หลังจากที่คณะรัฐมนตรีและกกต. ประกาศให้มีการเลือกตั้งผู้ว่ากทม. เป็นครั้งแรกในรอบ 8 ปี ในวันที่ 22 พฤษภาคมที่จะมาถึง เทศกาลแห่งคำมั่นสัญญาก็ได้หวนกลับมาสู่กรุงเทพฯ อีกครั้ง ซึ่งชาวเมืองสัมผัสได้จากนโยบายต่างๆ ของผู้สมัครที่มีให้เห็นและได้ยินผ่านป้ายหาเสียงน้อยใหญ่ที่ปรากฏอยู่แทบทุกที่ (และขวางทางเท้าในอีกหลายๆ ที่) ขบวนรถหาเสียงที่แผดเสียงผ่านโทรโขงไปตามถนนต่างๆ และบทสัมภาษณ์ทางโทรทัศน์และอินเทอร์เน็ต

สัปดาห์นี้ Word Odyssey ขอพาไปดูคำต่างๆ ในภาษาอังกฤษที่เกี่ยวกับคำสัญญา ทั้งคำที่หมายถึงคำสัญญา คำที่ใช้กับคำสัญญา และสำนวนต่างๆ ที่เกี่ยวกับคำว่า promise ที่แปลว่าสัญญา

 

[1]

คำที่หมายถึงสัญญา

คำแรกที่คนส่วนใหญ่น่าจะนึกถึงเมื่อพูดถึงสัญญาก็คือ promise ซึ่งเป็นได้ทั้งคำนาม หมายถึง คำสัญญา เช่น You made a promise. และกริยา หมายถึง สัญญา เช่น You promised me. คำนี้นับว่าเป็นคำกว้างๆ ใช้พูดสัญญาได้แทบทุกประเภท ตั้งแต่สัญญาเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิตส่วนตัว เช่น แม่สัญญากับลูกว่าถ้าเก็บของเล่นแล้วจะให้กินขนม ไปจนถึงสัญญาของผู้สมัครลงรับเลือกตั้งว่าจะทำโน่นนี่เมื่อได้รับเลือกตั้ง (แบบนี้เรียกว่า election promises หรือ campaign promises)

อีกคำที่เราใช้ได้เหมือนกันคือ pledge คำนี้คล้าย promise ตรงที่ว่า จะใช้เป็นคำนามหมายถึงตัวคำมั่นสัญญาเอง เช่น an election pledge หรือจะใช้เป็นกริยาหมายถึงการให้คำมั่นสัญญาก็ได้ เช่น The candidate pledged to tackle corruption. แต่คำนี้ต่างจาก promise หน่อยตรงที่ส่วนใหญ่แล้วจะใช้กับคำมั่นสัญญาที่จริงจังเป็นทางการ ทำนองว่าประกาศให้สาธารณชนทราบ หากเป็นแค่แฟนสัญญาว่าจะไปหาเวลาไปเที่ยวกันช่วงวันหยุดยาวแบบนี้ก็จะไม่ใช้คำว่า pledge

นอกจากนั้น คำว่า word ที่ปกติหมายถึงคำพูด ก็ยังใช้พูดถึงคำสัญญาได้ด้วย เช่น หากเราจะบอกใครว่าเราสัญญาว่าจะทำอย่างที่พูดไป เราก็อาจจะพูดว่า You have my word. หรือ I give you my word. หรือหากเราจะแสดงตนว่า เราเป็นคนรักษาสัญญา ไม่บิดพลิ้วแน่นอน เราก็อาจจะพูดว่า I’m a man of my word.

นอกเหนือจากคำเหล่านี้แล้ว เราก็ยังสามารถใช้คำว่า assurance ได้ด้วย ความหมายคือ คำสัญญาหรือรับประกัน เช่น They sought assurances from the university that the old movie theater would not be torn down. ก็คือ เขาขอให้มหาวิทยาลัยสัญญาว่าจะไม่ทุบอาคารโรงหนังเก่า คำนี้จะใกล้ๆ กับ guarantee ซึ่งหมายถึงการรับรองหรือประกันในเชิงให้คำมั่นสัญญาได้ด้วย เช่น The university gave us a guarantee that the building would be preserved. ก็คือ มหาวิทยาลัยประกันว่าจะอนุรักษ์อาคารไว้

 

[2]

เราทำอะไรกับคำสัญญาได้บ้าง

เวลาที่เราให้สัญญาใคร กริยาที่เราใช้กับคำว่า promise ได้ก็คือคำว่า make และ give เช่น They gave/made me a promise not to keep a secret from me. ก็คือ เขาสัญญาว่าจะไม่ปิดบังอะไร ในทางกลับกัน ถ้าจะบอกว่าเราไม่สัญญา เราก็จะพูดว่า make no promises หรือจะพูดสั้นๆ เหลือแค่ no promises ก็ได้ เช่น เมื่อเราถามผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ว่า ถ้าได้รับตำแหน่งแล้วจะผลักดันเรื่องบัตรแมงมุมให้สำเร็จไหม บางคนก็อาจจะตอบว่า I’ll try my best, but no promises. ก็คือ จะพยายามให้เต็มที่ แต่ไม่สัญญานะว่าจะทำได้ไหม

แน่นอนว่าเมื่อสัญญาอะไรกับใครไปแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นก็มีได้เพียงแค่ 2 อย่าง คือรักษาหรือทำตามที่สัญญาไว้ได้ กับผิดคำสัญญา ในกรณีแรก เราสามารถใช้กริยา keep หรือ honor ได้ หมายถึง รักษาสัญญา เช่น Don’t make promises you don’t intend to keep. ก็คือ อย่าให้สัญญาถ้าไม่ได้ตั้งใจจะรักษาสัญญา หรือหากอยากเน้นว่าถ้าทำได้ตามที่ให้คำมั่นสัญญาไว้ เราก็จะพูดว่า deliver on a promise หรือ make good on a promise เช่น He said he would get the work done by Friday, and he delivered on the promise. ก็คือ เขาทำได้ตามสัญญาที่ว่าจะทำงานให้เสร็จภายในวันศุกร์

ในทางตรงข้าม หากเราต้องการพูดถึงการผิดสัญญา เราก็จะพูดว่า break a promise หรือ renege on a promise หรือจะพูดว่า go back on a promise ก็ได้ เช่น The Commander-in-Chief broke a promise not to stage a coup. ก็คือ ผู้บัญชาการกองทัพตระบัดสัตย์ทำรัฐประหาร ทั้งนี้ คำสัญญาที่ผู้พูดไม่ได้รักษา ภาษาอังกฤษจะใช้คำว่า a broken promise หรือ an unfulfilled promise เช่น พรรคการเมืองหนึ่งเคยสัญญาว่า ถ้าได้เป็นรัฐบาลจะผลักดันให้มีการปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400-425 บาท แต่พอได้ขึ้นเป็นรัฐบาลแล้วก็ไม่ได้ทำให้สำเร็จ แบบนี้ก็จะเรียกว่า It’s nothing but an unfulfilled promise. แต่หากเราคิดว่าคนที่สัญญาไม่ได้คิดจะทำให้สำเร็จแต่แรก แค่พูดไปให้ดูสวยหรู แบบนี้ก็อาจจะเรียกว่า a hollow promise หรือ an empty promise

 

[3]

Promise ที่ไม่ใช่สัญญา

คำว่า promise นอกจากจะแปลว่า คำสัญญา ได้แล้ว ยังใช้บรรยายกรณีที่เราดูแล้วคิดว่าน่าจะมีอะไรดีๆ เกิดขึ้นหรืออะไรอย่างหนึ่งน่าจะประสบความสำเร็จได้ด้วย เช่น หากเราเห็นงานเขียนของนักเขียนอายุน้อยแล้วรู้สึกว่าคนนี้ต้องไปไกลแน่ๆ เราก็อาจจะพูดว่า This young writer shows a lot of promise. หรือถ้าจะบอกว่างานเขียนของนักเขียนคนนี้มีแววรุ่ง ก็อาจจะพูดว่า Her work is full of promise. นอกจากนั้น เรายังสามารถใช้คำคุณศัพท์ promising ได้ด้วย เช่น Her work is very promising.

คำว่า promise นี้ ในสมัยก่อนยังใช้หมายถึงการหมั้นหมายได้อีกด้วย เช่น She was promised to Charles. ก็คือ ผู้หญิงคนนี้เป็นคู่หมั้นของชาร์ลส์ แต่คำนี้เดี๋ยวนี้ไม่ใช้กันแล้ว จะเจอก็แต่ในละครย้อนยุคเป็นหลัก ปัจจุบันมักใช้คำว่า engage แทน

 

[4]

สำนวนที่มีคำว่า promise

คำว่า promise ไปโผล่ในสำนวนภาษาอังกฤษไม่น้อยเลยทีเดียว สำนวนหนึ่งที่หลายคนน่าจะเคยได้ยินกันก็คือ the promised land สำนวนนี้มีที่มาจากคัมภีร์ไบเบิล หมายถึง ดินแดนแห่งพันธสัญญา หรือดินแดนที่พระผู้เป็นเจ้าสัญญาว่าจะประทานให้แก่อับราฮัมและลูกหลาน

เนื่องจากดินแดนนี้เชื่อกันว่าเป็นที่ที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยน้ำนมและน้ำผึ้ง จึงถูกนำมาใช้เป็นสำนวน หมายถึง ดินแดนหรือยุคสมัยแห่งความสุขสมหวัง จุดหมายปลายทางที่จะพบกับความผาสุก เช่น Thailand is the promised land for many North Korean defectors. ก็คือ ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางสูงสุดสำหรับผู้ที่หลบหนีออกจากเกาหลีเหนือ

อีกสำนวนคือ a lick and a promise หมายถึง ทำลวกๆ ส่งๆ ทำแบบขอไปที เช่น He cleaned the bathroom with a lick and a promise. ก็คือ ล้างห้องน้ำแบบลวกๆ ให้มันเสร็จๆ ไป (ในภาษาอังกฤษแบบบริติช สำนวนนี้ใช้แต่กับการทำความสะอาดเท่านั้น) ว่ากันว่าคำว่า a lick ในที่นี้มาจากการเลียทำความสะอาดตัวเองของแมว เปรียบได้กับการทำความสะอาดเร็วๆ ไม่ได้ไปอาบน้ำขัดสีฉวีวรรณให้เป็นกิจลักษณะ ส่วน a promise ในที่นี้คือการสัญญาว่าคราวหน้าจะทำความสะอาดให้ถี่ถ้วนกว่าเดิม

นอกจากนั้นยังมีสำนวน promise the moon/ the world ซึ่งหลายคนอาจคุ้นเคยจากชื่อเรื่องของซีรีส์แปลรักฉันด้วยใจเธอ ภาค 2 หมายถึง สัญญาเรื่องที่ทำไม่ได้จริงๆ เหมือนกับไปสัญญากับใครว่าจะไปเอาพระจันทร์มาให้หรือให้โลกทั้งใบ ตัวอย่างเช่น You should be wary of candidates who promise the moon. ก็คือ เราไม่ควรไว้ใจผู้ลงรับเลือกตั้งที่สัญญาอะไรใหญ่โตที่ไม่น่าทำได้จริง

ทั้งนี้ ในกรณีนี้ที่เราไม่เชื่อว่าคนคนหนึ่งจะทำตามสัญญาที่ให้ไว้ เราก็อาจพูดว่า promises, promises ได้ด้วย เช่น หากเพื่อนเราบอกว่า ว่างๆ แล้วไปเที่ยวกัน แต่เรารู้ว่าเพื่อนแค่พูดเป็นพิธี ชาตินี้ยังไงก็คงไม่ได้นัดไปเที่ยวกันจริงๆ แบบนี้เราก็อาจจะพูดว่า Promises, promises. ทำนองว่า ทำเป็นสัญญงสัญญาเนอะ

 

 

บรรณานุกรม

http://oed.com/

Ammer, Christine. The American Heritage Dictionary of Idioms: American English Idiomatic

Expressions & Phrases. 2 nd ed. Houghton Mifflin Harcourt: Boston, 2013.

American Heritage Dictionary of the English Language

Ayto, John. Oxford Dictionary of English Idioms. OUP: Oxford, 2009.

Gulland, Daphne M., and Hinds-Howell, David. The Penguin Dictionary of English Idiom.

Penguin Books: London, 2002.

Longman Dictionary of Contemporary English

Longman Idioms Dictionary. Pearson: Essex, 2010.

Merriam-Webster Dictionary

Oxford Advanced Learners’ Dictionary

Oxford Idioms Dictionary for Learners of English. OUP: New York, 2006.

Shorter Oxford English Dictionary

Tags: , , ,