คำว่า too ที่แปลว่า เกินไป มีความมหัศจรรย์อยู่อย่างหนึ่ง คือไม่ว่าจะนำไปคู่กับคำไหนและไม่ว่าคำนั้นจะมีความหมายดีเท่าไร ก็สามารถเปลี่ยนความหมายให้กลายเป็นเชิงลบได้หมด เช่น จากคำว่า optimistic ที่แปลว่า มองโลกในแง่ดี เพียงแค่เติม too ไปข้างหน้าเป็น too optimistic ก็จะกลายไปหมายถึง โลกสวย ในทันที
สัปดาห์นี้ คอลัมน์ Word Odyssey จะพาไปดูสำนวนต่างๆ ของคำว่า too ที่เรานำไปใช้ได้ในชีวิตประจำวัน พร้อมตัวอย่างสถานการณ์ที่นำสำนวนเหล่านี้ไปใช้ได้
Too good to be true ดีเกินกว่าจะเป็นจริง
อะไรนะ
หลังจากที่ต้องลงทะเบียนชิงเปรตแย่งกันแทบตาย
คนไทยจะมีวัคซีนเต็มแขนภายในสิ้นปีเหรอ
ฟังดูดีเกินกว่าจะเป็นความจริงได้เหลือเกิน
Too little, too late สายเกินไป
พอรัฐบาลเริ่มเปลี่ยนท่าที
แลดูสนใจเข้าร่วม COVAX
หลายคนดีใจบอกว่ามาช้ายังดีกว่าไม่มา
แต่คนอีกไม่น้อยบอกว่า
ไม่ให้อภัยหรอกนะที่ ‘ก้าวลงจากขบวน’ เอง
เพราะทำคนไทยพลาดโอกาสได้รับวัคซีนไปไม่รู้เท่าไร
เพิ่งกลับลำแบบนี้มันไม่เพียงพอและไม่ทันการณ์
The lady doth protest too much, methinks. ตอกย้ำเหมือนร้อนตัว
แหม ย้ำอยู่ได้ว่ารักชาติ ศาสน์ กษัตริย์
ใครเขาไปกล่าวหาเหรอว่าไม่รัก
ร้อนตัวนะเราน่ะ
คำพูดนี้มาจากบทละครเรื่อง แฮมเลต (Hamlet) ของ วิลเลียม เชกสเปียร์ (William Shakespeare) ในองค์ 3 ฉาก 2 เกอร์ทรูด (Gertrude) แม่ของแฮมเล็ตเห็นว่าราชินีในละครที่กำลังชมอยู่กล้าให้คำมั่นสัญญาเป็นมั่นเป็นเหมาะว่าจะไม่แต่งงานใหม่ พอแฮมเล็ตถามเกอร์ทรูด (ซึ่งแต่งงานใหม่กับลุงของแฮมเล็ต) ว่าชอบละครไหม จึงพูดออกไปว่า The lady doth protest too much, methinks. ก็คือ ยัยราชินีในละครนี่ก็พูดให้คำมั่นเกินไปเนอะ (protest ในที่นี้ไม่ได้หมายถึง คัดค้าน ปฏิเสธ แต่หมายถึง ประกาศอย่างเป็นทางการ กล่าวออกมาอย่างจริงจัง)
ในปัจจุบัน เรามักใช้สำนวนนี้ในกรณีที่ใครปฏิเสธหรือยืนยันอะไรเกินเหตุจนดูมีพิรุธ ชวนให้สงสัยว่าตัวเองจะเป็นตรงกันข้ามกับสิ่งที่ตัวพูดอยู่ เช่น คนที่ปฏิเสธเสียงแข็งบ่อยๆ ว่าตัวเองไม่เคยคิดทุจริต อาจจะปฏิเสธบ่อยเกินจนคนคลางแคลงใจว่าหรือจริงๆ แล้วทุจริต
นอกจากนี้ คำพูดนี้ยังมักพูดสลับเป็น Methinks the lady doth protest too much. อีกด้วยในปัจจุบัน หรือบางทีก็เปลี่ยนจาก the lady ไปใช้สรรพนามบุรุษที่สองเป็น Thou dost protest too much, methinks. เพื่อเน้นว่าหมายถึงตัวคนที่เรากำลังพูดอยู่ด้วย
Too funny for their own good ตลกเกินจนเป็นภัยแก่ตัว
ความฮาเป็นเหตุ
สอง พส. พระมหาสมปองและพระมหาไพรวัลย์
ไลฟ์เทศนาธรรมเชิงขำขันกรามค้าง
จนโดนหลายฝ่ายเพ่งเล็ง
กล่าวหาว่าวางตัวไม่เหมาะสมกับสมณเพศ
ล่าสุดโดนเชิญตัวเข้าชี้แจงกับ กมธ.ศาสนา
โถ สภาพพพพ
สำนวนนี้จริงๆ แล้วเราจะใส่คำอื่นที่มีความหมายในแง่ดีแทนคำว่า popular ก็ได้ และสามารถเปลี่ยนคำว่า their ให้สอดคล้องกับคนที่พูดถึงได้ เช่น too honest for her own good ก็คือ ซื่อสัตย์จนเป็นภัยแก่ตัว
Speak too soon ด่วนพูด ยังไม่ทันขาดคำ
ตอนแรกคิดว่าเรื่อง พส. สองรูป ไม่ใช่เรื่องการเมืองจ๋า
ศรีสุวรรณไม่น่าร้องสอบหรอก
แต่พูดไม่ทันขาดคำ
ศรีสุวรรณร้องสอบสอง พส. เรียบร้อยจ้า
เราด่วนพูดไปจริงๆ
You can’t be too careful. ปลอดภัยไว้ก่อน
ยอมควักกระเป๋าจ่ายเงินจองโมเดอร์นา
จัดไปสี่เข็ม สี่โรงพยาบาล เพื่อกระจายความเสี่ยง
เพราะในบ้านนี้เมืองนี้
ไม่มีใครประกันได้ว่าวัคซีนจะได้มาครบจริง
หรือมีหน่วยงานไหนมาปาดหน้าไปหรือเปล่า
ปลอดภัยไว้ก่อนไม่เสียหาย
Too close for comfort ใกล้ตัวเกินไป
ก่อนหน้านี้ในซอยมีคนติดโควิดก็กลัวแล้ว
แต่รอบนี้ข้างบ้านเลยจ้า
มันมาใกล้ตัวเกินไปแล้ว
ชวนให้รู้สึกไม่ปลอดภัยยิ่งขึ้นกว่าเดิมไปอีก
Too bad เสียดายจัง
สรุปได้รับโหวตไว้วางใจให้อยู่ต่อเหรอ
แหม เสียดายจัง
เฮ้อ เสียดายจัง
Know all too well เข้าใจเสียยิ่งกว่าเข้าใจ
รัฐบาลประเทศเธอจัดการวัคซีนได้พังพินาศ
จนทำให้เธอรู้สึกสิ้นหวังกับอนาคตอันมืดมิด
เห็นแต่ภาพประเทศของเธอกำลังถอยหลังลงคลองเหรอ
ขอกอดหนึ่งที ฉันมาจากประเทศไทย ฉันเข้าใจความรู้สึกนั้นดีจ้ะ
สำนวนนี้โดยปกติจะใช้กับเรื่องหรือประสบการณ์เชิงลบ
It is never too late. ไม่มีคำว่าสายเกินไป
ท่านนายกฯ ครับ
ยังไม่สายเกินไปที่จะลาออกนะครับ
บรรณานุกรม
- http://oed.com/
- Ammer, Christine. The American Heritage Dictionary of Idioms: American English Idiomatic Expressions & Phrases. 2nd ed. Houghton Mifflin Harcourt: Boston, 2013.
- American Heritage Dictionary of the English Language
- Ayto, John. Oxford Dictionary of English Idioms. OUP: Oxford, 2009.
- Cambridge Advanced Learners’ Dictionary
- Crystal, David, and Ben Crystal. Shakespeare’s Words: A Glossary & Language Companion. Penguin Books: London, 2002.
- Elizabeth, Mary. Barron’s American Slang Dictionary and Thesaurus. Barron’s Education Series: New York, 2009.
- Gulland, Daphne M., and Hinds-Howell, David. The Penguin Dictionary of English Idiom. Penguin Books: London, 2002.
- Longman Dictionary of Contemporary English
- Longman Idioms Dictionary. Pearson: Essex, 2010.
- Merriam-Webster Dictionary
- Oxford Advanced Learners’ Dictionary
- Oxford Idioms Dictionary for Learners of English. OUP: New York, 2006.
- Shorter Oxford English Dictionary