ช่วงนี้ราคาอะไรๆ ก็ดูจะแพงขึ้นไปเสียหมด ตั้งแต่ราคาหมูที่เขย่งไปแตะระดับ 200 บาทต่อกิโลกรัม ไข่ไก่ที่จะขอปรับราคาขึ้นตาม ไปจนถึงราคาน้ำมันและค่าโดยสารที่สูงจนคนบ่นกันระงม จนทำให้เกิดการหวนกลับมาของคำพูดที่ว่า “แพงทั้งแผ่นดิน” ซึ่งเป็นคำที่พรรคประชาธิปัตย์เคยใช้สมัยที่ตนเป็นฝ่ายค้านในยุคนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ช่วงปี พ.ศ. 2555 และกลับมาหลอกหลอนอีกครั้งในสมัยที่คนจากพรรคประชาธิปัตย์นั่งเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์

แต่เอาเถอะ อย่างน้อยก็ยังใจชื้นว่าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปจะไม่ขึ้นราคาเนอะ

เพื่อให้เข้ากับสถานการณ์ สัปดาห์นี้ Word Odyssey ขอพาไปดูสำนวนต่างๆ ในภาษาอังกฤษที่นำมาใช้พูดถึงความแพงได้

Cost an arm and a leg แพงหูฉี่

เห็นราคาเนื้อหมูแล้วลมจะจับ

ล่าสุดแตะกิโลละ 200 บาท

แพงจนแทบจะต้องขายอวัยวะมาซื้อกินแล้ว

สำนวนนี้คนชอบเล่ากันว่ามีที่มาจากอัตราค่าจ้างวาดภาพหรือปั้นรูปประติมากรรมในอดีต คือถ้าให้วาดหรือปั้นรูปให้เห็นเฉพาะครึ่งตัวด้านบนจากหัวถึงบริเวณไหล่หรืออกก็จะคิดราคาหนึ่ง แต่ถ้าหากอยากให้เห็นลงไปถึงแขนหรือขา ก็จะต้องคิดราคาแพงขึ้น

แต่อันที่จริงแล้ว เรื่องนี้นักวิชาการเชื่อว่าเป็นแค่เรื่องที่แต่งขึ้น สำนวนนี้จริงๆ แล้วน่าจะมีที่มาจากที่แขนและขาเป็นอวัยวะที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง หากคิดในเชิงมูลค่าแล้วก็คงมีราคาสูงกว่าหลายๆ อวัยวะ การเทียบความสำคัญกับมูลค่าแบบนี้ อันที่จริงเห็นได้จากสำนวนอื่นๆ ที่มีอายุเก่าแก่กว่าสำนวนนี้ด้วย เช่น I’d give my right arm (ยอมแลกด้วยแขนข้างขวาเลย) หรือ even if it’d take a leg (แม้ต้องแลกด้วยขาก็ยอม) ซึ่งใช้เมื่อผู้พูดต้องการสื่อว่าต้องการสิ่งที่พูดถึงอยู่มากๆ

Cost a fortune แพง

เนื้อไก่และไข่ไก่ไม่ยอมน้อยหน้า

ขยับราคาขึ้นตามๆ กัน

ไม่อยากจินตนาการถึงช่วงไหว้ตรุษจีนปีนี้

เห็นแววสูญทรัพย์ก้อนโตรับต้นปี

A fortune ในที่นี้ไม่ได้หมายถึง โชค โชคลาภ แต่หมายถึง เงินปริมาณมาก แบบที่เจอในคำพูดอย่าง make a fortune (ทำเงินได้เป็นกอบเป็นกำ) หรือ spend a fortune (จ่ายเงินก้อนโต)

Pay through the nose จ่ายแพงกว่าที่ควร

แยงจมูกตรวจโควิดที่โรงพยาบาลเอกชนทีไร

น้ำตาไหลทุกที

ไม่ใช่เพราะเจ็บนะ

เพราะค่าตรวจแพงเหลือเกิน

สำนวนนี้มีคนเสนอที่มาไว้หลายอย่าง บ้างก็บอกว่ามาจากภาษีที่ชาวเดนิชเรียกเก็บจากชาวไอริชหลังพิชิตไอร์แลนด์ได้ หากใครไม่จ่ายภาษีนี้ก็จะโดนเฉือนจมูก บ้างก็บอกว่ามาจากที่ชาวอังกฤษเคยใช้คำว่า rhino ซึ่งมาจาก rhinos ในภาษากรีกที่แปลว่า จมูก มาเป็นคำสแลงในการเรียกเงิน พอต้องจ่ายอะไรแพงๆ ก็เลยเรียกว่า pay through the nose แต่ทั้งนี้ นักวิชาการหลายคนก็บอกว่าคำอธิบายทั้งสองอย่างนี้แลดูเป็นไปไม่ได้ทั้งคู่

Highway robbery แพงเหมือนโดนปล้น

กรมสรรพากรหัวใสออกนโยบายเก็บภาษีคริปโต

ทุกทรานแซกชันที่ได้กำไร

ต้องนำมาคิดรวมในรายได้เพื่อชำระภาษี

แม้รวมเบ็ดเสร็จสุดท้ายแล้วขาดทุน

ก็ยังต้องเอากำไรทิพย์มาคิดภาษีให้สรรพากรอยู่ดี

แบบนี้หลายคนคงต้องจ่ายภาษีก้อนโตเหมือนโดนปล้นกลางวันแสกๆ

สำนวนนี้มีที่มาจากโจรที่ดักปล้นนักเดินทางตามทางหลวง นอกจากจะพูดว่า highway robbery แล้ว เราอาจจะได้ยิน daylight robbery ในเกาะอังกฤษด้วย

Break the bank แพงเกินเหตุ

ปีที่ผ่านมา ทั้ง MRT และ BTS ปรับขึ้นค่าโดยสาร

ทางด่วนก็ปรับขึ้นค่าผ่านทาง

ราคาน้ำมันก็ขึ้นจนเฉลี่ยอยู่ที่ 30 บาทต่อลิตร

ตอนนี้จะเดินทางไปไหนที แทบจะสิ้นเนื้อประดาตัว

อีกนิดคือจะทุบกระปุกแล้วนะ

สำนวนนี้หมายถึง ใช้เงินหมดตัว ให้ภาพทำนองว่า แทบจะต้องใช้เงินทั้งหมดที่ใส่ไว้ในธนาคารเพื่อจ่ายค่าอะไรสักอย่าง ปกติแล้วจะใช้ในใจความปฏิเสธมากกว่า เช่น I guess a nice meal won’t break a bank. ก็คือ ขอบำเรอกินอะไรดีๆ หน่อยแล้วกัน เท่านี้คงไม่ถึงขั้นล้มละลายหรอก

A rip-off ของที่แพงเกินควร

ลอตเตอรี่เขียนชัดเจนใบละ 80 บาท

แต่คุณพี่เล่นเลขชุด 10 ใบ 1,200 บาท

แบบนี้โขกราคาเกินควรไหมอะพี่คุณ

(อยากพาคุณพี่ไปพบเจ้าหน้าที่รัฐจังเลย เขาบอกว่าไม่เจอคนขายเกินราคา)

คำนี้นอกจากจะแปลว่า แพงเกินเหตุ โกงราคา แล้ว ยังแปลว่า ของเลียนแบบ ได้ด้วย เช่น Our co-payment scheme is a rip-off of the UK’s Eat Out to Help Out scheme. ก็คือ โครงการคนละครึ่งของเราเลียนแบบโครงการกินข้าวนอกบ้านช่วยร้านอาหารของอังกฤษมา

ทั้งนี้ ต้นตอของสำนวนนี้มาจากกริยา to rip off ซึ่งเป็นสแลง แปลว่า ขโมย โกง เช่น Tourists are often ripped off by tuk-tuk drivers. ก็คือ นักท่องเที่ยวโดนคนขับแท็กซี่โกงอยู่เรื่อยๆ

Beyond one’s means* – แพงเกินกว่าฐานะ

หนี้สาธารณะจวนแตะ 10 ล้านบาท

ไม่มีภัยสงครามชัดเจนต่อหน้า

แต่ ครม. ไฟเขียวซื้อเครื่องบินขับไล่ 1.38 หมื่นล้าน

แบบนี้เรียกใช้เงินเกินฐานะได้ไหมพี่จี้

คำว่า means ในที่นี้ เติม s เสมอ และหมายถึง ฐานะ เงินหรือทรัพยากรที่คนคนหนึ่งมีอยู่ เช่น live within your means ก็คือ ใช้จ่ายสมฐานะ ไม่ใช้เงินเกินตัว หรือ a man of means ก็คือ คนมีฐานะ

 

บรรณานุกรม

 

http://oed.com/

Ammer, Christine. The American Heritage Dictionary of Idioms: American English Idiomatic Expressions & Phrases. 2nd ed. Houghton Mifflin Harcourt: Boston, 2013.

American Heritage Dictionary of the English Language

Ayto, John. Oxford Dictionary of English Idioms. OUP: Oxford, 2009.

Cambridge Advanced Learners’ Dictionary

Crystal, David, and Ben Crystal. Shakespeare’s Words: A Glossary & Language Companion. Penguin Books: London, 2002.

Elizabeth, Mary. Barron’s American Slang Dictionary and Thesaurus. Barron’s Education Series: New York, 2009.

Gulland, Daphne M., and Hinds-Howell, David. The Penguin Dictionary of English Idiom. Penguin Books: London, 2002.

Longman Dictionary of Contemporary English

Longman Idioms Dictionary. Pearson: Essex, 2010.

Merriam-Webster Dictionary

Oxford Advanced Learners’ Dictionary

Oxford Idioms Dictionary for Learners of English. OUP: New York, 2006.

Shorter Oxford English Dictionary

Tags: , , , ,