เมื่อวันเสาร์ที่ 18 ที่ผ่านมา กลุ่มเยาวชนปลดแอกได้นัดชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเพื่อยื่นข้อเรียกร้องสามข้อแก่รัฐบาล

แต่ทันทีที่มีข่าวว่าทางกลุ่มจะนัดชุมนุม อยู่ๆ ก็เกิดเหตุอัศจรรย์ คือมีสวนเขียวขจีผุดขึ้นรอบพื้นที่อนุสาวรีย์ในบัดดลราวกับเสกด้วยเวทมนตร์ ทำให้ผู้คนอดสงสัยไม่ได้ว่าที่ กทม. ลุกขึ้นมาขยันปลูกสวนสวยทั้งที่เป็นวันเสาร์ คงไม่ใช่เพราะอยู่ๆ มีอารมณ์สุนทรีอยากเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเมืองกรุง แต่น่าจะเป็นเพราะต้องการกีดกันไม่ให้กลุ่มผู้ประท้วงใช้พื้นที่รอบอนุสาวรีย์เป็นสถานที่ชุมนุม จนทำให้มีผู้ชุมนุมระลอกหลังจากนั้นนัดกันมาตะโกนชื่นชมสวนเสกแห่งนี้

ดังนั้น ในสัปดาห์นี้ เราจะไปดูที่มาที่ไปของคำว่า garden ที่ใช้เรียกสวนในภาษาอังกฤษ และไปดูว่ามีความเชื่อมโยงกับเทพเจ้าของชาวนอร์ส ราชสำนัก และนางคณิกา ได้อย่างไร

สวน โรงเรียนอนุบาล และแอสการ์ด

ในปัจจุบัน คำว่า garden เป็นคำที่เราใช้เรียกพื้นที่ (โดยเฉพาะพื้นที่กลางแจ้ง) ที่มนุษย์ใช้ปลูกพืชพรรณต่างๆ เพื่อความเพลิดเพลินใจ (เช่น rose garden คือ สวนกุหลาบ) หรือเพื่อไว้เด็ดดอกผลมาใช้ (เช่น kitchen garden คือ สวนที่ใช้ปลูกพืชผักสวนครัว

หากสืบสาวกลับไปแล้วก็จะพบว่า garden ในภาษาอังกฤษ มาจากคำว่า gardin หรือ jardin ในภาษาฝรั่งเศสเก่า ซึ่งมาจาก gardinus ในภาษาละตินอีกทอด คำว่า gardinus นี้เป็นคำที่ใช้บรรยายพื้นที่ที่ล้อมรั้วไว้หรืออาณาบริเวณที่กั้นขอบเขตไว้ (ในภาษาละติน) และที่กลายมาเกี่ยวข้องกับสวนได้ก็เพราะสวนส่วนใหญ่มักมีรั้วรอบขอบชิดหรือกั้นอาณาบริเวณชัดเจน เช่น สวนในรั้วบ้านหรือคฤหาสน์ เป็นต้น

แต่หากสืบลึกลงไปอีก ก็จะพบว่า gardinus นี้น่าจะมาจากภาษาตระกูลเจอร์แมนิกและเป็นญาติกับคำหลายๆ ในภาษาตระกูลนี้ เช่น ภาษาอังกฤษเก่า ภาษาเยอรมัน และภาษานอร์สเก่า ที่หลงเหลือลูกหลานไว้ในภาษาอังกฤษปัจจุบัน

 เริ่มต้นกันที่ภาษาอังกฤษเก่า คำว่า gardinus เป็นฐานกับคำว่า geard ในภาษาอังกฤษเก่า หมายถึง พื้นที่ที่มีรั้วล้อม อาณาบริเวณ หรือ บ้าน ซึ่งคำนี้ก็กลายมาเป็นคำว่า yard ที่แปลว่า ลานหรือสวน ในปัจจุบันนั่นเอง เช่นที่เจอได้ใน backyard (สวนหลังบ้าน) graveyard (สุสาน) และ vineyard (สวนองุ่น)

ทั้งนี้ ว่ากันว่า geard ในภาษาอังกฤษเก่านี้ยังถูกนำไปประกอบกับคำว่า wort ที่ใช้เรียกสมุนไพรหรือพืชทำยาหรืออาหารต่างๆ (เช่น liverwort หรือ butterwort) กลายเป็นคำว่า wortgeard ที่ท้ายที่สุดกร่อนหรือ ortgeard และกลายมาเป็น orchard ที่ทุกวันนี้หมายถึง สวนผลไม้ ในที่สุด

ส่วนทางสายภาษาเยอรมัน คำว่า gardinus มีญาติคือคำว่า Garten ที่แปลว่า สวน และพบเจอได้ในคำว่า kindergarten หรือ โรงเรียนอนุบาล ประกอบขึ้นจาก Kinder ที่แปลว่า เด็ก และ Garten ที่แปลว่า สวน ได้ความหมายรวมกันว่า สวนของเด็ก เป็นคำที่นักการศึกษาชาวเยอรมันชื่อ ฟรีดิค เฟรอเบิล (Friedrich Fröbel) คิดขึ้นมาใช้เรียกวิธีการสอนเด็กเล็กแบบปล่อยให้สัมผัสธรรมชาติ ได้สังเกตต้นไม้ใบหญ้า (ถ้าเฟรอเบิลยังมีชีวิตอยู่และเห็นว่าคำที่ตัวเองคิดขึ้น ถูกเอาไปใช้เรียกสถานที่ที่เด็กต้องเรียนจินตคณิตหรือภาษาที่สามที่สี่อย่างในปัจจุบัน น่าจะอกแตกตายแน่ๆ)

คำว่า gardinus ยังมีญาติในภาษานอร์สเก่าด้วย นั่นคือคำว่า garðr หมายถึง อาณาบริเวณ บ้าน หรือ สวน ซึ่งมาอยู่ในคำว่า Asgard อันเป็นนิวาสสถานของบรรดาทวยเทพนอร์สและมีความหมายว่า ที่อยู่ของเหล่า Aesir หรือ เทพ (Thor ก็อยู่ที่แอสการ์ดนี่แหละ #แอสการ์ดไม่ใช่สถานที่แต่คือผู้คน #สวนแอสการ์ดสวยจริงๆ) ส่วนอีกคำคือคำว่า Midgard ซึ่งเทียบเป็นภาษาอังกฤษปัจจุบันได้ว่า middle yard และเป็นคำที่ใช้เรียก โลกมนุษย์ ในปกรณัมนอร์ส เนื่องจากเป็นดินแดนที่อยู่ตรงกลางในบรรดาโลกทั้งเก้าใบในตำนาน (จริงๆ แล้ว Middle Earth ของลุง Tolkien ก็ว่ากันว่าเทียบเท่าได้กับ Midgard นี่แหละ)

ทั้งนี้ -gart ในชื่อเมือง Stuttgart ในเยอรมนีและ -grad ในชื่อเมือง Leningrad (ชื่อเดิมของ St. Petersburg) และ Volgograd (ชื่อเดิมคือ Stalingrad) ในรัสเซียก็ล้วนมาจากรากเดียวกันนี้ และหมายถึง อาณาเขตที่มีกำแพงกั้นหรือเมืองนั่นเอง

สวน ราชสำนัก และหญิงคณิกา

แม้ว่าญาติของคำว่า garden ในสายเจอร์แมนิกด้านบนจะดูละลานตาแล้ว แต่ garden ไม่ได้มีญาติในภาษาอังกฤษอยู่เพียงเท่านี้ หากแต่ยังมีญาติที่อยู่ในสายโรแมนซ์ด้วย (ญาติเยอะกว่ายุ้ยญาติเยอะ!) ซึ่งทั้งสองสายนี้ดองกันเพราะมีบรรพบุรุษร่วมกัน คือ รากโปรโตอินโดยูโรเปียน คือ  *gher- ซึ่งหมายถึง ล้อมกั้น

ในสายโรแมนซ์ คำหลักที่สืบเชื้อสายมาราก *gher- และเป็นที่มาของคำในภาษาอังกฤษมากมายที่โยงกับ garden ก็คือคำว่า hortus ในภาษาละติน หมายถึง สวน (ถ้าสังเกตดู จะเห็นว่า garden กับ hortus มีเสียงใกล้เคียงกันอยู่นะเออ)

คำว่า hortus นี้เป็นที่มาของคำว่า horticulture ซึ่งหมายถึง การปลูกพืชสวน และไปโผล่อยู่ในคำว่า cohort (มาจาก cohortem ในภาษาละติน ประกอบจาก com- ที่แปลว่า ร่วมกัน และ hortus) แต่เดิมหมายถึง อาณาบริเวณที่มีรั้วรอบขอบชิด หรือ กองทหาร (ทำนองว่าเป็นทหารที่มารวมกันอยู่ในลานหรือสถานที่เดียวกัน) แต่ความหมายได้เปลี่ยนไปจนในปัจจุบันกลายมาหมายถึง กลุ่ม รุ่น หรือพรรคพวก

คำว่า cohortem ในภาษาละตินนี้ เมื่อจำเนียรกาลผ่านไปก็กร่อนเหลือ cortem ส่วนความหมายก็เริ่มเปลี่ยนจากกลุ่มทหารไปหมายถึง กลุ่มคนที่มารวมตัวกัน และกลายมาหมายถึง ราชสำนัก ในที่สุด ซึ่งภาษาอังกฤษก็ได้รับมาผ่านฝรั่งเศสเป็นคำว่า court ในปัจจุบันนั่นเอง

ทั้งนี้ คำว่า court ในภาษาอังกฤษมีหลายความหมาย แต่เดิมเคยใช้หมายถึง พื้นที่ที่มีรั้วล้อม และราชสำนัก คล้ายๆ ในภาษาละติน แต่ในเวลาต่อมาจากพื้นที่ล้อมรั้วก็เกิดความหมายใหม่เป็นพื้นเรียบๆ ที่ใช้เล่นกีฬา (เช่น tennis court) และจากราชสำนักที่เป็นที่ประทับของเชื้อพระวงศ์ ก็เริ่มงอกความหมายใหม่คือเป็นสถานที่ที่เชื้อพระวงศ์และที่ปรึกษาใช้ตัดสินคดีความ กลายมาเป็นคำว่า court ที่แปลว่า ศาล

คำว่า court นี้ยังมาอยู่บนเท้าได้อีกต่างหาก เพราะรองเท้าคัทชูของคนไทย ก็มาจากคำว่า court shoes ในภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นรองเท้าที่เปิดเว้าด้านบนค่อนข้างลึกไปทางด้านหน้าและอาจมีสายคาดหรือประดับด้วยโบว์

นอกจากนั้น คำว่า court ยังมีคำที่เป็นญาติโกโหติกามากมาย ส่วนใหญ่ล้วนที่มีมาเกี่ยวกับราชสำนัก เช่น courtier (ข้าราชสำนัก) courtesy (ความสุภาพ นอบน้อม มีมารยาท อันเป็นคุณลักษณะนิสัยอย่างผู้ดีที่อยู่ในวัง) และ curtsy หรือ curtsey (ถอนสายบัว กร่อนมาจาก courtesy) รวมไปถึง courtesan ที่หมายถึง หญิงงามเมือง หญิงคณิกา (แต่เดิมหมายถึงหญิงในราชสำนัก แต่เนื่องจากพวกเจ้าขุนมูลนายในสมัยนั้นมักมีอนุภรรยาอะไรต่างๆ คำนี้จึงเริ่มมีความหมายไปในแง่นางบำเรอ)

บรรณานุกรม

ราชบัณฑิตยสถาน. พจนานุกรมศัพท์วรรณกรรม อังกฤษไทย. ราชบัณฑิตยสถาน: กรุงเทพฯ, 2545.

ราชบัณฑิตยสถาน. พจนานุกรมศัพท์ภาษาศาสตร์ (ภาษาศาสตร์ทั่วไป). ราชบัณฑิตยสถาน: กรุงเทพฯ, 2560.

http://www.etymonline.com/

http://oed.com/

American Heritage Dictionary of the English Language

Ayto, John. Word Origin: The Hidden Histories of English Words from A to Z. 2nd ed. A&C Black: London, 2008.

Barnhart, Robert K. The Barnhart Concise Dictionary of Etymology: The Origins of American English Words. H. W. Wilson: New York, 1995. 

Claiborne, Robert. The Roots of English: A Reader’s Handbook to Word Origins. Random House: New York, 1989.

Cresswell, Julia. Oxford Dictionary of Word Origins. OUP: New York, 2009.

Donald, Graeme. Words of a Feather: An Etymological Exploration of Astonishing Word Pairs. Metro Publishing: London, 2015

Edelstein, Stewart. Dubious Doublets: A Delightful Compendium of Unlikely Word Pairs of Common Origin, from Aardvark/Porcelain to Zodiac/Whiskey. John Wiley & Sons: New Jersey, 2003.

Flavell, Linda, and Roger Flavell. Dictionary of Word Origins. Kylie Cathie: London, 2010.

Funk, Wilfred. Word Origins: A Classical Exploration of Words and Language. Gramercy Books: New York, 2008.

Gaiman, Neil. Norse Mythology. W.W. Norton & Company: New York, 2017.

Green, Roger Lancelyn. Myths of the Norsemen. Puffin Books: London, 2013.

Hoad. T. F. (Ed.). Oxford Concise Dictionary of English Etymology. OUP: Oxford, 2003.

Jones, Peter. Quid Pro Quo: What the Romans Really Gave the English Language. Atlantic Books: London, 2016.

Merriam-Webster Dictionary

Oxford Advanced Learners’ Dictionary

Shipley, Joseph T. The Origins of English Words: A Discursive Dictionary of Indo-European Roots. John Hopkins University Press: Maryland, 1984.

Shorter Oxford English Dictionary

Skeat, Walter. A Concise Etymological Dictionary of The English Language. Forgotten Book: NY, 2012.

The Merriam-Webster New Book of Word Histories. Merriam-Webster, 1991.

Watkins, Calvert. The American Heritage Dictionary of Indo-European Roots. 3ed., Houghton Mifflin Harcourt: New York, 2011.