ในภาษาอังกฤษ นอกจากเราจะสามารถสร้างศัพท์ด้วยกันนำหน่วยคำมาประกอบกัน (เช่น un- รวมกับ able เป็น unable) นำคำมาประสมกัน (เช่น นำคำว่า break กับ fast มารวมกันเป็น breakfast) หรือผสมเข้าด้วยกันเป็นคำเดียว (เช่น smoke กับ fog รวมกันเป็น smog) เรายังสร้างนำชื่อคนมาสร้างเป็นคำศัพท์ใหม่ได้ด้วย ซึ่งคำที่สร้างขึ้นจากชื่อคนแบบนี้มีชื่อเรียกว่า eponym

ที่น่าสนใจก็คือ eponym ในภาษาอังกฤษมีประโยชน์ใช้สอยหลากหลายมาก คือนำไปใช้ตั้งชื่อสิ่งต่างๆ ที่จับต้องได้ที่เกี่ยวข้องกับเจ้าของชื่อก็ได้ ตั้งแต่อวัยวะ (เช่น Achilles tendon หรือ fallopian tubes) หน่วยชั่งตวงวัด (เช่น ampere และ newton) ไปจนถึงอาหาร (เช่น Eggs Benedict และชา Earl Grey) และสิ่งต่างๆ ในชีวิตประจำวัน (เช่น diesel และตุ๊กตาหมี teddy bear) หรือจะนำมาทำใช้เรียกแนวความคิดหรือคุณลักษณะเชิงนามธรรมที่เกี่ยวข้องกับคนคนนั้นก็ได้ ในการใช้แบบหลังนี้ เรามักจะนำชื่อคนนั้นๆ มาคำเป็นคำคุณศัพท์หรือ adjective ได้ด้วย เรียกว่า eponymous adjective (อารมณ์ประมาณว่า ถ้าถามอะไรใครแล้วคนนั้นตอบอยู่คำเดียวว่า ไม่รู้ เราก็อาจจะพูดว่า แกนี่มัน ‘ป้อม’ จริงๆ)

ในสัปดาห์นี้ เราจะไปดูว่าในภาษาอังกฤษมีคำคุณศัพท์ที่มาจากชื่อคนอะไรบ้างที่น่าสนใจ และเหตุใดชื่อคนเหล่านี้จึงกลายมาเป็นคำศัพท์ได้

Chauvinistic: คลั่งชาติ

ประเทศสารขัณฑ์นี้ดีที่สุด

เป็นเลิศในทุกด้าน

ไม่มีชาติไหนเทียบเทียม

ใครไม่รักประเทศนี้ก็ออกไป

คุณศัพท์นี้มาจาก นิโกลาส์ โชแวง (Nicolas Chauvin) ทหารชาวฝรั่งเศสในคริสต์ศตวรรษที่ 18 ที่ว่ากันว่ารับราชการทหารตั้งแต่ยังหนุ่มยังแน่น ทั้งยังได้ออกรบให้จักรพรรดินโปเลียน โบนาปาร์ต (Napoleon Bonaparte) จนได้รับดาบเกียรติยศด้วย เนื่องจากโชแวงอุทิศตนให้กับนโปเลียนแบบถวายชีพ โดนยิงจนร่างกายพิกลพิการก็ยังพร้อมพลีชีพให้ พอนโปเลียนเริ่มเสื่อมความนิยม ชื่อของโชแวงจึงถูกนำมาใช้เป็นคำล้อเลียน กลายมาเป็นคำว่า chauvinism และ chauvinistic ในที่สุด ในปัจจุบันคำนี้นอกจากจะหมายถึงความคลั่งชาติแล้ว ยังนำมาใช้ประกอบเป็นคำว่า male chauvinism หมายถึง ความเชื่อว่าผู้ชายเป็นเพศที่เหนือกว่า

Pavlovian: ตอบสนองโดยอัตโนมัติ

เห็นผู้ชุมนุมแล้วแทบควบคุมร่างกายไม่ได้

มือมันอยากจะหยิบกระบองขึ้นมาฟาด

ขามันอยากจะยกขึ้นตีเข่าใส่ท้องเอาเสียอย่างนั้น

บังเอิญว่าถูกฝึกและตั้งโปรแกรมมาแบบนี้

คำนี้มาจากชื่อนักสรีรวิทยาชาวรัสเซีย อีวาน เปโตรวิช ปาฟลอฟ (Ivan Petrovich Pavlov) ที่มีชีวิตอยู่ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 ถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 ปาฟลอฟมีผลงานโด่งดังคือ การศึกษาเรื่อง conditioning หรือการวางเงื่อนไข ที่พบว่าหากสั่นกระดิ่งก่อนให้อาหารหมาบ่อยๆ พอเวลาผ่านไป แค่ได้ยินเสียงกระดิ่ง หมาก็จะเริ่มน้ำลายสอโดยอัตโนมัติ แม้จะไม่มีอาหารมาวางตรงหน้า (ซึ่งก่อนการวางเงื่อนไขเคยเป็นสิ่งเร้าพฤติกรรมน้ำลายไหล) ชื่อของปาฟลอฟจึงถูกนำมาทำเป็นคุณศัพท์ใช้อธิบายการตอบสนองที่เป็นอัตโนมัติ

Darwinian: อ่อนแอก็แพ้ไป

กรุณาอย่าเรียกฉันว่างูเห่าหรือแมลงสาบ

ฉันแค่รู้จักปรับตัวให้อยู่รอด

ถ้ามีจรรยาบรรณแล้วอยู่ไม่รอดก็ไม่มีประโยชน์หรือเปล่า

อ่อนแอก็แพ้ไปเนอะ

คำนี้มาจาก ชาร์ลส์ ดาร์วิน (Charles Darwin) นักธรรมชาติวิทยาชาวอังกฤษชื่อก้องโลกที่มีชีวิตอยู่ในคริสต์ศตวรรษที่ 19 ผู้คิดค้นทฤษฎีวิวัฒนาการ ดาร์วินเป็นผู้นำเสนอแนวคิดการคัดเลือกโดยธรรมชาติ (natural selection) ซึ่งเชื่อว่าสิ่งมีชีวิตใดที่ปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมได้ดีที่สุดก็จะอยู่รอด และสืบพันธุ์ได้ประสบความสำเร็จที่สุด (survival of the fittest) ด้วยเหตุนี้ ชื่อของดาร์วินจึงถูกนำมาทำเป็นคำว่า Darwinism และ Darwinian ซึ่งนอกจากจะใช้ในวงการชีววิทยาแล้วยังถูกนำไปใช้ในแวดวงอื่นๆ ที่มีการแข่งขันและการเอาตัวรอดมาเกี่ยวข้อง

  

Machiavellian: เจ้าเล่ห์ ไร้ศีลธรรม

ศีลธรรมไม่สำคัญเท่าชัยชนะ

เรายินดีทำทุกวิถีทางให้จัดการฝ่ายตรงข้ามได้ราบคาบ

ไม่ว่าจะต้องใช้เล่ห์กลสกปรก ซุ่มฝึกไอโอ กดขี่ปราบปรามด้วยกฎหมาย

เมื่อใดที่ประสบความสำเร็จ วิธีที่ใช้ก็จะชอบธรรมขึ้นมาเอง

คำนี้มาจาก นิคโคโล มาเกียเวลลี (Niccolò Machiavelli) นักปรัชญาการเมืองชาวอิตาเลียนในยุคเรอเนสซองส์ ผู้เขียนหนังสือชื่อดัง Il Principe (The Prince) ที่แนะนำให้เจ้าชายหรือผู้ครองเมืองมองความสำเร็จปลายทางมากกว่ามองเรื่องศีลธรรม เช่น ให้ใช้ความกลัวปกครองเพราะได้ผลกว่าพยายามทำให้ประชาชนรัก และให้วิธีการใดก็ได้เพื่อให้บรรลุจุดประสงค์แม้วิธีนั้นจะไม่ชอบธรรมก็ตาม ด้วยเหตุนี้ ชื่อของมาเกียเวลลีจึงถูกนำมาสร้างเป็นคำว่า Machiavellian เพื่อบรรยายแผนการหรือวิธีคิดที่เจ้าเล่ห์ไร้ศีลธรรม

Orwellian: โลกดิสโทเปียที่รัฐพยายามควบคุมพฤติกรรมและความคิดคนแบบเบ็ดเสร็จ

โลกความจริงเข้าใกล้ฝันร้ายในนิยายขึ้นทุกที

ประชาชนถูกจับตาดูทุกฝีก้าว

วันๆ ถูกป้อนโฆษณาชวนเชื่อและข้อมูลจากไอโอ

ใครคิดต่างจากที่รัฐต้องถูกนำไป ‘ปรับทัศนคติ’

คำนี้ได้มาจาก จอร์จ ออร์เวลล์ (George Orwell) นามปากกาของนักแต่งนวนิยายชาวอังกฤษต้นศตวรรษที่ 20 เจ้าของผลงานดัง 1984 ในนวนิยายดิสโทเปียเล่มนี้ รัฐปกครองแบบเผด็จการเบ็ดเสร็จ มีบิ๊กบราเธอร์ (Big Brother) คอยสอดส่องตลอดเวลา ทั้งยังใช้โฆษณาชวนเชื่อ ข้อมูลบิดเบือน และภาษาประดิษฐ์ขึ้นมาใช้ควบคุมและลดทอนความสามารถในการคิดของประชาชนเพื่อไม่ให้คิดต่างจากที่รัฐต้องการ ด้วยเหตุนี้ จึงมีการนำชื่อของออร์เวลล์มาสร้างเป็นคำว่า Orwellian เพื่อบรรยายแนวคิดและการกระทำที่มีลักษณะคล้ายกันนี้

 

Freudian: เผยให้เห็นความคิดเบื้องลึก

จะพูดว่าสูบบุหรี่

แต่ดันหลุดพูดออกมาว่าสูบบุรุษ

แหม รู้เลยนะว่าในหัวคิดอะไรอยู่

คำนี้มาจากชื่อ ซิกมุนด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud) แพทย์ชาวออสเตรียผู้บุกเบิกศาสตร์จิตวิเคราะห์ ฟรอยด์เชื่อว่าคนเรามีจิตไร้สำนึก (unconscious mind) และพัฒนาการความต้องการทางเพศตั้งแต่วัยเด็ก ซึ่งส่งผลต่อพฤติกรรมของเราโดยที่เราไม่รู้ตัว ด้วยเหตุนี้ ชื่อของฟรอยด์จึงถูกนำมาสร้างคำว่า Freudian เพื่อพูดถึงพฤติกรรมที่ส่อให้เห็นความรู้สึกนึกคิดเบื้องลึก (โดยเฉพาะเมื่อเกี่ยวข้องกับเรื่องเพศ) แบบที่เจ้าตัวไม่ได้ตั้งใจ มักจะพบได้บ่อยในคำว่า Freudian slip หมายถึง การพลั้งปากพูดที่ซ่อนอยู่ภายในจิตใจ

  

Kafkaesque: สับสนน่าสะพรึงกลัวเพราะกฎระเบียบซับซ้อนไร้เหตุผล

ถูกจับแต่เจ้าหน้าที่ไม่แจ้งข้อกล่าวหา

จะพาตัวไปไหนก็ไม่บอก

ประกันตัวก็ไม่ได้ พบทนายก็ไม่ยอม

ติดอยู่ในวังวนฝันร้ายอย่างกับในนิยาย

คำนี้มาจากชื่อ ฟรันทซ์ คัฟคา (Franz Kafka) นักแต่งนวนิยายผู้เกิดในกรุงปรากช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ผู้ประพันธ์นิยายดัง Die Verwandlung (The Metamorphosis) และ Der Process (The Trial) เนื่องจากนิยายของคัฟคามักเกี่ยวข้องกับคนที่ติดอยู่ในวังวนปัญหาที่ไร้เหตุผลและไม่มีทางออก ชื่อของคัฟคาจึงถูกนำมาสร้างเป็นคำว่า Kafkaesque เพื่อบรรยายสถานการณ์แบบที่เจอในนิยายของคัฟคา โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับระบบราชการ เช่น จะขอเอกสารอะไรสักอย่างจากทางการแล้วถูกโยนส่งไปมาๆ ระหว่างหน่วยงาน

Epicurean: สุขนิยม เน้นเสพอาหารรสเลิศ

ชีวิตนี้แสนสั้น วันนี้วันพรุ่งเดี๋ยวก็ตายแล้ว

ระหว่างยังอยู่บนโลกนี้

ขอเสพสุขด้วยอาหารเลิศรสแล้วกัน

จะฟาดให้เรียบไม่ว่าจะเป็น อูนิ คาเวียร์ หรือเนื้อวากิว

คำนี้มาจากชื่อนักปรัชญากรีกโบราณ เอพิคิวรุส (Epicurus) ในศตวรรษที่ 4 ก่อนคริสตกาล เอพิคิวรุสเชื่อว่าความสุขคือเป้าหมายสูงสุดในชีวิต เราควรแสวงหาความสุขให้ได้มากที่สุดและหลีกเลี่ยงสิ่งต่างๆ ที่จะทำให้จิตใจขุ่นมัว เช่น การเมือง ความรัก การแต่งงาน ระบบปรัชญาของเอพิคิวรุสมีชื่อว่า Epicureanism และเป็นที่มาของคำว่า epicurean เพียงแต่ว่าคำนี้จะเน้นไปที่การกินเพื่อความสุขสำราญเป็นหลัก รวมถึงคำว่า epicure หมายถึง คนที่เน้นกินหรูอยู่สบาย หาความสำราญใส่ตัว

Masochistic: มีความสุขเมื่อได้รับความเจ็บปวด

แฟนเก่ามูฟออนไปมีคนใหม่แล้ว

ก็ยังตามส่องเฟซบุ๊กไอจีเขาให้เฮิร์ทเล่น

เสพติดการซ้ำเติมตัวเองให้ชอกช้ำ

มีความสุขบนความทุกข์ของตัวเอง

คำนี้มาจากชื่อ เลโอปอลด์ ฟอน ซาเคอร์-มาซอก (Leopold von Sacher-Masoch) นักแต่งนวนิยายชาวเยอรมันในคริสต์ศตวรรษที่ 19 นิยายที่โด่งดังที่สุดของซาเคอร์-มาซอก คือ Venus in Fur เป็นเรื่องเกี่ยวกับผู้ชายที่มีความสุขทางเพศจากการถูกผู้หญิงข่มเหงและทำให้อับอาย ชื่อของนักแต่งนวนิยายจึงถูกนำมาสร้างเป็นคำว่า masochism เพื่อใช้ในทางจิตวิทยา หมายถึง การมีความสุขทางเพศจากการได้รับความเจ็บปวด ถูกควบคุม หรือถูกทำให้อับอาย ต่อมาในภายหลังจึงจะถูกนำมาใช้ในบริบทที่ไม่เกี่ยวกับเรื่องเพศ เช่น คนที่เสพติดความเจ็บปวด

อีกคำที่เกี่ยวข้องกันคือ sadistic ซึ่งเป็นรูปคุณศัพท์ของ sadism คำนี้มาจากชื่อ มาร์กีส์ เดอ ซาด (Marquis de Sade) ขุนนางชาวฝรั่งเศสที่เขียนงานเกี่ยวกับเพศสัมพันธ์แบบรุนแรง การได้รับความสุขทางเพศจากการสร้างความเจ็บปวดให้ผู้อื่น ทั้งนี้ คำว่า sadistic คล้ายกับคำว่า masochistic ตรงที่ว่า ปัจจุบันถูกนำมาใช้ในบริบทที่ไม่เกี่ยวกับเพศได้เช่นกัน เช่น หากตำรวจปราบจราจลให้กำลังเกินควรและมีความสุขจากการทำร้ายร่างกายผู้ชุมนุม แบบนี้ก็สามารถใช้คำว่า sadistic มาบรรยายได้ ทั้งนี้ สองคำนี้ยังถูกนำมารวมกันเป็นคำว่า sadomasochism ด้วย หรือที่ย่อว่า S&M นั่นเอง

 

บรรณานุกรม

ราชบัณฑิตยสถาน. พจนานุกรมศัพท์วรรณกรรม อังกฤษ-ไทย. ราชบัณฑิตยสถาน: กรุงเทพฯ, 2545.

http://oed.com/

American Heritage Dictionary of the English Language

Barnhart, Robert K. The Barnhart Concise Dictionary of Etymology: The Origins of American English Words. H. W. Wilson: New York, 1995

Cambridge Advanced Learners’ Dictionary

Cresswell, Julia. Oxford Dictionary of Word Origins. OUP: New York, 2009.

Funk, Wilfred. Word Origins: A Classical Exploration of Words and Language. Gramercy Books: New York, 2008.

Hoad. T. F. (Ed.). Oxford Concise Dictionary of English Etymology. OUP: Oxford, 2003.

Longman Dictionary of Contemporary English

Merriam-Webster Dictionary

Oxford Advanced Learners’ Dictionary

Tuleja, Tad. Namesakes: An Entertaining Guide to the Origins of More Than 300 Words Named for People. McGraw-Hill, 1987.

Tags: , ,