เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายนที่ผ่านมาคณะราษฎรได้ประกาศนัดชุมนุมหน้าสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ทำให้ทางการต้องนำป้ายเขตพระราชฐานมาปักและนำตู้คอนเทนเนอร์มากั้นรอบบริเวณเป็นวงกว้างเพื่อกีดกันผู้ที่จะมาชุมนุม (ซึ่งท้ายที่สุดก็คือโดนแกงเพราะม็อบย้ายไปชุมนุมที่ธนาคารไทยพาณิชย์ สำนักงานใหญ่)

แต่นอกจากจะกระตุ้นให้ทางการต้องเร่งเสกของมาสร้างความวิบากให้ผู้ชุมนุม (และผู้ใช้ท้องถนน) แล้ว ผลอีกประการหนึ่งจากการนัดชุมนุมหน้าสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ก็คือ ทำให้ผู้คนหันมาสนใจเรื่องพัฒนาการของทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์กันมากขึ้น

เมื่อพูดถึงเรื่องทรัพย์สินและความเป็นเจ้าของแล้ว สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจไม่น้อยก็คือทั้งสองสิ่งนี้มีความสัมพันธ์แนบแน่นกันพอสมควรในภาษาอังกฤษ ซึ่งสะท้อนอยู่ในที่มาของคำศัพท์หลายๆ คำ นอกจากนั้น หากสืบสาวกันไปให้สุดทางจริงๆ ยังจะพบอีกด้วยว่า ทรัพย์สินนี้ไปโยงใยกับทั้งปศุสัตว์และระบบศักดินา

ในสัปดาห์นี้ เราจะไปสืบสาวกันว่า วัวควาย ทรัพย์สิน และระบบศักดินา เกี่ยวข้องกันอย่างไรในภาษาอังกฤษ

 

วัวควาย

การเดินทางของเราเริ่มต้นจากวัวควายก่อน มนุษย์เริ่มนำวัวและควายป่ามาเลี้ยงให้เชื่องเป็นปศุสัตว์ตั้งแต่เมื่อราว 10,000 ปีแล้ว ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่นักวิชาการจะเชื่อว่าภาษาโปรโตอินโดยูโรเปียนมีรากที่แปลว่า ปศุสัตว์ ด้วย ซึ่งสืบสร้างได้รูปว่า *peku

เมื่อกลุ่มคนที่พูดภาษาโปรโตอินโดยูโรเปียนเหล่านี้เริ่มอพยพแยกย้ายไปตามที่ต่างๆ ก็ได้นำเอาคำที่ใช้เรียกวัวควายที่เลี้ยงไว้ไปด้วย อันที่จริงแล้ว *peku ที่ว่านี้เมื่อเดินทางมาถึงแถบอินเดีย ก็กลายมาเป็น pasu (पशु) ในภาษาสันสกฤต ซึ่งภาษาไทยยืมมาประกอบเป็นคำว่า ปศุสัตว์ นั่นเอง

และแน่นอนว่าราก *peku นี้ยังเดินทางไปสู่ภาษาละตินและภาษาตระกูลเจอร์แมนิกด้วย

 

เงินและความแปลก

เมื่อระหกระเหินมาถึงภาษาละติน ราก *peku นี้ก็ได้พัฒนาไปเป็นคำว่า pecus ที่แปลว่า ปศุสัตว์ แต่เนื่องจากเมื่อก่อนสัตว์เหล่านี้ถือเป็นทรัพย์สินที่มีค่า ใช้แลกเปลี่ยนกับสิ่งต่างๆ เช่น ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้าง ไม่ต่างจากเงิน จึงทำให้เกิดคำว่า pecunia ในภาษาละติน ซึ่งหมายถึง เงิน สินทรัพย์ เช่นที่พบเจอได้ในคำว่า pecuniary ที่แปลว่า เกี่ยวกับเงินๆ ทองๆ (เช่น pecuniary concerns คือ ความห่วงหน้าพะวงหลังเรื่องเงิน) และคำว่า impecunious ที่หมายถึง ยากจนข้นแค้น

แต่เท่านั้นยังไม่พอ เพราะคำว่า pecus นี้ยังเป็นที่มาของ peculiar ที่แปลว่า แปลก อีกด้วย ส่วนที่ปศุสัตว์มาเกี่ยวกับความแปลกได้นั้นเริ่มมาจากที่ปศุสัตว์เป็นทรัพย์สินส่วนตัว ต่อมาความหมายที่ว่าเป็นของส่วนตัว ถือครองแต่เพียงผู้เดียว ก็เริ่มค่อยๆ เอามาใช้บรรยายของอย่างอื่น หมายถึงของส่วนตัวหรือเฉพาะตัว (เช่น This tradition is peculiar to Thailand. ก็คือ ประเพณีนี้พบแต่ในประเทศไทย) จนนำไปสู่ความหมายที่แปลว่า แตกต่างจากชาวบ้านชาวช่องเขา หรือ แปลก นั่นเอง (เช่น a peculiar obsession with students’ haircut ก็คือ ความหมกมุ่นแปลกๆ กับทรงผมนักเรียน)

 

ค่าปรับและระบบศักดินา

ทั้งนี้ ราก *peku ในภาษาโปรโตอินโดยูโรเปียนยังได้เดินทางไปสู่ภาษาอังกฤษเก่า ซึ่งเป็นภาษาตระกูลเจอร์แมนิกด้วย ทำให้เกิดเป็นคำว่า feoh (ในยุคต่อมาสะกดว่า fee) แต่เดิมคำนี้หมายถึง ปศุสัตว์ วัวควาย (ส่วน กวาง ซึ่งเป็นสัตว์ป่า คนไม่ได้นำมาเลี้ยงให้เชื่อง ก็เคยเรียกกันว่า wild fee) แต่เนื่องจากปศุสัตว์ใช้แลกเปลี่ยนได้ต่างเงิน คำว่า fee จึงค่อยๆ พัฒนาความหมายไปแปลว่า ทรัพย์สิน ในเวลาต่อมา

มาถึงจุดนี้ หลายคนคงคิดไปแล้วว่า fee นี้ต้องกลายมาเป็นคำว่า fee ที่แปลว่า ค่าปรับ แบบที่เราใช้กันทุกวันนี้แน่เลย แต่อันที่จริงแล้วเรื่องราวมันซับซ้อนกว่านั้นอยู่สักเล็กน้อย 

เรื่องราวมีอยู่ว่าในบรรดาภาษาตระกูลเจอร์แมนิกนั้น *peku นี้ไม่ได้เข้ามาแต่ในภาษาอังกฤษเก่าเป็นคำว่า feoh เท่านั้น แต่ยังเข้าไปในภาษาเยอรมันเก่าและปรากฏเป็นคำว่า fehu ด้วย และที่น่าสนใจมากก็คือ fehu นี้มีวิวัฒนาการทางความหมายคล้ายๆ กับคำที่พูดถึงไป ก็คือ เริ่มจากหมายถึง ปศุสัตว์ แล้วความหมายจึงพัฒนาไปหมายถึง เงิน หรือ ทรัพย์สิน

ทีนี้เกิดอะไรขึ้นต่อ ว่ากันว่าคำว่า fehu ในภาษาเยอรมันเก่านี้ได้ไปโผล่ในภาษาละตินเป็นคำว่า feudum ซึ่งหมายถึง ที่ดินของเจ้าขุนมูลนาย

คำว่า feudum นี้ ทำให้เกิดคำว่า feudalism ที่หมายถึง ระบบศักดินา หรือ ระบบที่เจ้าขุนมูลนายเป็นผู้ครอบครองพื้นที่ ให้ทาสหรือชาวนามาอยู่อาศัยในที่ดินตนเองแลกกับแรงงานและอาหาร

นอกจากนั้น คำว่า feudum นี้ว่ากันว่าก็ถูกภาษาฝรั่งเศสยืมไปและกร่อนจนเหลือ fief ซึ่งภาษาอังกฤษนำมาใช้เรียกที่ดินในระบบศักดินาแบบที่ว่าไป และกร่อนจนเหลือ fee ซึ่งแต่เดิมก็ใช้เรียกที่ดินประเภทนี้เช่นกัน แต่ภายหลังความหมายพัฒนาไปหมายถึง เงินที่มอบให้แก่ผู้ที่มียศสูงกว่า หรือ เงินที่มอบให้กับเจ้าหน้าที่รัฐ จนกลายมาหมายถึง ค่าปรับ และ ค่าธรรมเนียม แบบในปัจจุบันนี้นั่นเอง

สรุปก็คือ หากสืบกันจริงๆ แล้ว คำที่เกี่ยวกับวัวควาย เงินทอง สินทรัพย์ และระบบศักดินา ที่พูดถึงไปต่างมีความสัมพันธ์กันหมดเลย

 

บรรณานุกรม

http://www.etymonline.com/

http://oed.com/

American Heritage Dictionary of the English Language

Ayto, John. Word Origin: The Hidden Histories of English Words from A to Z. 2nd ed. A&C Black: London, 2008.

Barnhart, Robert K. The Barnhart Concise Dictionary of Etymology: The Origins of American English Words. H. W. Wilson: New York, 1995. 

Cresswell, Julia. Oxford Dictionary of Word Origins. OUP: New York, 2009.

Donald, Graeme. Words of a Feather: An Etymological Exploration of Astonishing Word Pairs. Metro Publishing: London, 2015

Edelstein, Stewart. Dubious Doublets: A Delightful Compendium of Unlikely Word Pairs of Common Origin, from Aardvark/Porcelain to Zodiac/Whiskey. John Wiley & Sons: New Jersey, 2003.

Funk, Wilfred. Word Origins: A Classical Exploration of Words and Language. Gramercy Books: New York, 2008.

Hoad. T. F. (Ed.). Oxford Concise Dictionary of English Etymology. OUP: Oxford, 2003.

Longman Dictionary of Contemporary English

Mallory, J. P., D.Q. Adam. The Oxford Introduction to Proto-Indo-European and the Proto-Indo-European World. OUP: Oxford, 2006.

Merriam-Webster Dictionary

Oxford Advanced Learners’ Dictionary

Shipley, Joseph T. The Origins of English Words: A Discursive Dictionary of Indo-European Roots. John Hopkins University Press: Maryland, 1984.

Shorter Oxford English Dictionary

Skeat, Walter. A Concise Etymological Dictionary of The English Language. Forgotten Book: NY, 2012.

The Merriam-Webster New Book of Word Histories. Merriam-Webster, 1991.

Watkins, Calvert. The American Heritage Dictionary of Indo-European Roots. 3ed., Houghton Mifflin Harcourt: New York, 2011.

Tags: , ,