ภาษาอังกฤษมีคำพูดหนึ่งที่หลายคนอาจเคยได้ยิน คือ Money makes the world go round. หมายถึง เงินเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งที่ขับเคลื่อนทุกอย่างให้ดำเนินต่อไปได้

ด้วยเหตุนี้ จึงไม่แปลกเลยที่แม้ไม่หั่นช่วงชีวิตไหนออกมาสำรวจ เราก็จะเจอศัพท์ที่เกี่ยวกับเงินทั้งนั้น ตั้งแต่เงินค่าขนมและค่าเทอมในวัยเด็ก เงินเดือนและภาษีในวัยทำงาน (หรือบางอาชีพอาจจะชินกับคำว่าส่วยมากกว่า) สินสอดและค่าเลี้ยงดูบุตรในวัยสร้างครอบครัว ไปจนถึงบำนาญในวัยชรา

และเช่นเดียวกับที่ภาษาไทยใช้คำต่างๆ ในการเรียกเงินได้หรือค่าใช้จ่ายเหล่านี้ ภาษาอังกฤษเองก็ใช้คำเรียกที่ไม่เหมือนกัน อีกทั้งแต่ละคำยังมีที่มาที่ไปน่าสนใจอีกด้วย

สัปดาห์นี้ Word Odyssey จะขอพาไปสำรวจที่มาของศัพท์ที่ใช้เรียกเงินประเภทต่างๆ ตั้งแต่เงินเดือนไปจนถึงเงินสินบน

Salary เงินเดือน

คำนี้มาจากคำว่า salarium ในภาษาละติน ซึ่งเป็นคำที่ใช้เรียกค่าตอบแทนหรือเบี้ยเลี้ยงที่จ่ายให้ทหาร มาจากคำว่า sal ที่แปลว่า เกลือ อีกทอดหนึ่ง

ส่วนที่เกลือมาเกี่ยวกับเบี้ยเลี้ยงได้อย่างไรนั้น นักเขียนชาวโรมัน พลินีผู้อาวุโส (Pliny the Elder) บอกไว้ว่าที่เพราะในสมัยก่อนเกลือถือเป็นสิ่งที่มีค่าอย่างยิ่ง จึงมีการจ่ายเบี้ยเลี้ยงทหารเป็นเกลือ ทำให้เรียกเบี้ยเลี้ยงว่า salarium นั่นเอง

อย่างไรก็ดี นักวิชาการส่วนใหญ่ในปัจจุบันไม่ได้เชื่อว่าทหารสมัยโรมันได้รับเบี้ยเลี้ยงเป็นเกลือจริงๆ แต่น่าจะได้รับเงินไว้สำหรับให้ซื้อเกลือมากกว่า

ทั้งนี้ ในภาษาอังกฤษยังมีอีกหลายคำที่สืบสาวต้นตอกลับไปได้ถึงคำว่า sal และนับเป็นญาติกับคำว่า salary ด้วย ที่เห็นได้ชัดๆ ก็คือ saline ที่หมายถึง เกี่ยวกับเกลือ เช่นใน saline solution (น้ำเกลือ) ส่วนคำที่หน้าตาดูยากขึ้นมาหน่อยก็เช่น sausage (ไส้กรอก) salami (ซาลามี่) salad (สลัด) sauce (ซอส น้ำจิ้ม) และ salsa (ซัลซ่า) ซึ่งล้วนแล้วแต่ต้องใช้เกลือปรุง

Bribe เงินสินบน

คำนี้ว่ากันว่าแต่เดิมหมายถึงชิ้นขนมปังที่เอาไว้ให้ขอทาน อาหารเหลือที่ให้เป็นทาน แต่อาจเป็นเพราะว่าหลายคนมองว่าการขอทานเป็นการได้มาซึ่งทานโดยไม่ถูกต้อง บางครั้งมีลักษณะของการข่มขู่กดดัน ความหมายของคำจึงเริ่มเปลี่ยนไปหมายถึง สิ่งที่ให้ไปเพราะถูกบีบบังคับ สิ่งที่ได้ไปอย่างไม่ถูกไม่ควร จนในท้ายที่สุดก็เริ่มนำไปใช้ในแวดวงการปกครองและกระบวนการยุติธรรม หมายถึง เงินสินบน หรือ เงินที่รับมาอย่างทุจริตเพื่อแลกกับความช่วยเหลือ อย่างในปัจจุบันนี่เอง

ทั้งนี้ คำว่า bribe ในปัจจุบันไม่จำเป็นต้องใช้กับสินบนที่เป็นเงินก็ได้ อาจใช้ในเชิงขำขันเพื่อพูดถึงสิ่งที่เราให้กับคนอีกคนเพื่อแลกกับสิ่งที่เราต้องการ เช่น I bribed my 4-year-old nephew with candy for five minutes of silence. ก็คือ ติดสินบนหลายชายวัยสี่ขวบด้วยลูกอมเพื่อขอให้หยุดแหกปากสักห้านาที

Tax เงินภาษี

คำนี้สืบสาวต้นตอกลับไปได้ถึงกริยา tangere ในภาษาละติน แปลว่า จับ ต้อง แบบที่เจอในคำอย่าง tangent (เส้นสัมผัส) tactile (เกี่ยวข้องกับการรับรู้ด้วยการสัมผัส) และ tangible (จับต้องได้)

กริยา tangere นี้ยังทำให้เกิดรูปกริยา taxare ซึ่งเป็นรูปแสดงความถี่ด้วย ทำนองว่าไม่ใช่แค่จับต้องเฉยๆ แต่เป็นการจับๆ คลำๆ และเนื่องจากว่าเวลาที่เราต้องการประเมินสิ่งๆ หนึ่งว่าดีหรือไม่อย่างไร เราก็อาจต้องใช้การจับๆ คลำๆ taxare จึงถูกใช้ในความหมายว่า ประเมินค่า ด้วย

และเนื่องจากเวลาที่เราจะคิดภาษี ก็ต้องประเมินว่ามีผลผลิตรายได้อะไรเท่าไหร่ กริยานี้ก็เลยกลายมามีความหมายว่า คิดภาษี ไปด้วย

ในเวลาต่อมา กริยานี้ก็เดินทางมาสู่ภาษาอังกฤษและถูกแปลงไปใช้เป็นคำนาม กลายมาเป็น tax ที่หมายถึง ภาษี อย่างในทุกวันนี้

ทั้งนี้ ทุกวันนี้เราก็ยังใช้ tax เป็นคำกริยาได้ด้วย เช่นที่ชาวอเมริกันจำนวนไม่น้อยออกมาประท้วงรัฐบาลให้ Tax the rich. หรือเก็บภาษีกับพวกคนรวยด้วย เนื่องจากคนเหล่านี้มักมีช่องทางหลีกเลี่ยงให้ไม่ต้องจ่ายภาษีเต็มเม็ดเต็มหน่วย 

ที่น่าสนใจก็คือ คำว่า tax นอกจากจะแปลว่า คิดภาษี ยังแปลว่า ใช้งานอย่างหนัก ได้อีกด้วย เช่น Our PM is really taxing our patience. ก็จะหมายความว่า นายกฯ ของเรานี่ทำให้เราต้องเจริญขันติกันหนักทีเดียว

Ransom เงินค่าไถ่

คำว่า ransom นี้ปรากฏในภาษาอังกฤษมาตั้งแต่สมัยอังกฤษกลางแล้ว มาจากส่วนเติมหน้า re- ที่แปลว่า กลับ คืน รวมกับกริยา emere ในภาษาละตินแปลว่า ซื้อ ได้ความหมายรวมกันว่า ซื้อคืนมา 

คำว่า ransom นี้โดยปกติใช้หมายถึงเงินที่จ่ายเพื่อซื้อตัวเชลยหรือคนที่ถูกจับไปคืนมา มักใช้กับกริยา hold เพื่อหมายถึง ถูกจับเรียกค่าไถ่ เช่น He was held for ransom.

ที่น่าสนใจก็คือ คำว่า ransom มีแฝดคนละฝาในภาษาอังกฤษหนึ่งคำ คือคำว่า redeem มาจาก re- + emere เหมือนกันเลย แต่แทรกเสียง d เพื่อให้ออกเสียงง่ายขึ้น

redeem เป็นกริยาที่ใช้ได้หลายความหมาย ส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับการไปนำของบางอย่างคืนมา อาจหมายถึง ไถ่ถอน หรือ แลก เช่น You can redeem this 100 baht discount code until the end of the month. หรือจะใช้หมายถึง กู้ชื่อ ก็ได้ เช่น You can still redeem oneself. ก็คือยังไม่สายเกินที่จะกู้ชื่อให้ตัวเอง หรือจะใช้หมายถึง ทำตามสัญญา ก็ได้เช่นกัน เช่น The government has yet to redeem its pledges. ก็คือ รัฐบาลยังไม่ได้ทำตามสัญญาเลย

ส่วน redeeming quality หมายถึง ข้อดีที่มาชดเชยกับจุดด้อย เช่น The only redeeming quality about that movie is that it does end. ก็จะหมายถึง หนังเรื่องนี้ดีอยู่อย่างเดียวคือมีตอนจบ

นอกจากนั้น redeem ยังใช้ในบริบทคริสต์ศาสนาด้วย หมายถึง ไถ่บาป เช่น Jesus redeemed us with his blood. ก็จะหมายถึง พระเยซูไถ่บาปให้ปวงเราด้วยพระโลหิต ความหมายนี้ปรากฏในชื่อรูปปั้นพระเยซูที่นครริโอเดอจาเนโร ที่เรียกว่า Christ the Redeemer หรือ พระคริสต์ พระผู้ไถ่ ด้วย

Fine ค่าปรับ

คำว่า fine ที่แปลว่า ค่าปรับ นี้มาจากคำว่า finis ในภาษาละติน แปลว่า จุดจบ จุดสิ้นสุด แบบที่เจอในคำว่า finite (มีขอบเขตสิ้นสุด) finish (เสร็จ) หรือ final (สุดท้าย)

ส่วนที่จุดสิ้นสุดกับค่าปรับมาเกี่ยวกันได้ ก็เพราะแต่เดิม fine คือเงินที่จ่ายเพื่อให้ยุติข้อพิพาทหรือสิ้นสุดคดีความแทนการรับโทษนั่นเอง (แต่ในเวลาต่อมา คำว่า fine ถูกนำมาใช้หมายถึง ค่าปรับ ซึ่งเป็นบทลงโทษหนึ่ง ไม่ได้แปลว่าจ่ายค่าปรับแล้วจะไม่ต้องรับโทษอย่างอื่นเสมอไป)

มาถึงตรงนี้ หลายคนอาจสงสัยว่าแล้ว fine ที่หมายถึงค่าปรับ กับ fine ที่หมายถึง ดีงาม เกี่ยวข้องกันไหมอย่างไร

คำตอบก็คือ fine ที่เป็นคุณศัพท์นี้อันที่จริงก็มาจาก finis ในภาษาละตินเหมือนกัน แต่ว่ากันว่าพัฒนามาจากความหมายที่ว่า เสร็จสมบูรณ์แล้ว ทำนองว่าพัฒนาไปจนสุดทางและไปต่อจากจุดนั้นไม่ได้แล้ว ด้วยเหตุนี้ คำว่า fine ที่เป็นคุณศัพท์จึงมีความหมายว่า ดีงาม ละเมียดละไม เลิศล้ำ เช่น fine dining หรือ fine wine เป็นต้น

 

บรรณานุกรม

http://oed.com/

American Heritage Dictionary of the English Language

Ayto, John. Word Origin: The Hidden Histories of English Words from A to Z. 2nd ed. A&C Black: London, 2008.

Barnhart, Robert K. The Barnhart Concise Dictionary of Etymology: The Origins of American English Words. H. W. Wilson: New York, 1995. 

Cambridge Advanced Learners’ Dictionary

Cresswell, Julia. Oxford Dictionary of Word Origins. OUP: New York, 2009.

Flavell, Linda, and Roger Flavell. Dictionary of Word Origins. Kylie Cathie: London, 2010.

Funk, Wilfred. Word Origins: A Classical Exploration of Words and Language. Gramercy Books: New York, 2008.

Hoad. T. F. (Ed.). Oxford Concise Dictionary of English Etymology. OUP: Oxford, 2003.

Jones, Peter. Quid Pro Quo: What the Romans Really Gave the English Language. Atlantic Books: London, 2016.

Longman Dictionary of Contemporary English

Merriam-Webster Dictionary

Oxford Advanced Learners’ Dictionary

Shorter Oxford English Dictionary

Skeat, Walter. A Concise Etymological Dictionary of The English Language. Forgotten Book: NY, 2012.

The Merriam-Webster New Book of Word Histories. Merriam-Webster, 1991.

Tags: ,