ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมานี้ มีประเด็นร้อนเกี่ยวกับลอตเตอรี่แวะเวียนมาขึ้นพาดหัวข่าวหลายครั้งหลายครา ตั้งแต่ข่าวแพลตฟอร์มขายลอตเตอรี่ออนไลน์มังกรฟ้าถูกตำรวจล่อซื้อลอตเตอรี่เกินราคา ข่าวคลิปเสียงหลุดระหว่าง เสกสกล อัตถาวงศ์ กับจุรีพร สินธุไพร ว่าด้วยโควตาสลากกินแบ่งรัฐบาล ที่ในท้ายที่สุดทำให้เสกสกลตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งผู้ช่วย รมต.ประจำนายกรัฐมนตรีและสมาชิกพรรคไทยสร้างชาติ ข่าวกองสลากพลัสขายลอตเตอรี่ราคา 80 บาท แต่มีค่าสนับสนุนเว็บไซต์อีก 15 บาท จนทำให้มีตำรวจบุกเข้าค้นบริษัท รวมไปถึงข่าวล่าสุดที่ยายอายุ 71 อ้างว่าถูกทหารยศ จ.ส.อ. ข่มขู่ขับไล่เพราะตนขายลอตเตอรี่ใบละ 80 ตามราคา ซึ่งถูกกว่าที่เจ้าหน้าที่ขายอยู่ที่ 100 บาท

สัปดาห์นี้ Word Odyssey ขอโหนกระแสข่าวสลากกินแบ่งฯ พาไปสืบสาวที่มาของคำว่า lottery พร้อมสืบสาแหรกว่าคำนี้เกี่ยวข้องอะไรกับโชคชะตา ที่ดิน ล็อตสินค้า และคำบอกจำนวน

คำว่า  lottery มาจากไหน

คำว่า lottery ที่หมายถึง สลากกินแบ่งฯ หรือเรียกแบบบ้านๆ ว่า หวย นั้น เริ่มพบในภาษาอังกฤษ ในช่วงกลางศตวรรษที่ 16 ซึ่งเป็นช่วงที่สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 1 รับสั่งให้เริ่มจำหน่ายสลากกินแบ่งฯ เป็นครั้งแรก (ความเก๋คือสลากทุกใบในยุคนั้นได้รางวัลหมด ถ้าไม่ได้เป็นเงินสด ก็ยังอาจได้เป็นสิ่งของ เช่น เครื่องเงิน ผ้าทอ)

คำนี้ว่ากันว่าภาษาอังกฤษยืมมาจาก loterie ในภาษาฝรั่งเศส หรือ loterje ในภาษาดัตช์ แต่หากสืบย้อนกลับไปอีกจะพบว่า 2 คำนี้มาจาก *khlut ในภาษาโปรโตเจอรแมนิก (Proto-Germanic) ซึ่งหมายถึง วัตถุที่ใช้เลือกหรือแบ่งของอย่างสุ่ม เช่น ไม้สั้นไม้ยาวที่ใช้สุ่มว่าใครต้องรับหน้าที่อะไร ลูกเต๋าที่เอาไว้ทอยว่าออกเลขอะไร หรือใบดำใบแดงที่ใช้เวลาเกณฑ์ทหาร

แน่นอนว่า คำว่า *khlut ที่ว่าไปนี้ ก็เป็นที่มาของคำว่า lot ในภาษาอังกฤษปัจจุบัน ที่แปลว่า สลาก ด้วย แบบที่เราพูดกันว่า to draw lots หรือ by lot ตัวอย่างเช่น หากเราต้องการพูดว่า เราจะจับสลากเลือกผู้โชคดี 3 ท่าน เราก็อาจจะพูดเป็นภาษาอังกฤษว่า We’ll draw lots to three lucky winners. หรือ Three lucky winners will be chosen by lot.

ทั้งนี้ คำว่า lottery ยังถูกนำไปใช้ในเชิงเปรียบเปรยด้วย หมายถึง สิ่งที่ขึ้นอยู่กับโชค ต้องเสี่ยงดวงเอา คล้ายกับที่เราซื้อหวยโดยที่ไม่รู้ว่าจะถูกรางวัลหรือถูกกิน เช่นในคำที่พูดกันบ่อยๆ ว่า Marriage is a lottery. หรือแปลแบบไทยๆ ได้ว่า แต่งงานก็เหมือนซื้อหวย ซึ่งเป็นการเปรียบเปรยว่าการแต่งงานเป็นการเสี่ยงโชค นั่นก็คือไม่มีทางที่เราจะรู้ได้ว่า คู่สมรสเราเมื่อแต่งงานไปแล้วจะเป็นคนอย่างไร จะยังเสมอต้นเสมอปลายเหมือนเดิมไหม

 

หวยและโชคชะตา

เนื่องจากการจับสลากเป็นวิธีการหนึ่งที่คนแต่ก่อนใช้แบ่งของที่มีอยู่ (เช่น ของเชลยที่ได้มาจากสงคราม หรือที่ดิน) คำว่า lot จึงหมายถึง ส่วนที่แบ่งสรรให้แก่คนคนหนึ่งได้ด้วย และเนื่องจากคนในสมัยก่อนมองว่าโชคชะตาในชีวิตเป็นสิ่งที่เทพแบ่งสรรปันส่วนให้มนุษย์แต่ละคน (เช่นในเทพปกรณัมกรีก มีเทพี Moirae เป็นผู้ปั่นและตัดแบ่งด้ายแห่งโชคชะตาว่าใครจะมีชีวิตยาวสั้นเท่าไหร่) คำว่า lot ที่เป็นญาติกับคำว่า lottery จึงหมายถึง โชคชะตาของคนเรา ได้ด้วย เช่น Given a pretty poor lot in life, he learned pretty early on that life is not fair. ก็คือ เกิดมาลำบาก จึงได้เรียนรู้ตั้งแต่ยังเด็กว่าชีวิตไม่ยุติธรรม

ทั้งนี้ ในปัจจุบัน lot ไม่ได้หมายถึงโชคชะตาแบบที่ลิขิตมาแล้วและเปลี่ยนแปลงไม่ได้ อันที่จริงแล้ว บางครั้งความหมายออกแนวความเป็นอยู่ หรือสภาพชีวิต และมักปรากฏกับกริยาที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงเสียด้วยซ้ำ ตัวอย่างเช่น The new policy will do little to improve the lot of the poor. หมายถึง นโยบายใหม่แทบจะไม่ช่วยพัฒนาให้คนจนมีความเป็นอยู่ดีขึ้น

 

พื้นที่ ล็อตสินค้า

นอกจากจะใช้พูดถึงโชคชะตาที่ได้รับการจัดสรรปันส่วนให้แก่มนุษย์แต่ละคนแล้ว คำว่า lot ยังค่อยๆ ถูกนำมาใช้กับสิ่งอื่นๆ ที่มีการจัดสรรหรือแบ่งส่วนด้วย

อันที่เราอาจได้ยินบ่อยๆ ก็คือ ที่ดินแบบที่แบ่งเป็นผืนหรือแปลง โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา ตัวอย่างเช่น We just bought a vacant lot on the main street. ก็คือ พวกเขาเพิ่งซื้อที่ดินเปล่าติดถนนใหญ่ ทั้งนี้ lot เป็นคำเดียวกับที่เราเจอใน a building lot ที่หมายถึง พื้นที่ที่เคลียร์ไว้เตรียมสร้างอาคาร หรือแม้แต่ a parking lot ที่แปลว่า ลานจอดรถ ด้วย

นอกจากนั้น เรายังนำคำว่า lot มาใช้เรียกคนหรือสิ่งของที่จัดเป็นกลุ่มก้อนด้วย ซึ่งคนไทยก็เรียกทับศัพท์ว่าล็อต เช่น That was the last lot of visitors. ก็คือ เมื่อกี้เป็นผู้เข้าชมกลุ่มสุดท้ายแล้ว หรือ The second lot of products should arrive next week. ก็คือ สินค้าล็อตสองน่าจะมาถึงสัปดาห์หน้า

 

ปริมาณมหาศาล

อ่านมาถึงตรงนี้ หลายคนคงสงสัยแล้วว่า lot ที่พูดถึงไปทั้งหมดนี้ เกี่ยวข้องกับ lot ที่แปลว่า จำนวนมาก แบบใน a lot ไหม

คำตอบก็คือเกี่ยว นั่นคือ เมื่อ lot เริ่มถูกนำมาใช้เรียกคนหรือสิ่งของที่แบ่งออกมาเป็นกลุ่มก้อนแล้ว ความหมายใหม่ก็ค่อยๆ งอกออกมา หมายถึง กลุ่มก้อนที่มีขนาดใหญ่ จนท้ายที่สุดก็กลายมาเป็นคำบอกจำนวนหรือปริมาณแบบที่เราใช้กันทุกวันนี้นั่นเอง เช่น a lot of people หรือ a lot of fun

ที่น่าสนใจคือ a lot แบบนี้ใช้ได้หลายแบบมาก จะใช้บอกจำนวนหรือปริมาณของคำนามก็ได้ เช่น a lot of friends หรือ a lot of help หรือจะนำไปใช้ขยายระดับของคำประเภทอื่นที่ไม่ใช่นามก็ได้ เช่น It’s a lot worse than you think. คือ แย่กว่าที่แกคิดมาก หรือ Thanks a lot for coming. คือ ขอบคุณมากที่มา

นอกจากนั้น เวลาที่เราพูดแบบไม่เป็นทางการ เรายังใช้รูป lots ได้ด้วย เช่น lots of money หรือที่เราชอบลงท้ายจดหมายหาคนสนิทว่า lots of love

 

ไอ้คนพวกนี้

ในภาษาอังกฤษแบบบริติช คำว่า lot ยังใช้เรียกกลุ่มคนที่มีลักษณะไม่ค่อยพึงประสงค์ได้ด้วย โดยปกติจะนำคำคุณศัพท์มาวางขยายข้างหน้าว่าเป็นคนแบบไหน เช่น These businessmen are a dishonest lot. ก็คือ ไอ้นักธุรกิจพวกนี้เป็นพวกหลอกลวงไม่ซื่อสัตย์

นอกจากนั้น ยังนำ lot มาประกอบกับ you เพื่อใช้เรียกกลุ่มคนที่เรากำลังพูดอยู่ได้ด้วย แต่ปกติจะใช้กับกลุ่มคนที่มีศักดิ์หรืออายุน้อยกว่าที่เราอาจจะรู้สึกรำคาญหรือไม่ค่อยพอใจเล็กน้อย เช่น หากบรรดาลุงๆ ป้าๆ กำลังนั่งคุยกัน แล้วมีกลุ่มเด็กมาวิ่งเล่นเสียงดัง ก็อาจจะพูดว่า Knock it off, you lot! ก็คือ พวกเอ็งหยุดได้แล้ว

 

 

บรรณานุกรม

http://oed.com/

American Heritage Dictionary of the English Language

Ayto, John. Word Origin: The Hidden Histories of English Words from A to Z. 2nd ed. A&C Black: London, 2008.

Barnhart, Robert K. The Barnhart Concise Dictionary of Etymology: The Origins of American English Words. H. W. Wilson: New York, 1995.

Cambridge Advanced Learners’ Dictionary

Hanks, Patrick., Kate Hardcastle, and Flavia Hodges. Oxford Dictionary of First Names. OUP: New York, 2006.

Hoad. T. F. (Ed.). Oxford Concise Dictionary of English Etymology. OUP: Oxford, 2003.

Jack, Albert. What Caesar did for My Salad: The Curious Stories Behind Our Favourite Foods. Albert Jack Publishing: Cape Town, 2017.

Jones, Daniel. Cambridge English Pronouncing Dictionary. Cambridge University Press: Cambridge, 2003.

Longman Dictionary of Contemporary English

Merriam-Webster Dictionary

Shorter Oxford English Dictionary

Skeat, Walter. A Concise Etymological Dictionary of The English Language. Forgotten Book: NY, 2012.

Watkins, Calvert. The American Heritage Dictionary of Indo-European Roots. 3ed., Houghton Mifflin Harcourt: New York, 2011.

Wells, J. C. Longman Pronunciation Dictionary. Pearson Education: Essex, 2008.

Tags: , , ,