แม้เรามักพูดว่าความกลัวเป็นอารมณ์ความรู้สึก เช่น รู้สึกกลัว แต่ก็ไม่ได้แปลว่าจะเป็นเรื่องของจิตใจหรือสมองแต่อย่างเดียว เพราะเวลาที่เรากลัว ร่างกายของเราก็มีปฏิกิริยาตอบสนองด้วย เช่น ขนลุก ตัวสั่น หน้าซีด เป็นต้น

เนื่องจากอาการทางกายเหล่านี้เป็นเครื่องบ่งชี้ความกลัวได้เป็นอย่างดี จึงถูกนำมาใช้เป็นสำนวนเพื่อสื่อถึงความกลัวด้วย

สัปดาห์นี้ Word Odyssey ขอพาไปต้อนรับเทศกาลฮาโลวีนด้วยสำนวนที่สื่อถึงความกลัวจากการบรรยายปฏิกิริยาทางร่างกายของเราเมื่อเกิดอาการกลัว

ขนลุกขนพอง

ปฏิกิริยาหนึ่งที่ร่างกายเราจะแสดงออกเมื่อกลัวก็คือ ขนลุก แบบที่ในภาษาไทยพูดว่า กลัวขนหัวลุก แต่ในภาษาอังกฤษไม่ได้เจาะจงว่าต้องเป็นขนส่วนไหน จะพูดก็แต่เพียง make someone’s hair stand on end คือ ทำให้ขนลุกขนพอง เช่น ถ้าโดนเจ้านายจ้องตาเขียวปั๊ดแล้วเกิดอาการขนพองสยองเกล้า เราก็อาจจะพูดว่า Her glare made my hair stand on end. หรือจะใช้เป็นคำคุณศัพท์ hair-raising ก็ได้ หมายถึง น่ากลัวจนทำเอาขนลุก เช่น a hair-raising tale ก็คือ เรื่องเล่าชวนขนหัวลุก

แต่ที่น่าสนใจก็คือ อาการขนหัวลุกเพราะกลัวนี้ยังแฝงอยู่ในอีกคำหนึ่งที่เราอาจคิดไม่ถึง นั่นก็คือคำว่า horror นั่นเอง ซึ่งมาจาก horrere ในภาษาละติน ที่หมายถึง ขนลุกชัน พองขนให้ลุกชัน นั่นเอง

เสียวสันหลังวาบ

เช่นเดียวกับที่ภาษาไทยมีสำนวน เสียวสันหลังวาบ ในภาษาอังกฤษก็มีสำนวนที่เกี่ยวกับความกลัวที่พูดถึงความรู้สึกเย็นวาบเช่นกัน สำนวนแรกที่ใกล้เคียงมากก็คือ to send chills down someone’s spine หมายถึง ทำให้เสียวสันหลังวาบ ทำให้กลัว เช่น Her scream sent chills down my spine. ก็คือ พอได้ยินเสียงกรีดร้องแล้วทำให้กลัวแบบรู้สึกเย็นวาบ (ทั้งนี้ สำนวนนี้อาจใช้เวลาที่รู้สึกตื่นเต้นมากๆ ก็ได้ด้วยเหมือนกัน)

นอกจากนั้น ยังนำมาทำเป็นคุณศัพท์ spine-chilling ได้ด้วย หมายถึง น่ากลัว สยองขวัญ ชวนให้รู้สึกเย็นยะเยือกเพราะความกลัว เช่น หากฆาตกรบรรยายการฆ่าเหยื่ออย่างโหดเหี้ยมด้วยอาการนิ่งเรียบ ฟังแล้วชวนให้สยองขวัญ แบบนี้ก็อาจจะพูดว่า He described the murder in spine-chilling detail.

ความรู้สึกหนาวหรือเย็บวูบเมื่อกลัวยังพบได้ในสำนวน make someone’s blood run cold และ chill someone to the bone ได้ด้วย หมายถึง ทำให้รู้สึกกลัวขนหัวลุก

หน้าถอดสี

อีกอาการที่เกิดขึ้นกับร่างกายของเราได้เมื่อเกิดอาการกลัวคือ หน้าซีด หน้าถอดสี ในภาษาอังกฤษจึงนำอาการนี้มาทำเป็นสำนวนสื่อถึงความกลัวเช่นกัน เช่น go white ตัวอย่างเช่น When the TV turned on by itself, his face went white. ก็คือ พอทีวีอยู่ๆ เปิดเองขึ้นมา เขาก็หน้าซีดขึ้นมาทันใด หรือหากอยากจะใช้ภาษาสวยๆ หน่อย ก็อาจใช้คำว่า ashen หมายถึง ขาวซีด คล้ายขี้เถ้า หรือจะใช้สำนวน blood/color drains from somebody’s face หมายถึง หน้าถอดสี นั่นเอง

นอกจากนั้นยังมีสำนวน white as a sheet แปลตรงตัวคือ ขาวเหมือนผ้าปูที่นอน (ในสมัยก่อน สีมาตรฐานของผ้าปูที่นอนคือสีขาว) เช่น She turned white as a sheet when she saw her son in a car accident on the news. ก็คือ เธอกลัวหน้าซีดเมื่อได้เห็นว่าลูกชายประสบอุบัติเหตุในข่าว

ขี้หดตดหาย

เวลาที่เรากลัว ระบบขับถ่ายของเราก็อาจมีปฏิกิริยาตอบสนองเช่นกัน แบบที่เห็นได้ในสำนวน กลัวขี้หดตดหาย ในภาษาไทย ส่วนในภาษาอังกฤษก็มีสำนวน scared shitless (ค่อนข้างหยาบคาย) ก็คือ กลัวจนขี้หดตดหาย เหมือนขมิบจนลืมความอยากขับถ่ายไปหมดสิ้น เช่น I was scared shitless when the doctor said I might have cancer. ก็คือ กลัวจนขี้หดตดหายเมื่อหมอบอกว่าอาจจะเป็นมะเร็ง หรือไม่ก็อาจใช้ scare the shit out of someone คือ ทำให้กลัวมากจนขี้หดตดหาย นั่นเอง

แต่ทั้งนี้ ระบบขับถ่ายบางคนก็อาจทำงานกลับกันเวลากลัว คือแทนที่จะลืมความอยากถ่าย กลับสูญเสียความควบคุมและถ่ายออกมาแทน แบบที่ภาษาอังกฤษพูดว่า to shit one’s pants หรือ to piss one one’s pants แปลแบบไทยๆ ได้ว่า กลัวขี้ราด หรือ กลัวเยี่ยวราด นั่นเอง (ซึ่งเป็นแค่ความเปรียบ ไม่ได้จำเป็นต้องราดกางเกงจริงๆ) เช่น I almost shat my pants when the ghost popped up the screen. ก็คือ ตอนผีโผล่มา กลัวขี้เกือบราด

กลัวตัวแข็งขยับไม่ได้

บางครั้ง ความกลัวก็ทำให้เราตัวแข็งทื่อ ขยับตัวไม่ได้ขึ้นมาเสียอย่างนั้น แบบนี้ในภาษาอังกฤษก็อาจใช้คำว่า petrified ซึ่งมาจากคำว่า petra ในภาษากรีกที่แปลว่า หิน (เป็นญาติกับ petroleum และชื่อ Peter ด้วย (อ่านเพิ่มเติมได้ที่: https://themomentum.co/hidden-stones-in-words/) แต่เดิมแปลว่า ทำให้เป็นหิน เช่น petrified wood (ไม้ที่แข็งกลายเป็นหิน) แต่นำมาใช้ในเชิงเปรียบเปรย แปลว่า กลัวจนตัวแข็งทื่อ แบบที่เจอในท่อนแรกของเพลง I Will Survive ของ Gloria Gaynor ได้ด้วย

นอกจากนั้น เราก็อาจจะใช้คำว่า rooted to the ground ได้ด้วย แปลตรงตัวว่า รากงอกยึดอยู่กับพื้น ในภาพว่ากลัวมากจนตัวแข็งทื่อ ก้าวเดินไม่ได้ ยืนอยู่กับที่อย่างนั้น เช่น My feet were rooted to the ground after I saw the whole building collapse in front of my very eyes. ก็คือ พอเห็นตึกถล่มตรงหน้าก็กลัวจนก้าวขาเดินไม่ออกทีเดียว

กลัวตัวสั่น

อาการตัวสั่นเทานับเป็นอาการทางกายอีกอย่างหนึ่งที่เป็นตัวบ่งบอกได้ว่าคนคนนั้นกำลังกลัวอยู่ อาการนี้จึงถูกนำมาเป็นสำนวนเพื่อสื่อถึงความกลัวด้วย สำนวนในกลุ่มนี้ที่พบได้บ่อยมากก็คือ tremble with fear คือ ตัวสั่นเทาด้วยความกลัว เช่น The boy trembled with fear as he walked through the dark corridor to the bathroom by himself at night for the first time. ก็คือ เด็กน้อยตัวสั่นด้วยความกลัวขณะเดินผ่านทางมืดๆ ไปเข้าห้องน้ำตอนกลางคืนเองเป็นครั้งแรก

นอกจากนั้น เราก็ยังอาจใช้สำนวน to be quaking in one’s boots หรือ to shake like a leaf ได้ด้วย เช่น หากเรากลัวที่สูงมากๆ และเกิดอาการกลัวตัวสั่นขณะที่ยืนที่ขอบหน้าผา เราก็อาจพูดว่า I was quaking in my boots as I was standing at the edge of the cliff. เป็นต้น

 

บรรณานุกรม

 http://oed.com/

Ammer, Christine. The American Heritage Dictionary of Idioms: American English Idiomatic Expressions & Phrases. 2nd ed. Houghton Mifflin Harcourt: Boston, 2013.

American Heritage Dictionary of the English Language

Ayto, John. Oxford Dictionary of English Idioms. OUP: Oxford, 2009.

Gulland, Daphne M., and Hinds-Howell, David. The Penguin Dictionary of English Idiom. Penguin Books: London, 2002.

Longman Dictionary of Contemporary English

Longman Idioms Dictionary. Pearson: Essex, 2010.

Merriam-Webster Dictionary

Oxford Advanced Learners’ Dictionary

Oxford Idioms Dictionary for Learners of English. OUP: New York, 2006.

Shorter Oxford English Dictionary

Speake, Jennifer. Oxford Dictionary of Proverbs. Oxford University Press: Oxford, 2008.

Tags: , , ,