“This is not how I wanted to learn the Greek alphabet.” (“ไม่ได้อยากเรียนอักษรกรีกด้วยวิธีนี้”)

 นี่คือคำโอดครวญของผู้ใช้ทวิตเตอร์รายหนึ่งเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังจากมีการค้นพบโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่ทางองค์การอนามัยโลกตั้งชื่อว่า Omicron หรือ โอมิครอน (ซึ่งมีผู้คนออกเสียงไว้มากมายหลายแบบ ทั้งโอมิครอน ออมิครอน และ โอไมครอน) ซึ่งเป็นตัวอักษรกรีกตัวที่ 15 ต่อจากตัวอักษรกรีกตัวอื่นๆ ที่ใช้ไปแล้ว (ข้ามตัว Nu เพื่อป้องกันไม่ให้สับสนกับคำว่า new ที่แปลว่าใหม่ และข้าม Xi ที่มีรูปเขียนอักษรโรมันตรงกับนามสกุลชาวจีนหลายคน)

อันที่จริง นอกจากชื่อสายพันธ์โคโรนาไวรัสที่ตั้งตามตัวอักษรกรีกแล้ว หลายๆ คนก็ยังอาจได้เคยพบเจอกับอักษรกรีกตัวอื่นๆ มาบ้างในวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ เช่น ค่า pi (π), ตัว sigma (Σ) ที่ใช้หมายถึงผลรวม หรือตัว theta (θ) ที่ใช้แทนองศาของมุม แต่ที่หลายคนอาจไม่ทันได้สังเกตก็คือ ตัวอักษรกรีกพวกนี้ยังสอดแทรกอยู่ในศัพท์สำนวนภาษาอังกฤษด้วย

สัปดาห์นี้ Word Odyssey จะขอพาไปดูศัพท์และสำนวนในภาษาอังกฤษที่มาจากตัวอักษรกรีกหรือมีตัวอักษรกรีกแอบซ่อนอยู่

Alphabet พยัญชนะ

คำว่า alphabet ในภาษาอังกฤษที่เราใช้เรียกพยัญชนะนั้น หากสืบสาวย้อนกลับไปก็พบว่ามาจาก alpha (ตัวใหญ่ A, ตัวเล็ก α) และ beta (ตัวใหญ่ B, ตัวเล็ก β) ซึ่งเป็นตัวอักษรสองตัวแรกของภาษากรีก (อารมณ์คล้ายๆ ที่เราพูดว่า ABC หรือ กขค.)

คำว่า alphabet ยังถูกนำมาทำเป็นคำว่า alphabetize ที่แปลว่า เรียงตามตัวอักษร และ alphabetical ที่ใช้เรียกอะไรที่เกี่ยวข้องกับตัวอักษร เช่น an alphabetical order ก็คือ การเรียงตามตัวอักษร

ทั้งนี้ คำว่า alphabet หมายถึง ชุดตัวพยัญชนะทั้งหมดในภาษาหนึ่งๆ ไม่ใช่แค่ตัวอักษรแต่ละตัว ซึ่งจะใช้คำว่า letter

Alpha male ผู้ชายแอลฟ่า

เนื่องจาก alpha เป็นตัวอักษรแรกในภาษากรีก จึงถูกนักสัตววิทยานำมาใช้เรียกสัตว์ที่มีตำแหน่งเป็นอันดับหนึ่งในฝูงหรือที่เราเรียกกันว่าจ่าฝูง เช่น สิงโตตัวผู้ที่เป็นจ่าฝูง (ซึ่งจะได้กินเหยื่อที่ล่ามาได้ก่อนตัวอื่นในฝูง และเป็นตัวผู้ตัวเดียวที่มีเพศสัมพันธ์กับตัวเมียตัวอื่นๆ ในฝูงได้) แบบนี้ก็จะเรียกว่า an alpha หรือ an alpha male

คำว่า alpha male นี้ ภายหลังถูกนำมาใช้เป็นสแลงเรียกผู้ชายที่มีลักษณะความเป็นชายตามอุดมคติแบบดั้งเดิมด้วย เช่น มีความเป็นผู้นำ เป็นผู้หาเลี้ยงปกป้องครอบครัว เข้มแข็งกล้าหาญ ชอบการแข่งขันเอาชนะ ไม่แสดงความอ่อนแอ (ส่วนประเภทที่มีลักษณะเป็นรองจากนี้เรียก beta male ซึ่งมาจากตัวอักษรตัวที่สองของภาษากรีก)

ด้วยเหตุที่ความเป็นชายตามอุดมคติตามขนบมีความ toxic เหลือเกิน คำว่า alpha male จึงถูกนำมาในเชิงลบกันอย่างแพร่หลาย หมายถึงผู้ชายที่ทำตัวเหมือนเป็นจ่าฝูง วางตัวหยิ่งยโส เหนือกว่าชาวบ้าน พร้อมใช้กำลังเหมือนมีฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนพลุ่งพล่านตลอดเวลา

Beta test ทดสอบเบตา

ก่อนที่โปรแกรมจะปล่อยออกมาเป็นเวอร์ชันสมบูรณ์ ย่อมต้องมีการทดสอบก่อน โดยปกติแล้วจะมีการทดสอบสองชั้น ชั้นแรกคือการทดลองกันภายในเพื่อหาจุดบกพร่องก่อนที่จะปล่อยโปรแกรมออกมาให้ผู้ใช้งาน เรียกว่า alpha test (มาจาก alpha ที่เป็นตัวอักษรตัวแรกของภาษากรีกอีกเช่นเคย) และชั้นที่สองคือการปล่อยโปรแกรมออกมาให้ผู้ใช้งานจริงช่วยทดสอบ เพื่ออุดรอยรั่วก่อนออกเวอร์ชันสมบูรณ์ในภายหลัง แบบนี้จะเรียกว่า beta test (มาจาก beta ที่เป็นตัวอักษรตัวที่สองของภาษากรีก)

ทั้งนี้ คนส่วนใหญ่จะคุ้นเคยกับ beta test มากกว่า เพราะหากไม่ใช่ผู้ผลิตโปรแกรมก็จะไม่มีโอกาสได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับส่วนที่เป็น alpha test เลย

Gamma ray รังสีแกมมา

หลังจากที่นักฟิสิกส์ชาวฝรั่ง อ็องรี แบ็กแรล (Henri Becquerel) ค้นพบกัมมันตรังสีในช่วงศตวรรษที่ 19 นักฟิสิกส์ชาวออสเตรเลีย เออร์เนสต์ รัทเธอร์ฟอร์ด (Ernest Rutherford) ได้จำแนกประเภทรังสีไว้สามประเภทตามลำดับอำนาจทะลุผ่านจากน้อยไปมาก ไล่ตั้งแต่ alpha (α) ซึ่งเป็นตัวอักษรกรีกตัวแรก เป็นระดับต่ำสุด beta (β) ซึ่งเป็นตัวอักษรกรีกตัวที่สอง เป็นระดับกลาง ส่วนระดับที่สาม รัทเธอร์ฟอร์ดก็เลยตั้งชื่อว่า gamma (γ) ซึ่งเป็นตัวอักษรกรีกตัวที่สามนั่นเอง (ตัวใหญ่ Γ, ตัวเล็ก γ)

ทั้งนี้ เราอาจจะได้ยินชื่อรังสีแกมมาบ่อยกว่าประเภทอื่น เพราะถูกนำมาใช้ในเรื่องแต่งบ่อยครั้ง (ซึ่งก็อาจเป็นเพราะมีอำนาจทะลุผ่านสูงและสร้างความเสียหายได้มากกว่ารังสีประเภทอื่น) เช่น ตัวละคร เดอะ ฮัลก์ (The Hulk) ในจักรวาลมาร์เวล (Marvel) ก็เกิดขึ้นจากการที่นักวิทยาศาสตร์ บรูซ แบนเนอร์ (Bruce Banner) ได้รับรังสีแกมมาจนร่างกายเกิดการเปลี่ยนแปลง ส่งผลให้กลายร่างเป็นสัตว์ประหลาดผิวสีเขียวเมื่อโกรธ

Gamut ทั้งหมดทั้งมวล

ย้อนกลับไปในสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 11 บาทหลวงอิตาเลียนคนหนึ่งชื่อ กวีโด ดาเรซโซ (Guido d’Arezzo) ได้คิดค้นระบบการกำหนดโน้ตดนตรีตามชื่อพยางค์ (solmization) เพื่อใช้สอนดนตรี โดยอ้างอิงจากเพลงสดุดีนักบุญจอห์นชื่อ Ut queant laxis ที่เป็นภาษาละตินที่ใครๆ ในสมัยนั้นก็ร้องได้ ระบบที่ดาเรซโซคิดขึ้นนี้ประกอบด้วยโน้ตหกตัว แต่ละตัวได้ชื่อมาจากพยางค์แรกของแต่ละท่อน

Ut queant laxīs 

resonāre fibrīs

Mīra gestōrum 

famulī tuōrum,

Solve pollūtī  

labiī reātum,

Sāncte Iohannēs.

เกิดเป็นโน้ต Ut-re-mi-fa-so-la ซึ่งในเวลาที่ ut ถูกเปลี่ยนเป็น do และมีการเติม si/ti เข้ามาข้างท้าย เกิดเป็นโน้ต Do-re-mi-fa-so(l)-la-si/ti แบบที่เรารู้จักกันในปัจจุบัน

ดาเรซโซยังเป็นคนคิดระบบบรรทัดเส้นด้วย ในระบบบรรทัดเส้นของดาเรซโซนี้ เส้นบรรทัดล่างสุดของกุญแจฟามีชื่อเรียกว่า gamma ส่วนโน้ตตัวแรกคือ ut ดังนั้นโน้ตตัวแรกสุดนั้นจึงได้ชื่อว่า gamma ut แต่ในเวลาต่อมาถูกย่อเหลือเพียง gamut

ที่น่าสนใจก็คือความหมายของคำนี้ จากที่เคยใช้เรียกโน้ตตัวแรกที่ต่ำที่สุด กลับขยายความไปหมายถึงโน้ตทั้งหมดในสเกล จนท้ายที่สุดคำนี้ก็ถูกยืมมาใช้นอกวงการดนตรีเพื่อใช้สื่อว่า ทั้งหมดทั้งมวลที่มี เช่น He went through the whole gamut of emotions. ก็คือ รู้สึกครบทุกอารมณ์ มีทั้งขึ้นลงตีลังกาเหมือนนั่งรถไฟเหาะยังไงยังงั้น

Delta ดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ

คำว่า delta เป็นชื่อตัวอักษรตัวที่สี่ในภาษากรีก (ตัวใหญ่ Δ, ตัวเล็ก δ) เนื่องจากตัวใหญ่หรือ uppercase ของอักษรตัวนี้มีหน้าตาเหมือนสี่เหลี่ยม (Δ) เมื่อคนในอดีตเห็นดินดอนปากแม่น้ำไนล์เป็นรูปสามเหลี่ยม จึงเรียกดินดอนนั้นว่า the Delta ในเวลาต่อมา คำนี้จึงกลายมาเป็นคำที่ใช้เรียกดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำทั่วๆ ไปอย่างในปัจจุบัน

Iota ปริมาณเศษเสี้ยวเล็กน้อย

คำนี้ (ในภาษาอังกฤษอ่านว่า ไอโอวเทอะ) เป็นชื่อเรียกตัวอักษรกรีกตัวที่เก้า ตัวใหญ่หรือ uppercase (I) หน้าตาเหมือนตัว I ในอักษรโรมันเพราะเป็นบรรพบุรุษโดยตรง ส่วนตัวเล็กหรือ lowercase (ι) ก็แทบจะเหมือนตัว i เพียงแต่ไม่มีจุดด้านบนเท่านั้น

เนื่องจากตัวอักษรนี้ขนาดเล็กที่สุดในบรรดาอักษรกรีก จึงถูกนำมาใช้ในภาษาอังกฤษ หมายถึง ปริมาณเศษเสี้ยวเล็กน้อยที่สุด แต่ปกติมักใช้ในความหมายเชิงปฏิเสธ เช่น She didn’t feel even an iota of remorse. หรือ เขาไม่ได้สำนึกผิดแม้แต่นิด

Alpha and omega ตั้งแต่ต้นจนจบ ทุกสรรพสิ่ง

ตัว omega (ตัวใหญ่ Ω, ตัวเล็ก ω) เป็นตัวอักษรกรีกตัวที่ 24 และเป็นตัวอักษรตัวสุดท้ายของพยัญชนะกรีก ชื่อของตัวอักษรนี้หมายถึงตัว O ใหญ่ (mega แปลว่า ใหญ่ แบบในคำว่า megaproject) ตรงข้ามกับ omicron (ตัวใหญ่ Ο, ตัวเล็ก ο) ซึ่งหมายถึงตัว O เล็ก (micron แปลว่า เล็ก แบบในหน่วยไมครอน)

หลายคนอาจจะเคยได้ยินชื่อตัวอักษร omega จากยี่ห้อนาฬิกาสวิส ชื่อ omega-3 ที่เป็นกรดไขมัน หรือไม่ก็ชื่อ Omega Red ที่เป็นตัวร้ายในจักรวาลมาร์เวล แต่นอกจากนั้นแล้ว ตัวอักษรนี้ยังปรากฏในสำนวนภาษาอังกฤษ alpha and omega ซึ่งหมายถึง ทุกอย่างตั้งแต่ต้นจนจบ เพราะ alpha เป็นตัวอักษรกรีกตัวแรกและ omega เป็นตัวอักษรกรีกตัวสุดท้าย เช่น In this course, you’ll learn the alpha and omega of business writing. ก็คือ ในคอร์สนี้ คุณจะได้เรียนทุกอย่างเกี่ยวกับการเขียนเชิงธุรกิจ นอกจากนั้น alpha and omega ยังใช้หมายถึง หัวใจสำคัญ หรือ สิ่งที่เรียกได้ว่าเป็นทุกสิ่งทุกอย่างได้ด้วย เช่น He was my alpha and omega. แบบนี้ก็จะหมายถึง เขาเป็นสิ่งสำคัญที่สุด เป็นทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิต

ทั้งนี้ สำนวน alpha and omega ปรากฏบันทึกครั้งแรกในภาษาอังกฤษนี้ในคัมภีร์ไบเบิล เป็นชื่อที่ใช้เรียกขานถึงพระเยซูในหนังสือวิวรณ์ (The Book of Revelation) เช่น “I am the Alpha and the Omega, the First and the Last, the Beginning and the End.” (“เราคืออัลฟาและโอเมกา เป็นเบื้องต้นและเบื้องปลาย เป็นปฐมและอวสาน”) จากวิวรณ์ 22:13 ส่วนที่ตัวอักษรกรีกไปอยู่ในคัมภีร์ไบเบิ้ลได้ก็เพราะส่วนภาคพันธะสัญญาใหม่แต่เดิมเขียนเป็นภาษากรีก

 

บรรณานุกรม 

https://www.nytimes.com/2021/11/30/world/omicron-covid-variant-pronunciation.html 

https://en.wikipedia.org/wiki/Musical_note

https://en.wikipedia.org/wiki/Guidonian_hand

 https://www.bible.com/th/bible/174/REV.22.THSV11

http://oed.com/

Ayto, John. Word Origin: The Hidden Histories of English Words from A to Z. 2nd ed. A&C Black: London, 2008.

Barnhart, Robert K. The Barnhart Concise Dictionary of Etymology: The Origins of American English Words. H. W. Wilson: New York, 1995.

Cresswell, Julia. Oxford Dictionary of Word Origins. OUP: New York, 2009.

Crystal, David. Begat: The King James Bible & the English Language. OUP: New York, 2011.

Funk, Wilfred. Word Origins: A Classical Exploration of Words and Language. Gramercy Books: New York, 2008.

Green, Tamara M. The Greek and Latin Roots of English. Rowman & Littlefield Publishers: Lanham, 2008.

Hoad. T. F. (Ed.). Oxford Concise Dictionary of English Etymology. OUP: Oxford, 2003.

Jones, Daniel. Cambridge English Pronouncing Dictionary. Cambridge University Press: Cambridge, 2003.

Krill, Richard M. Greek and Latin in English Today. Bolchazy-Carducci Publishers: Wauconda, 2003.

Merriam-Webster Dictionary

The Merriam-Webster New Book of Word Histories. Merriam-Webster, 1991.

Wells, J. C. Longman Pronunciation Dictionary. Pearson Education: Essex, 2008.

Tags: , ,