สวัสดีปีเถาะครับ

เนื่องในโอกาสที่เราได้ก้าวเข้าสู่ปีกระต่ายอย่างเป็นทางการ สัปดาห์นี้ Word Odyssey ขอพาไปดูสำนวนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับกระต่าย พร้อมสำรวจว่าสัตว์ฟันคู่ขนปุกปุยแสนน่ารักชนิดนี้เกี่ยวข้องอะไรกับการสูญเวลาไปในโลกอินเทอร์เน็ต ความลูกดก และความเพี้ยนเสียสติ

[1]

To pull a rabbit out of the hat

ทำสิ่งมหัศจรรย์ราวกับมายากล

เมื่อพูดถึงกลของนักมายากลตามขนบตะวันตก นอกเหนือจากกลไพ่ต่างๆ และการหั่นอาสาสมัครเป็นสองท่อนแล้ว อีกทริคสุดคลาสสิกก็คือการดึงกระต่ายออกมาจากหมวก ราวกับเนรมิตสิ่งมีชีวิตออกมาได้จากอากาศธาตุ

ด้วยเหตุนี้ ในภาษาอังกฤษจึงมีสำนวน to pull a rabbit out of the hat หมายถึง ทำสิ่งที่ดูไม่น่าเป็นไปได้ให้เกิดขึ้นได้ราวกับใช้เวทมนตร์ ทำสิ่งยากๆ ได้อย่างน่าอัศจรรย์ใจ ตัวอย่างเช่น หากลูกค้าของบริษัทแห่งหนึ่งต้องการงานภายในวันรุ่งขึ้น ทั้งที่จริงๆ แล้วงานนี้ควรจะต้องใช้เวลาหนึ่งสัปดาห์จึงจะทำเสร็จ แต่บริษัทแห่งนี้ก็สามารถเสกงานมาส่งให้ในวันรุ่งขึ้นได้ แบบนี้เราก็อาจบอกว่า They really pulled a rabbit out of the hat. แปลแบบไทยๆ ก็อารมณ์ อย่างกับเสกเลยแก

[2]

To go down the rabbit hole

หลุดเข้าไปในแดนพิศวง

สำนวนนี้มีที่มาจากเรื่องการผจญภัยของอลิซในดินแดนมหัศจรรย์ (Alice’s Adventures in Wonderland) ของนักเขียนชาวอังกฤษ ลูวิส แคร์รอลล์ (Lewis Carroll) หากใครเคยได้อ่านนิยายเล่มนี้หรือได้ชมภาพยนตร์ดัดแปลง ก็จะจำได้ว่าตอนเปิดเรื่องมา อลิซที่เป็นตัวเอกของเราเห็นกระต่ายขาวพูดได้เดินผลุบลงโพรงไป จึงเดินตามลงไปในโพรงและหลุดเข้าไปในดินแดนที่แสนเพี้ยนพิสดาร เป็นจุดเริ่มต้นของการผจญภัยครั้งใหญ่ของอลิซ

ดังนั้น สำนวนนี้จึงหมายถึง หลุดเข้าไปในห้วงพิศวงหรือโลกพิสดาร โดยเฉพาะในกรณีที่หลงเข้าไปเป็นเวลานาน หาทางกลับออกมาไม่ได้ ปัจจุบันมักใช้เวลาเราไปเจออะไรน่าสนใจในอินเทอร์เน็ตเข้าแล้วเลยนั่งไถนั่งค้นต่อไปเรื่อยๆ จนเหมือนหลุดเข้าไปในอีกโลกหนึ่ง กว่าจะรู้ตัวอีกทีก็คือเสียเวลาไปมากแล้ว ตัวอย่างเช่น Yesterday, I came across an article about blue whales, and from there, I went down the rabbit hole. ก็คือ ไปเจอบทความเรื่องวาฬสีน้ำเงินเข้า เลยวาร์ปหายไปยาวเลย

[3]

To breed like rabbits

ลูกดกเหมือนกระต่าย

กระต่ายเป็นสัตว์ที่ขึ้นชื่อเรื่องความลูกดก นั่นก็เพราะกระต่ายวัยเจริญพันธุ์พร้อมปั่มปั๊มตลอดปีแบบไม่สนฤดูกาล แถมยังมีช่วงตั้งครรภ์สั้น แค่เพียงราวเดือนเดียวก็คลอดลูกแล้ว ทำให้ในหนึ่งปีออกลูกได้หลายครอก บางทีออกลูกได้ถึง 7 ครอกต่อปี เนื่องจากครอกหนึ่งอาจมีลูกได้ถึง 12 ตัว ปีหนึ่งกระต่ายคู่หนึ่งจึงอาจมีลูกได้ถึง 84 ตัวทีเดียว

เวลาที่ใครมีลูกจำนวนมากในเวลาอันสั้น ออกแนวคลอดหัวปีท้ายปี ในภาษาอังกฤษจึงใช้สำนวน to breed like rabbits แปลได้ทำนองว่า ลูกดกเหมือนกระต่าย ตัวอย่างเช่น หากครอบครัวหนึ่งมีลูก 3 คนในเวลา 3 ปี ก็อาจมีคนบรรยายว่า They breed like rabbits. ก็คือ บ้านนี้ลูกดกเหลือเกิน

ทั้งนี้ สำนวนนี้ถือว่าหยาบคายประมาณหนึ่งเพราะสื่อถึงการมีเพศสัมพันธ์กันด้วยความถี่ แต่หากใครอยากหยาบเต็มขั้น ก็อาจจะพูดว่า to fuck like rabbits ได้เช่นกัน


[4]

To hold with the hare and run with the hounds

เหยียบเรือสองแคม

สิ่งที่หลายคนอาจไม่ทราบคือน้องหมาหน้าตาน่ารักน่าหมั่นเขี้ยวหลายๆ พันธุ์อย่างบีเกิล (beagle) และแบสเซ็ต (basset) ที่เรารู้จักกันดีนั้น เป็นหมาที่ชาวตะวันตกสมัยก่อนเลี้ยงไว้เพื่อล่ากระต่ายป่า

ด้วยความที่หมาล่าเนื้อเหล่านี้ถูกเลี้ยงเพื่อใช้ในการล่ากระต่ายป่า ความสัมพันธ์ระหว่างหมาล่าเนื้อกับกระต่ายป่าจึงเป็นความสัมพันธ์แบบนักล่ากับผู้ล่า ถือได้ว่าเป็นปฏิปักษ์ต่อกัน หากใครเข้าพวกกับฝั่งไหน ก็เหมือนกับจะต้องประกาศตัวเป็นศัตรูกับอีกฝ่ายไปโดยปริยาย

ดังนั้น สำนวนนี้ ซึ่งแปลตรงตัวได้ว่า ทั้งเข้าพวกกับกระต่ายป่าและออกล่ากับหมาล่าเนื้อ จึงหมายถึงการเหยียบเรือสองแคม ฝักใฝ่เข้าพวกกับทั้งสองฝั่งที่เป็นศัตรูคู่อริกัน ทำนองว่าฝ่ายหนึ่งก็เอาแต่อีกฝ่ายก็ไม่ทิ้ง ตัวอย่างเช่น หากพรรคการเมืองหนึ่งแสดงท่าที่ว่าตนเองสนับสนุนประชาธิปไตย แต่ก็ยังเปิดช่องเผื่อไว้จับมือกับพรรคการเมืองที่สนับสนุนคนที่มาจากรัฐประหาร แบบนี้เราก็อาจพูดว่า You can’t hold with the hare and run with the hounds. ก็คือ เธอจะเหยียบเรือสองแคมไม่ได้จ้ะ


[5]

Mad as a March hare

บ้า ประสาทกลับ

เนื่องจากคนในยุคกลางตั้งข้อสังเกตว่าในช่วงเดือนมีนาคม ซึ่งเป็นช่วงที่ว่ากันว่ากระต่ายป่าผสมพันธุ์กันมากที่สุด กระต่ายป่าจะมีพฤติกรรมผิดแผกไปจากปกติ เช่น ทุบตีชกต่อยกระต่ายตัวอื่น ทึ้งขนกัน หรืออยู่ๆ ก็ลุกขึ้นมากระโดดโหยงๆ เวลาเห็นใครมีพฤติกรรมแปลกๆ หรือทำตัวเพี้ยนๆ จึงนำไปเปรียบเทียบกับกระต่ายป่าในช่วงเดือนมีนาคม ตัวอย่างเช่น หากอยู่ๆ วันหนึ่งเพื่อนเราลุกขึ้นมาโกนหัว เริ่มคุยกับตัวเองแบบออกเสียงในที่สาธารณะ และหันไปกินอาหารเม็ดแทนอาหารปกติ แบบนี้ก็อาจมีคนบรรยายว่า He’s as mad as a March hare. ก็คือ ไอ้นี่มันเพี้ยนหนัก

ความเชื่อเรื่องพฤติกรรมประหลาดของกระต่ายป่าในเดือนมีนาคมนี้ยังเห็นได้ในชื่อตัวละคร March Hare ในนิยาย การผจญภัยของอลิซในดินแดนมหัศจรรย์ ของ ลูวิส แครอล ซึ่งปรากฏในฉากงานเลี้ยงน้ำชาด้วย

ทั้งนี้ อีกสำนวนหนึ่งที่เกี่ยวข้องกันก็คือ hare-brained หมายถึง บ้า ไม่น่าสำเร็จได้ ส่วนมากใช้กับแนวคิดหรือแผนการ เช่น Among all her hare-brained schemes, this one is probably the worst. ก็คือ ในบรรดาแผนการบ้าบอที่เธอคิดขึ้น อันนี้น่าจะบ้าที่สุดแล้วตั้งแต่มีมา

บรรณานุกรม

 http://oed.com/

 American Heritage Dictionary of the English Language

 Ayto, John. Word Origin: The Hidden Histories of English Words from A to Z. 2nd ed. A&C Black: London, 2008.

 Merriam-Webster Dictionary

 Oxford Advanced Learners’ Dictionary

 Shorter Oxford English Dictionary

 The Merriam-Webster New Book of Word Histories. Merriam-Webster, 1991.

 





Tags: , ,