หลังจากที่คนไทยจำนวนไม่น้อยปลงแล้วว่าคงเลือกยี่ห้อวัคซีนที่จะฉีดไม่ได้ เรื่องต่อมาที่คนไทยกำลังจับตามองกันก็คือ แล้ววัคซีนที่หามาได้จะเพียงพอกับจำนวนผู้ประสงค์ฉีดวัคซีนหรือเปล่า เพราะในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา โรงพยาบาลหลายแห่งก็ออกมาประกาศเลื่อนฉีดวัคซีนออกไป ส่งสัญญาณให้สงสัยไปตามๆ กัน

ดังนั้น ในสัปดาห์นี้ เราจะไปดูคำที่เกี่ยวข้องกับความขาดแคลนหรือความไม่เพียงพอในภาษาอังกฤษ พร้อมเจาะลึกประวัติที่น่าสนใจของคำเหล่านี้

ต้องการคือขาดแคลน?

คำว่า want ที่เราใช้กันดาษดื่นทุกวันนี้ แรกเริ่มเดิมทีไม่ได้มีความหมายว่า ต้องการ อย่างในปัจจุบัน แต่มีความหมายว่า ขาดแคลน ไม่เพียงพอ เช่น ในหนังสือสอนฝรั่งเศสปี 1530 เขียนคำนิยามของคำว่า laideur (ความอัปลักษณ์) ไว้ว่า want of beauty หมายถึง ขาดความสวย นั่นเอง

เนื่องจากเราจะรู้สึกว่าสิ่งหนึ่งขาดแคลนไปก็ต่อเมื่อเราต้องการสิ่งๆ นั้น คำว่า want จึงค่อยๆ พัฒนาความหมาย จนหมายถึง ต้องการ อย่างในปัจจุบัน

ทั้งนี้ ในปัจจุบันเราก็ยังพบคำว่า want ในความหมายที่แปลว่า ขาดแคลน ได้อยู่บ้าง แต่ส่วนใหญ่จะเจอเฉพาะในสำนวนที่อาจฟังดูเป็นทางการและเก่านิดหนึ่ง เช่น for want of something (ตัวอย่าง เช่น For want of something better to do, she reread the novel for the fourth time. ก็คือ เนื่องจากไม่มีอะไรอย่างให้ทำ ก็เลยอ่านนิยายซ้ำเป็นรอบที่สี่) และ those living in want หมายถึง ผู้ที่อยู่ในภาวะอดอยากขาดแคลน

เลอค่าคือขาดแคลน?

อีกคำหนึ่งในภาษาอังกฤษที่ใช้พูดถึงความขาดแคลนได้ก็คือ dearth เช่น There’s a dearth of evidence. ก็คือขาดหลักฐาน

แม้ว่าคำนี้มักปรากฏเป็นศัพท์ยากในหนังสือเตรียมสอบต่างๆ แต่อันที่จริงแล้วองค์ประกอบของคำนี้ง่ายดายจนไม่น่าเชื่อ เพราะคำนี้มาจากการนำคำว่า dear ที่แปลว่า มีค่าหรือแพง มาเติมส่วนลงท้าย -th เพื่อสร้างเป็นคำนาม เหมือนที่เราสร้างคำว่า warmth จาก warm และ width จาก wide นั่นเอง

ทั้งนี้ แต่เดิมคำว่า dearth หมายถึง ความรุ่งเรือง ความมีค่า ความแพง แล้วภายหลังจึงความหมายจึงพัฒนามาเป็นความหมายว่า ความขาดแคลน อย่างในปัจจุบัน 

ส่วนที่ความแพงมาเกี่ยวโยงกับความขาดแคลนได้นั้น ก็เป็นเพราะว่าของที่มีราคาแพงมักเป็นของที่มีปริมาณอยู่น้อย ไม่เพียงพอกับความต้องการ และต้องแย่งชิงกันนั่นเอง

ที่น่าสนใจคือ คำว่า dear แม้เป็นคำในตระกูลเดียวกัน แต่ไม่ได้มีพัฒนาการทางความหมายแบบเดียวกัน โดยความหมายเปลี่ยนจาก แพง มีค่า ไปเป็นคำที่ใช้อธิบายคนที่เรารู้สึกว่ามีค่า รักใคร่หวงแหน (เช่น She’s very dear to me.) และกลายมาเป็นคำที่เราใช้ขึ้นต้นจดหมายทางการอย่างในปัจจุบัน (เช่น Dear John) ไม่ได้ใช้ในความหมายว่า ขาดแคลน แต่อย่างใด

ด่างพร้อยคือขาดแคลน?

คำหนึ่งที่เรามักคิดถึงเป็นอันดับแรกๆ เวลาที่ต้องสื่อถึงความไม่เพียงพอ ความขาดแคลน นั่นก็คือคำว่า lack 

แต่หากสืบย้อนกลับไปถึงสมัยภาษาอังกฤษกลางที่พบคำว่า lack เป็นครั้งแรก จะเห็นว่าความหมายเดิมนั้นไม่ได้แปลว่า ขาด อย่างในทุกวันนี้ แต่ใช้ในความหมายว่า จุดด่างพร้อยทางศีลธรรม ข้อบกพร่อง (สมัยนั้นมีสำนวน without lack หมายถึง เลิศเลอ ไร้ที่ติหรือจุดด่างพร้อย)

ด้วยข้อด่างพร้องทางศีลธรรมที่ว่านี้มักหมายถึงมีคุณลักษณะอันพึงประสงค์บางอย่างขาดพร่องไป ความหมายของคำว่า lack จึงพัฒนาเป็นความหมายว่า ขาด ไม่เพียงพอ ในราวช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 15 และใช้มาในความหมายนี้จนถึงปัจจุบัน เช่น The severe lack of vaccines can be attributed to the government’s mismanagement and shortsightedness. คือ ภาวะขาดแคลนวัคซีนอย่างหนัก อาจกล่าวได้ว่ามีสาเหตุมาจากการจัดการที่ผิดพลาดและความขาดวิสัยทัศน์ของรัฐบาล

สั้นคือขาดแคลน?

คำว่า shortage ก็เป็นอีกครั้งที่ใช้พูดถึงความขาดแคลนได้ สิ่งที่หลายคนอาจจะแปลกใจเกี่ยวกับคำนี้ก็คือ คำนี้เพิ่งมีอายุมาได้ 100 กว่าปีเอง คือมีหลักฐานปรากฏครั้งแรกในหนังสือพิมพ์อเมริกันในปี 1868

แน่นอนว่าคำว่า shortage นี้มาจากคำว่า short ที่มีความหมายพื้นฐานว่า สั้น อย่างที่เราทราบกัน ทั้งนี้ เนื่องจากความสั้นมักถูกมองในเชิงลบ มีความหมายในทำนองว่ายาวไม่พอ มีบางสิ่งขาดไป จึงไม่แปลกเลยที่ short จะมีความหมายว่า ไม่พอเพียงหรือขาด ได้ด้วย เช่น หากเราต้องการซื้อของแต่เงินขาดไป 100 บาท ก็อาจะพูดว่า I’m 100 baht short. หรือหากช่วงนี้เราหมุนเงินไม่ทัน มีเงินไม่พอ ก็อาจจะพูดว่า I’m a little short right now. (เป็นที่มาของที่เวลาเราพูดว่า ‘ช่วงนี้ช็อต’ ในภาษาไทยด้วย) ทั้งนี้ไม่ได้แปลว่า short จะต้องใช้กับเรื่องเงินๆ ทองๆ แต่อย่างเดียว หากเราจะพูดว่าวัคซีนมีไม่พอ เราก็สามารถพูดได้ว่า Vaccines are in short supply. 

ตัดตอนคือขาดแคลน?

อีกคำหนึ่งในภาษาอังกฤษที่ใช้พูดถึงความขาดแคลนได้ก็คือคำว่า scarce เช่น We don’t know much about alternative vaccines because details are scarce. ก็คือ เราไม่ทราบเรื่องวัคซีนทางเลือกมากนักเพราะข้อมูลมีอยู่น้อยนิด

คำว่า scarce นี้ เข้ามาในภาษาอังกฤษได้ราว 800 ปีแล้ว ว่ากันว่ามีที่มาจากคำว่า scarsus ในภาษาละติน (เป็นรูปสืบสร้าง ไม่เคยพบหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษรจริง) ซึ่งสืบกลับไปได้ถึงคำว่า excerpere ในภาษาละติน หมายถึง คัดเลือก หยิบออกมา (ประกอบจากส่วนเติมหน้า ex- ที่แปลว่า ออก และ carpere ที่เป็นกริยา หมายถึง ดึง ถอน) เนื่องจากสิ่งที่คัดหรือหยิบออกมาย่อมต้องมีจำนวนน้อยกว่าจำนวนสิ่งนั้นทั้งหมด คำนี้จึงมีความหมายว่า มีจำนวนน้อย จำกัดจำเขี่ย และถูกยืมมาใช้ในภาษาอังกฤษในความหมายว่า มีอยู่น้อยมาก ไม่เพียงพอ นั่นเอง

ที่น่าสนใจก็คือ คำว่า excerpere ในภาษาละตินที่เชื่อกันว่าเป็นต้นกำเนิดของคำว่า scarce ยังเป็นที่มาคำว่า excerpt ซึ่งหมายถึง ส่วนที่ตัดตอนหรือยกมาจากงานเขียนชิ้นเต็ม (เช่น an excerpt from the book เป็นต้น) ดังนั้น คำว่า scarce กับ excerpt จึงเรียกได้ว่าเป็นแฝดคนละฝากัน (อ่านเรื่องคู่คำที่เป็นแฝดคนละฝาคู่อื่นในภาษาอังกฤษได้ทาง https://themomentum.co/doublets-word-odyssey)

ทั้งนี้ คำว่า scarce ยังไปโผล่ในสำนวน make oneself scarce ซึ่งไม่ได้แปลว่า ให้ทำตัวเองให้ขาดแคลน แต่อย่างใด แต่หมายถึง หลบออกไป ส่วนใหญ่ใช้ในกรณีที่ต้องการเลี่ยงสถานการณ์ที่ไม่น่าอภิรมย์ เช่น I decided to make myself scarce when my coworkers began to argue. ก็คือ เราตัดสินใจจรลีพอเพื่อนในที่ทำงานเริ่มทะเลาะกัน

 

อ้างอิง

http://oed.com/

Ammer, Christine. The American Heritage Dictionary of Idioms: American English Idiomatic Expressions & Phrases. 2nd ed. Houghton Mifflin Harcourt: Boston, 2013.

American Heritage Dictionary of the English Language

Ayto, John. Word Origin: The Hidden Histories of English Words from A to Z. 2nd ed. A&C Black: London, 2008.

Cambridge Advanced Learners’ Dictionary

Cresswell, Julia. Oxford Dictionary of Word Origins. OUP: New York, 2009.

Funk, Wilfred. Word Origins: A Classical Exploration of Words and Language. Gramercy Books: New York, 2008.

Longman Dictionary of Contemporary English

Longman Idioms Dictionary. Pearson: Essex, 2010.

Merriam-Webster Dictionary

Oxford Advanced Learners’ Dictionary

Oxford Idioms Dictionary for Learners of English. OUP: New York, 2006.

Tags: