ในขณะที่พรุ่งนี้อาจเป็นวันจันทร์ธรรมดาๆ สำหรับใครหลายคน แต่สำหรับคนบางกลุ่ม พรุ่งนี้นับเป็นโอกาสที่จะได้เฉลิมฉลองกับคนพิเศษ เพราะวันวาเลนไทน์กำลังจะเวียนมาบรรจบครบรอบอีกครั้ง

หลังจากที่เคยพาไปสำรวจที่มาของคำว่า แฟน  และศัพท์ที่ใช้พูดถึงภาวะตกอยู่ในห้วงภวังค์ของความรักแล้ว  ในปีนี้ Word Odyssey จะขอพาไปดูว่า เราหยิบสำนวนอะไรในภาษาอังกฤษมาใช้พูดถึงความคลั่งรักได้บ้าง

Head over heels หลงรักหัวปักหัวปำ

สำนวนนี้ใช้พูดถึงอาการตกหลุมรักหัวปักหัวปำ โงหัวไม่ขึ้น โดยเฉพาะเมื่อเพิ่งตกหลุมรักใหม่ๆ เช่น หากเพื่อนของเราพูดถึงแฟนใหม่ทุกห้านาที หยุดพูดแล้วดูจะลงแดงตาย พูดแต่ละครั้งก็ร่ายไม่หยุดว่าแฟนใหม่มีคุณงามความดีอย่างไร แบบนี้เราอาจจะบอกว่า She’s completely head over heels in love with her new girlfriend. ก็คือ มันคลั่งรักแฟนใหม่มันมาก

สำนวนนี้ว่ากันว่าแต่ก่อนเคยพูดว่า heels over head หมายถึง ตีลังกา ทำท่าล้อเกวียน หรืออยู่ในท่ากลับหัวกลับหาง ขาขึ้นไปอยู่เหนือศีรษะ ส่วนที่สำนวนนี้กลายมาใช้พูดถึงภาวะตกหลุมรักอย่างจังได้นั้นมีหลายทฤษฎี บ้างก็บอกว่าเพราะคนส่วนใหญ่เวลาตกหลุมรักแล้วมักไม่ค่อยมีสติสัมปชัญญะ ความรู้สึกนึกคิดกลับตาลปัตรไปหมด ดังนั้นจึงเปรียบว่าอยู่ในสภาพที่เท้าอยู่เหนือศีรษะ แทนที่จะอยู่ในสภาพที่ศีรษะอยู่เหนือเท้าเหมือนคนปกติ แต่บ้างก็บอกว่าเพราะ fall heels over head หมายถึง อาการล้มคะมำ ก็ได้ จึงเอามาใช้คล้ายๆ ตกหลุมรัก

Sweep someone off their feet ทำให้ตกหลุมรักแบบไม่ทันตั้งตัว

สำนวนนี้แม้จะสื่อภาพว่ามีคนที่ถูกทำให้เปลี่ยนจากที่ยืนอยู่ไปเป็นสภาพอื่น (off their feet) แต่ก็ไม่ได้แปลว่าเราไปเตะตัดขาใครให้ล้มแต่อย่างใด อันที่จริงแล้ว สำนวนนี้ให้ภาพเหมือนกับว่าเราจับคนคนนั้นรวบขึ้นมาอุ้มในอ้อมแขน จึงใช้หมายถึง ทำให้ตกหลุมรักแบบไม่ทันตั้งตัว โดยเฉพาะในกรณีที่ตกหลุมรักหรือหลงเสน่ห์อีกฝ่ายอย่างรวดเร็ว

ตัวอย่างเช่น หากคนที่เราคุยอยู่ด้วยส่งคนขับรถมารับเราถึงบ้าน พาเราไปเลี้ยงข้าวในภัตตาคารหรู พานั่งเครื่องบินเจ็ตส่วนตัวไปเที่ยว (เหมือนมิจฉาชีพในสารคดี Tinder Swindler เลยเนอะ) จนเรารู้ตัวอีกทีก็ตกหลุมรักแบบไม่ทันตั้งตัวไปแล้ว แบบนี้เราก็อาจจะพูดว่า I was completely swept off my feet. 

Struck by Cupid’s arrow โดนกามเทพแผลงศรใส่

เนื่องจากในเทพปกรณัมกรีก-โรมัน เทพคิวปิด (Cupid)  หรือที่ชาวกรีกรู้กันในนามอีรอส (Eros) ผู้เป็นกามเทพใช้คันศรยิงลูกธนูในการดลบันดาลให้คนตกหลุมรักกัน (แบบที่เรามักเห็นในปัจจุบันเป็นภาพเด็กจ้ำม่ำมีปีก) เวลาที่พูดว่าถูกกามเทพแผลงศรใส่ จึงหมายถึง ตกหลุมรัก

แม้สำนวนนี้อาจจะฟังดูเฉิ่มเฉยเล็กน้อย แต่ก็ยังใช้พูดได้ในกรณีที่ใครคนใดคนหนึ่งอยู่ๆ ก็รักชอบอีกคนขึ้นมา เช่น หากเพื่อนเราช่วงนี้ดูเหมือนจะตกหลุมรักใครอยู่ เราก็อาจพูดว่า Looks like someone’s been struck by Cupid’s arrow. ก็คือ มีใครโดนกามเทพแผลงศรใส่หรือเปล่าน้า

อีกคำที่เกี่ยวข้องกันคือ lovestruck คำนี้เห็นภาพเหมือนโดนศรรักปักอก ใช้บรรยายคนที่อยู่ในสภาพตกหลุมรัก หายใจเข้าออกคิดถึงแต่เรื่องคนที่ตัวเองชอบ มีความคลั่งรัก ตัวอย่างเช่น หากคู่รักคู่หนึ่งคลั่งรักมาก ไปไหนต้องจับมือถือแขนจุ๊บกันตลอดเวลา ว่างก็คุยกันแต่ว่าจะแต่งงานเมื่อไร จะไปฮันนีมูนที่ไหน แบบนี้เราก็อาจจะเรียกสองคนนี้ว่า a lovestruck couple

Worship the ground someone walks on เทิดทูนบูชา

สำนวนนี้เป็นสำนวนเวอร์ๆ ที่หมายถึง เทิดทูนบูชา ทำนองว่าคนที่รักเดินเหยียบไปตรงไหนก็แทบจะกราบไหว้บูชาพื้นตรงนั้น ตัวอย่างเช่น หากคนคนหนึ่งไม่ได้แค่รักแฟนเฉยๆ แต่เข้าขั้นเทิดทูนบูชา รู้สึกว่าอะไรที่แฟนทำถูกต้องดีงาม ตนเองช่างโชคดีล้นเหลือที่ได้มาเป็นแฟนกับคนที่ดีขนาดนี้ แบบนี้เราก็อาจจะพูดว่า He worshipped the ground his boyfriend walks on. 

ทั้งนี้ สำนวนนี้จะใช้ในกรณีที่เราเทิดทูนบูชาคนอื่นในแบบที่ไม่ใช่เชิงชู้สาวก็ได้ เช่น หากชาวบ้านนับถือเลื่อมใสเจ้าอาวาสวัดมากๆ รู้สึกว่าเป็นพระที่ดีพร้อม สมควรแก่การกราบไหว้บูชาโดยแท้จริง พูดอะไรก็เห็นดีเห็นงามและนำไปปฏิบัติหมด แบบนี้ก็อาจจะพูดว่า They worship the ground the abbot walks on. 

อีกสำนวนที่ความหมายคล้ายๆ กันก็คือ put someone on a pedestal คำว่า pedestal หมายถึง แท่น แบบที่ใช้วางรูปปั้นหรือรูปเคารพต่างๆ ดังนั้น เวลาที่เราใช้สำนวนนี้ จึงหมายถึง เทิดทูนบูชาคนคนนั้น มองว่าคนคนนั้นสมบูรณ์แบบเป็นบุคคลในอุดมคติ จัดวางให้คนคนนั้นอยู่ในสถานะเกินแตะต้อง

นอกจากในบริบททั่วไปแล้ว สำนวนนี้ยังมักพบในบริบทความรักบ่อยๆ ด้วย ในกรณีที่ฝ่ายหนึ่งยกย่องเชิดชูให้อีกฝ่ายสูงกว่า เชื่อโดยสุดใจว่าอีกฝ่ายเลิศเลอจนมองไม่เห็นข้อเสียแต่อย่างใด เช่น The actress finds it refreshing that her current boyfriend, unlike her past partners, does not put her on a pedestal. ก็คือ นักแสดงสาวชอบที่แฟนคนนี้ไม่ยกย่องเทิดทูนตัวเธอเหมือนแฟนคนก่อนๆ

Moon over someone ละเมอเพ้อพบ

สำนวนนี้หมายถึง ละเมอเพ้อพบถึงคนที่ชอบ ต่างจากสำนวนคลั่งรักอื่นๆ ที่ยกมาตรงที่โดยส่วนใหญ่แล้วจะใช้ในกรณีที่ไปละเมอเพ้อพบถึงเขาฝ่ายเดียว อีกฝ่ายอาจยังไม่รู้ตัวด้วยซ้ำ มีโอกาสได้สมหวังยาก

ตัวอย่างเช่น เพื่อนเราวันๆ ตามไถไอจีผู้ชายคนหนึ่งที่หมายปองอยู่เป็นชั่วโมง พลางเพ้อถอนหายใจจนแทบไม่เป็นอันทำอะไร ทั้งที่เขาไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเพื่อนของเรามีตัวตนอยู่ แบบนี้เราก็อาจจะต้องทำลายฝันเพื่อนด้วยการบอกว่า Stop mooning over that guy. He doesn’t even know you exist.

 

บรรณานุกรม

http://oed.com/

Ammer, Christine. The American Heritage Dictionary of Idioms: American English Idiomatic Expressions & Phrases. 2nd ed. Houghton Mifflin Harcourt: Boston, 2013.

American Heritage Dictionary of the English Language

Ayto, John. Oxford Dictionary of English Idioms. OUP: Oxford, 2009.

Cambridge Advanced Learners’ Dictionary

Crystal, David, and Ben Crystal. Shakespeare’s Words: A Glossary & Language Companion. Penguin Books: London, 2002.

Elizabeth, Mary. Barron’s American Slang Dictionary and Thesaurus. Barron’s Education Series: New York, 2009.

Gulland, Daphne M., and Hinds-Howell, David. The Penguin Dictionary of English Idiom. Penguin Books: London, 2002.

Longman Dictionary of Contemporary English

Longman Idioms Dictionary. Pearson: Essex, 2010.

Merriam-Webster Dictionary

Oxford Advanced Learners’ Dictionary

Oxford Idioms Dictionary for Learners of English. OUP: New York, 2006.

Shorter Oxford English Dictionary

Tags: , ,