คนเรามักใช้สิ่งที่ตัวเองรู้จักคุ้นเคยเป็นบรรทัดฐานโดยไม่รู้ตัวกับแทบทุกเรื่อง เช่น คนไทยเห็นชาวอเมริกันใส่รองเท้าเดินในบ้านก็อาจมองเป็นเรื่องแปลก เพราะโดยปกติคนไทยถอดรองเท้าก่อนเข้าบ้าน หรือคนขับแท็กซี่ภูเก็ตอาจไม่คิดว่าค่าโดยสารที่ตัวเองคิดแพงเพราะปกติตัวเองก็คิดราคานี้

แม้แต่เรื่องภาษา เราก็มักใช้ภาษาที่เราคุ้นเคย ไม่ว่าจะเป็นภาษาแม่หรือภาษาที่สองหรือสามที่เราเรียนจนคุ้นชินเป็นมาตรฐาน จนบางครั้งหลงคิดไปว่าลักษณะต่างๆ ที่เราพบในภาษาเหล่านี้เป็นเรื่องปกติสากล โดยเฉพาะกับภาษาอังกฤษที่แสนทรงอิทธิพล หลายคนก็อาจจะคิดว่าลักษณะที่ผิดแผกไปจากภาษาอังกฤษถือเป็นเรื่องผิดปกติ เช่น รูปประโยคต้องเรียงลำดับ ประธาน กริยา กรรม หากเรียงแบบอื่นถือว่าเป็นภาษาส่วนน้อย

แต่เมื่อเราซูมออกมามองภาพกว้างและพิจารณาภาษาทั่วโลก เราจะพบว่า อันที่จริงแล้ว ลักษณะหลายๆ อย่างในภาษาอังกฤษเป็นสิ่งที่ผิดไปจากภาษาอื่นๆ โดยรวมต่างหาก

สัปดาห์นี้ Word Odyssey จะขอพาไปดูลักษณะในภาษาอังกฤษที่เราอาจคิดว่าพบได้ในภาษาทั่วไป แต่แท้จริงแล้วแทบจะไม่ค่อยพบเจอในภาษาอื่นๆ ทั่วโลก

เสียง th แสนประหลาด

เสียง th ที่ว่านี้ คือเสียงที่โดยส่วนใหญ่แล้วจะออกด้วยการแลบปลายลิ้นออกมาระหว่างฟันหน้าแล้วพ่นลมให้เสียดแทรกผ่านร่องฟันรอบๆ ปลายลิ้น แบบเสียง th แบบในคำว่า thick (เป็นเสียงไม่ก้อง ถ่ายเสียงด้วยตัวสัทอักษรได้ว่า /θɪk/) และคำว่า this (เป็นเสียงก้อง ถ่ายเสียงด้วยสัทอักษรได้ว่า /ðɪs/)

เสียงนี้นับได้ว่าเป็นไม้เบื่อไม้เมากับคนไทยที่เรียนภาษาอังกฤษจำนวนมาก เนื่องจากภาษาไทยโดยปกติไม่มีเสียงนี้ (เว้นแต่คนที่พูด ส เสือ แบบแลบปลายลิ้นออกมาระหว่างฟันหน้า แบบนี้ก็อาจจะกำลังออกเสียง th แบบไม่รู้ตัว)

แต่สิ่งที่หลายคนอาจไม่รู้ก็คือ ผู้เรียนภาษาอังกฤษที่ใช้ภาษาอื่นเป็นภาษาแม่จำนวนมากก็ลำบากลำบนกับการออกเสียงนี้เช่นกัน ยกตัวอย่างเช่นคำว่า the ชาวฝรั่งเศสก็มักแทนเสียง th ด้วยเสียง z ส่วนชาวญี่ปุ่นก็ถ่ายเสียงว่า za (ザ) หรือถ้าเป็นชาวเกาหลีก็อาจจะใช้เสียงคล้ายๆ ท (더)

ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะเสียงนี้เป็นเสียงที่พบได้น้อยมากในภาษาทั่วโลก จากการสำรวจภาษาทั้งหมด 567 ภาษาของ WALS* พบว่าภาษาอังกฤษเป็นหนึ่งในเพียง 40 ภาษาหรือเพียง 7% เท่านั้นที่มีเสียง th ส่วนการสำรวจของ Phoible** พบว่าจากภาษา 2,186 ภาษา มีเพียงราว 5% เท่านั้นที่มีเสียง th ที่ว่านี้

ภาษาอื่นๆ ที่มีเสียงนี้ก็เช่น ภาษาสเปนที่พูดในสเปน (ในอเมริกาใต้ไม่ใช้เสียงนี้) ภาษากรีก ส่วนในละแวกบ้านเรา ก็จะมีภาษาพม่าที่มีเสียงนี้

*แผนที่โครงสร้างภาษาทั่วโลก หรือ The World Atlas of Language Structures (WALS) เป็นฐานข้อมูลลักษณะภาษาทั่วโลกที่รวบรวมจากเอกสารอ้างอิงเชิงวรรณนา (Descriptive) ต่างๆ สามารถเข้าไปลองดูกันได้ที่ https://wals.info/

**PHOIBLE เป็นฐานข้อมูลระบบสัทวิทยาของภาษา 2,186 ภาษาทั่วโลก มีการจัดอันดับว่าเสียงไหนพบได้มากน้อยและให้รายละเอียดว่าแต่ละเสียงพบได้ในภาษาอะไรบ้าง สามารถเข้าไปลองเล่นได้ที่ https://phoible.org/

จะสร้างคำถาม yes-no ที ต้องย้ายกริยาไปไว้หน้าประธาน

เวลาสร้างคำถามในภาษาไทย ที่เราต้องทำก็แค่แปะคำที่ใช้สร้างคำถามอย่าง “เหรอ” หรือ “ไหม” ต่อท้ายเข้าไป โดยไม่ต้องสลับตำแหน่งคำในประโยคให้ปวดหัว เช่น “แท็กซี่ภูเก็ตแพงเหรอ” หรือ “แท็กซี่ภูเก็ตแพงไหม

แต่ในภาษาอังกฤษ เวลาจะสร้างคำถาม โดยปกติแล้วเราจะต้องสลับเอากริยาช่วยขึ้นมาไว้ก่อนประธาน เช่น เปลี่ยนจาก You can say that again. เป็น Can you say that again?

ทั้งนี้ เราอาจจะเรียนภาษาอังกฤษมานานจนไม่รู้สึกว่าการสลับเอากริยาช่วยขึ้นมาวางหน้าประธานเพื่อสร้างคำถามแบบนี้ไม่ใช่เรื่องพิสดารอะไรที่ไหน แต่หากพิจารณาภาษาต่างๆ ทั่วโลก ต้องถือว่าภาษาอังกฤษมีความนอกคอกมากทีเดียวในแง่นี้ จากการสำรวจภาษา 955 ของ WALS พบว่าภาษาที่สร้างคำถามแบบนี้มีเพียงแค่ 13 ภาษาหรือประมาณ 1% เท่านั้นเอง

ทั้งนี้ ภาษาที่ใช้วิธีการนี้ส่วนใหญ่เป็นภาษาตระกูลเจอร์แมนิก (Germanic) เช่น เยอรมัน

นอกจากการเติมคำสร้างคำถามเข้าไปข้างท้ายอย่างในภาษาไทยและการจับกริยาไปไว้หน้าประธานอย่างในภาษาอังกฤษแล้ว อีกวิธีหนึ่งที่หลายคนอาจจะเคยพบเจอมาบ้างก็คือการใช้ intonation หรือ ทำนองเสียง เช่น การใช้ทำนองเสียงขึ้น (rising intonation) ข้างท้ายประโยคในภาษาเกาหลีหรือภาษาสเปน

ภาษาอังกฤษซ้ำคำไม่ได้?

ในภาษาไทย เราสามารถใช้กระบวนการซ้ำ (reduplication) เพื่อซ้ำคำไว้ทำนู่นนี่ได้หลายอย่าง อาจจะใช้เพื่อเสริมความหมายให้เข้มขึ้น (ชอบมาก – ชอบมากๆ) ทำให้ความหมายเจือจางลง (ดำ – ดำๆ) บอกความเป็นพหูพจน์ (เด็ก – เด็กๆ) หรือใช้เสริมอารมณ์กึ่งๆ บ่น (คนดีอะไรกัน – คนดงคนดีอะไรกัน) และที่สำคัญก็คือ เรายังใช้กระบวนการนี้ได้กับคำหลากหลาย ไม่ได้จำกัดเฉพาะแค่คำที่ยกตัวอย่างไร (เรียกได้อีกอย่างว่า เป็นกระบวนการยัง productive หรือมีผลิตภาวะในภาษาไทยอยู่)

แต่ที่ยกตัวอย่างไปข้างบน ภาษาอังกฤษได้แต่มองตาปริบๆ เพราะกระบวนการนี้ไม่ได้เป็นกระบวนการที่ Productive ในภาษาอังกฤษในปัจจุบัน

แต่ทั้งนี้ ไม่ได้แปลว่าภาษาไทยมีความพิเศษแต่อย่างใด เพราะอันที่จริงแล้ว หากดูจากการสำรวจของ WALS จะพบว่าภาษาราว 85% ในโลกก็ใช้กระบวนการซ้ำแบบภาษาไทยได้ แต่ภาษาอังกฤษต่างหากที่เรียกได้ว่าเป็นส่วนน้อย คืออยู่ในส่วน 15% ที่กระบวนการซ้ำไม่ productive แล้ว (ภาษาอื่นที่อยู่ใน 15% ที่ว่านี้ส่วนใหญ่เป็นภาษายุโรป เช่น ฝรั่งเศส เยอรมัน สเปน โปรตุเกส อิตาเลียน)

ทั้งนี้ ภาษาอังกฤษก็มีกระบวนการซ้ำ เพียงแต่ไม่ productive แล้ว แปลว่า จะเจอเฉพาะในบางคำที่เคยสร้างด้วยกระบวนการนี้ แต่หยิบกระบวนการนี้มาสร้างคำใหม่ไม่ได้ ตัวอย่างเช่น เรามีคำอย่าง no-no (สิ่งที่ห้ามทำหรือไม่ควรทำ) fifty-fifty (แบ่งครึ่ง 50-50) pee-pee (ปัสสาวะ) แต่เราจะไปหยิบคำว่า white มาซ้ำเป็น white white เองแบบนี้ไม่ได้

นอกจาก การซ้ำรูปทั้งรูปแบบที่ยกตัวอย่างไป ในภาษาอังกฤษยังมีการซ้ำบางส่วนแบบเปลี่ยนเสียงพยัญชนะตัวหน้า เช่น easy-peasy (ง่ายดาย) super-duper (ยอดเยี่ยม) และ walkie-talkie (วิทยุสื่อสาร) และแบบเปลี่ยนเสียงสระด้วย เช่น chit-chat (เม้ามอย) knick-knack (สิ่งละอันพันละน้อย) และ tick-tock (เสียงติ๊กตอก)

 

Thailand’s economy vs. the economy of Thailand

โดยปกติ เวลาแสดงความเป็นเจ้าของในภาษาไทย เราจะพูดถึงสิ่งๆ นั้นก่อน แล้วค่อยพูดถึงเจ้าของสิ่งๆ นั้น โดยอาจมีคำว่า ‘ของ’ มาเชื่อม เช่น หนังสือ(ของ)ฉัน แฟน(ของ)พี่สาว (ต่างจากในภาษาอย่างจีนหรือญี่ปุ่นที่วางเจ้าของหน้าคำนาม)

แต่ในภาษาอังกฤษ นอกจากโครงสร้างแบบในภาษาไทยที่เอาเจ้าของไว้ด้านหลังแล้ว (เช่น the economy of Thailand) ยังมีโครงสร้างที่ทำให้เอาเจ้าของมาวางอยู่ด้านหน้าคำนามได้ด้วย นั่นก็คือการใช้ ’s แปะลงไปหลังเจ้าของ ก่อนจะนำไปวางหน้าคำนาม เช่น Thailand’s economy นั่นเอง

ที่น่าสนใจก็คือ จากข้อมูล 1,249 ภาษาของ WALS พบว่ามีแค่ 96 ภาษาหรือไม่ถึง 8% เท่านั้นที่มีโครงสร้างใช้แสดงความเป็นเจ้าของได้ทั้งแบบที่วางเจ้าของได้หน้าคำนามและหลังคำนาม

นอกจากภาษาอังกฤษแล้ว ภาษาอื่นในกลุ่มนี้ก็อย่างเช่น ภาษาบัลแกเรียนและภาษานอร์วีเจียน

 

I gave you my heart. vs. I gave my heart to you.

ในภาษาไทย เวลาจะพูดถึงการให้ของอะไรกับใคร โดยปกติแล้วโครงสร้างเดียวที่เราใช้ได้ก็คือ คำกริยาในกลุ่มที่หมายถึง ให้ (ซึ่งเป็นกริยาที่ต้องการกรรมสองตัว เรียกอีกอย่างว่า กริยาทวิกรรมหรือ ditransitive verb) ตามด้วยสิ่งของ (กรรมตรง) ตามด้วยผู้รับ (กรรมรอง) เช่น นักข่าวมอบ (กริยา) ฉายาเนติบริกร (กรรมตรง) ให้แก่วิษณุ เครืองาม (กรรมรอง)

แต่ในภาษาอังกฤษนั้น มีทั้งโครงสร้างที่เอากรรมตรงขึ้นก่อนกรรมรองแบบภาษาไทย คือ I gave my heart to you. และโครงสร้างที่เอากรรมรองมาวางหน้ากรรมตรงได้ คือ I gave you my heart. (ภาษาไทยทำแบบนี้ไม่ได้ ถ้าพูดว่า “ฉันให้เธอหัวใจ” คนฟังจะงงมาก)

โครงสร้างนี้ไม่ได้ใช้ได้แค่เฉพาะกับกริยา give เท่านั้น แต่ยังใช้กริยา ditransitive อื่นๆ ได้ เช่น cook (He cooked me breakfast. – He cooked breakfast for me.) หรือ send (He sent me a book. – He sent a book to me.) เป็นต้น

ทั้งนี้ ข้อมูลของ WALS พบว่าจากภาษาที่สำรวจทั้งหมด มีภาษาเพียงราว 10% ที่ใช้โครงสร้างได้สองแบบพอๆ กันกับกริยา ditransitive จึงต้องนับว่าภาษาอังกฤษเป็นภาษาส่วนน้อยในแง่นี้ ส่วนภาษาอื่นที่อยู่ในกลุ่มนี้ก็อย่างเช่น ภาษาจีนกลาง ภาษาตากาล็อก

 

บรรณานุกรม

https://wals.info/

https://phoible.org/

ราชบัณฑิตยสถาน. พจนานุกรมศัพท์ภาษาศาสตร์ (ภาษาศาสตร์ทั่วไป). ราชบัณฑิตยสถาน: กรุงเทพฯ, 2560.

Aarts, Bas, et al. The Oxford Dictionary of English Grammar. 2ed.  OUP: Oxford, 2014.

Bauer, Laurie, et al. The Oxford Reference Guide to English Morphology. OUP: Oxford, 2015.

Huddleston, Rodney, Geoffrey K. Pullum. The Cambridge Grammar of the English Language. CUP: Cambridge, 2002.

Jones, Daniel. Cambridge English Pronouncing Dictionary. Cambridge University Press: Cambridge, 2003.

Quirk, Randolph, et al. A Comprehensive Grammar of the English Language. London: Longman, 1985.

Tags: , , ,