เมื่อวันพุธที่ผ่านมา (5 พฤษภาคม 2564) ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยว่า ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ยังคงมีสมาชิกภาพ ส.ส. และความเป็นรัฐมนตรีในฐานะ ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จากกรณีที่ศาลออสเตรเลียเคยพิพากษาว่า ร้อยเอกธรรมนัสมีความผิดฐานนำเข้าและค้ายาเสพติด (ซึ่งร้อยเอกธรรมนัสเคยกล่าวไว้ในสภาว่า “มันคือแป้ง” จนกลายมาเป็นประโยคอันแสนโด่งดัง)

คำพิพากษานี้ได้สร้างความไม่พอใจให้กับหลายคน จนดันให้แฮชแท็ก #มันคือแป้ง ขึ้นติดเทรนด์ในประเทศไทยในเวลาชั่วพริบตา

Word Odyssey จะไปดูเรื่องแป้งๆ ในภาษาอังกฤษ กับเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเกี่ยวกับที่มาของคำต่างๆ ที่ใช้เรียก แป้ง ในภาษาอังกฤษกัน

แป้งคือดอกไม้?

สิ่งที่หลายคนอาจไม่รู้เกี่ยวกับคำว่า flour และ flower สองคำนี้ไม่ใช่แค่ออกเสียงเหมือนกัน แต่คำว่า flour ที่แปลว่าแป้งนั้น มาจากคำว่า flower ที่หมายถึงดอกไม้ด้วย

ส่วนที่ดอกไม้กลายมาเป็นแป้งได้นั้น ก็เป็นเพราะว่า flower ไม่ได้แปลว่าส่วนดอกของพืชอย่างเดียว แต่ถูกนำมาใช้ในความหมายเชิงเปรียบเปรย หมายถึงส่วนที่ดีที่สุดได้ด้วย (เนื่องจากดอกเป็นส่วนที่สวยงามและจะได้เห็นก็ต่อเมื่อพืชเจริญเติบโตสมบูรณ์ดี) เช่น the flower of our generation ก็คือ กลุ่มคนที่เป็นหัวกะทิของคนรุ่นเรา หรือดอกเกลือ ในภาษาฝรั่งเศสก็ใช้คำว่า fleur de sel ซึ่งหมายถึงดอกของเกลือ

เนื่องจากแป้งคือธัญพืชที่บดละเอียด และร่อนเอาส่วนหยาบออกจนหมดแล้ว จึงนับเป็นส่วนที่ดีที่สุด คำว่า flower ที่หมายถึงส่วนที่ดีที่สุด จึงถูกเอามาใช้เรียกแป้ง (ในฝรั่งเศสแต่เดิมเรียก fleur de farine หมายถึง ส่วนที่ดีที่สุดของธัญพืชบด) ก่อนที่จะกลายมาเป็นคนละคำและสะกดต่างกันโดยสมบูรณ์ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 18

เกือบจะเป็นแป้ง?

เมื่อกี้เราพูดถึงการทำแป้งในสมัยโบราณไปแล้ว แต่ยังไม่ได้พูดถึงธัญพืชบดก่อนที่จะไปร่อนเป็นแป้ง ซึ่งเรียกว่า meal

คำว่า meal ที่หมายถึงธัญพืชบดนี้ ไม่ได้มาจาก meal ที่แปลว่ามื้ออาหารแต่อย่างใด แต่มาจากรากโปรโตอินโดยูโรเปียน melə- ที่หมายถึง บด ซึ่งเป็นที่มาของคำอีกหลายคำในภาษาอังกฤษที่เกี่ยวกับการบด เช่น mill ที่หมายถึงโรงสี และ molar ที่หมายถึงฟันกราม ซึ่งเป็นฟันบดเคี้ยว

ปกติแล้ว meal จะมีลักษณะหยาบหน่อย เช่น cornmeal ก็คือ ข้าวโพดบดหยาบ แบบที่นำมาทำ cornbread หรือ polenta ไม่ได้ขัดสีบดละเอียดเป็นผงแป้งสีขาวแบบแป้งข้าวโพด

คำว่า meal นี้ ยังถูกนำมาทำเป็นคำคุณศัพท์ mealy หมายถึง มีเนื้อสัมผัสแห้งเป็นผง ไม่นุ่มละเอียด เช่น แอปเปิลที่ปอกทิ้งไว้ให้โดนลมจนเริ่มแห้ง เมื่อกินแล้วเนื้อก็อาจจะหยาบแห้ง ให้ความรู้สึกเหมือนจะแตกเป็นผง

แป้งกับไอรอนแมน?

อีกคำหนึ่งที่ใช้เรียกแป้งได้คือคำว่า starch แต่เดิมคำนี้หมายถึงผงแป้งที่เอามาลงผ้าให้ผ้าแข็ง ก่อนที่จะนำมาใช้เรียกแป้งในอาหารต่างๆ เช่น มันฝรั่ง ข้าว หรือพาสต้า

คำนี้มีที่มาจาก stiercan ในภาษาอังกฤษเก่า ที่แปลว่าทำให้แข็ง และเป็นญาติกับอีกหลายคำในภาษาตระกูลเจอร์แมนิกที่แปลว่าแข็ง รวมถึงคำว่า stark ที่ในภาษาอังกฤษแต่เดิมแปลว่า แข็ง ไม่หักงอ แข็งแรง

ด้วยเหตุนี้ เราจึงมักเห็น Stark เป็นนามสกุลของคนที่มีต้นตระกูลมาจากสายเจอร์แมนิก รวมไปถึง Ned Stark ใน Game of Thrones และ Tony Stark ผู้สวมชุดซูเปอร์ฮีโร่เป็น Ironman นั่นเอง

บดเป็นแป้งหรือโรยด้วยแป้ง?

อีกคำหนึ่งที่ใช้เรียกผงแป้งได้คือ powder ซึ่งภาษาอังกฤษยืมมาจากคำว่า poudre ในภาษาฝรั่งเศสเก่า และสืบสาวกลับไปได้ถึงคำว่า pulvis ในภาษาละตินที่หมายถึง ผง (อย่างที่ยังเห็นได้ชัดๆ ในคำว่า pulverize ในภาษาอังกฤษ ที่แปลว่าบดให้แหลกเป็นผง)

คำว่า powder นี้น่าสนใจตรงที่ว่า เมื่อใช้เป็นกริยาแล้ว มีความหมายทั้งแปลว่า บดเป็นผง เช่น Coffee beans are powdered. ก็คือ นำเมล็ดกาแฟมาบดเป็นผง หรือจะแปลว่าโรยด้วยสิ่งที่เป็นผงแป้งก็ได้ เช่น to powder a pie crust with sugar ก็คือ โรยน้ำตาลลงบนแป้งพายด้านบน หรือ He powdered his face. ก็คือ เขาเติมแป้งลงบนหน้า (แต่ทั้งนี้ ถ้าพูดว่า powder one’s nose จะเป็นคำรื่นหู คือพูดว่าจะไปเติมแป้ง แต่จริงๆ ก็คือจะไปเข้าห้องน้ำ)

เกสรก็เป็นแป้ง?

คำว่า pollen ที่แปลว่าละอองเกสรดอกไม้ แท้จริงแล้วใช้เรียกผงแป้งละเอียดที่เกิดจากการบดธัญพืช แต่ในเวลาต่อมานำมาใช้เรียกละอองเกสร ซึ่งมีลักษณะละเอียดคล้ายผงแป้งนั่นเอง

ทั้งนี้ คำว่า pollen เองก็มาจาก pulvis ที่แปลว่าผงในภาษาละติน เช่นเดียวกับ powder และมีญาติอีกคำหนึ่งที่หน้าตาใกล้เคียง นั่นก็คือ polenta ซึ่งว่ากันว่าภาษาอังกฤษยืมมาจากภาษาอิตาเลียน คำนี้แต่เดิมใช้เรียกธัญพืชบดหยาบที่นำไปต้มและกวนจนข้นและจับเป็นก้อน แต่ในปัจจุบันใช้เรียกแต่เฉพาะที่ทำจากข้าวโพดบดหยาบ จะกินแบบร้อนคล้ายโจ๊กที่ข้นมากๆ ก็ได้ หรือจะปล่อยให้เย็นจนจับตัวแล้วหั่นเป็นชิ้นก่อนนำไปทอดหรืออบต่อก็ได้เช่นกัน

เขาบอกว่ามันคือแป้ง

หลายคนที่เห็นคำว่า heroin (ซึ่งในเมืองไทยหมายถึงแป้ง) เป็นครั้งแรก ก็อาจจะนึกถึงคำว่า hero ที่หมายถึงวีรบุรุษ ซึ่งก็ถูกต้องเลย เพราะคำว่า heroin นี้ มาจากชื่อการค้าของสารสังเคราะห์จากมอร์ฟีนที่บริษัท Bayer ในเยอรมนีตั้งขึ้น ว่ากันว่าที่ตั้งชื่อแบบนี้ก็เพราะเมื่อรับเข้าร่างกายแล้วทำให้มีความสุขล้นปรี่ และรู้สึกมีพลังเหมือนเป็นวีรบุรุษอย่างไรอย่างนั้น

 

บรรณานุกรม

http://www.etymonline.com/

http://oed.com/

American Heritage Dictionary of the English Language

Barnhart, Robert K. The Barnhart Concise Dictionary of Etymology: The Origins of American English Words. H. W. Wilson: New York, 1995. 

Cresswell, Julia. Oxford Dictionary of Word Origins. OUP: New York, 2009.

Flavell, Linda, and Roger Flavell. Dictionary of Word Origins. Kylie Cathie: London, 2010.

Funk, Wilfred. Word Origins: A Classical Exploration of Words and Language. Gramercy Books: New York, 2008.

Hoad. T. F. (Ed.). Oxford Concise Dictionary of English Etymology. OUP: Oxford, 2003.

Tags: , , , ,