ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ ไอลอว์ (iLaw) ได้ออกมาเปิดหลักฐานที่บ่งชี้ว่ารัฐใช้สปายแวร์ชื่อ เพกาซัส (Pegasus) ของบริษัท เอ็นเอสโอ กรุ๊ป (NSO Group) ซึ่งเป็นบริษัทในประเทศอิสราเอลที่จำหน่ายสปายแวร์ให้แก่รัฐบาลประเทศต่างๆ ในการสอดแนมล้วงข้อมูลจากมือถือของนักกิจกรรมและนักวิชาการที่มีจุดยืนต่อต้านรัฐบาลรวมอย่างน้อย 30 คน
ส่วนในสภาเอง ซึ่งอยู่ระหว่างการอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีรายบุคคลรวม 11 คน ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลฯ ก็ได้ออกมายอมรับเมื่อวันพุธว่ารัฐบาลได้ศึกษาการใช้สปายแวร์นี้จริง ก่อนที่ พิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ ส.ส.พรรคก้าวไกล จะอภิปรายเรื่องสปายแวร์เพกาซัสแบบลงรายละเอียดกลางสภาในวันพฤหัสบดี (ซึ่งแน่นอนว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา แค่มายืนอ่านสคริปต์โชว์สไลด์และเปิดวิดีโอพรีเซนเทชันที่เตรียมมา ไม่ได้ตอบประเด็นนี้แต่อย่างใด)
ทั้งนี้ หลายคนคงรู้จักดีว่าชื่อของสปายแวร์เพกาซัสนี้มาจากชื่อม้าบินสีขาวจากเทพปกรณัมกรีก-โรมัน แบบที่เราอาจเคยได้เห็นในภาพยนตร์หรือโลโก้ต่างๆ ดังนั้น สัปดาห์นี้ Word Odyssey จะขอมาฝอยเรื่องกำเนิดม้าบินเพกาซัสให้ฟัง รวมถึงเล่าตำนานวีรบุรุษที่ได้ขี่ม้าบินเพกาซัสด้วย
ม้าบินเพกาซัสมาจากไหน
ก่อนที่จะไปถึงจุดกำเนิดของม้าบินเพกาซัสได้นั้น เราจะต้องย้อนความกลับไปสู่กำเนิดของสัตว์ประหลาดตนหนึ่งที่เรียกได้ว่าแทบจะเป็นมาสคอตของเทพปกรณัมกรีก-โรมันแล้ว นั่นก็คือ เมดูซา (Medusa) สัตว์ประหลาดที่มีผมเป็นงูยั้วเยี้ยและเมื่อสบตาใครก็จะเปลี่ยนให้คนๆ นั้นกลายเป็นหิน
ตำนานบางเวอร์ชั่นเล่าไว้ว่า นางเมดูซาไม่ได้เป็นสัตว์ประหลาดหน้าตาอัปลักษณ์มาตั้งแต่ไหนแต่ไร อันที่จริง แต่เดิมเป็นหญิงสาวรูปงามที่มีผมสวยมากด้วยซ้ำ แต่เพราะความสวยนี้ เทพแห่งท้องทะเลโพไซดอน (Poseidon) จึงหมายปองและขึ้นจากทะเลมาข่มขืนนางเมดูซา แต่นอกจากจะชอกช้ำจากการโดนข่มขืนแล้ว ความซวยอีกชั้นของเมดูซ่าคือเหตุการณ์บัดสีบัดเถลิงนี้เกิดในวิหารของเทพีอธีนา (Athena) ทำให้เทพีอธีนาไม่พอใจ สาปนางเมดูซ่าให้หน้าตาอัปลักษณ์ที่จ้องตาใคร คนนั้นก็จะกลายเป็นหิน และสาปให้ผมลอนสลวยของเมดูซาเปลี่ยนกลายเป็นงูยั้วเยี้ยด้วย
ส่วนชะตากรรมของนางเมดูซาหลังจากนั้น ส่วนใหญ่เราน่าจะเคยได้ยินหรือเห็นจากในภาพยนตร์มาบ้างแล้ว นั่นก็คือ วีรบุรุษเพอร์ซิอุส (Perseus) ปราบนางเมดูซาได้ด้วยการมองเงาสะท้อนในโล่ขัดเงาและตัดหัวเมดูซาด้วยเคียวหรือดาบโค้ง แต่สิ่งที่หลายๆ คนอาจไม่เคยได้ยินก็คือ พอเมดูซาถูกตัดหัว ม้าบินเพกาซัสของเราก็ผุดออกมาจากคอ จึงว่ากันว่าทั้งสองนี้ก็คือลูกของเทพโพไซดอนและเมดูซานั่นเอง
ม้าบินเพกาซัสอาศัยอยู่ที่ไหน
ตำนานเล่าว่า ม้าบินเพกาซัสอาศัยอยู่บนภูเขาเฮลิคอน (Helicon) ซึ่งอยู่ในแคว้นบีโอเชีย (Boeotia) ซึ่งเป็นที่อยู่ของเหล่าเทพีแห่งศิลปวิทยาการทั้ง 9 หรือ Muses (ซึ่งเป็นที่มาของคำว่า museum และ amuse ในภาษาอังกฤษด้วย อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่: https://themomentum.co/words-from-mythology/)
ทั้งนี้ ยังมีเรื่องเล่าอีกว่า เวลาเพกาซัสบินไปลงจอดที่ไหน กีบเท้าก็จะกระแทกพื้นเกิดเป็นบ่อน้ำพุขึ้นมา ซึ่งบ่อน้ำพุที่ดังที่สุดและถือเป็นบ่อน้ำพุศักดิ์สิทธิ์สำหรับเหล่าเทพีแห่งศิลปวิทยาการก็คือ ฮิปโพครีนี (Hippocrene) ซึ่งอยู่บนภูเขาเฮลิคอนอันเป็นที่อาศัยของม้าบินเพกาซัสนั่นเอง
ว่ากันว่าหากใครได้ดื่มน้ำจากบ่อน้ำพุนี้เข้าไปแล้ว ก็จะเกิดแรงบันดาลใจให้แต่งกาพย์กลอนได้ ดังนั้น กวีหลายคนจึงอ้างถึงบ่อน้ำพุนี้ในกลอนของตน เช่น John Keats, William Cullen Bryant, และ Henry Wadsworth Longfellow
วีรบุรุษผู้ขี่เพกาซัส
แม้เราอาจเคยเห็นเฮอร์คิวลีสขี่ม้าบินเพกาซัสในภาพยนตร์แอนิเมชั่น Hercules ของดิสนีย์ แต่ในเทพปกรณัมกรีก-โรมัน ผู้ที่ได้ขี่ม้าบินเพกาซัสนั้นคือวีรบุรุษที่มีนามว่า เบลเลโรฟอน (Bellerophon) หรือ เบลเลโรฟอนทีส (Bellerophontes)
เบลเลโรฟอนเป็นลูกของกลอคัส (Glaucus) กษัตริย์เมืองคอรินท์ (Corinth) กับนางยูรีโนมี (Eurynome) แต่ไม่ได้ขึ้นครองเมืองเป็นกษัตริย์ต่อจากพ่อเพราะดันไปฆ่าน้องชายตนเอง จึงต้องเนรเทศตัวเองออกจากเมืองไปพึ่งใบบุญกษัตรย์เมืองทิรินส์ (Tiryns)
เมื่อไปถึงเมืองทิรินส์แล้ว กษัตริย์พรีทัส (Proetus) ได้ช่วยขจัดมลทินเบลเลโรฟอนให้ แต่ความซวยของเบลเลโรฟอนก็คือ สเตเนบีอา (Stheneboea) มเหสีของกษัตริย์พรีทัสดันหลงชอบเบลเลโรฟอนขึ้นมา พยายามนัดให้ไปเจอกันสองต่อสอง แต่เบลเลโรฟอนไม่เล่นด้วย สเตเนบีอาจึงไปบอกสามีว่าเบลเลโรฟอนพยายามทำมิดีมิร้ายกับตนเอง
กษัตริย์พรีทัสถูกมเหสีเป่าหูแบบนี้ก็อยากจะฆ่าเบลเลโรฟอนในทันที แต่ก็กลัวว่าหากฆ่าแขกบ้านแขกเมืองของตน จะผิดหลักความสัมพันธ์แขกกับเจ้าบ้านที่เรียกว่า xenia ซึ่งเป็นหลักศักดิ์สิทธิ์ในสมัยนั้นและจะถูกเทพเจ้าลงโทษเอาได้ ก็เลยต้องหาวิธีกำจัดแขกแบบที่เลือดไม่เปื้อนมือ
ในที่สุด พรีทัสจึงให้เบลเลโรฟอนถือจดหมายไปให้ไอโอบาทีส (Iobates) พ่อตาของตนที่เป็นกษัตริย์ของเมืองไลเซีย (Lycia) โดยในจดหมายเขียนไว้ว่า ให้กำจัดคนที่ถือจดหมายฉบับนี้มา เพราะว่าเป็นคนที่พยายามทำมิดีมิร้ายนางสเตเนบีอา (ทำให้เกิดสำนวน Bellerophonic letter หมายถึง สารที่ทำร้ายตัวผู้ส่งสารเอง)
เมื่อไอโอบาทีสได้เห็นจดหมาย ก็ไม่กล้าลงมือฆ่าเพราะกลัวจะผิดหลัก xenia เช่นกัน จึงใช้วิธีส่งเบลเลโรฟอนไปทำภารกิจที่เรียกได้ว่าเป็นภารกิจฆ่าตัวตาย นั่นก็คือให้ไปปราบสัตว์ประหลาดที่เรียกว่า ไคมีรา (Chimera) ซึ่งเป็นสัตว์ประหลาดที่มีหัวเป็นสิงโต มีลำตัวเป็นแพะตัวเมีย มีหางเป็นงู และพ่นไฟได้ (บ้างก็บอกว่ามีสองหัว คือ หัวสิงโตและหัวแพะ)
ทั้งนี้ เนื่องจากสิ่งมีชีวิตหน้าตาแบบนี้ไม่น่ามีอยู่จริงได้บนโลก ชื่อของสัตว์ประหลาดตัวนี้จึงถูกนำมาใช้หมายถึง สิ่งที่ไม่น่ามีอยู่จริงได้ ด้วยในภาษาอังกฤษในปัจจุบัน
ภารกิจจับม้าบินเพกาซัส
ระหว่างทางไปปราบไคมีรา เบลเลโรฟอนได้พบกับโหรชื่อพอลีไอดัส (Polyeidus) โหรคนนี้บอกว่าเบลเลโรฟอนต้องมีม้าบินเพกาซัส ซึ่งอาศัยอยู่ที่บ่อน้ำพุฮิปโพครีนี จึงจะปราบไคมีราได้ และให้ไปนอนคืนหนึ่งในวิหารของเทพีอธีนาเพื่อให้รู้วิธีการจับเพกาซัส
ระหว่างที่หลับอยู่นั้น เบลเลโรฟอนฝันเห็นเทพีอธีนานำบังเหียนทองคำมาวางไว้ให้และบอกว่าให้สังเวยวัวตัวผู้หนึ่งตัวให้กับเทพโพไซดอน ซึ่งเป็นเทพแห่งการฝึกม้าให้เชื่อง แล้วจะสามารถทำให้ม้าบินเพกาซัสเชื่องได้ เมื่อตื่นขึ้น เบลเลโรฟอนจึงสังเวยวัวตามที่เทพีบอกในฝันและเดินทางไปยังบ่อน้ำพุฮิปโพครีนี เมื่อเจอตัวแล้ว เพกาซัสก็ยอมให้เบลเลโรฟอนสวมบังเหียนทองคำและขึ้นขี่หลังแต่โดยดี
เมื่อได้เพกาซัสมาเป็นม้าคู่ใจแล้ว เบลเลโรฟอนจึงบินไปปราบไคมีรา บางเวอร์ชั่นก็บอกปราบสำเร็จด้วยการยิงธนูจากกลางอากาศ แต่บางเวอร์ชั่นก็บอกว่า ด้วยความที่ไคมีราพ่นไฟได้ จึงเข้าประชิดเพื่อปราบได้ลำบากแม้จะบินอยู่ในอากาศแล้วก็ตาม ในท้ายที่สุด เบลเลโรฟอนจึงนำตะกั่วไปติดไว้ที่ปลายหอก แล้วบินไปโฉบเข้าไปใกล้ๆ ให้ตะกั่วที่ปลายหอกละลายลงไหลไปในคอในไคมีรา ทำให้ไคมีราตายในที่สุด
เจ้านายคนสุดท้ายของเพกาซัส
หลังจากที่เบลเลโรฟอนปราบไคมีราได้สำเร็จ กษัตริย์ไอโอบาทีสก็ยังส่งเบลเลโรฟอนไปทำภารกิจโน่นนี่อีก แต่ก็ทำสำเร็จกลับมาทุกครั้ง เลยวางแผนให้คนลอบฆ่า แต่เบลเลโรฟอนก็ยังรอดชีวิต แถมยังฆ่าบรรดามือลอบสังหารเสียหมดWอีก กษัตริย์ไอโอบาทีสก็เลยยอมแพ้ ยกลูกสาวตัวเองชื่อว่าฟิโลโนอี (Philonoe) ให้แต่งงานด้วย แถมยกเมืองให้อีกครึ่งหนึ่งต่างหาก
แต่ในอีกเวอร์ชั่นหนึ่งเล่าว่า เบลเลโรฟอนยังแค้นไม่หายที่นางสเตเนบีอาไปเป่าหูให้คนเชื่อว่าตนเองพยายามทำมิดีมิร้ายจนต้องมาตกระกำลำบากมากมาย จึงกลับไปที่เมืองทิรินส์แล้วกลับไปจีบนางสเตเนบีอา ชวนไปขี่เพกาซัส ก่อนที่จะพาออกไปกลางทะเลแล้วผลักตกทะเลตาย
ทั้งนี้ หลังจากที่ปราไคมีราได้แล้ว เวอร์ชั่นหนึ่งเล่าไว้ว่าเบลเลโรฟอนก็เริ่มเหิมเกริม ถึงขนาดอยากบินขึ้นไปที่โอลิมปัสเพื่อไปหาทวยเทพ ซุสไม่พอใจในความอหังการ จึงส่งตัวเหลือบมากัดเพกาซัส ทำให้เพกาซัสพยศจนเบลเลโรฟอนตกจากหลังลงมายังพื้นโลกและกลายเป็นคนตาบอดหลังจากนั้น ส่วนเพกาซัสเอง ซุสได้นำมาใช้เทียมเกวียนที่ใส่อสุนีบาต ซึ่งเป็นอาวุธประจำตัวของซุส
Tags: Word Odyssey, mythology, Pegasus, เพกาซัส