ในช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา ประเทศไทยชุ่มฉ่ำเป็นพิเศษ เพราะมีทั้งความกดอากาศสูงจากจีนและพายุไต้ฝุ่นโนรูเมื่อต้นเดือน

พายุนับเป็นหนึ่งในปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เราพบเจอได้บ่อยพอสมควร จึงไม่แปลกที่จะมาปรากฏอยู่ในสำนวนภาษาต่างๆ อย่างในภาษาไทยก็มีสำนวน พายุบุแคม ซึ่งใช้เปรียบเทียบกับอะไรที่ทำด้วยความรุนแรงรวดเร็ว เช่น ใครขับรถสายเหยียบมิดและเบรกเอี๊ยด เราก็อาจจะบอกว่าคนคนนั้นขับรถอย่างกับพายุบุแคม

ดังนั้น สัปดาห์นี้ Word Odyssey จะขอพาไปดูสำนวนที่เกี่ยวข้องกับพายุในภาษาอังกฤษ พร้อมสำรวจความหมายและการนำไปใช้ด้วย

 

Take by storm – ดังเปรี้ยงปร้าง

เนื่องจากพายุคือลมรุนแรงที่มีพลังทำลายล้างสูง จึงมักถูกนำมาใช้ในเชิงเปรียบเปรยเพื่อพูดถึงการบุกโจมตีด้วยความรวดเร็ว ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดก็คือ take something by storm ซึ่งแรกเริ่มเดิมทีหมายถึง การพิชิตหรือบุกยึดสถานที่หนึ่งๆ อย่างรวดเร็วและรุนแรง เช่น The guerrillas took the building by storm. ก็คือ กองโจรบุกยึดอาคารอย่างรวดเร็ว

แต่ที่น่าสนใจก็คือ ในเวลาต่อมา ความหมายของสำนวนนี้ได้พัฒนาต่อไปอีก จากการโจมตีบุกยึดอาคารสถานที่ที่จับต้องได้จริงๆ ไปสู่การยึดครองสิ่งที่เป็นนามธรรมขึ้น นั่นคือการเข้าครองตลาดหรือจิตใจ หรือพูดแบบง่ายๆ ก็คือ กลายมาเป็นที่นิยม ดังพลุแตกในชั่วข้ามคืน นั่นเอง ตัวอย่างเช่น ถ้าเราต้องการบอกว่า แอป TikTok ดังเปรี้ยงปร้างไปทั่วโลก เราก็อาจจะพูดว่า TikTok has taken the world by storm.

A storm in a teacup – ทำเรื่องเล็กเป็นเรื่องใหญ่

เราจะใช้สำนวนนี้เวลาที่ใครบรรยายเหตุการณ์ขี้ปะติ๋วหรือปัญหาหยุมหยิมอย่างกับเป็นเรื่องใหญ่หลวงหรือวาระระดับชาติ ทำนองว่าเล่าอย่างกับไปเจอพายุลูกใหญ่ระดับทำลายบ้านเรือนถอนรากถอนโคนต้นไม้มา ทั้งที่จริงๆ แล้วเป็นแค่ลมหมุนจุ๋มจิ๋มในถ้วยชาใบน้อยที่เมื่อเทียบสเกลกับสิ่งอื่นๆ ในโลกและแสนจะไม่สลักสำคัญ ตัวอย่างเช่น แม้ทั่วโลกจะกำลังกังวลเรื่องสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน หรือความเป็นไปได้ที่จะมีการใช้อาวุธนิวเคลียร์ แต่ประเทศไทยห่วงเรื่องไบเดนไม่มาร่วมประชุมเอเปกราวกับเป็นปัญหาคอขาดบาดตาย ทั้งที่จริงๆ แสนจะยิบย่อยหอยสังข์เมื่อเทียบกับปัญหาอื่นๆ ในโลก เราก็อาจบรรยายความกังวลนี้ว่าเป็น a storm in a teacup

ทั้งนี้ a storm in a teacup เป็นสำนวนที่ใช้กันในฝั่งบริติช แต่หากข้ามไปฝั่งอเมริกา เราอาจจะได้ยินสำนวน a tempest in a teapot แทน แปลความหมายตรงตัวได้ว่า พายุในกาน้ำชา

Perfect storm – ความฉิบหายหลายอย่างมาบรรจบกัน

พายุแต่ละลูกที่ก่อตัวขึ้นมีปัจจัยเกี่ยวข้องหลายอย่าง ทั้งอุณหภูมิ ความกดอากาศ และภูมิประเทศ หากปัจจัยเหล่านี้ไม่ค่อยเป็นใจ พายุที่ก่อตัวขึ้นก็อาจรุนแรงน้อยหน่อย แต่หากทุกอย่างดันประจวบเหมาะ ทำให้มีปัจจัยทุกอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ พายุที่เกิดขึ้นก็อาจเรียกว่าเป็น a perfect storm หรือ “พายุสมบูรณ์แบบ” ซึ่งมีความรุนแรงเป็นพิเศษ หรือหากจะใช้ภาษาทั่วไปก็คือ มหาพายุ หรือ โคตรพายุ นั่นเอง

สำนวนนี้จึงหมายถึง สถานการณ์ที่ปัจจัยความฉิบหายทุกอย่างที่ร้อยวันพันปีไม่เคยเกิดพร้อมกันดันบังเอิญมารวมตัวกันโดยมิได้นัดหมายแบบพอดิบพอดี ตัวอย่างเช่น หากประเทศหนึ่งมีปัจจัยต่างๆ ที่จะทำให้เกิดวิกฤติเศรษฐกิจพอดี เช่น เงินเฟ้อสูง ค่าเงินอ่อนตัวเพราะโดนโจมตีค่าเงิน ประกอบกับเพิ่งเกิดรัฐประหารในประเทศจนนักลงทุนหมดความเชื่อมั่น แบบนี้นักวิเคราะห์ก็อาจจะบอกว่า All of these factors have created the perfect storm for an economic crisis.

Any port in a storm – มีอะไรคว้าได้ก็คว้า

เวลาที่มีพายุรุนแรง แน่นอนว่าเรือต่างๆ ย่อมไม่ออกจากฝั่ง ส่วนเรือไหนที่อยู่กลางทะเลแล้วก็ต้องหาท่าเรือที่ใกล้ที่สุดเพื่อเทียบท่า ไม่ว่าจะเป็นท่าเรือแบบไหนหรือที่ไหนก็ตาม เพื่อไม่ให้เรืออับปางกลางทะเล

แน่นอนว่าสำนวนนี้ไม่ได้พูดถึงเรื่องเรือและท่าเรือแบบตามตัวหนังสือ แต่เป็นการเปรียบเปรยภาวะคับขันหรือประสบปัญหาสาหัสที่เราต้องเผชิญกับพายุ และเปรียบเทียมความช่วยเหลือหรือที่พึ่งกับท่าเรือ ดังนั้น สำนวนนี้จึงมีความหมายว่า ในยามยาก หากมีอะไรที่พอจะช่วยเหลือหรือมีใครที่เป็นที่พึ่งได้ เราก็ควรจะคว้าไว้ก่อน เช่น ในช่วงแรกที่โควิดระบาด หลายคนไม่ได้อยากได้วัคซีนซิโนแวคเพราะไม่มั่นใจคุณภาพ แต่ก็อาจยอมฉีดเพราะคิดว่า มีภูมิคุ้มกันในร่างกายบ้างก็ยังอุ่นใจกว่าไม่มีอะไรเลย แบบนี้เราก็อาจพูดว่า Any port in a storm.

In the eye of the storm – อยู่ในใจกลางของปัญหา

คำว่า the eye of the storm หมายถึง ตาพายุ หรือ จุดศูนย์กลางของพายุ ซึ่งหากเราเปรียบพายุเป็นปัญหาความขัดแย้งต่างๆ คนที่อยู่ตรงใจกลางพายุ หรือ “in the eye of the storm” ก็คือคนที่เข้าไปอยู่ในใจกลางของปัญหานั่นเอง ตัวอย่างเช่น The married singer found himself in the eye of the storm when his flirtatious texts were leaked. ก็คือ นักร้องหนุ่มตกเป็นประเด็นเมื่อมีคนปล่อยข้อความที่เขาส่งไปจีบคนอื่นออกมา

ทั้งนี้ ว่ากันว่าส่วนตาพายุมักจะมีลมสงบ ผู้ที่อยู่ในบริเวณนี้จึงอาจไม่ได้ตกอยู่ในอันตรายในทันทีเพราะไม่ได้โดนลมรุนแรงพัดทำลายอยู่ แต่กระนั้นก็เรียกว่าอยู่ในสภาวะที่สุ่มเสี่ยงมาก เพราะหากขยับตัวออกไปหรือหากพายุเคลื่อนตัว ก็อาจจะกลายเป็นเหยื่อของพายุ ถูกลมหมุนหอบไปได้ ดังนั้น the eye of the storm จึงใช้เป็นสำนวนหมายถึง ช่วงเวลาสงบก่อนที่ปัญหาใหญ่จะมาถึง ได้ด้วย คล้ายๆ กับ the calm before the storm หรือ the lull before the storm ตัวอย่างเช่น หากเศรษฐกิจประเทศดูทรงๆ แต่เราดูออกว่านี่เป็นแค่ช่วงลมสงบก่อนที่มรสุมเศรษฐกิจซัดเข้าเต็มๆ เราก็อาจจะบอกว่า This is just the eye of the storm. ก็คือ นี่แค่ช่วงลมสงบก่อนพายุใหญ่เท่านั้น

 

บรรณานุกรม

 http://oed.com/

 Ammer, Christine. The American Heritage Dictionary of Idioms: American English Idiomatic Expressions & Phrases. 2nd ed. Houghton Mifflin Harcourt: Boston, 2013.

American Heritage Dictionary of the English Language

Ayto, John. Oxford Dictionary of English Idioms. OUP: Oxford, 2009.

Gulland, Daphne M., and Hinds-Howell, David. The Penguin Dictionary of English Idiom. Penguin Books: London, 2002. 

Longman Dictionary of Contemporary English

Longman Idioms Dictionary. Pearson: Essex, 2010.

Merriam-Webster Dictionary

Oxford Advanced Learners’ Dictionary

Oxford Idioms Dictionary for Learners of English. OUP: New York, 2006.

Shorter Oxford English Dictionary

Speake, Jennifer. Oxford Dictionary of Proverbs. Oxford University Press: Oxford, 2008.

 

Tags: , , , ,