นอกเหนือจากการแฉเรื่องสปายแวร์เพกาซัสแล้ว อีกเหตุการณ์หนึ่งจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจ 11 รมต. ที่เปรี้ยงปร้างระดับทำเอาหลายคนอ้าปากค้างกันเป็นแถว ก็คือการที่ ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า หัวหน้าพรรคเศรษฐกิจไทยและอดีตรมต. ในรัฐบาลนี้ ออกมาเปิดหลักฐานแฉว่าอาจมี ส.ส. หลายพรรครับเงินรายเดือนเพื่อให้โหวตตามมติพรรคแกนนำรัฐบาล หรือเรียกง่ายๆ อีกอย่างว่า อาจมีการแจก ‘กล้วย’ นั่นเอง
แน่นอนว่า ‘กล้วย’ ในที่นี้ไม่ได้หมายถึง ผลไม้สีเหลืองที่อยู่ในหวีในเครือ แต่เป็นคำเปรียบเปรยหมายถึง เงินหรือผลประโยชน์ที่เอาไว้เลี้ยงนักการเมืองให้ยอมโอนอ่อนทำตามที่ต้องการ ไม่ลุกขึ้นมากระด้างกระเดื่อง คล้ายๆ กับที่คนเลี้ยงลิงคอยป้อนกล้วยให้ลิงเชื่องอยู่ในอาณัติ
ทั้งนี้ ชื่อผลไม้ต่างๆ ในภาษาอังกฤษก็มีการนำมาใช้ในเชิงเปรียบเปรยเป็นสำนวนต่างๆ ในลักษณะนี้เช่นกัน ดังนั้น ในสัปดาห์นี้ Word Odyssey จะขอพาไปลุยสวนแวะดูว่าผลไม้อะไรถูกเด็ดไปใช้เป็นสำนวนบ้าง และแต่ละสำนวนใช้อย่างไร
Banana
คำว่า banana ที่เราเจอในภาษาอังกฤษอาจไม่ได้หมายถึง กล้วย (ที่เป็นผลไม้ ไม่ใช่เงินที่พรรคการเมืองจ่ายกัน) เสมอไป เช่นเวลาที่ใครพูดว่า You’re bananas. ก็ไม่ได้ความว่าเขาเห็นเราเป็นนางตานีหรือกล้วยหอมจอมซนบีหนึ่งบีสองแต่อย่างใด แต่หมายถึง บ้าบอ ทำอะไรที่ดูบ้าเกินปกติหรือไม่ค่อยมีเหตุผล หรือถ้าพูดว่า He’s gone bananas. ก็จะหมายถึง เขาเสียสติไปแล้ว
นอกจากนั้น banana ยังอาจหมายถึง คน ได้ด้วยในสำนวน top banana ซึ่งหมายถึง หัวหน้า คนที่มีอำนาจที่สุดในองค์กร และ second banana ซึ่งหมายถึง ลูกน้อง ผู้ใต้บังคับบัญชาที่มีตำแหน่งรองลงมาจากหัวหน้า
เท่านั้นไม่พอ เช่นเดียวกับที่รูปพรรณสัณฐานของผลไม้ชนิดนี้ทำให้คนไทยหลายคนใช้คำว่า “กล้วย” สื่อถึงส่วนสงวนของผู้ชาย ในภาษาอังกฤษก็มีคำว่า a banana hammock ซึ่งแปลตรงตัวได้ว่า เปลกล้วย และใช้เรียกกางเกงในหรือชุดว่ายน้ำผู้ชายที่มีลักษณะเหมือนสายเดียว มีเนื้อผ้าแค่พอที่จะทำหน้าที่คล้ายเปลญวนห่อหุ้มน้องชายไว้ไม่ให้ล่อนจ้อนนั่นเอง
นอกจากนั้น ภาษาอังกฤษยังมีสำนวน a banana republic ด้วย เป็นคำที่นักเขียนชาวอเมริกันชื่อ โอ. เฮ็นรี (O. Henry) คิดขึ้นในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 เพื่อใช้เรียกประเทศในนิยายของตนที่อ้างอิงมาจากประเทศฮอนดูรัส ซึ่งในสมัยนั้นหันไปปลูกกล้วยกันยกใหญ่เพื่อป้อนให้กับบริษัทผลไม้ของสหรัฐอเมริกา ด้วยเหตุนี้ สำนวนนี้จึงถูกนำมาใช้หมายถึง ประเทศที่ปกครองโดยผู้นำเผด็จการและมีเศรษฐกิจที่พึ่งพาการส่งออกสินค้าเพียงชนิดเดียว โดยผลประโยชน์ตกอยู่แต่กับชนชั้นปกครอง แต่ชาวไร่ชาวนาและชนชั้นแรงงานยังยากจน แต่ในปัจจุบัน ความหมายได้ขยายกว้างขึ้นไปหมายถึง ประเทศยากจนที่ไม่มีเสถียรภาพทางการเมือง
Peach
คำนี้นอกจากจะหมายถึงลูกพีชแล้ว คนเฒ่าคนแก่หน่อยก็ยังอาจใช้คำนี้เรียกอะไรก็ตามที่ดีเยี่ยม หรือถ้าใช้พูดถึงคนก็อาจจะมีความหมายเสริมว่าสวยหล่อเข้าไปด้วย เช่น ถ้าอาม่าไปชมผู้ชายคนหนึ่งว่า He’s a peach. หรือ He’s a peach of a guy. ก็จะหมายความว่า ผู้ชายคนนี้ช่างแสนดี และอาจจะหน้าตาดีด้วย
นอกจากนั้นก็ยังมีสำนวน peachy ส่วนใหญ่ใช้กันในอเมริกา หมายถึง ดีงาม ยอดเยี่ยม ราบรื่นดี ด้วย เช่น ถ้าเราเตรียมจัดงานเลี้ยงอยู่แล้วเพื่อนมาถามว่าเป็นยังไงบ้าง เราก็อาจจะบอกว่า Everything is just peachy. ก็คือ ทุกอย่างเรียบร้อยราบรื่นดี หรือถ้าไม่งั้นก็อาจจะพูดว่า Everything is peaches and cream. ก็ได้
ทั้งนี้ สำนวน peaches and cream ยังใช้บรรยายคนที่ผิวขาวสวยแก้มมีเลือดฝาด ทำนองว่าผิวสีนุ่มเนียนเหมือนครีม ส่วนแก้มเป็นสีชมพูเหมือนลูกพีชนั่นเอง
คำว่า peach (หรืออิโมติคอนรูปลูกพีช 🍑) ยังมีอีกความหมายหนึ่งด้วยที่ไม่พูดถึงก็คงไม่ได้ นั่นก็คือ ก้น ซึ่งว่ากันว่าเหตุผลที่ผลไม้นี้กลายมาหมายถึงก้นได้ ก็เพราะรูปทรงกลมกลึงและมีรอยบุ๋มเป็นแนวยาวคล้ายก้นนั่นเอง
Cherry
คำนี้นอกจากจะใช้เรียกผลเชอร์รี่แล้ว ยังใช้ในเชิงเปรียบเปรยได้ด้วย เนื่องจากเชอร์รี่มักถูกใช้นำไปประดับบนเค้กเพื่อให้สวยงามดูแพงขึ้น ในภาษาอังกฤษจึงมีสำนวน the cherry on top (of the cake) หมายถึง สิ่งที่มาเสริมให้สมบูรณ์หรือดียิ่งขึ้นไปอีก เช่น การที่มีแฟนนิสัยดีซื่อสัตย์ก็ถือเป็นเรื่องดีแล้ว แต่หากแฟนไม่ได้แค่นิสัยดีซื่อสัตย์อย่างเดียว แต่ยังหน้าตาดีมากอย่างกับนายแบบ แบบนี้ก็อาจจะบอกว่า The fact that he is incredibly good-looking is the cherry on top.
แต่หากเราไปยังฝั่งบริติช เราอาจจะได้ยินสำนวน a bite at the cherry ซึ่งไม่ได้หมายถึงการกัดผลเชอร์รี่ที่เป็นผลไม้แต่อย่างใด แต่หมายถึง โอกาสที่จะได้ทำอะไรอย่างใดอย่างหนึ่ง ตัวอย่างเช่น เราเคยได้ออดิชั่นรายการร้องเพลงมาแล้วครั้งหนึ่งแต่ไม่ผ่าน เราอาจจะพูดว่า I’ll be back for another bite at the cherry. ก็คือ จะกลับมาลองอีกครั้ง
ทั้งนี้ cherry ยังมีความหมายใต้สะดือด้วย หมายถึง พรหมจรรย์ จะเจอในสำนวน pop the cherry หมายถึง เปิดซิง นั่นเอง แต่ที่น่าสนใจก็คือ สำนวนนี้ใช้ในเชิงเปรียบเปรยได้ด้วย หมายถึง ลองทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นครั้งแรก เช่น สมมติเราไม่เคยไปตั้งแคมป์มาก่อน แล้วเพิ่งไปลองตั้งแคมป์เป็นครั้งแรกมา เราก็อาจกลับมาเล่าให้เพื่อนฟังว่า I just popped my camping cherry.
Apple
คำว่า apple นอกจากจะใช้เรียกผลแอปเปิ้ลได้แล้ว ยังอาจแบบเปรียบเปรยหมายถึงคนได้ เช่นในสำนวน a bad apple หรือ a rotten apple ซึ่งหมายถึง คนไม่ดีที่ทำให้คนอื่นในกลุ่มเสียชื่อหรือได้รับผลเสียตามไปด้วย มาจากสำนวนเต็มๆ A bad/rotten apple spoils the whole barrel. คือ แอปเปิ้ลเน่าแค่ผลเดียวก็ทำให้แอปเปิ้ลทั้งถังเสียได้ ออกแนวปลาเน่าตัวเดียวเหม็นทั้งฆ้อง วิธีการใช้ก็อย่างเช่น หากดารา อลฟ คนหนึ่งตัดสินใจปิดบัญชีเพราะมีคนไม่กี่คนดูดคลิปออกไปปล่อยที่อื่น แบบนี้ก็อาจบอกว่า A few bad apples have ruined it for the rest of us.
นอกจากนั้น แอปเปิ้ลก็ยังใช้เปรียบเปรยถึงคนได้ในสำนวน the apple of one’s eye หมายถึง แก้วตาดวงใจ คนที่เป็นที่รักยิ่ง ปกติใช้กับลูก เช่น Her daughter is the apple of her eye. (ว่ากันว่า apple ในสำนวนนี้หมายถึง ลูกตาดำ ซึ่งมีทรงกลมคล้ายแอปเปิ้ล และสัญลักษณ์แทนสิ่งที่เป็นที่หวงแหนอย่างยิ่ง) และในสุภาษิต The apple never falls far from the tree. หมายถึง ลูกหลานก็มักสืบทอดลักษณะบางอย่างมาจากพ่อแม่หรือบรรพบุรุษ เทียบได้กับสุภาษิตไทย ลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น นั่นเอง
อีกสำนวนหนึ่งที่น่าสนใจคือ (compare) apples and oranges หมายถึง การนำสองสิ่งที่เทียบกันไม่ได้เพราะต่างกันมากมาเทียบกัน ทำนองว่าแม้ว่าทั้งแอปเปิ้ลและส้มเป็นผลไม้ แต่ก็ต่างกันมากเกินกว่าจะนำมาเปรียบกันเพราะเป็นผลไม้คนละตระกูลกัน ตัวอย่างเช่น หากคนวัยบูมเมอร์บอกว่าเด็กเจ็นวายใช้เงินสิ้นเปลือง สมัยตนเองเงินเดือนไม่ถึงหมื่นยังเหลือเก็บจนซื้อบ้านซื้อรถได้ เด็กเจ็นวายก็อาจตอกกลับไปว่า You’re comparing apples and oranges. อัตราการแข่งขันก็สูงขึ้น ค่าเงินก็เฟ้อตั้งเท่าไหร่ มันเทียบกันได้ที่ไหน เป็นต้น
Lemon
เนื่องจากรสเปรี้ยวเป็นรสรุนแรงต่อประสาทสัมผัสของเราและอาจมีความไม่พึงประสงค์ โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับรสหวาน ผลไม้เปรี้ยวเข็ดฟันอย่างมะนาวฝรั่งจึงถูกนำไปใช้เปรียบเทียบกับสิ่งที่ไม่ค่อยดีนักหลายอย่าง ด้วยเหตุนี้ คำว่า lemon จึงถูกนำไปใช้หมายถึง ของที่คุณภาพต่ำ ใช้การไม่ได้ ได้ด้วย เช่น หากซื้อรถมือสองมา ปรากฏรถมีอาการป่วยกระปอดกระแปด ติดๆ ดับๆ แบบคาดเดาไม่ได้ แบบนี้ก็อาจจะบอกว่า That car is a lemon.
นอกจากนั้น ยังมีสำนวน When life gives you lemons, make lemonade. ซึ่งแปลตรงๆ ได้ว่า หากชีวิตให้เลมอนมา (ซึ่งเปรี้ยวแบบกินเปล่าๆ ไม่ได้) ก็ให้เอามาทำเป็นน้ำเลมอนซะ (ซึ่งเป็นสิ่งที่ดื่มได้) ปกติแล้วจะใช้เวลาที่เราต้องการชวนให้ใครคิดในแง่บวก ทำนองว่า หากเจออุปสรรคหรือสิ่งที่ไม่พึงประสงค์ในชีวิต ก็ให้รู้จักหาแง่มุมที่นำอุปสรรคหรือสิ่งที่ไม่พึงประสงค์นั้นๆ มาทำให้เกิดประโยชน์ให้ได้ นั่นเอง
ขอปิดท้ายด้วยสำนวน go suck a lemon ซึ่งแปลตรงตัวได้ว่า ไปนั่งดูดเลมอนตรงโน้น สำนวนนี้เราจะใช้เมื่อต้องการแสดงว่าเราโกรธ ไม่พอใจ ถือว่าแรงเป็นน้องๆ f*ck off ได้เลยทีเดียว ถ้าแปลเป็นภาษาไทยก็ออกแนว ไปไกลๆ ตรีนเลย ตัวอย่างเช่น สมมติเพื่อนทักว่าวันนี้แต่งหน้าสวยเหมือนภาพวาดของปิกัสโซ่ เราก็อาจจะตอบกลับไปว่า Go suck a lemon.
บรรณานุกรม
http://oed.com/
https://www.newyorker.com/news/our-columnists/is-america-becoming-a-banana-republic
Ammer, Christine. The American Heritage Dictionary of Idioms: American English Idiomatic Expressions & Phrases. 2nd ed. Houghton Mifflin Harcourt: Boston, 2013.
American Heritage Dictionary of the English Language
Ayto, John. Oxford Dictionary of English Idioms. OUP: Oxford, 2009.
Gulland, Daphne M., and Hinds-Howell, David. The Penguin Dictionary of English Idiom. Penguin Books: London, 2002.
Longman Dictionary of Contemporary English
Longman Idioms Dictionary. Pearson: Essex, 2010.
Merriam-Webster Dictionary
Oxford Advanced Learners’ Dictionary
Oxford Idioms Dictionary for Learners of English. OUP: New York, 2006.
Shorter Oxford English Dictionary
Speake, Jennifer. Oxford Dictionary of Proverbs. Oxford University Press: Oxford, 2008.
Tags: Idioms, Word Odyssey, ผลไม้, สำนวนภาษาอังกฤษ, Fruits