มนุษย์ทุกคนเมื่อเกิดมาบนโลกแล้ว วันหนึ่งก็ย่อมต้องตายจากโลกนี้ไป แต่เนื่องจากความตายเป็นเรื่องที่คนจำนวนมากรู้สึกกลัวและไม่อยากพูดถึง ในภาษาต่างๆ จึงมีการคิดวิธีเลี่ยงไม่พูดถึงความตายตรงๆ ซึ่งหนึ่งในวิธีเหล่านั้นคือการใช้คำรื่นหูหรือ euphemism นั่นเอง

อย่างในภาษาไทย แทนที่เราจะพูดคำว่า ตาย ออกมาตรงๆ ซึ่งอาจบาดหูและฟังดูรุนแรงสำหรับใครหลายๆ คน เราก็อาจจะใช้คำอย่าง “จากโลกนี้ไป” “หลับสบายแล้ว” “ไปสวรรค์” หรือ “ไปสู่ภพภูมิที่ดีแล้ว” ในทำนองเดียวกัน ภาษาอังกฤษก็มีคำหรือสำนวนรื่นหูไว้ใช้เลี่ยงการพูดถึงความตายเช่นกัน ตัวอย่างเช่น to pass away, eternal rest, หรือ no longer with us.

แต่ด้วยความที่ภาษาอังกฤษมีประวัติศาสตร์ยาวนาน ทั้งยังได้รับอิทธิพลจากหลากหลายวัฒนธรรม จึงทำให้มีคำหรือสำนวนรื่นหูที่ใช้เลี่ยงการพูดถึงความตายเยอะมาก ทั้งยังมีความเก๋ไก๋สร้างสรรค์แบบที่ต่างไปจากภาษาไทยด้วย

ดังนั้น สัปดาห์นี้ Word Odyssey ขอพาไปรู้จักกับสำนวนรื่นหูเก๋ๆ ที่เอาไว้พูดถึงการตายในภาษาอังกฤษ ทั้งที่เคยใช้ในอดีตแต่ปัจจุบันเลิกใช้แล้ว และที่ยังพบเห็นได้ในปัจจุบัน

To be gathered to one’s fathers

เมื่อได้เห็นสำนวนนี้ หลายคนอาจสงสัยว่าอะไรคือการไปรวมกับพ่อและเหตุใดคำว่าพ่อจึงอยู่ในรูปพหูพจน์ ทั้งๆ ที่ปกติแล้วคนส่วนใหญ่น่าจะมีพ่อเพียงคนเดียว (คล้ายๆ กับที่ทุกคนมีแม่แค่คนเดียวนะโกโก้)

อันที่จริงแล้ว คำว่า fathers ในที่นี้ ไม่ได้หมายถึงแค่พ่อของคนที่พูดถึง แต่หมายถึงไปถึง พ่อของพ่อ และพ่อของพ่อของพ่อไล่ขึ้นเรื่อยๆ เรียกรวมง่ายๆ ว่าบรรพบุรุษหรือ forefathers นั่นเอง ดังนั้น สำนวนนี้จึงแปลตรงตัวได้ว่า ไปรวมตัวกับบรรดาบรรพบุรุษ ซึ่งก็เป็นการพูดว่าตายแบบอ้อมๆ และรื่นหูนั่นเอง

สำนวนนี้ใช้ในภาษาอังกฤษมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 14 มีที่มาจากคัมภีร์ไบเบิ้ล แต่ปัจจุบันเรียกได้ว่าแทบไม่มีใครใช้แล้ว

To pay one’s debt to nature  

สำนวนนี้แปลได้ตรงตัวว่า ใช้หนี้คืนให้แก่ธรรมชาติ ทำให้เห็นภาพว่าชีวิตของมนุษย์เรานั้นดำรงอยู่ได้เพราะธรรมชาติเป็นผู้ค้ำจุน ให้ทรัพยากรต่างๆ ทั้งน้ำท่าอาหารแก่เรา เมื่อถึงวาระที่เราจากโลกนี้และย่อยสลายกลับสู่พื้นแผ่นดิน จึงนับเป็นการคืนหนี้ที่ติดค้างธรรมชาติไว้ นับเป็นวิธีการพูดถึงความตายที่ละมุนละม่อมทีเดียว

นอกจาก to pay one’s debt to nature แล้ว บางครั้งเราก็อาจเจอ to pay nature’s debt หรือ to pay nature her due ซึ่งมีความหมายเหมือนกัน คือใช้คืนสิ่งที่ติดค้างให้แก่ธรรมชาติ

ทั้งนี้ สำนวนนี้ปรากฏในภาษาอังกฤษตั้งแต่ราว 500 ปีที่แล้ว แต่ในปัจจุบันไม่มีใครใช้แล้ว

To take the ferry

ในการที่จะเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างการนั่งเรือข้ามฟากกับความตายในความคิดแบบตะวันตกนั้น เราจะต้องย้อนกลับไปถึงยุคกรีกโบราณ

คนในสมัยนั้นเชื่อกันว่า เมื่อมนุษย์ตายไป วิญญาณจะต้องเดินทางไปยังยมโลกอันเป็นดินแดนของเทพเฮดีส (Hades) แต่ก่อนจะไปถึงยมโลกได้ วิญญาณของผู้ตายจะต้องข้ามแม่น้ำแอเครอน (Acheron) ไปให้ได้เสียก่อน (บางตำนานก็บอกว่าต้องข้ามแม่น้ำสติกซ์ หรือ Styx) ซึ่งวิธีการจะข้ามแม่น้ำสายนี้ก็คือการนั่งเรือข้ามฟากที่พายโดยแครอน (Charon) โดยมีค่าโดยสารเป็นเงินปากผีที่ญาติผู้เสียชีวิตใส่ไว้ในศพนั่นเอง

ดังนั้น การนั่งเรือข้ามฟากจึงถูกนำมาใช้พูดถึงความตายแบบอ้อมๆ ก็คือแทนที่จะบอกว่าใครตาย ก็เปลี่ยนไปพูดว่าคนนี้ได้นั่งเรือของแครอนข้ามฟากไปสู่ยมโลกแล้วนั่นเอง

แต่หากจะนำสำนวนไปใช้ให้คนเข้าใจ อาจจะต้องย้อนกลับไปสักราว 400 ที่แล้ว เพราะทุกวันนี้นับเป็นสำนวนเก่าตกยุค ไม่มีใครใช้แล้ว

To shuffle off this mortal coil

หากพูดถึงประโยคอมตะอย่าง “To be, or not to be: that is the question” หลายคนก็น่าจะบอกได้ทันทีว่ามาจากบทพูดรำพึงรำพันอันแสนโด่งดังของแฮมเล็ต (Hamlet) จากบทละครแฮมเล็ตของเชคสเปียร์ (Shakespeare)

แต่หากใครเคยได้อ่านบทพูดนี้ทั้งบท ก็จะได้เจอกับสำนวน to shuffle off this mortal coil ซึ่งคำว่า coil ในที่นี้ ไม่ใช่คำเดียวกับ coil ที่แปลว่า ขดเชือกหรือขดลวด แต่อย่างใด แต่เป็นอีกคำที่หมายถึง ความสับสนอลหม่าน ความยุ่งเหยิงวุ่นวาย เราจึงพอจะอนุมานได้ว่า mortal coil ในที่นี้หมายถึง ความวุ่นวายสับสนในชีวิตของมรรตัยชนหรือปุถุชนที่วันหนึ่งจะต้องพบกับความตาย เมื่ออ่านรวมทั้งสำนวนจึงได้ความหมายทำนองว่า สลัดทิ้งซึ่งความสับสนอลหม่านในชีวิตของปุถุชน 

เนื่องจากวิธีเดียวที่มนุษย์จะหลุดพ้นจากปัญหาความวุ่นวายต่างๆ ในชีวิตก็คือการตายจากโลกนี้ไปเสีย สำนวนนี้จึงถูกหยิบมาเป็นสำนวนรื่นหูเพื่อใช้พูดถึงความตายนั่นเอง ที่น่าสนใจก็คือ ทุกวันนี้เราก็ยังมีโอกาสได้พบเจอสำนวนนี้อยู่ แต่จะพบเจอได้สองบริบทที่แตกต่างกันพอสมควร คือหากไม่เจอในบริบทที่เป็นทางการ หรืออาจจะเจอคนเอาไปใช้พูดแบบติดตลกไปเลย

To join the majority

หากเราลองนั่งนึกตรึกตรองดูว่า ในบรรดาคนที่เคยเกิดขึ้นมาบนโลกทั้งหมด จำนวนคนที่ตายไปแล้วและที่ยังมีชีวิตมีสัดส่วนเป็นอย่างไร ก็จะเห็นได้คนที่มีชีวิตอยู่บนโลกในปัจจุบันนับเป็นเพียงเศษเสี้ยวของจำนวนที่เคยล้มหายตายจากไปแล้ว พูดอีกอย่างก็คือ คนหมู่มากไม่ใช่คนที่ยังมีชีวิตอยู่บนโลก แต่เป็นคนที่ตายไปแล้วต่างหาก

ด้วยเหตุนี้ เมื่อราว 300 ปีที่แล้วจึงเริ่มมีคนเลี่ยงการพูดถึงความตายตรงๆ ด้วยการเปลี่ยนมุมมองว่า การจากโลกนี้ไปคือการเดินทางไปอยู่กับคนหมู่มากนั่นเอง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ปัจจุบันนี้ไม่มีใครใช้สำนวนนี้แล้ว

To go to one’s reward

สำนวนนี้บางครั้งก็พูดว่า to pass to one’s reward หรือ to be called to one’s reward แต่ไม่ว่าจะพูดแบบไหนก็ล้วนมีภาพแบบเดียวกันหมด คือได้เดินทางจากโลกของผู้มีชีวิตไปรับรางวัลหลังความตายเป็นชีวิตอันมีความสุขบนสรวงสวรรค์กับพระผู้เป็นเจ้า ซึ่งนุ่มนวลกว่าการพูดว่าตายเฉยๆ มาก

ทั้งนี้ ยังมีอีกหลายสำนวนที่เลี่ยงพูดถึงการตายตรงๆ ด้วยการเบี่ยงไปพูดว่าผู้ตายได้ไปอยู่กับพระผู้เป็นเจ้าในสวรรค์แทน เช่น to go to heaven (ขึ้นสวรรค์), to meet your maker (ไปพบพระผู้สร้าง), to be with the angels (ได้ไปอยู่กับบรรดาเทวดา) รวมไปถึงสำนวนโบราณอย่าง to sup with our Savior (ได้ร่วมโต๊ะรับประทานอาหารกับพระผู้ไถ่)

To turn one’s toes up

ปกติแล้วนิ้วเท้าของคนเราจะตั้งฉากกับลำตัวและชี้ไปในแนวขนานกับพื้นเวลาที่เรายืน แต่เมื่อเราตายไปและถูกนำไปฝัง นิ้วเท้าของเราจะชี้ขึ้นฟ้า ด้วยเหตุนี้ ภาษาอังกฤษจึงมีสำนวน to turn one’s toes up ซึ่งเป็นสำนวนรื่นหูใช้เลี่ยงแทนการพูดว่าตายตรงๆ นั่นเอง

สำนวนนี้เพิ่งมาปรากฏในภาษาอังกฤษได้ไม่ถึง 200 ปีแต่ทุกวันนี้ก็เริ่มไม่แพร่หลายแล้ว ที่น่าสนใจก็คือมีการนำไปใช้ในเชิงเปรียบเปรยพูดถึงเวลาธุรกิจเจ๊งได้ด้วย

ทั้งนี้ อีกสำนวนรื่นหูที่พูดถึงคนตายและมีที่มาจากการนำร่างผู้ตายไปฝังเหมือนกันก็คือ to push up daisies เห็นภาพทำนองว่า มีดอกเดซี่ผุดขึ้นเหนือหลุมฝังศพของผู้ตาย เช่นถ้าบอกว่า I’ll be pushing up daisies long before Thailand becomes a developed country. ก็คือ กว่าประเทศไทยจะเป็นประเทศพัฒนาแล้ว ป่านนั้นฉันเป็นปุ๋ยบำรุงดินไปนานแล้ว

 

บรรณานุกรม

http://oed.com/

Ammer, Christine. The American Heritage Dictionary of Idioms: American English Idiomatic Expressions & Phrases. 2nd ed. Houghton Mifflin Harcourt: Boston, 2013.

American Heritage Dictionary of the English Language

Ayto, John. Oxford Dictionary of English Idioms. OUP: Oxford, 2009.

Gulland, Daphne M., and Hinds-Howell, David. The Penguin Dictionary of English Idiom. Penguin Books: London, 2002.

Longman Dictionary of Contemporary English

Longman Idioms Dictionary. Pearson: Essex, 2010.

Merriam-Webster Dictionary

Oxford Advanced Learners’ Dictionary

Oxford Idioms Dictionary for Learners of English. OUP: New York, 2006.

Shorter Oxford English Dictionary

Speake, Jennifer. Oxford Dictionary of Proverbs. Oxford University Press: Oxford, 2008.

Tags: , , ,