หลังจากที่ภาพยนตร์ Avatar ภาคแรกของผู้กำกับเจมส์ แคเมรอน (James Cameron) เข้าฉายในปี 2009 และกวาดรางวัลต่างๆ ไปมากมาย ในที่สุด 13 ปีให้หลัง Avatar ภาคสองก็ได้ฤกษ์เข้าโรงให้ทุกคนได้ชมเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา

แน่นอนว่าเมื่อได้ยินชื่อภาพยนตร์เรื่องนี้แล้ว คนส่วนใหญ่คงเชื่อมโยงเข้ากับคำว่า อวตาร ในภาษาไทยได้ทันที เพราะทั้ง avatar และ อวตาร มาจากคำเดียวกันในภาษาสันสกฤต

ที่น่าสนใจก็คือ เราอาจไม่เคยคิดมาก่อนว่าภาษาสันสกฤตจะไปโผล่หรือเป็นที่มาของคำในภาษาอังกฤษได้ เพราะความห่างไกลทั้งด้านภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรม แต่อันที่จริงแล้ว ในภาษาอังกฤษยังมีอีกหลายคำที่มาจากภาษาสันสกฤต เช่นที่เคยได้นำเสนอไปแล้ว เช่น orange (https://themomentum.co/orange-word-odyssey/), chess (https://themomentum.co/words-of-chess/) และ punch (https://themomentum.co/numbers-word-origin/)

 สัปดาห์นี้ Word Odyssey ขอโหนกระแสภาพยนตร์เรื่อง Avatar ภาคสอง พาทุกคนไปดูที่มาของชื่อภาพยนตร์นี้ พร้อมสำรวจคำอื่นๆ ในภาษาอังกฤษที่เราอาจไม่เคยรู้เลยว่ามีต้นกำเนิดมาจากภาษาสันสกฤต

[1]

Avatar

คำนี้หลายคนแค่เห็นหรือลองออกเสียงดูก็รู้ทันทีว่าตรงกับคำว่า อวตาร ในภาษาไทย นั่นก็เพราะทั้งไทยและอังกฤตต่างก็ยืมคำนี้มาจากคำว่า อวตาร (अवतार) ในภาษาสันสกฤต สร้างจาก ตร ธาตุ (√तॄ) แปลว่า ข้าม ได้ความหมายว่า ข้ามลงไป ใช้เวลาที่เทพแบ่งภาคมาเกิดบนโลก อย่างเช่น พระรามก็ถือเป็นอวตารปางหนึ่งของพระวิษณุ เป็นต้น

ส่วนที่ภาพยนตร์เรื่อง Avatar ถูกตั้งชื่อแบบนี้ ผู้กำกับเจมส์ แคเมรอน (James Cameron) ให้สัมภาษณ์ไว้ว่าเพราะในเรื่องมนุษย์มีเทคโนโลยีที่ทำให้นำสติปัญญาของมนุษย์ไปใส่ในร่างที่อยู่ในสถานที่ที่ห่างไกลออกไปได้ คล้ายกับที่เทพฮินดูลงมาจุติบนโลกและมีร่างกายที่มีเนื้อหนังมังสา

ทั้งนี้ คำว่า avatar ในภาษาอังกฤษ นอกจากจะใช้พูดถึงการอวตารของเทพฮินดูได้แล้ว ยังถูกนำมาใช้ในบริบททั่วไป หมายถึง ตัวแทน ภาพแทน เช่น Trump is an avatar of hate. ก็คือ ทรัมป์เป็นตัวแทนของความเกลียดชัง นอกจากนั้น คำนี้ยังถูกนำไปใช้ในแวดวงคอมพิวเตอร์ หมายถึง ไอคอนหรือรูปที่เป็นตัวแทนของผู้ใช้ในโลกออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นในโปรแกรมแชทหรือในเกมต่างๆ (ซึ่งในความหมายนี้ คณะกรรมการจัดทำพจนานุกรมศัพท์คอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศของราชบัณฑิตยสภา ได้บัญญัติตัวสะกดไว้ว่า อวทาร์)

ส่วนเรื่องการออกเสียง ในภาษาอังกฤษมักออกเสียงว่า แอฟเวอะทาร์ (ลงเสียงหนักพยางค์แรก) แต่หากใครอยากเรียกชื่อภาพยนตร์นี้ว่า อวตาร แบบที่เราคุ้นชินกันในภาษาไทย ก็ไม่น่าจะผิดหรือสร้างความสับสนแต่อย่างใด

[2]

Mandarin

เวลาเห็นคำว่า Mandarin หลายคนน่าจะนึกถึงภาษาจีนกลาง (เรียกว่า Mandarin Chinese ก็ได้) หรือไม่ก็ส้มแมนดาริน (เรียกเต็มๆ ว่า mandarin orange ก็ได้) แต่ที่หลายคนอาจไม่ทราบก็คือคำนี้เป็นคำที่ใช้เรียกข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่รัฐชั้นสูงของจีนในอดีตด้วย

อีกเรื่องหนึ่งที่อาจสร้างความเซอร์ไพรส์ให้หลายคนไม่น้อยคือที่มาของคำนี้ ซึ่งมีบันทึกในภาษาอังกฤษครั้งแรกในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 16 มาจากคำว่า mandarim ในภาษาโปรตุเกสที่หมายถึง เจ้าหน้าที่รัฐชาวจีน ซึ่งโปรตุเกสไปยืมมาจากคำว่า menteri ในภาษามาเลย์มาอีกทอด แต่ความเก๋ที่สุดก็คือ คำว่า menteri นี้ ท้ายที่สุดแล้วก็มาจากคำว่า mantri หรือมนตรี (मन्त्री) ในภาษาสันสกฤต ที่หมายถึง ที่ปรึกษา นั่นเอง (ซึ่งรากเดียวกับ mantra หรือมนตรา และเป็นญาติกับคำว่า mantis ในภาษาอังกฤษด้วย อ่านเพิ่มเติมที่นี่: https://themomentum.co/unusual-words-word-odyssey/)

ส่วนที่ mandarin กลายมาเป็นชื่อส้มด้วยนั้น เพิ่งมาเริ่มในคริสต์ศตวรรษที่ 18 ว่ากันว่าอาจเป็นเพราะสีเปลือกส้มคล้ายกับสีเสื้อคลุมที่บรรดาข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในจีนใส่กันในสมัยนั้น

[3]

Candy

คำว่า candy นี้ แต่ก่อนภาษาอังกฤษพูดเต็มๆ ว่า sugar candy และรับมาจากภาษาฝรั่งเศสยุคกลาง sucre candi ใช้หมายถึงน้ำตาลที่นำไปเคี่ยวแล้วปล่อยให้เย็นและแข็งจับตัวเป็นก้อน แต่หากสืบย้อนกลับไปอีกจะพบว่าฝรั่งเศสรับคำนี้มาจาก sukkar qandi ในภาษาเปอร์เซีย และคำว่า qandi นี้ก็มาว่ากันว่ามาจากคำว่า ขณฺฑ (खण्ड) ในภาษาสันสกฤต ที่หมายถึง น้ำตาลกรวด และเป็นที่มาของคำว่า ขัณฑสกร ในภาษาไทย นั่นเอง

ทั้งนี้ คำว่า sugar เองก็ย้อนผ่านภาษาฝรั่งเศสและเปอร์เซียกลับไปได้ถึงคำว่า ศรฺกรา (शर्करा) ในภาษาสันสกฤต หมายถึง กรวด ทราย น้ำตาลกรวด น้ำตาลทราย ซึ่งเป็นที่มาของ สกร ในคำว่า ขัณฑสกร ในภาษาไทย ทั้งยังเป็นที่มาของคำว่า saccharin (ขัณฑสกร) saccharine (หวานอย่างน้ำตาล) และ saccharide (น้ำตาล) ด้วย

ปัจจุบัน คำว่า candy ไม่ได้ใช้เรียกน้ำตาล แต่ใช้เรียกลูกกวาดหรือขนมหวานทั้งหลาย (แม้แต่ช็อกโกแลตก็เรียกว่า candy ได้) ทั้งยังใช้เรียกคนก็ได้ในสำนวนอย่าง eye candy (คนหน้าตาดีที่ดูแล้วเพลิดเพลินตา) และ arm candy (คนหน้าตาที่ดีที่เราควงแขนพาไปออกงาน)

[4]

Musk

คำนี้ใช้เรียกกลิ่นชะมด ซึ่งเป็นสารที่ใช้ทำน้ำหอมมาตั้งแต่สมัยโบราณ แต่เดิมได้มาจากต่อมกลิ่นของกวางชะมด แต่ในปัจจุบันมีทั้งที่สกัดจากพืชและสังเคราะห์ขึ้น

คำว่า musk นี้ สืบสาวย้อนกลับไปได้ถึงคำว่า มุษฺก (मुष्क) ในภาษาสันสกฤต แปลว่า อัณฑะ ที่ได้ชื่อแบบนี้ก็เพราะคนโบราณเห็นว่าต่อมกลิ่นนี้รูปร่างหน้าตาคล้ายถุงอัณฑะ

ส่วนคำว่า มุษฺก (मुष्क) ที่แปลว่า อัณฑะ นี้ จริงๆ แล้วแปลตรงตัวได้ว่า หนูตัวจิ๋ว มาจาก มูษฺ (मूष् ) ที่แปลว่า หนู (เป็นญาติกับคำว่า มุสิก ในภาษาไทย) ว่ากันว่าที่หนูกับอัณฑะมาเกี่ยวกันได้ ก็เพราะคนโบราณมองว่าอวัยวะนั้นหน้าตาคล้ายหนูตัวเล็กๆ

เท่านั้นไม่พอ คำว่า มูษฺ (मूष् ) ที่แปลว่า หนู นี้ ก็ยังสืบย้อนกลับไปได้ถึงราก *muh2s ในภาษาโปรโตอินโดยูโรเปียน (Proto Indo-European) ที่แปลว่า หนู และเป็นที่มาของคำว่า mouse ในภาษาอังกฤษด้วย แปลว่า musk และ mouse เป็นญาติห่างๆ จากคนละฟากของตระกูลนั่นเอง

[5]

Juggernaut

หลายคนอาจเคยเห็นคำนี้จากชื่อตัวละคร Juggernaut ในการ์ตูน X-Men ผู้เป็นน้องชายต่างแม่ของศาสตราจารย์ชาร์ลส์ เอ็กซ์เซเวียร์ (Charles Xavier) และมีพละกำลังเหนือมนุษย์ แถมเมื่อพุ่งตัวเคลื่อนที่แล้ว ก็จะไม่มีอะไรมาหยุดยั้งได้ แต่อันที่จริงแล้ว คำนี้ไม่ได้แค่เป็นชื่อตัวละคร แต่ยังเป็นคำที่ใช้จริงในภาษาอังกฤษด้วย หมายถึง สิ่งที่ทรงพลัง ไม่มีใครหยุดยั้งได้และพร้อมบดขยี้ทุกสิ่งที่ขวางทาง ตัวอย่างเช่น Apple is a tech juggernaut. ก็คือ บริษัทแอปเปิ้ลเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ทรงพลังด้านเทคโนโลยี

คำนี้มีที่มาจากชื่อพระชคันนาถ (जगन्नाथ) ในภาษาสันสกฤต เป็นปางหนึ่งของพระกฤษณะหรือพระวิษณุ ประกอบขึ้น ชคตฺ (जगत्) แปลว่า โลก กับ‎ นาถ (नाथ) แปลว่า ที่พึ่ง ผู้เป็นที่พึ่ง

ในแต่ละปี รัฐทางตะวันออกของอินเดียจะจัดงานรถยาตรา (रथयात्रा) เพื่อสักการะพระชคันนาถ โดยนำรูปเคารพพระชคันนาถขึ้นประดิษฐานบนราชรถขนาดใหญ่ (บางครั้งสูงกว่า 10 เมตร) แล้วจัดขบวนแห่ให้ผู้คนได้สักการะ ทั้งนี้ เนื่องจากบันทึกชาวยุโรปสมัยก่อนเขียนไว้ว่า ผู้คนที่สักการะพระชคันนาถจะสังเวยตนเองด้วยการนอนลงบนพื้นให้รถแห่ทับ (ซึ่งไม่น่าเป็นเรื่องจริง) ชื่อของเทพชคันนาถจึงถูกนำไปใช้ในภาษาอังกฤษในเชิงเปรียบเปรยเพื่อเรียกอะไรก็ตามที่ทรงพลังและเคลื่อนที่ไปข้างหน้าบดขยี้ทุกสิ่งที่ขวางทางอย่างไม่หยุดยั้ง

 

บรรณานุกรม

http://oed.com/

https://www.thai-sanscript.com/

https://content.time.com/time/arts/article/0,8599,1576622,00.html

http://legacy.orst.go.th/?knowledges=%E0%B8%AD%E0%B8%A7%E0%B8%95%E0%B8%B2%E0%B8%A3-%E0%B9%92%E0%B9%94-%E0%B8%81%E0%B8%B8%E0%B8%A1%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%9E%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%98%E0%B9%8C-%E0%B9%92%E0%B9%95%E0%B9%95%E0%B9%93

https://www.facebook.com/RatchabanditThai/photos/avatar%E0%B8%AD%E0%B8%A7%E0%B8%97%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%8C%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B8%9B%E0%B9%81%E0%B8%97%E0%B8%99%E0%B8%95%E0%B8%B1%E0%B8%A7%E0%B8%9C%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B9%83%E0%B8%8A%E0%B9%89%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B9%82%E0%B8%A5%E0%B8%81%E0%B9%80%E0%B8%AA%E0%B8%A1%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B8%AB%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%A1-%E0%B8%8B%E0%B8%B6%E0%B9%88%E0%B8%87%E0%B8%AD%E0%B8%B2%E0%B8%88%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B9%87%E0%B8%99%E0%B8%AA%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%A1%E0%B8%B4%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%AB%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%A1%E0%B8%B4%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%81%E0%B9%87%E0%B9%84%E0%B8%94%E0%B9%89/2527570837300996/

 

American Heritage Dictionary of the English Language

 

Ayto, John. Word Origin: The Hidden Histories of English Words from A to Z. 2nd ed. A&C Black: London, 2008.

 

Merriam-Webster Dictionary

 

Oxford Advanced Learners’ Dictionary

 

Shorter Oxford English Dictionary

 

The Merriam-Webster New Book of Word Histories. Merriam-Webster, 1991.

Tags: , ,