ก็ดูจะเพียงพอแล้ว เพราะคำถามนี้คำถามเดียว หากผู้สัมภาษณ์สนใจคุณ พวกเขาก็จะงัดเอาสวัสดิการที่ดีที่สุด น่าสนใจที่สุด มาบอกกับคุณ

คำถามอีกประเภทที่ควรหลีกเลี่ยงเลยก็คือ ‘แล้วผมได้งานที่นี่แล้วหรือยัง?’ หรือ ‘ดิฉันจะเริ่มงานได้เลยไหม?’ อย่าลืมว่าถึงเขาอยากได้คุณเข้าร่วมทำงานมากเพียงใด แต่ ณ วันที่เขานัดคือขั้นตอนของการสัมภาษณ์งาน นั่นหมายความว่าคุณยังมีคู่แข่งอีกมาก และเท่ากับคุณไม่เคารพในกระบวนการสัมภาษณ์งานเท่าที่ควร

นอกจากนี้ อย่าพยายามถามคำถามที่คุณสามารถหาคำตอบได้ในเว็บไซต์หรือโซเชียลมีเดียของบริษัท เป็นต้นว่า องค์กรนี้ทำงานเกี่ยวกับอะไร, งานล่าสุดที่องค์กรนี้ทำคืออะไร เพราะจะทำให้เห็นว่าคุณไม่ได้หาข้อมูล เพียงแค่เห็นว่าบริษัทสนใจคุณ แล้วก็ตื่นมาและไปสัมภาษณ์งานเท่านั้น

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงคำแนะนำเบื้องต้น สิ่งสำคัญที่สุดคืออย่าตระหนกกับกระบวนการนี้มากเกินไป จงเตรียม ‘คำตอบ’ ของคุณให้พร้อมเสียก่อน แล้วค่อยลิสต์คำถามเหล่านี้ เพื่อทำให้เวลาสัมภาษณ์งาน ซึ่งอาจเป็นได้ทั้ง 15 นาที 30 นาที หรือ 1 ชั่วโมงนั้น มีคุณค่ามากที่สุด และได้ประโยชน์ที่สุด ทั้งกับคุณและกับองค์กร

อ่านบทความ ‘มีอะไรจะถามอีกไหม’ คำถาม สำหรับถามกลับไปยังองค์กร เมื่อคุณต้องไปสัมภาษณ์งาน เพิ่มเติมได้ทาง https://themomentum.co/worktips-40-question/

อ้างอิง

– https://www.prospects.ac.uk/careers-advice/interview-tips/7-good-questions-to-ask-at-an-interview

https://hbr.org/2022/05/38-smart-questions-to-ask-in-a-job-interview

Tags: , , ,