เช่นเดียวกับที่วรรณกรรมเรื่องรามเกียรติ์เป็นที่มาของสำนวนต่างๆ ในภาษาไทย เช่น วัดรอยเท้า ทรพี สิบแปดมงกุฎ งอมพระราม และกล่องดวงใจ ปกรณัมกรีกโรมันก็เป็นสิ่งที่ทรงอิทธิพลในวัฒนธรรมตะวันตกอย่างยิ่งและแทรกซึมในชื่อของสิ่งต่างๆ ตั้งแต่ชื่อธาตุในตารางธาตุ ไปจนถึงชื่อสถานที่อย่างป่าแอมะซอน

ในสัปดาห์นี้ เราจะไปดูกันว่ามีศัพท์ภาษาอังกฤษคำไหนอีกที่ยังวนเวียนอยู่ในชีวิตคนยุคศตวรรษที่ 21 ในปัจจุบัน แต่อันที่จริงแล้วมีที่มาจากปกรณัมกรีกโรมันเมื่อหลายพันปีก่อนหน้านี้

Cereal

คำนี้เป็นคำที่ใช้เรียก ธัญพืช หรือพืชที่คนเรานำเมล็ดมากินจำพวกข้าว ข้าวสาลี ข้าวโพด ด้วยเหตุนี้ เมื่อธัญพืชเหล่านี้ถูกนำไปอบแห้งหรือแปรรูปเพื่อไว้กินเป็นอาหารเช้าคู่กับนม จึงใช้นำคำว่า cereal มาใช้เรียกด้วยเช่นกัน

แม้หลายคนจะเทซีเรียลใส่ชามราดนมกินตอนเช้าเป็นประจำ แต่อาจจะไม่ทราบว่าแท้จริงแล้วคำนี้มาจากชื่อเทพีองค์หนึ่งในปกรณัมโรมัน นั่นคือ เทพีซีรีส (Ceres) ผู้เป็นเทพีแห่งเกษตรกรรม พืชพันธุ์ธัญญาหารต่างๆ เทียบได้กับเทพีดีมีเทอร์ (Demeter) ในปกรณัมกรีก หรือถ้าจะพูดให้เห็นภาพแบบไทยๆ ก็อาจจะบอกว่าเป็นพระแม่โพสพของทางโน้น

ในปกรณัมบอกไว้ว่าเทพีองค์นี้เป็นผู้ที่ทำให้พืชผลงอกงาม ที่สรรพสัตว์และมนุษย์มีอาหารกินก็เพราะเทพีองค์นี้ ด้วยเหตุนี้ ชาวโรมันจึงนับถือบูชาเทพีซีรีสมาก นอกจากจะตั้งวิหารให้แล้ว ยังมีการจัดเทศกาลเฉลิมฉลองให้อย่างยิ่งใหญ่ด้วย

เมื่อครั้งที่พรอเซอร์พีนา (Proserpina หรือที่ฝั่งกรีกเรียก เพอร์เซโฟนี Persephone) ลูกสาวของเทพีซีรีสถูกเทพพลูโต (Pluto เทียบได้กับเฮดีส Hades ของชาวกรีก) ลักพาตัวลงไปยังยมโลก เทพีซีรีสก็เศร้าโศกเสียใจมากจนไม่มีกระจิตกระใจทำอะไร ได้แต่ออกเดินตามหาลูกทุกหนแห่ง ผลก็คือพืชพันธุ์ธัญญาหารก็พากันล้มตาย ทำให้เกิดภาวะอดอยากทั่วทุกหนแห่งจนผู้คนเริ่มล้มตาย จนท้ายที่สุดเทพจูปิเตอร์ (Jupiter หรือ ซุส Zeus ของทางกรีก) ต้องเข้ามาไกล่เกลี่ย สั่งให้พลูโตคืนตัวพรอเซอร์พีนาให้ซีรีส ทางฝ่ายพลูโตอุตส่าห์ได้เมียมาทั้งคนแล้วก็ไม่อยากคืนให้โดยง่าย จึงตั้งเงื่อนไขว่าจะคืนตัวให้หากพรอเซอร์พีนาไม่ได้กินอะไรเลยในระหว่างที่อยู่ในยมโลก แน่นอนว่าพรอเซอร์พีนาได้กินเมล็ดทับทิมลงไปแล้วระหว่างนั้น บ้างก็ว่า 3 เมล็ด บ้างก็ว่า 4 เมล็ด บ้างก็ว่า 6 เมล็ด (บ้างก็ว่านางตั้งใจแอบกินเพื่อจะได้อยู่กับสามีของตน) ดังนั้น ในแต่ละปี พรอเซอร์พีนาจะต้องอยู่ในยมโลกนานเป็นจำนวนเดือนตามจำนวนเมล็ดที่กินลงไป ในช่วงนี้ เทพีซีรีสก็จะโศกเศร้า เกิดเป็นฤดูที่พืชผลไม่เจริญเติบโตและเป็นมาของฤดูหนาว

ทั้งนี้ คำว่า cereal มาจากคำว่า Cerealis ซึ่งเป็นรูปคุณศัพท์ของชื่อเทพี Ceres นั่นเอง

Museum

คำว่า museum ที่แปลว่า พิพิธภัณฑ์ ก็เป็นอีกคำที่มีที่มาจากปกรณัมกรีกเช่นกัน เดิมทีใช้เรียกห้องสมุดหรือสถานที่ที่ใช้ศึกษาศิลปะต่างๆ แต่หากย้อนกลับไปถึงต้นตอจริงๆ แล้ว คำนี้เป็นคำที่ใช้เรียกวิหารของเทพีแห่งศิลปศาสตร์เก้าแขนงที่เรียกกันว่ามิวซ์ (The Muses)

เทพีมิวซ์ทั้งเก้าองค์นี้เป็นลูกสาวของเทพีเนมอซีนี (Mnemosyne) ผู้เป็นเทพีแห่งความจำ (รากเดียวกับคำว่า mnemonics ที่หมายถึงเครื่องมือช่วยจำ เช่น ไก่จิกเด็กตายบนปากโอ่ง ที่ใช้จำอักษรกลางในภาษาไทย เป็นต้น) กับเทพซุส แต่ละองค์เป็นผู้อุปถัมภ์ศิลปศาสตร์คนละแขนง เช่น ประวัติศาสตร์ ดนตรี การเต้นระบำ เป็นต้น

อันที่จริงแล้ว ภาษาอังกฤษยังเอาคำว่า muse มาใช้เรียก บุคคลหรือสิ่งของที่เป็นแรงบันดาลใจให้แก่ศิลปินได้ เช่น His girlfriend was his muse. ก็จะหมายถึงว่า ศิลปินคนนี้มีแฟนเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงาน นอกจากนั้น คำว่า muse นี้ยังใช้เป็นกริยาได้ด้วย หมายถึง คิดฟุ้ง รำพึงรำพัน เช่น Jack mused about what his life would be like if he had not met his wife. ก็คือ แจ็คนั่งครุ่นคิดว่าชีวิตจะเป็นอย่างไรหากไม่ได้เจอกับภรรยา

ทั้งนี้ นอกจากคำว่า museum แล้ว ชื่อของเทพีมิวส์ยังเป็นที่มาของคำว่า music ที่แปลว่า ดนตรี และ amusement ที่แปลว่า ความสนุกเพลิดเพลิน ด้วย

Aphrodisiac

คำนี้เป็นคำที่ใช้เรียก ยากระตุ้นกำหนัด เรียกแบบชาวบ้านก็คือ ยาปลุกเซ็กซ์ นั่นเอง มาจากชื่อเทพีอโฟรไดที (Aphrodite) หรือที่ชาวโรมันเรียกว่าวีนัส (Venus) 

การกำเนิดของเทพีองค์นี้ปรากฏในภาพเขียนที่โด่งดังมากของ Botticelli มีชื่อว่า The Birth of Venus แม้ในภาพจะเห็นเทพียืนเปลือยกายเจิดจรัสอยู่บนฝาหอย มีเทพยดาต่างๆ มาต้อนรับขับสู้ แต่ตามปกรณัมแล้ว เทพีองค์นี้ไม่ได้แค่ผุดขึ้นจากฟองอากาศกลางทะเลเฉยๆ แต่เกิดจากองคชาติของเทพไททันอูรานอส (Ouranos ชาวโรมันเรียกว่า ยูเรนัส Uranus) ที่ถูกโครนอส (Cronos ชาวโรมันเรียก แซเทิร์น Saturn) ตัดด้วยเคียวแล้วโยนลงทะเล

เทพีองค์นี้เป็นเทพีแห่งความรักใคร่เชิงชู้สาวและกามารมณ์ มีวีรกรรมด้านกามกิจไม่น้อยเลยทีเดียว ถึงขนาดเคยถูกจับได้คาหนังคาเขาว่าสมสู่กับชู้ แต่นอกจากเรื่องเพศแล้ว เทพีอโฟรไดทียังมีส่วนในการจุดชนวนสงครามเมืองทรอยอันแสนโด่งดังด้วย

ในงานแต่งงานของกษัตริย์พีลีอุส (Peleus) กับนางพรายธีทิส (Thetis) ทวยเทพต่างก็ได้รับเชิญให้มาร่วมสังสรรค์แสดงความยินดีกับคู่บ่าวสาว แต่มีเทพีองค์หนึ่งที่ไม่ได้รับเชิญ คือ เทพีอีริส (Eris) เพราะเป็นเทพีแห่งความบาดหมาง พออีริสรู้เข้าก็เคือง จึงบุกไปงานพร้อมนำแอปเปิ้ลทองคำลูกหนึ่งโยนเข้าไปในงาน ปรากฏว่าแอปเปิ้ลลูกนี้สลักไว้ว่า “แด่ผู้ที่เลอโฉมที่สุด” สามเทพีใหญ่ ได้แก่ อโฟรไดที อธีนา (Athena) และเฮรา (Hera) จึงทะเลาะแย่งแอปเปิ้ลลูกนี้กัน เพราะต่างก็มั่นใจในความงามของตน

เมื่อเทพีตกลงกันไม่ได้ จึงพากันไปหาซุสเพื่อให้เป็นคนตัดสินเหมือนคณะกรรมการรอบชิงมิสยูนิเวิร์สก็ไม่ปาน สร้างความลำบากใจให้ซุสเป็นอย่างมาก เพราะเฮรานี่ก็ศรีภรรยา อธีนาก็ลูก ส่วนอโฟรไดทีนี่ก็มีฤทธิ์เดชไม่เบา หากผิดใจเดี๋ยวโดนบันดาลให้เกิดจิตปฏิพัทธ์กับสัตว์ประหลาดขึ้นมาจะทำยังไง ซุสก็เลยโบ้ยเรื่อง ส่งบรรดาเทพีไปให้มนุษย์คนหนึ่ง นามว่า แพริส (Paris) เป็นคนตัดสินให้

แน่นอนว่าศึกแห่งศักดิ์ศรีครั้งนี้ไม่มีใครยอมใคร เทพีแต่ละองค์คิดแล้วว่าหากแข่งแบบใสสะอาดอาจจะไม่ชนะ ติดสินบนกันเสียหน่อยแล้วกัน เทพีเฮราสัญญาว่าถ้าตัดสินให้ตนชนะ จะให้เป็นผู้มีอำนาจล้นฟ้า เป็นกษัตริย์ปกครองทั้งยุโรปไล่ไปจนถึงเอเชีย ส่วนอธีนาก็ไม่ยอมน้อยหน้า สัญญาว่าจะทำให้แพริสเป็นคนที่มีสติปัญญาและทักษะการรบล้ำเลิศ รบกับใครก็ชนะ อโฟรไดทีแม้จะมอบอำนาจให้แก่แพริสไม่ได้เหมือนเฮราและอธีนาได้ แต่นางมีพลังอำนาจด้านความรักใคร่ จึงสัญญากับแพริสว่าถ้าตัดสินให้ตนชนะ จะเสกให้แพริสได้หญิงที่งามที่สุดเป็นภรรยา

ในท้ายที่สุด แพริสก็ตัดสินให้อโฟรไดทีเป็นผู้ชนะและได้รับแอปเปิ้ลไป เมื่อการประชันความงามระหว่างบรรดาเทพีจบลง ก็ถึงคราวที่แพริสจะเดินทางออกไปนำหญิงที่งามที่สุดมาเป็นศรีภรรยา ซึ่งหญิงที่เลอโฉมที่สุดในโลกขณะนั้นก็คือ นางเฮเลน (Helen) ปัญหามาติดอยู่ตรงที่นางเฮเลนมีสามีแล้ว คือ เมเนเลอุส (Menelaus) เมื่อพาริสนำตัวนางเฮเลนกลับเมืองทรอยไปกับตน ฝ่ายเมเนเลอุสจึงต้องรวบรวมไพร่พลยกศึกไปชิงภรรยาคืน เกิดเป็นศึกชิงนางครั้งยิ่งใหญ่ที่เรารู้จักกันในนามสงครามเมืองทรอยนั่นเอง

เนื่องจากเทพีองค์นี้เป็นเทพีแห่งความรักชู้สาวและเพศสัมพันธ์ จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่ชื่อของเทพีองค์นี้จะถูกนำไปใช้เรียกยาปลุกเซ็กซ์ รวมไปถึงสำนวนต่างๆ ที่เกี่ยวกับเพศสัมพันธ์ เช่น the service of Venus เป็นสำนวนโบราณหมายถึง การมีอะไรอย่างว่า และ คำว่า venereal disease ที่หมายถึง โรคติดต่อทางเพศ (ปัจจุบันนิยมคำว่า sexual transmitted infection หรือ STI มากกว่า) 

 

บรรณานุกรม

Addis, Ferdie. Opening Pandora’s Box: Phrases We Borrowed from the Classics and the Stories behind Them. Michael O’ Mara Books: London, 2010.

American Heritage Dictionary of the English Language

Ayto, John. Word Origin: The Hidden Histories of English Words from A to Z. 2nd ed. A&C Black: London, 2008.

Hamilton, Edith. Mythology: Timeless Tales of Gods and Heroes. Grand Central Publishing: New York, 1999.

March, Jenny. The Penguin Book of Classical Myths. Penguin Books: London, 2009.

Merriam-Webster Dictionary

Nurnberg, Maxwell, and Morris Rosenblum. All About Words: An Adult Approach to Vocabulary Building. Signet Reference Books: New York, 1968.

Oxford Advanced Learners’ Dictionary

Shorter Oxford English Dictionary

The Merriam-Webster New Book of Word Histories. Merriam-Webster, 1991.

Tags: , , , ,