‘ผู้นำดีมีชัยไปกว่าครึ่ง’ คือวลียอดฮิตในองค์กรหลายแห่ง การที่บริษัทหรือทีมจะประสบความสำเร็จหรือล้มเหลวไม่เป็นท่า หัวหน้าถือเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยผลักดันการทำงานของเหล่าลูกน้อง เพราะหน้าที่ของหัวหน้าคือการนำทีม คอยดูแลความเรียบร้อยในทีม กระจายงานให้คนในทีมอย่างยุติธรรมและเหมาะสม หรือแม้กระทั่งออกรับแทนเวลาลูกทีมเกิดทำงานพลาด คุณสมบัติเหล่านี้อาจดูไม่มากมาย แต่ก็ไม่ใช่ว่าคนในระดับหัวหน้าทุกคนจะสามารถทำได้
ในหลายบริษัท เราจะพบทั้งหัวหน้านักแบก แบกทุกคน รับทุกสิ่ง ทำงานหามรุ่งหามค่ำ เป็นต้นแบบยอดมนุษย์เงินเดือนจนเหล่าลูกน้องต้องออกปากว่า “พี่พักบ้างเถอะ” หรือหัวหน้าสายซอฟต์ เวลาเกิดแรงปะทะกับทีมอื่น หรือลูกค้าจากบริษัทอื่น หัวหน้าสายซอฟต์จะคอยไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ใช้ความใจเย็นสยบทุกปัญหา และปลอบประโลมลูกน้องเวลาเผชิญกับความเครียด หรือบางบริษัทมีหัวหน้าหัวไว คิดไว ทำไว พร้อมฉุดกระชากลากทีมไปข้างหน้า และปลุกไฟในการทำงานให้ทีมอยู่เสมอ
ในบริษัทหลายแห่งก็ไม่มีหัวหน้าที่ว่ามา มีแต่หัวหน้าที่ชอบหายไปเวลาทำงาน โทรไม่ติด ไลน์ไม่ตอบ หัวหน้าที่หลับในเวลาทำงาน หัวหน้าที่ไม่ปกป้องลูกน้อง และผู้บังคับบัญชาที่ชอบโยนทุกสิ่งทุกอย่างให้คนในทีมทำ บางครั้งเมื่องานนั้นเสร็จสิ้น ก็ถึงเวลาที่เขาหรือเธอจะออกโรงมารับหน้ากับความสำเร็จดังกล่าว
ความหมายของ ‘Absentee Leader’ ในภาษาไทย คือการนิยามถึงหัวหน้ายอดแย่ หัวหน้าที่ชอบหายตัวไป หรือหัวหน้าที่กายหยาบยังอยู่แต่กายละเอียดได้อันตรธานไปแล้ว เว็บไซต์ thehrdirector เรียกหัวหน้าประเภทนี้ว่า นักฆ่าเงียบประจำองค์กร (the silent killers of an organization) เป็นสารตั้งต้นที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างเพื่อนร่วมงาน การกลั่นแกล้งในที่ทำงาน หรือเป็นส่วนสำคัญที่สร้างความเหนื่อยหน่ายแก่คนอื่นๆ และหัวหน้าแบบนี้มีแนวโน้มทำให้พนักงานลาออกมากขึ้น
หัวหน้าประเภทนี้จะเห็นได้ชัดกว่าปกติในช่วงเวลาสำคัญของการทำงาน เช่น เวลาที่บริษัทกำลังวางแผนทำโปรเจกต์ใหญ่ เวลาที่บริษัทกำลังแก้ปัญหาบางอย่าง หรือแม้กระทั่งวันทำงานทั่วไป พวกเขาจะทำตัวเหมือนทองไม่รู้ร้อน ลอยตัวกับทุกปัญหา ปล่อยปละละเลยในสิ่งที่ไม่ควรปล่อย ขาดการวางทิศทางในการทำงาน ขาดความเป็นผู้นำ ตัดสินใจอย่างล่าช้า และมักเป็นผู้บังคับบัญชาระดับกลางที่ได้เลื่อนตำแหน่งด้วยเหตุผลหลากหลาย เช่น อายุ ประสบการณ์ การอยู่มานาน หรือการแต่งตั้งจากผู้บังคับบัญชาที่ตำแหน่งสูงกว่า
หัวหน้าที่เข้าข่าย Absentee Leader จะมีการกระทำที่ส่งผลต่อปฏิสัมพันธ์ต่อคนร่วมทีม ไม่ว่าจะเป็นลูกน้องใต้บังคับบัญชา เพื่อนร่วมงานในระดับเดียวกัน หรือแม้กระทั่งหัวหน้างานของหัวหน้าคนนั้น ที่จะพลอยให้ทุกคนขาดแรงจูงใจในการทำงานตามกันไปหมด เพราะคนประเภทนี้จะไม่ยอมประเมินความเสี่ยง ไม่กล้ากระโจนเข้าไปยังความเสี่ยงใดๆ ก็ตาม เมินเฉยกับทุกสถานการณ์ที่อยู่ตรงหน้า จนหลายบริษัทพิจารณาว่าผู้นำที่เข้าข่ายเป็น Absentee Leader นั้นแย่ยิ่งกว่าหัวหน้าที่ชอบกลั่นแกล้งผู้น้อย หรือหัวหน้าที่หลงตัวเองเสียอีก
ปัญหาของการมีหัวหน้าที่ชอบหายตัวและไม่ยอมทำอะไรสักอย่าง ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างทั้งต่อเพื่อนร่วมงานและองค์กรที่มีคนประเภทนี้ ในเมื่อไม่ทำอะไรเลย รอให้ระบบงานขับเคลื่อนงานไปตามปกติ ข้อบกพร่องของหัวหน้าประเภทนี้จะมีเพียงแค่การทำงานที่ไม่โดดเด่น เป็นหัวหน้าที่มีผลงานระดับกลางค่อนไปทางล่าง แต่ก็ไม่ได้แย่ถึงขั้นต้องส่งใบเตือนหรือไล่ออก และในองค์กรใหญ่ที่มีพนักงานหลายร้อยหรือหลายพันคน ทีมฝ่ายบุคคลและผู้บริหารระดับสูงแทบจะมองไม่เห็นหัวหน้ายอดแย่เหล่านี้ได้เลย Absentee Leader จึงกลายเป็นหนึ่งในตัวทำลายองค์กรชั้นดี เพราะเป็นบุคคลที่ไร้ความคิดสร้างสรรค์และขาดความกระตือรือร้น
แม้จะไม่ได้สร้างปัญหาใหญ่ชัดเจนจนบริษัทเสียหาย แต่มีงานวิจัยบางชิ้นระบุว่า หัวหน้างานประเภทนี้จะสร้างความเสียหายระยะยาวให้กับองค์กร สร้างปัญหาเรื้อรังตามมามากมาย โดยเฉพาะในยุคโควิด-19 ที่หลายองค์กรให้พนักงานทำงานแบบ Work from Home
เว็บไซต์ด้านการวิเคราะห์พฤติกรรมหลายแห่งใช้แบบประเมินของ Hogan Assessments สำรวจความคิดเห็นพนักงานบริษัทขนาดกลางและขนาดใหญ่หลายแห่งในยุโรป โดยถามพนักงานว่า หลังจากถูกสั่งให้ทำงานที่บ้าน พวกเขาได้รับการสนับสนุนที่ดีจากหัวหน้าหรือไม่ และพบว่า 60 เปอร์เซ็นต์ ของผู้ตอบแบบสอบถาม ได้รับการสนับสนุนและการดูแลที่ดีจากหัวหน้า และที่เหลือระบุว่า พบปัญหาจากหัวหน้าระหว่างทำงานที่บ้าน เช่น หัวหน้าขาดการติดต่อ ทักไปคุยเรื่องงานแต่ติดต่อไม่ได้ หายตัวไปนานหลายชั่วโมง ไม่เรียกประชุมทีม ปล่อยให้ทำงานแบบตามมีตามเกิด เมื่อเกิดข้อผิดพลาดลูกน้องก็รับคำวิจารณ์ไปเพียงคนเดียว
พนักงานที่พบกับหัวหน้าแบบนี้จะเริ่มรู้สึกโดดเดี่ยวจากการทำงาน ประกอบกับการทำงานที่บ้านไม่ใช่เรื่องดีสำหรับหลายคน การติดต่อสื่อสารจึงเป็นสิ่งสำคัญมากในยุคโควิด-19 และการมีหัวหน้าที่ติดต่องานยาก ชอบหายตัว และไม่สนใจรับรู้กับเรื่องอะไรสักอย่าง ส่งผลให้ผู้ใต้บังคับบัญชาจำนวนไม่น้อยมีแนวโน้มเป็นโรคเครียดกันมากขึ้น
วิธีแก้ปัญหาคนที่เข้าข่าย Absentee Leader ไม่ได้อยู่ที่ทีมหรือองค์กรเป็นหลัก แต่อยู่ที่ตัวของบุคคลนั้นๆ เป็นสำคัญ การเป็นหัวหน้าหรือผู้นำที่ดีควรใส่ใจทุกการทำงาน แบ่งปันความรู้สึกบางเรื่องกับผู้ใต้บังคับบัญชาเพื่อกระตุ้นและเสริมสร้างแรงบันดาลใจ และที่สำคัญคือไม่หายตัวไปในเวลาสำคัญๆ
ในกรณีที่บริษัทกำลัง Work From Home ผู้นำที่ดีควรจะติดต่อสื่อสารกับลูกน้องบ่อยขึ้นกว่าการทำงานร่วมกันที่ออฟฟิศ ติดตามการทำงานอย่างใกล้ชิด ไม่ปล่อยให้พนักงานรู้สึกโดดเดี่ยว สิ่งเหล่านี้จะช่วยทำให้ความสัมพันธ์ของทีมแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ก่อให้เกิดความรู้สึกไว้วางใจ รู้สึกอยากมีส่วนร่วมในการทำงานแต่ละโปรเจกต์ เป็นประโยชน์ต่อทั้งพนักงานและองค์กร
ส่วนวิธีรับมือกับหัวหน้าที่มีพฤติกรรมดังกล่าว นักวิเคราะห์ระบุว่า ควรทำทุกอย่างเพื่อปกป้องตัวเอง เช่น การอัปเดตข้อมูลอย่างสม่ำเสมอว่าแต่ละวันเรากำลังทำงานอะไรอยู่ ทำทุกอย่างให้ชัดเจน โปร่งใส ตรวจสอบง่าย เพื่อที่หัวหน้ายอดแย่จะได้ไม่เอาตัวรอดไปคนเดียวด้วยการโยนสถานการณ์แย่ๆ ใส่เรา หรือบางครั้งเราจำเป็นต้องเรียกร้องให้ทีมจัดการประชุมบ่อยกว่าปกติ เพื่อให้ทุกคนรับทราบตรงกันว่าแต่ละคนมีงานอะไรที่ต้องรับผิดชอบบ้าง ป้องกันปัญหาทองไม่รู้ร้อน และกันการหายตัวไปอย่างไร้ร่อรอยของเหล่าหัวหน้าที่ไร้ความรับผิดชอบ
Tags: Absentee Leader, ผู้นำ, หัวหน้า, Work Tips