วันที่ 16 ตุลาคมของทุกปีถือเป็น ‘วันอาหารโลก’ (World Food Day) มีขึ้นเพื่อฉลองการก่อตั้งองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of the United Nations: FAO) ซึ่งมีภารกิจต่อสู้กับความอดอยาก ทำให้คนมีโภชนาการที่ดีขึ้น รวมถึงเสริมความมั่นคงทางอาหารทั่วโลก

ด้วยความที่อาหารเป็นปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิตของมนุษย์ อีกทั้งยังมีความสัมพันธ์กับวิถีชีวิตของเราอย่างแนบแน่น คำที่ใช้เรียกอาหารหลายคำจึงถูกนำไปดัดแปลงจากคำนามให้ใช้เป็นคำกริยา ทั้งยังนำไปใช้ในความหมายเปรียบเปรย ทั้งให้มีการใช้งานและความหมายที่ขยับขยายออกไป

เนื่องในโอกาสวันอาหารโลก Word Odyssey จะขอพาไปดูชื่ออาหารในภาษาอังกฤษที่ใช้เป็นกริยาได้ด้วย ตั้งแต่วัตถุดิบอย่างเนื้อหมูไปจนถึงอาหารปรุงแล้วอย่างแซนด์วิช

Mushroom ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด

ใครที่เคยเห็นกระบวนการเจริญเติบโตของเห็ดจะบอกได้ว่าเห็ดเป็นสิ่งมีชีวิตที่เติบโตไวมาก บางครั้งงอกผุดขึ้นมาเป็นดอกๆ เต็มไปหมดในเพียงแค่ชั่วข้ามคืนเท่านั้น (แบบที่เห็นบนเบาะรถเมล์ในบางประเทศ) ด้วยเหตุนี้ คำว่า Mushroom ที่ใช้เรียกเห็ด จึงถูกนำมาใช้เป็นกริยา หมายถึง เติบโตเพิ่มจำนวนมหาศาลในเวลาอันสั้น หรือที่พูดแบบไทยๆ ว่า ผุดขึ้นราวกับดอกเห็ด ได้ด้วย ตัวอย่างเช่น Condominiums have mushroomed across central Bangkok over the past five years. ก็คือมีคอนโดฯ ผุดขึ้นอย่างกับดอกเห็ดทั่วกรุงเทพฯ ตอนกลางในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา

Sandwich ประกบ

เนื่องจากแซนด์วิชคืออาหารที่ทำด้วยการนำไส้ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นผักหรือเนื้อสัตว์มาใส่ตรงกลาง แล้วนำขนมปัง 2 แผ่นมาประกบกัน คำนี้จึงถูกนำมาใช้เป็นกริยาด้วย หมายถึง ประกบ ขนาบทั้ง 2 ข้าง เช่น หากบ้านทรงโบราณที่เราพูดถึงอยู่ถูกขนาบด้วยตึกสูง เราก็อาจพูดว่า The traditional house is sandwiched between two tall buildings. หรือหากเราขึ้นรถโดยสารแล้วดันต้องนั่งระหว่างผู้โดยสารที่เหงื่อออกเยอะ เราก็อาจพูดว่า I was sandwiched between two very sweaty passengers.

Stew โมโห กลัดกลุ้ม

ปกติเราใช้คำว่า Stew เรียกผักหรือเนื้อที่เคี่ยวเป็นเวลานาน อย่างต้มจับฉ่ายหรือเนื้อตุ๋น เป็นต้น หรือใช้เป็นกริยาเพื่อเรียกการปรุงด้วยความร้อนในของเหลวเป็นเวลานาน แต่นอกจากนั้นแล้ว เรายังสามารถใช้คำว่า Stew เป็นกริยา หมายถึง โมโห กลัดกลุ้ม อยู่ในภาวะเป็นทุกข์ อารมณ์คล้ายๆ อยู่ในของเหลวร้อนเป็นเวลานานเหมือนเวลาเคี่ยวของ ตัวอย่างเช่น หากแฟนเก่าพูดอะไรให้เราต้องกลับมานั่งทบทวนกระวนกระวายใจ เราก็อาจจะบอกว่า I’ve been stewing over what my ex said. หรือหากเพื่อนเราทำผิดอะไรสักอย่างแล้วมาขอโทษเรา แต่เราแกล้งเมิน ไม่ยกโทษให้ ปล่อยให้เพื่อนขุ่นข้องหมองใจ นั่งคิดวกไปวนมา เราก็อาจจะพูดว่า I’m just gonna let him stew in his own juices.

 

Milk เค้น

คำนี้นอกจากจะแปลว่า นมหรือรีดนม แล้ว ยังสามารถใช้เป็นกริยาในเชิงเปรียบเปรย หมายถึง รีดไถ เค้นเอาประโยชน์ ได้ด้วย จะใช้กับคนก็ได้ เช่น He milked that poor lady dry. ก็คือ เขารีดไถหญิงน่าสงสารคนนั้นจนไม่มีอะไรเหลือเลย หรือ The company has really been milking the fans for all the money they can get with one concert after another. ก็คือบริษัทจัดคอนเสิร์ตครั้งแล้วครั้งเล่าเพื่อรีดเค้นเงินทุกบาททุกสตางค์จากแฟนๆ หรือจะใช้กับสิ่งอื่นๆ ที่ไม่ใช่คนก็ได้ เช่น หากเพื่อนเราป่วยเป็นโควิด-19 แล้วใช้โรคป่วยเป็นข้ออ้างจนคุ้มในการไม่ทำโน่นไม่ทำนี่ แบบนี้เราก็อาจจะพูดว่า He’s been milking his COVID for all its worth to get out of responsibilities.

Beef เสริมให้แข็งแกร่ง

นอกจากจะใช้เรียกเนื้อวัวอย่างที่เรารู้จักกัน Beef ยังถูกนำมาใช้เป็น Phrasal Verb ว่า Beef up ได้ด้วย หมายถึง เพิ่มความแข็งแกร่ง เสริมให้ใหญ่หรือแกร่งขึ้น ตัวอย่างเช่น หากรัฐบาลประกาศว่าจะเพิ่มมาตรการรักษาความปลอดภัยให้แน่นหนามากขึ้นในช่วงการประชุมเอเปค เราก็อาจพูดว่า The government is beefing up security for the upcoming APEC Summit.

ทั้งนี้ beef ยังใช้เป็นกริยา หมายถึง บ่น ได้ด้วย เช่น Can you just stop beefing? ก็คือ หยุดบ่นเสียทีได้ไหม

Waffle โลเล

ในอเมริกา คำว่า Waffle นอกจากจะหมายถึงขนมรังผึ้งแล้ว ยังเป็นกริยาหมายถึง โลเล ไม่ยอมตัดสินใจเสียที ได้ด้วย เช่น หากเพื่อนเราตัดสินใจไม่ได้เสียทีว่าจะกินอะไรเป็นมื้อกลางวัน ผ่านไป 15 นาทีแล้วก็ยังเลือกไม่ได้ แบบนี้เราก็อาจพูดว่า He’s been waffling over what to have for lunch for a good 15 minutes.

แต่ทั้งนี้ หากเป็นในฝั่งบริติช คำว่า Waffle ที่เป็นกริยา จะหมายถึง พูดไปเรื่อยเปื่อย น้ำท่วมทุ่งผักบุ้งโหรงเหรง หาสาระไม่ได้ เช่น The prime minister waffled on about his love for the country, but we’d heard it way too many times before.

Pork มีเพศสัมพันธ์

คำว่า pork นอกจากจะใช้เรียกเนื้อหมูได้แล้ว ยังเป็นคำกริยาที่ใช้แบบสแลง มีความหมายว่า มีเพศสัมพันธ์ ได้ด้วย แต่คำนี้จะใช้ที่ไหนอาจจะต้องระวังเล็กน้อย เพราะถือว่าหยาบคายพอสมควร อีกทั้งยังไม่ได้ให้ภาพการมีอะไรกันที่นุ่มนวลอ่อนโยนอีกด้วย ตัวอย่างเช่น หากเพื่อนเราตามผู้หญิงกลับบ้านไปเพื่อจะไปมีอะไรกัน เราก็อาจพูดแบบหยาบหน่อยว่า They went back to her place to pork. ส่วนที่เนื้อหมูมาเกี่ยวข้องกับการมีอะไรกันได้นั้น ไม่มีใครทราบที่มาที่ไปแน่ชัด

 

 

บรรณานุกรม

http://oed.com/

Ammer, Christine. The American Heritage Dictionary of Idioms: American English Idiomatic Expressions & Phrases. 2nd ed. Houghton Mifflin Harcourt: Boston, 2013.

American Heritage Dictionary of the English Language 

Ayto, John. Oxford Dictionary of English Idioms. OUP: Oxford, 2009.

Gulland, Daphne M., and Hinds-Howell, David. The Penguin Dictionary of English Idiom. Penguin Books: London, 2002.

Longman Dictionary of Contemporary English 

Longman Idioms Dictionary. Pearson: Essex, 2010.

Merriam-Webster Dictionary

Oxford Advanced Learners’ Dictionary

Oxford Idioms Dictionary for Learners of English. OUP: New York, 2006.

Shorter Oxford English Dictionary 

Speake, Jennifer. Oxford Dictionary of Proverbs. Oxford University Press: Oxford, 2008.

 

Tags: , , ,