หลังจากดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศไทยมา 8 ปีกว่า ในที่สุดก็ถึงคราวที่ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะต้องยุบสภาและประกาศให้มีการเลือกตั้งทั่วประเทศ

แม้ว่าพลเอกประยุทธ์ จะยังลีลาไม่เผยวันที่จะยุบสภาแน่ชัด แต่เนื่องจากรัฐบาลจะหมดวาระ 4 ปีในวันที่ 23 มีนาคมที่จะถึงนี้ (หรืออีกไม่ถึงสองสัปดาห์) ดังนั้นหากว่ากันด้วยกรอบเวลาแล้ว ยังไงช่วงนี้ก็ถือว่าเป็นช่วงปิดฉากส่งท้ายหรือช่วงทิ้งทวนของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์

ดังนั้น เพื่ออำลาส่งท้ายช่วง ‘บั้นปลาย’ ของรัฐบาลนี้ ในสัปดาห์นี้ Word Odyssey ขอพาไปดูสำนวนต่างๆ ในภาษาอังกฤษที่นำมาใช้พูดถึงการปิดฉากส่งท้ายได้

Curtain call – ปิดฉาก

หากใครเคยดูละครเวที ก็อาจเคยเห็นว่าเมื่อการแสดงจบลงแล้ว บรรดานักแสดงก็จะออกมาปรากฏตัวหน้าฉากต่อหน้าผู้ชม นับเป็นขั้นตอนสุดท้ายก่อนที่การแสดงจะจบลงโดยสมบูรณ์

ด้วยเหตุนี้ ขั้นตอนการเดินมาแสดงตัวหน้าม่านในช่วงสุดท้ายของการแสดงจึงถูกนำมาใช้เป็นสำนวน หมายถึง การปิดฉาก การทำอะไรส่งท้ายทิ้งทวน ตัวอย่างเช่น หากเราคาดหวังไม่อยากให้พลเอกประยุทธ์ กลับมาเป็นทำงานการเมืองหลังยุบสภาอีก เราก็อาจพูดว่า I hope this is a curtain call for Prayuth’s political career.

อีกสำนวนที่คล้ายกันคือ final act หรือ last act ทำนองว่าเป็นละครองค์สุดท้าย ไม่มีฉากหรือองค์ต่อจากนี้อีกแล้ว เมื่อจบองค์นี้ ก็คือละครจบบริบูรณ์แล้ว

Swan song – ทิ้งทวน

ในวัฒนธรรมตะวันตก หงส์ถือเป็นสัญลักษณ์ของความสง่างามเนื่องจากขนขาวนวลและคอชูระหง อีกทั้งยังเป็นสัญลักษณ์แห่งความรักเดียวใจเดียว เพราะเชื่อกันว่าหงส์กินอยู่กับคู่ตัวเดียวไปทั้งชีวิต

นอกจากนั้น ย้อนกลับไปในสมัยกรีกโบราณ คนยังเชื่อกันด้วยว่า หงส์บางชนิดไม่ส่งเสียงตลอดชีวิต แต่ก่อนตายจะส่งเสียงร้องไพเราะส่งท้าย ในภาษาอังกฤษเรียกว่า swan song (เขียนติดกันว่า swansong ก็ได้)

ด้วยความที่เสียงร้องแสนไพเราะนี้จะได้ยินก็ต่อเมื่อหงส์กำลังจะตายแล้วเท่านั้น คำว่า swan song จึงถูกนำมาใช้เป็นสำนวนเรียกผลงานทิ้งทวนสุดท้ายของศิลปินหรือนักแสดงก่อนจะลาวงการหรือเสียชีวิต ตัวอย่างเช่น หากพรรคการเมืองเก่าแก่พรรคหนึ่งอุตส่าห์ออกเพลงใหม่แกะกล่อง เกณฑ์คนในพรรคมาทำเอ็มวี เพื่อหวังฉุดคะแนนนิยมที่ตกฮวบลงจนน่าใจหาย แต่ท้ายที่สุดพรรคก็ไปไม่รอด ไม่เหลือพื้นที่ทางการเมือง เพราะคนเสื่อมความนิยมแล้วโดยสมบูรณ์ แบบนี้เราก็อาจพูดว่า Who would have thought that MV would have been their swan song? ก็คือ ใครจะไปคิดว่าเอ็มวีนั้นจะเป็นผลงานสั่งเสียชิ้นสุดท้าย 

Last hurrah – ส่งท้าย

คำว่า hurrah (ออกเสียงว่า เฮอะรา หรือ ฮุรา ก็ได้) เป็นอีกเวอร์ชันหนึ่งของคำว่า hooray ซึ่งเป็นเสียงที่ใช้ร้องแสดงความยินดีหรือสร้างขวัญกำลังใจ คล้ายๆ กับไชโยในภาษาไทย

สำนวน last hurrah นี้มาจากชื่อนิยาย The Last Hurrah ที่นักเขียน Edwin O’Connor แต่งขึ้นปีค.ศ. 1956 เป็นเรื่องของผู้ลงรับสมัครเลือกตั้งเป็นนายกเทศมนตรีเป็นครั้งสุดท้ายในชีวิตการเมืองของตน ทำนองว่าเป็นโอกาสที่ตัวเอกคนนี้จะได้รับชัยชนะและส่งเสียงแสดงความดีใจเฉลิมฉลองเป็นครั้งสุดท้าย

ด้วยเหตุนี้ ชื่อของหนังสือนี้จึงกลายมาเป็นสำนวนที่ใช้พูดถึงการทำอะไรทิ้งทวนส่งท้าย โดยเฉพาะในแวดวงการเมือง ตัวอย่างเช่น หากนักการเมืองคนหนึ่งประกาศว่าจะลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นครั้งสุดท้าย หากไม่ชนะก็จะล้างมือจากวงการการเมืองกลับไปอยู่บ้านปลูกต้นไม้แล้ว แบบนี้เราก็อาจจะพูดว่า She’s hoping to have one last hurrah. หรือหากนักแสดงที่ร้างราวงการไปวงการไปนานกลับมารับบทในละครให้แฟนๆ หายคิดถึงอีกครั้งเป็นคราวสุดท้าย แบบนี้ก็อาจจะพูดว่า The actor is back for one last hurrah on the show.

End of the road – สุดทาง

ในภาษาอังกฤษ เส้นทางหรือถนนหนทางมักถูกนำมาใช้ในเชิงเปรียบเปรยเพื่อพูดถึงสิ่งต่างๆ ที่มีการดำเนินไปข้างหน้า เช่น การเลื่อนตำแหน่งงานที่สูงขึ้นในหน้าที่การงาน ในภาษาอังกฤษก็เรียกว่า career path เพราะว่ามองตำแหน่งเหล่านี้เรียงกันเหมือนเป็นเส้นทางให้เราเดินไปข้างหน้า หรือแม้แต่ชีวิตของคนเรา ในกลอน The Road Not Taken ที่แสนโด่งดังของกวีชาวอเมริกัน Robert Frost ก็เปรียบเทียบกับถนนหนทางที่คนเราเลือกเดินก้าวไป

ดังนั้น the end of the road จึงไม่ได้ใช้หมายถึง สุดสายถนน แบบตรงตัวได้แต่เพียงอย่างเดียว แต่ยังใช้ในเชิงเปรียบเปรย หมายถึง ช่วงสุดท้ายของสิ่งๆ หนึ่งที่ดำเนินมาได้สักครู่แล้ว เช่น หากผู้เข้าแข่งขันรายการแข่งร้องเพลงอุตส่าห์ฝ่าฟันเข้าไปได้ถึงรอบลึกๆ แล้ว แต่ดันมาตกรอบเอา แบบนี้ก็อาจพูดว่า It’s the end of the road for the contestant. ก็คือ สุดทางสำหรับผู้เข้าแข่งขันคนนี้แล้ว หรือหากคนสองคนคบกันมานานหลายปี แต่วันหนึ่งฝ่ายหนึ่งรู้สึกว่าไปกันต่อไม่ได้ อยากจบความสัมพันธ์ ก็อาจพูดว่า I think it’s the end of the road for us. ก็คือ เราไปต่อกันไม่ได้แล้วแหละ

Twilight – บั้นปลาย

ในเทพปกรณัมกรีก คำถามปริศนาหนึ่งที่โด่งดังมากคือปริศนาของสฟิงซ์ที่ว่า “สิ่งมีชีวิตอะไรเอ่ย ตอนเช้าเดินสี่ขา กลางวันเดินสองขา ตอนเย็นเดินสามขา” แน่นอนว่า คำตอบก็คือมนุษย์ เนื่องจากตอนเด็กคลานด้วยทั้งมือและเท้า โตเป็นผู้ใหญ่จึงเดินสองขา และเมื่อชราก็ต้องใช้ไม้เท้าค้ำยันเพิ่มเหมือนเป็นขาที่สาม

ปริศนานี้แสดงให้เห็นว่าบางครั้งช่วงต่างๆ ของวันก็ถูกนำมาเปรียบเทียบกับช่วงต่างๆ ในพัฒนาการของสิ่งๆ หนึ่ง คือเทียบช่วงเช้าที่เป็นช่วงเริ่มต้นวันกับจุดเริ่มต้นและเทียบช่วงกลางคืนซึ่งเป็นช่วงก่อนสิ้นวันกับจุดจบ 

ด้วยเหตุนี้ คำว่า twilight ที่แปลว่า ช่วงโพล้เพล้ใกล้หมดแสง จึงใช้ในเชิงเปรียบเปรยหมายถึง ช่วงบั้นปลาย ช่วงที่สิ่งหนึ่งใกล้จบหรือตายลง ได้ด้วย ตัวอย่างเช่น นักแสดงคนหนึ่งอาจเคยโด่งดังมาก แต่ตอนนี้เริ่มไม่ค่อยมีงาน แฟนคลับแทบไม่เหลือ เรียกได้ว่าเส้นทางสายอาชีพนักแสดงใกล้จบลง แบบนี้เราก็อาจพูดว่า He is in the twilight of his acting career. 

บรรณานุกรม:

http://oed.com/

Ammer, Christine. The American Heritage Dictionary of Idioms: American English Idiomatic Expressions & Phrases. 2nd ed. Houghton Mifflin Harcourt: Boston, 2013.

American Heritage Dictionary of the English Language

Longman Dictionary of Contemporary English

Longman Idioms Dictionary. Pearson: Essex, 2010.

Merriam-Webster Dictionary

Oxford Advanced Learners’ Dictionary

Oxford Idioms Dictionary for Learners of English. OUP: New York, 2006.

Shorter Oxford English Dictionary

Speake, Jennifer. Oxford Dictionary of Proverbs. Oxford University Press: Oxford, 2008.

Tags: ,