เมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่ประชุมร่วมรัฐสภาได้ลงมติเห็นด้วยให้ใช้สูตรคำนวณ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์แบบหาร 500 คือให้นำคะแนนปาร์ตี้ลิสต์ของทุกพรรคไปรวมกันแล้วหารด้วย 500 แทนที่จะหารด้วย 100 เพื่อเป็นค่าเฉลี่ย แล้วค่อยนำคะแนน ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์แต่ละพรรคไปหารด้วยค่าเฉลี่ยนี้ เพื่อเป็นจำนวน ส.ส.พึงได้ของแต่ละพรรค แล้วค่อยนำจำนวน ส.ส.เขตที่แต่ละพรรคได้มาหักลบออก ก็จะได้เห็นจำนวน ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ที่พรรคนั้นจะได้ไป
ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญหลายท่านได้ออกมาแสดงให้เห็นว่า สูตรคำนวณที่ใช้ตัวหารมากขึ้นนี้ จะทำให้พรรคขนาดเล็กและกลางได้เปรียบ เพราะจะมีโอกาสได้ส.ส. ปัดเศษและจำนวนเก้าอี้เพิ่มขึ้น นับเป็นความพยายามในการขัดขวางพรรคขนาดใหญ่ไม่ให้มีโอกาสได้รับคะแนนเลือกตั้งแบบแลนด์สไลด์และตั้งรัฐบาลเดี่ยวได้โดยง่าย
ไหนๆ ช่วงนี้ก็มีการถกเถียงเรื่องสูตรคำนวณกันมากมาย สัปดาห์นี้ Word Odyssey จะขอพาไปดูสำนวนในภาษาอังกฤษ 5 สำนวนที่เกี่ยวข้องกับการคำนวณที่แผ่อิทธิพลจากโลกคณิตศาสตร์มาสู่ภาษาในชีวิตประจำวัน
Do the math ลองคิดดูเอา
สำนวนนี้จะใช้เวลาคิดคำนวณตัวเลขจริงๆ ก็ได้ เช่น ถ้าอยากรู้ว่าคิดสัปดาห์หนึ่งต้องใช้เงินเท่าไร หากต้องเติมน้ำมันดีเซลเต็มถัง 60 ลิตร ลิตรละ 35 บาท แบบนี้เราจะบอกว่า You do the math. ก็ได้ คือคำนวณเอาสิ
แต่สำนวนนี้จะใช้เชิงเปรียบเปรยก็ได้ คือให้นำข้อมูลและข้อเท็จจริงที่มีอยู่ มาคิดหาข้อสรุปเอาเอง ทำนองว่าข้อสรุปนี้มันชัดเจนทนโท่อยู่แล้ว คล้ายๆ ที่พี่ฮาย อาภาพร บอกว่า “บวกลบหารคูณคุณคงรู้ดี” หรือจะให้แปลแบบไทยๆ ก็จะออกแนว “ลองคิดดูเอา”, “ชัดอยู่แล้วไหมว่าเป็นยังไง” ตัวอย่างเช่น หากเพื่อนเราสงสัยว่าทำไมนักการเมืองคนหนึ่งที่เคยใช้ชีวิตสมถะ อยู่ๆ ก็ซื้อบ้านหรู ซื้อของแพงๆ ใช้ แล้วเรารู้ว่าเป็นเพราะเขาเพิ่งย้ายพรรคไปขั้วตรงข้ามและได้รับกล้วยมา เราก็อาจจะบอกเพื่อนว่า เขาเพิ่งย้ายพรรคไปอีกฝ่าย แล้วอยู่ๆ ก็มีเงินขึ้นมา แล้วก็พูดเสริมตอนท้ายว่า Do the math. ก็จะออกทำนองว่า ลองคิดเอาเองแล้วกันว่าเอาเงินมาจากไหน
อีกสำนวนที่ความหมายใกล้เคียงกันก็คือ put two and two together เนื่องจากสำนวนนี้แปลตรงตัวได้ว่า เอาสองมาบวกกับสอง ซึ่งเป็นโจทย์เลขที่แสนง่ายดาย ใครๆ ก็รู้คำตอบ จึงนำมาใช้ในเชิงเปรียบเปรย หมายถึง เมื่อลองคิดดู ก็จะได้ข้อสรุปโดยง่าย
Not add up ไม่สมเหตุสมผล
ปกติแล้ว เราสามารถพูดว่า add up เพื่อหมายถึง ตัวเลขบวกรวมกันแล้วได้ผลลัพธ์พอดีตามที่ควรจะเป็น เช่น ถ้าเราไปกินข้าวแล้วได้ใบเสร็จมา แต่ผลรวมราคาอาหารไม่ถูกต้อง แบบนี้ก็อาจจะบอกว่า The bill does not add up.
แต่ add up นี้ ยังใช้เป็นสำนวนได้ด้วย ปกติใช้ในรูปปฏิเสธ หมายถึง ไม่สมเหตุสมผล ตัวอย่างเช่น ในคดีดาราสาวตกเรือเสียชีวิต หากเราฟังคำให้การของผู้ต้องหาแล้วรู้สึกว่าไม่สมเหตุสมผล เรื่องราวทั้งหมดไม่ปะติดปะต่อกัน แบบนี้เราก็อาจจะพูดว่า Something just doesn’t add up. คือ ฟังดูแล้วมันทะแม่งๆ มีบางอย่างไม่สมเหตุสมผล
Zero-sum game เกมผลรวมเป็นศูนย์
คำนี้เป็นศัพท์จากแวดวงทฤษฎีเกม ใช้เรียกสถานการณ์ที่สองฝ่ายต้องช่วงชิงผลประโยชน์หรือทรัพยากรกัน และเมื่อฝั่งหนึ่งได้ผลประโยชน์หรือทรัพยากรไปเท่าไร อีกฝ่ายก็ต้องเสียไปเท่านั้น ตัวอย่างเช่น ในกรณีที่คนสองคนต้องแย่งพิซซาหนึ่งถาดที่มี 8 ชิ้นกัน คนหนึ่งมีโอกาสช่วงชิงมาได้มากที่สุด 8 ชิ้น หากเราฉวยไปได้ 6 ชิ้น พิซซา 6 ชิ้นนั้นก็คือส่วนที่อีกฝ่ายเสียไปนั่นเอง ส่วนที่เรียกว่ามีผลรวมเป็นศูนย์ ก็เพราะเมื่อนำส่วนที่อีกฝ่ายได้ไปบวกลบกับส่วนที่อีกฝ่ายเสียไปแล้ว ก็จะได้ผลลัพธ์ออกมาเป็นศูนย์ เช่น ฝ่ายหนึ่งได้พิซซาไป 6 ชิ้น แต่อีกฝ่ายเสียไป 6 ชิ้น รวมกันจึงได้ผลเป็นศูนย์
ในปัจจุบัน คำนี้ไม่ได้อยู่แต่เฉพาะในแวดวงทฤษฎีเกมแล้ว แต่ได้แทรกซึมมาสู่ชีวิตประจำวันด้วย และใช้เพื่อพูดถึงเหตุการณ์ที่มีลักษณะนี้ เช่น เราอาจบอกว่าการชิงเก้าอี้ในสภาเป็น a zero-sum game เป็นต้น
Common denominator สิ่งที่มีร่วมกัน
คำว่า denominator ในคณิตศาสตร์คือ ตัวส่วน เช่น เลข 2 ใน ½ เป็นต้น ส่วน Common denominator คือ ตัวส่วนร่วม หรือ ตัวเลขที่ตัวส่วนของเศษส่วนทุกตัวที่มีหารได้ลงตัว ตัวอย่างเช่น 1/3 และ 1/5 มี Common denominator คือ เลข 15 ซึ่งทั้ง 3 และ 5 หารลงตัวนั่นเอง (จริงๆ แล้ว คอนเซ็ปต์ที่โยงกันคือ least common denominator คือ ตัวคูณร่วมน้อย หรือที่หลายคนรู้จักในนาม ครน. นั่นเอง)
แต่นอกเหนือจากในเชิงคณิตศาสตร์แล้ว คำว่า Common denominator ยังใช้หมายถึง ลักษณะร่วมของคนหรือสิ่งของในกลุ่มเดียวกันได้ด้วย ตัวอย่างเช่น สมมติเรามีผู้ป่วยท้องเสีย 7 คน ที่ต่างวัยต่างอาชีพกัน แต่ต่างก็เพิ่งไปกินส้มตำร้านเดียวกันมา แบบนี้เราก็อาจจะบอกว่า การไปกินส้มตำร้านนี้เป็น Common denominator ระหว่างผู้ป่วยเหล่านี้
Come into the equation โผล่เข้ามาในสมการ
แม้ปกติแล้ว เวลาพูดถึง equation หรือ สมการ เราจะคิดถึงประโยคในวิชาคณิตศาสตร์ที่มีเครื่องหมายเท่ากับเชื่อมอยู่ แต่จริงๆ แล้ว คำนี้ยังใช้ในบริบททั่วไปได้ด้วย หมายถึง ประเด็นหรือสถานการณ์ที่เรากำลังพูดถึงอยู่และประกอบด้วยหลายปัจจัย (คล้ายๆ กับที่สมการอาจมีตัวเลขหรือตัวแปรหลายตัว) เช่น สมมติเราบอกว่า เรื่องรถติดเป็นปัญหาซับซ้อนที่มีปัจจัยหลายอย่างเกี่ยวข้อง เราก็อาจจะพูดว่า Traffic congestion is a complex equation.
เนื่องจากเราสามารถเพิ่มลดสิ่งต่างๆ ในสมการได้ ในภาษาอังกฤษจึงมีการสร้างสำนวนที่เกี่ยวกับการหยิบของเข้าออกจากสมการเพื่อนำมาใช้ในเชิงเปรียบเปรยด้วย เช่น come into the equation หมายถึง เมื่อมีสิ่งหนึ่งๆ โผล่เข้ามาเป็นปัจจัยในประเด็นที่เรากำลังพูดถึง ตัวอย่างเช่น Things can get complicated when money comes into the equation. ก็คือ เมื่อมีเงินมาเกี่ยวข้อง อะไรๆ ก็ซับซ้อนขึ้น หรือ take something of the equation หมายถึง หยิบเอาปัจจัยหนึ่งๆ ออกจากประเด็นที่เรากำลังพิจารณาอยู่ ไม่นำมาพิจารณาด้วย เช่น You cannot take luck out of the equation when it comes to sports. ก็คือ หากเป็นเรื่องกีฬาแล้ว โชคก็เป็นเรื่องที่เราจะไม่คำนึงถึงก็ไม่ได้
Tags: Word Odyssey, สำนวนภาษาอังกฤษ, ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์, คำศัพท์ภาษาอังกฤษ, ส.ส.