ในช่วงเดือนนี้ มีหลายเหตุการณ์ที่บ่งชี้ให้เห็นชัดเจนกว่าที่เคยว่าประเทศไทยตั้งอยู่ในละติจูดลองติจูดที่ความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้ยากเหลือเกิน ไม่ว่าจะเป็นคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อต้นเดือนที่อาจพอสรุปใจความอย่างสั้นๆ ได้ว่า ปฏิรูปคือล้มล้าง หรือการโหวตคว่ำไม่รับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนเมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา รวมไปถึงคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่สรุปได้ว่าการที่กฎหมายรับรองการสมรสเฉพาะชายหญิงไม่ผิดรัฐธรรมนูญ
ด้วยแรงเสียดทานต่อความเปลี่ยนแปลงที่รุนแรง จึงไม่แปลกที่หลายคนอาจคิดว่า ประเทศไทยดูท่าจะ ‘คงสภาพไม่เปลี่ยนแปลงเช่นนี้ไม่อีกนาน’ ซึ่งเป็นนิยามของคำว่า ‘ดักดาน’ ในพจนานุกรมราชบัณฑิตยสถาน
สัปดาห์นี้ Word Odyssey ขอพาไปดูคำศัพท์และสำนวนที่เกี่ยวข้องกับความไม่เปลี่ยนแปลงและคนที่ต่อต้านการเปลี่ยนแปลง แด่ประเทศที่แลดูจะไม่มีวันได้เปลี่ยนแปลง
Luddite ต่อต้านการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ
อยากเป็นประเทศไทย 4.0
แต่ทำตัวแบบ 0.4
โลกกำลังมุ่งหน้าสู่เมตาเวิร์ส
ส่วนราชการไทยเพิ่งเลิกขอสำเนาบัตรประชาชน
ยังขอให้ไรท์ข้อมูลลงซีดีอยู่
(ยังดีไม่บอกให้จารลงใบลานหรือกระดานชนวน)
และทำหน้ายี้เมื่อได้ยินคำว่าอีเมล
ในสมัยศตวรรษที่ 19 เริ่มมีการปฏิวัติวงการสิ่งทอด้วยการนำเครื่องจักรมาใช้ทอผ้าแทนคน บรรดาช่างทอผ้ารายย่อยทั้งหลายที่งานหดหรือตกงานจึงโกรธแค้นและรวมตัวกันประท้วงด้วยการทำลายเครื่องจักรทั้งหลาย
เนื่องจากในยุคนั้น มีเรื่องเล่าว่าเคยมีชายชื่อ Ned Lud เสียสติและเข้าไปทุบทำลายเครื่องทอผ้า ชื่อ Lud จึงกลายมาเกี่ยวข้องกับการทำลายเครื่องจักรหรือนวัตกรรมใหม่ๆ เมื่อเกิดกลุ่มช่างทอผ้าที่ต้องการประท้วงการใช้เครื่องจักร จึงมีการนำชื่อ Lud มาใช้สร้างเป็นคำว่า the Luddites เพื่อเรียกคนกลุ่มนี้ในปัจจุบัน ความหมายของคำนี้กว้างกว่าแต่ก่อน คือใช้เรียกคนที่ต่อต้านการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ
Frozen in time คงสภาพไม่เปลี่ยนแปลงตามกาลเวลา ดักดาน
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมค้านหัวชนฝา
ไม่เห็นด้วยกับการแก้กฎหมายให้ผลิตหนังโป๊ได้
ชี้อยากให้รักษาวัฒนธรรมอันดีมากกว่ามองเรื่องเสรีภาพ
บอกว่าเวลายังไม่เหมาะสม
โอ้โห นี่ผ่านยุคจูราสสิกมาก็นานแล้วนะท่าน
ตอนไหนถึงเหมาะสมมิทราบ
หรือจริงๆ คือแค่ห้ามเปลี่ยนตราบใดที่ท่านยังมีลมหายใจอยู่
Outmoded ตกยุค
สงสัยคิดว่าซอฟต์พาวเวอร์
คือการใส่ชุดผ้าไหมเดินถ่ายเอ็มวีริมทะเล
โถ เชยเสียจนไม่รู้เสียจะเชยยังไง
Reactionary อนุรักษนิยมสุดโต่ง
เพียงได้ยินคำว่า ปฏิรูป แล้วเส้นเลือดในสมองจะแตกเสียให้ได้
ไม่ชอบใจที่มีใครจะมาแตะต้อง status quo หรือสถานภาพปัจจุบัน
เชื่อว่าทุกอย่างต้องคงเดิมจนถึงขั้นกล่อมตัวเองได้
ว่า ปฏิรูป แปลว่า ล้มล้าง
Mossback คนหัวเก่า คร่ำครึ
หลายหน่วยงานยังเชื่อสุดใจ
อาจารย์หรือทนายผู้หญิงไม่ควรสวมกางเกง
ต้องสวมกระโปรงจึงจะสุภาพเรียบร้อย
โห ต้องให้นุ่งกระโจมอกนั่งร้อยมาลัยอยู่บ้านด้วยไหมอะ
กาลเวลาเดินหน้าไปขนาดนี้ได้
แต่คุณพี่หยุดนิ่งไม่เคลื่อนที่ตามกาลเวลา
จนตะไคร่ขึ้นเต็มหลังแล้วคุณพี่เอ๋ย
คำนี้มาจากสมัยสงครามกลางเมืองในสหรัฐอเมริกา ใช้เรียกคนที่หนีสงครามไปหลบซ่อนตามที่ต่างๆ เนื่องจากคนเหล่านี้ยอมซ่อนอยู่กับที่ไม่ไปไหน จึงเปรียบเปรยกันว่าอยู่นิ่งกับที่จนตะไคร่ขึ้นหลัง
ในเวลาต่อมา คำนี้ถูกนำไปใช้คนที่มีความคิดอนุรักษนิยมจัด ไม่ยอมเปลี่ยนแปลงความคิดตตามยุคสมัย
Hidebound คนหัวเก่า คร่ำครึ
พอมีข่าวว่าองค์การสโมสรนิสิตจุฬาฯ
มีมติยกเลิกการอัญเชิญพระเกี้ยวปีนี้
เพราะมีปัญหาหลายประการ
ทั้งเรื่องความเท่าเทียม มาตรฐานความงาม และการกดขี่นิสิตหอใน
หลายคนเป็นเดือดเป็นร้อน
(แม้ไม่ได้เป็นศิษย์เก่า ไม่ได้ไปงานบอล และไม่ได้เคยดูงานบอล)
ยืนยันว่ายังไงก็ต้องมีเพราะเป็นประเพณี
สรุปก็คืออะไรแปะป้ายว่าประเพณีปุ๊ปก็ห้ามยกเลิกงี้เหรอ
คำนี้แต่เดิมหมายถึง วัวความที่ผอมหนังหุ้มกระดูก (hide ในที่นี้หมายถึง หนัง) ต่อมาถูกนำมาเปรียบเปรยกับมุมมองของคน คือ ตีบแคบ ขยับขยายไม่ได้ คิดแบบใดแล้วก็จะคิดแต่แบบเดิม
Dinosaur คนที่มีความคิดล้าหลังตกยุค
ในขณะที่ทั่วโลกล้วนเห็นพ้องกันว่า
เด็กในยุคศตวรรษที่ 21 ต้องมีทักษะความรู้ด้านเทคโนโลยี
มีความเท่าทันสื่อ มีความเป็นประชากรโลก เข้าใจปัญหาสิ่งแวดล้อม
แต่นายกฯ ไทยแสดงวิสัยทัศน์อันแสดงทันสมัยว่า
เด็กไทยต้องว่ายน้ำเป็น ต้องออกกำลังกาย และเรียนสองภาษา
โอ้โห วิสัยทัศน์นี้มาจากยุคครีเทเชียสหรือเปล่า
มีเพื่อนร่วมรุ่นเป็นไทรเซราทอปส์กับไทแรนโนซอรัสเร็กซ์ใช่ไหม
นอกจากคำว่า dinosaur แล้ว จะใช้คำว่า fossil ก็ได้ โดยเฉพาะในกรณีที่พูดถึงคนที่มีอายุมาก
บรรณานุกรม
http://oed.com/
Ammer, Christine. The American Heritage Dictionary of Idioms: American English Idiomatic Expressions & Phrases. 2nd ed. Houghton Mifflin Harcourt: Boston, 2013.
American Heritage Dictionary of the English Language
Ayto, John. Oxford Dictionary of English Idioms. OUP: Oxford, 2009.
Cambridge Advanced Learners’ Dictionary
Gulland, Daphne M., and Hinds-Howell, David. The Penguin Dictionary of English Idiom. Penguin Books: London, 2002.
Longman Dictionary of Contemporary English
Longman Idioms Dictionary. Pearson: Essex, 2010.
Merriam-Webster Dictionary
Oxford Advanced Learners’ Dictionary
Oxford Idioms Dictionary for Learners of English. OUP: New York, 2006.
Shorter Oxford English Dictionary
Tags: resistance to change, ศัพท์ภาษาอังกฤษ, Word Odyssey