ด้วยความที่ภาษาอังกฤษขึ้นชื่อเป็นภาษาที่มีจำนวนคำมากที่สุดภาษาหนึ่งในโลก แน่นอนว่าเราคงหมุนเวียนทุกคำมาใช้ในชีวิตประจำวันอย่างเท่าเทียมกันไม่ได้เหมือนในภาษาไทยที่เราก็ไม่พูดคำว่าเครื่องราชกกุธภัณฑ์ทุกวัน
จึงไม่แปลกที่จะมีคำบางคำที่ไม่ค่อยมีคนหยิบมาใช้ ถูกทิ้งในมุมมืดของภาษาให้ฝุ่นเกาะ อาจจะเพราะเป็นคำยากที่พูดไปแล้วคนฟังเกาหัวแกรกๆ กันหมด (เช่น การเรียกวันที่ไม่ดีว่าทินศูนย์) หรืออาจจะเป็นคำที่เสื่อมความนิยมจนไม่มีใครใช้แล้ว (เช่น การเรียกส้วมว่าเวจ) แบบที่เราได้เคยนำเสนอไปแล้วบ้าง
ในสัปดาห์นี้ เราจะไปสำรวจคำศัพท์ยากและศัพท์พิสดารในภาษาอังกฤษกันอีกครั้ง แต่เน้นไปที่คำแซ่บๆ ที่นำมาใช้เรียกคนที่ไม่น่าคบค้าสมาคมด้วย
Quidnunc: คนชอบแส่เรื่องชาวบ้าน
หนูๆ ป้าถามหน่อย
ตอนนี้หนูทำงานอยู่บริษัทไหน
ได้เงินเดือนเท่าไหร่เหรอ
แล้วมีแฟนหรือยัง
แฟนหล่อไหม
แล้วแฟนเงินเดือนเท่าไหร่เหรอ
คำนี้มาจากวลีภาษาละติน Quid nunc? แปลว่า What now? ทำนองว่า ไหน มีอะไรเกิดขึ้นอีก ซึ่งน่าจะเป็นประโยคติดปากที่คนที่ชอบเมาท์เรื่องชาวบ้าน
Scambler: คนที่โผล่มากินข้าวฟรีโดยไม่ได้รับเชิญ
ทุกคนต้องมีเพื่อนแบบนี้
ร้อยวันพันปีไม่เคยได้พบหน้า
โผล่หัวมาเฉพาะเวลาที่เขากินข้าวกัน
เพราะหวังได้กินข้าวฟรี
Barmecide: คนที่ให้สัญญาหรูหราแต่น่าผิดหวังเพราะเป็นเรื่องลวง
ตอนเลือกตั้งประกาศนโยบายไว้เสียสวยหรู
ค่าแรงขั้นต่ำ 400-450 บาท
ยกเว้นภาษีพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ 2 ปี
ลดภาษีบุคคลธรรมดา 10 เปอร์เซ็นต์
พอได้รับเลือกตั้งจริง
บอกว่าเป็นเพียงนโยบายที่ใช้หาเสียง
คำนี้มาจากเรื่อง The Story of the Barber’s Sixth Brother ใน The Arabian Night หรือ 1,001 ราตรี เรื่องมีอยู่ว่า ในแบกแดดสมัยก่อนมีตระกูลผู้ครองเมืองนามว่า Barmeki (บางเวอร์ชั่นก็เขียนเป็น Barmecide) วันหนึ่งมีชายขอทานหิวโซเข้ามาขออาหารกับเจ้าชายตระกูลนี้ เจ้าชายจึงเรียกเข้ามาในวังและสัญญาว่าจะจัดข้าวให้กิน ปรากฏว่าพอถึงเวลาจริง เจ้าชายกลับใจมารกลั่นแกล้งชายขอทาน เสิร์ฟให้แต่จานเปล่า ไม่มีข้าวแม้แต่เม็ดเดียว ส่วนตัวเองก็ทำทีเป็นกินอาหารในจินตนาการนั้นอย่างเอร็ดอร่อย
ด้วยเหตุนี้ ชื่อของ Barmecide จึงถูกนำมาใช้เรียกคนที่ให้สัญญากับคนอื่นว่าจะให้โน่นให้นี่ แต่ถึงเวลาจริงก็ไม่ได้ให้อะไร นอกจากนั้น ยังทำให้เกิดสำนวน Barmecidal feast หมายถึง อะไรที่ดูหรูหราแต่น่าผิดหวังเพราะเป็นเรื่องลวง จับต้องไม่ได้
Mawworm: คนมือถือสากปากถือศีล
แสดงตัวเป็นคนใจบุญสุนทาน
โพสต์ภาพเดินจงกรมนั่งวิปัสสนา
ปล่อยปลาปล่อยนกรักสิ่งมีชีวิตทุกชนิด
แต่พอเห็นภาพผู้ชุมนุมโดนเจ้าหน้าที่แทงเข่าใส่
กดหัวเราะสะใจในความเจ็บปวดของเพื่อนมนุษย์
Sycophant: คนขี้ประจบสอพลอ
นายท่านคือที่สุดของที่สุด
หล่อกว่าณเดชน์ พัก ซอ-จุน และคริส เฮมสวอร์ธรวมกัน
ฉลาดกว่าไอน์สไตน์
ปราดเปรื่องกว่าขงจื๊อ
เก่งกีฬากว่าราฟาเอล นาดาล
วาดภาพเก่งกว่าเลโอนาร์โด ดา วินชี
ใจบุญสุนทานยิ่งกว่าแม่ชีเทเรซา
คำนี้จริงๆ มาจากคำว่า sykophantes ในภาษากรีกโบราณ หมายถึง ผู้ที่ว่าร้ายคนอื่น แต่ตัวคำจริงๆ แล้วหมายถึงคนโชว์ลูกมะเดื่อ (มาจาก sykon ที่แปลว่ามะเดื่อ รวมกับกริยา phainein ที่แปลว่าแสดง) ส่วนที่มะเดื่อมาเกี่ยวกับการว่าร้ายคนอื่นได้มีอยู่สองทฤษฎี บ้างก็บอกว่าเป็นในสมัยกรีกโบราณ พ่อค้าแม่ค้าหลายคนลักลอบนำมะเดื่อมาขายที่ตลาดโดยไม่ได้สำแดงกับเจ้าหน้าที่เพื่อจะได้ไม่ต้องเสียภาษี ก็จะมีคนจำพวกหนึ่งไปฟ้องเจ้าหน้าที่ให้รู้ว่าพ่อค้าแม่ค้าเหล่านี้นำมะเดื่อมาขาย
คำที่ใช้เรียกคนชี้เป้าลูกมะเดื่อเหล่านี้จึงถูกเอามาใช้ในความหมายว่า คนที่ว่าร้ายคนอื่น แต่อีกสายหนึ่งบอกว่าคำนี้ไม่ได้เกี่ยวกับลูกมะเดื่อจริงๆ เพราะมะเดื่อในที่นี้หมายถึงการใช้มือทำท่าหยาบคายเพื่อด่าคนอื่น (คล้ายๆ ชูนิ้วกลางให้คนอื่นในปัจจุบัน) โดยการกำหมัดแล้วสอดนิ้วโป้งระหว่างนิ้วชี้และนิ้วกลาง อย่างไรก็ตาม พอคำนี้เข้ามาในภาษาอังกฤษ ความหมายก็เปลี่ยนไปจากผู้ที่ว่าร้ายคนอื่นมาเป็นคนขี้ประจบสอพลออย่างที่ใช้ในปัจจุบันนั่นเอง
Fabulist: คนชอบปั้นเรื่อง
อดีตผู้จัดการดารา
ปั้นเรื่องเป็นตุเป็นตะอย่างกับนิทาน
กล่าวหาว่าที่เจ้าบ่าวของอดีตดาราที่ตนดูแล
ว่าแอบซ่อนผู้หญิงไว้อีกคน
ทั้งยังไปเอารูปคนไม่รู้อิโหน่อิเหน่จากในอินเทอร์เน็ต
มาเล่าเสริมเติมแต่งให้ดูน่าเชื่อถือ
แต่งเรื่องเก่งขนาดนี้ ไปเขียนนิยายเถอะจ้ะ
คำนี้รากเดียวกับ fable ที่แปลว่าเรื่องเล่า จะใช้ในความหมายว่าคนที่ประพันธ์หรือเล่านิทานก็ได้ แต่เนื่องจากเรื่องแต่งประเภทนี้ไม่ใช่เรื่องจริง คำว่า fabulist จึงนำมาใช้หมายถึง คนที่ชอบปั้นเรื่องต่างๆ ได้ด้วย
Solipsist: คนที่เห็นแก่ตัวสุดขั้ว
สิ่งเดียวฉันรับรู้ได้ว่ามีอยู่จริงในจักรวาลก็คือตัวฉัน
ดังนั้นฉันไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงความต้องการหรือความเดือดร้อนของคนอื่น
ไม่ว่าจะชาวบ้านบางกลอย
คนอื่นถือว่าไม่มีตัวตน
ชาวบ้านบางกลอยจะกลับบ้านไม่ได้ก็ช่าง
ผู้ถูกจับกุมในคดีม.112 จะโดนขังแดนเดียวกับนักโทษประหาร
ทั้งที่ยังไม่ได้ไต่สวนก็ช่าง
ใครจะตายก็ช่างมัน
ให้ฉันสบายเป็นใช้ได้
คำนี้มาจากชื่อแนวคิดทางปรัชญาที่เรียกว่า solipsism ซึ่งเชื่อว่าเรารับรู้ได้แต่ตัวตนของเรา ดังนั้น จึงมีแต่เพียงตัวเราเท่านั้นที่มีอยู่จริง ประกอบขึ้นจากคำละตินว่า solus ที่แปลว่า โดดเดี่ยว และ ipse แปลว่า ตัวตน เดิมทีคำนี้ใช้แต่ในเชิงปรัชญาเท่านั้น แต่ภายหลังเริ่มนำมาใช้หมายถึงภาวะเห็นแก่ตัวชนิดที่ไม่เห็นหัวคนอื่น สนใจแต่ความต้องการของตน
Supercilian: คนที่ชอบดูแคลนผู้อื่น
หัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลที่ชื่นชอบนาฬิกาเป็นชีวิตจิตใจ
ดูแคลนผู้สื่อข่าวว่ามีคุณสมบัติสู้คนในพรรคตนที่ถูกถามถึงอยู่ไม่ได้
จึงโพล่งถามผู้สื่อข่าวไปว่าจบมาจากมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งใช่ไหม
มองคนไม่เท่ากัน เหยียดยันการศึกษา
คำนี้เป็นคำโบราณที่ปัจจุบันไม่ใช้แล้ว ทุกวันนี้ใช้แต่คำว่า supercilious เป็นคุณศัพท์หมายถึงดูถูกดูแคลนผู้อื่น คิดว่าตนเองสูงส่งกว่า มีที่มาจากคำว่า supercilium ในภาษาละติน แปลว่าคิ้ว ส่วนที่คิ้วมาเกี่ยวกับการดูแคลนคนอื่นได้ก็เพราะการเลิกคิ้วก็เป็นกริยาอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่าเรารู้สึกสูงส่งกว่าคนอีกคนนั่นเอง
Snollygoster: คนกลับกลอกไร้หลักการ
ให้คำสัญญาไว้เป็นเหมาะเป็นมั่น
ว่าพรรคตนจะผลักดันการแก้รัฐธรรมนูญ
ตามประสงค์ของประชาชน
พอถึงเวลาลงมติจริง
กลับวอล์กเอาต์ยกพรรคไม่ยอมลงคะแนน
คำนี้ปกติมักใช้กับนักการเมือง
บรรณานุกรม
http://oed.com/
American Heritage Dictionary of the English Language
Bowler, Peter. The Superior Person’s Little Book of Words. Hawthorn Press: Perth, 1987.
Bowler, Peter. The Superior Person’s Second Book of Weird & Wondrous Words. David R. Godine Publisher: New Hampshire, 1992.
Bramwell, David. The Mellifluous Book of Hard Words. Page One: Singapore, 2008.
Byrne, Josefa Heifetz. Mrs. Byrne’s Dictionary of Unusual, Obscure, and Preposterous Words. Twelfth Printing: New Jersey, 1974.
Elster, Charles Harrington. There’s a Word for it: A Grandiloquent Guide to Life. Pocket Books: New York, 2005.
Forsyth, Mark. The Horologicon: A Day’s Jaunt Through the Lost Words of the English Language. Icon Books: London, 2012.
Gates, Michael. The Word I’m Thinking of: A Devilish Dictionary of Difficult Words. Zabriskie Street Press, 2013.
Gillard, Joe. The Little Books of Lost Words. Ten Speed Press: New York, 2019.
Kacirk, Jeff. The Best of Forgotten English: Vanishing Vocabulary and Folklore. Sellers Publishing: South Portland, 2016.
Nurnberg, Maxwell. I Always Look up the Word “Egregious.” Barnes & Noble Books: New York, 1981.
Piercy, Joseph. A Word a Day: 365 Words to Augment Your Vocabulary. Michael O’ Mara Books: London, 2019.
Poole, Steven. A Word for Every Day of the Year. Quercus: London, 2019.
Tags: Word Odyssey, คำศัพท์ภาษาอังกฤษ, Devilish, ศัพท์พิสดาร, ศัพท์ยาก