เมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา ‘อุ๊งอิ๊ง’ แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย ได้แถลงเปิดตัวนโยบายพรรคเพื่อไทย 10 ประการ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 600 บาทภายในปี พ.ศ. 2570 และปรับให้ฐานเงินเดือนป.ตรีสำหรับบัณฑิตจบใหม่ขึ้นไปอยู่ที่ 25,000 บาท

นโยบายนี้ไม่เพียงแต่จะสร้างความฮือฮาในโลกออนไลน์เท่านั้น แต่ยังปลุกให้ภาคการเมืองกระสับกระส่าย ขยับตัวกันตั้งแต่นายกรัฐมนตรี ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ออกมาตั้งคำถามว่าจะทำได้จริงไหม ไปจนถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน สุชาติ ชมกลิ่น ที่ออกความเห็นว่านโยบายนี้อาจทำให้เกิดหายนะทางเศรษฐกิจได้ จนทำให้พรรคเพื่อไทยต้องออกมาตั้งโต๊ะแถลงอธิบายเพิ่มเติมอีกครั้ง

ไหนๆ เรื่องค่าแรงก็กำลังอยู่ในกระแสแล้ว สัปดาห์นี้ Word Odyssey ขอพาไปรู้จักกับคำในภาษาอังกฤษที่ใช้เรียกค่าตอบแทนรูปแบบต่างๆ พร้อมสำรวจที่มาที่ไปของคำเหล่านี้ว่าเกี่ยวข้องอย่างไรกับคำมั่นสัญญา เกลือ และสันติสุข

Wage

คำนี้โดยปกติแล้วใช้เรียกค่าจ้างประเภทที่คิดจากจำนวนชั่วโมงหรือวันที่ทำงาน (ต่างจากเหมารวมจ่ายในอัตราคงที่แบบเงินเดือน) อย่างค่าแรงรายวันขั้นต่ำก็เรียก daily minimum wage หรือค่าจ้างรายชั่วโมงแบบที่พนักงานตามร้านสะดวกซื้อหรือร้านอาหารได้รับ ก็เรียกว่า hourly wage ได้

ส่วนที่มาของคำว่า wage นั้น เราต้องย้อนกลับไปที่ต้นตอ คือคำว่า *wathjam ในภาษาเจอร์แมนิก หมายถึง คำมั่นสัญญา ประกัน คำนี้ภาษาฝรั่งเศสเก่าได้ยืมไปทำเป็นคำว่า gage ซึ่งภาษาอังกฤษได้ยืมมาอีกทอดหนึ่งและยังพบเห็นได้ในคำว่า engage ที่หมายถึง หมั้น (ความหมายยังเกี่ยวกับคำสัญญา เพราะการหมั้นคือการสัญญาว่าจะแต่งงานนั่นเอง)

แต่ความบันเทิงอยู่ตรงที่ว่า เสียง g ต้นคำในภาษาฝรั่งเศสเก่าหลายๆ คำ จะไปโผล่เป็นเสียง w ในภาษาฝรั่งเศสแบบอังโกลนอร์มัน (Anglo-Norman) ที่ชนชั้นปกครองเชื้อสายนอร์มันใช้กันในราชสำนักอังกฤษหลังจากที่ชาวนอร์มันพิชิตอังกฤษสำเร็จ (Norman Conquest) (อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่: https://themomentum.co/ed-sheeran-eng-words/) ด้วยเหตุนี้ คำว่า gage จึงไปโผล่เป็นคำว่า wage ในภาษาฝรั่งเศสแบบอังโกลนอร์มัน ก่อนที่ภาษาอังกฤษจะรับเข้ามา ทำให้เกิดคู่แฝด gage และ wage ในภาษาอังกฤษ

ส่วนที่ความหมายของคำว่า wage พัฒนาจากคำสัญญาไปเป็นค่าจ้างได้ ก็มาจากการที่นายจ้างสัญญาหรือวางหลักประกันว่าจะให้เงินตอบแทนต่อผู้รับจ้าง จนในที่สุดความหมายเปลี่ยนมามุ่งเฉพาะที่ตัวเงินและกลายเป็นค่าจ้างอย่างที่ใช้กันในปัจจุบัน

Salary

คำนี้ใช้เรียกเงินค่าตอบแทนที่เราได้รับคงที่ ไม่ว่าจะแบ่งแบบรายเดือนหรือคิดรวมทั้งปี (คนไทยเรามักใช้คำว่า salary เรียกเงินที่ได้รับแต่ละเดือน แต่จริงๆ แล้ว ฝรั่งมักใช้คำว่า salary หมายถึงเงินที่ได้รับรวมทั้งปี ส่วนเงินเดือนเรียก monthly salary)

ที่มาของคำว่า salary นี้ย้อนกลับไปได้ถึงคำว่า salarium ในภาษาละติน ซึ่งเป็นคำที่ใช้เรียกค่าตอบแทนที่ทหารในสมัยโรมันได้รับจากการปฏิบัติหน้าที่ แต่ที่น่าสนใจก็คือ คำว่า salarium นี้ มาจากคำว่า sal ที่แปลว่า เกลือ ในภาษาละตินอีกทอด ส่วนที่ค่าตอบแทนของทหารและเกลือมาเกี่ยวโยงกันได้ ก็เนื่องจากในสมัยนั้น เกลือนับเป็นสินค้าที่มีค่ามาก บางครั้งถึงขั้นรบราฆ่าฟันทำสงครามกันเพื่อแย่งชิงเกลือกันด้วยซ้ำ ด้วยเหตุนี้ จึงว่ากันว่าบางครั้งกองทัพก็จ่ายค่าตอบแทนทหารเป็นเกลือ แต่บ้างก็ว่าเงินที่เป็นค่าตอบแทนนี้ส่วนใหญ่ทหารก็นำไปใช้ซื้อเกลือ จึงเรียกเงินนี้ว่า ค่าเกลือ หรือ salarium นั่นเอง

ทั้งนี้ คำว่า sal ที่แปลว่า เกลือ ในภาษาละติน ยังเป็นที่มาของอีกหลายคำในภาษาอังกฤษ เช่น salad (สลัด) salami (ไส้กรอกซาลามี่) salsa (ซอสในอาหารเม็กซิกัน) หรือแม้แต่ sausage (ไส้กรอก) และ sauce (ซอส) ทำให้คำเหล่านี้ล้วนเป็นญาติกับ salary ทั้งสิ้น

Pay

อีกคำง่ายๆ ที่ใช้เรียกค่าจ้างหรือเงินเดือนได้ก็คือ pay เช่น I love my job, but the pay is terrible. ก็คือ รักงานนี้นะ แต่เงินค่าจ้างน้อยเหลือเกิน 

ที่มาของคำนี้น่าประหลาดใจไม่แพ้คำอื่น เพราะมีต้นกำเนิดมาจากคำกริยา pacere ในภาษาละตินที่แปลว่า ทำให้สงบ ทำให้พอใจ สร้างขึ้นจากคำว่า pax ในภาษาละตินที่แปลว่า ความสงบ ซึ่งเป็นที่มาของคำว่า peace (ความสงบ สันติสุข) และ pacify (ทำให้สงบ) ในภาษาอังกฤษ รวมถึงชื่อมหาสมุทรแปซิฟิก (Pacific) ด้วย

ทั้งนี้ วิธีการที่จะทำให้คนคนหนึ่งสงบลงหรือคลายโกรธก็ขึ้นอยู่กับคนคนนั้นเป็นใคร เช่น หากเป็นเด็ก เราก็อาจจะให้ขนมหรือของเล่น แต่หากเป็นเจ้าหนี้หรือคนที่ทำงานให้เราแต่ยังไม่ได้ค่าตอบแทน วิธีที่จะทำให้คนคนนั้นหายโมโหและสงบลงได้ก็ต้องเป็นการจ่ายเงินส่วนที่ติดค้างไว้ ด้วยเหตุนี้ ความหมายเดิมของคำว่า pay ที่แปลว่า ทำให้สงบ ทำให้พอใจ จึงค่อยๆ ถูกแทนที่ด้วยความหมายใหม่ หมายถึง จ่ายเงิน ชำระเงิน อย่างที่เราใช้กันในปัจจุบัน และเมื่อนำมาใช้เป็นคำนาม จึงหมายถึง เงินค่าจ้างที่จ่ายให้กับผู้ถูกว่าจ้าง นั่นเอง

Compensation

คำนี้นอกจากจะหมายถึง ค่าชดเชยความเสียหาย ยังใช้หมายถึง ค่าตอบแทนจากการทำงาน ได้ด้วย โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา เช่น fair compensation (ค่าตอบแทนที่เป็นธรรม) ซึ่งค่าตอบแทนในที่นี้ไม่ได้หมายถึงเฉพาะเงินเดือนเท่านั้น แต่หมายรวมไปถึงค่าล่วงเวลา ค่าคอมมิชชัน และค่าอื่นๆ ที่เราควรได้จากการทำงานด้วย

คำนี้มาจากกริยา compensare ในภาษาละติน ซึ่งมีส่วนประกอบคือส่วนเติมหน้า com- ที่แปลว่า ด้วยกัน และคำว่า pensare ที่แปลว่า แขวน ชั่ง รวมแล้วหมายถึง การชั่งของสองสิ่งให้สมดุลกัน (อาจจะต้องจินตนาการว่ากำลังใช้ตราชั่งโบราณที่มีจานสองฝั่งและตราชั่งจะสมดุลเมื่อน้ำหนักสองข้างเท่ากัน) ด้วยเหตุนี้ คำนี้จึงถูกนำมาใช้หมายถึง การชดเชยให้เทียบเท่าหักล้างกับความเสียหายที่เกิดขึ้น

ในเวลาต่อมา คำนี้ก็เริ่มถูกนำมาใช้ในบริบทการทำงานด้วย หมายถึง การจ่ายค่าตอบแทนให้เสมอเทียบเท่ากับที่ลงแรงไป ทำให้เกิดเป็นคำว่า compensation ที่แปลว่า ค่าตอบแทน 

ทั้งนี้ คำว่า compensation ไม่ได้เป็นเรื่องของเงินแต่เพียงอย่างเดียว เพราะในทางจิตวิทยายังใช้คำนี้หมายถึง การชดเชยหรือทดแทนทางด้านจิตใจ ด้วย เช่น คนที่ไม่เอาไหนเรื่องกีฬาเลยก็อาจไปทุ่มเทกับวิชาการเพื่อเป็นการชดเชยกัน เป็นต้น

Remuneration

คำนี้เป็นคำทางการที่ใช้เรียกค่าตอบแทน พบเห็นได้ตามเอกสารทางการและชื่อคณะกรรมการตามบริษัทใหญ่ๆ เช่น the remuneration committee (คณะกรรมการกำหนดค่าตอบแทน)

ต้นตอของคำนี้มาจากคำว่า remunerationem ในภาษาละติน หมายถึง การจ่ายคืน การตอบแทน การจ่ายค่าจ้างตอบแทนแรงงาน ประกอบด้วยส่วนเติมหน้า re- ที่แปลว่า ย้อนกลับ มารวมกับกริยา munerari ที่แปลว่า ให้ ซึ่งมาจากคำนาม munus ที่แปลว่า ของขวัญ (มีญาติในภาษาอังกฤษคือคำว่า munificent ที่แปลว่า เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ใจบุญสุนทาน)

ที่น่าสนใจคือ munus ที่แปลว่า ของขวัญ และเป็นส่วนประกอบของ remuneration นี้ ยังมีอีกความหมายด้วย แปลว่า ตำแหน่ง หน้าที่ ความรับผิดชอบ ซึ่งพบได้ในคำภาษาอังกฤษหลายคำ เช่น municipality (เทศบาล) common (ส่วนรวม) และ immune (พ้นจากความรับผิดชอบ ยกเว้น ต้านทานโรค) เป็นต้น

บรรณานุกรม

http://oed.com/

American Heritage Dictionary of the English Language

Ayto, John. Word Origin: The Hidden Histories of English Words from A to Z. 2nd ed. A&C Black: London, 2008.

Merriam-Webster Dictionary

Oxford Advanced Learners’ Dictionary

Shorter Oxford English Dictionary

The Merriam-Webster New Book of Word Histories. Merriam-Webster, 1991.

 

Tags: , , ,