ในช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา แอพพลิเคชันที่มาแรงแซงทางโค้ง และมีคนแห่แหนเข้าไปใช้งานอย่างล้นหลามคือ ‘Clubhouse’ ซึ่งเป็นแอพพลิเคชันบนระบบ iOS ที่ให้ผู้ใช้งานเข้ามาพบปะพูดคุยกับผู้ที่มีความสนใจในหัวข้อเดียวกัน เหมือนได้เข้ามาสังสรรค์กันในสมาคม

ด้วยความที่ Clubhouse อนุญาตให้ผู้ใช้งานพูดคุยกันด้วยเสียงเท่านั้น และไม่อนุญาตให้บันทึกบทสนทนา อีกทั้งยังเปิดโอกาสให้ใครก็ตามที่มีแอพฯ นี้พูดคุยกันได้ ไม่ว่าคุณจะเป็นคนธรรมดาเดินดินหรือเป็นอดีตนายกรัฐมนตรี ทำให้เกิดหัวข้อสนทนาปราศรัยที่แซ่บซุยไฟลุก จนแม้แต่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมยังต้องจับตามอง (แม้ว่าพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะบอกว่าไม่มีเวลาเล่นก็ตาม)

ในสัปดาห์นี้ เราจะไปดูกันว่าคำว่า ‘club’ มีวิวัฒนาการทางความหมายอย่างไรบ้างกว่าจะมาเป็น Clubhouse แบบที่เราใช้กันได้ และในช่วง 100 ปีล่าสุดนี้ มี ‘คลับ’ อะไรที่น่าสนใจบ้าง

 

ไม้กระบอง

คำว่า ‘club’ ปรากฏในภาษาอังกฤษตั้งแต่เมื่อราว 1,000 ปีที่แล้ว แรกเริ่มเดิมทีใช้ในความหมายว่าไม้กระบองแบบที่ปลายด้านหนึ่งเรียวพอให้ถือในมือได้ และไล่ขนาดไปสู่ปลายอีกข้างที่มีขนาดใหญ่กว่า (คล้ายๆ แบบที่เราจินตนาการว่ามนุษย์ยุคหินใช้กัน) ซึ่งความหมายนี้ เราก็ยังใช้มาจนถึงปัจจุบัน เช่น ‘Hercules is often depicted with his trusty club (เฮอร์คิวลีสมักถือกระบองคู่ใจด้วยในภาพต่างๆ)

คำว่า club ในความหมายนี้ ยังถูกนำมาทำเป็นกริยาด้วย ซึ่งหมายถึงการทุบตีด้วยของที่มีลักษณะเป็นไม้กระบอง เช่น ‘He was clubbed to death’

ในเวลาต่อมา คำว่า club ถูกนำมาใช้เรียกของที่เป็นท่อน แต่ไม่ต้องไล่จากหนาไปเรียวก็ได้ เช่น ไม้กอล์ฟ ก็เรียกว่า golf club เป็นต้น

 

ดอกจิก

หากใครเป็นขาไพ่ก็คงทราบดีว่า ดอกจิกบนหน้าไพ่ในภาษาอังกฤษเรียกว่า ‘clubs’ เช่น ไพ่ 5 ดอกจิก ก็คือ five of clubs แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ เหตุใดเราจึงเรียกดอกจิกว่า club ทั้งที่พลิกซ้ายตะแคงขวาแล้ว ก็ยังไม่เห็นเลยว่าดอกจิกจะคล้ายกระบองตรงไหน

ที่เป็นเช่นนี้เพราะเดิมทีดอกไพ่ของฝั่งยุโรปประกอบด้วย กระบอง ถ้วย เหรียญ และดาบ (เหมือนไพ่ทาโรต์) ซึ่งชาวอังกฤษเองก็รับชื่อของไพ่เหล่านี้เข้ามา โดยทางอิตาลีและสเปนเรียกไพ่กระบองว่า bastoni ซึ่งแปลมาเป็นคำว่า clubs ที่หมายถึงกระบอง 

แต่เมื่อมาถึงศตวรรษที่ 15 มีผู้ผลิตไพ่ชาวฝรั่งเศสดัดแปลงดอกไพ่เสียใหม่ เปลี่ยนถ้วยเป็นหัวใจ เปลี่ยนเหรียญเป็นข้าวหลามตัด เปลี่ยนดาบไปเป็นโพธิ์ดำ ส่วนกระบองก็ได้ถูกเปลี่ยนเป็นใบโคลเวอร์สามแฉก (เรียกว่า trefoil มาจาก tri- ที่แปลว่าสาม รวมกับ folium ในภาษาละตินที่แปลว่าใบ แบบที่ยังพบได้ในคำว่า foliage ในภาษาอังกฤษ) ในภายหลัง ดอกไพ่แบบใหม่นี้ก็ได้เดินทางมาถึงประเทศอังกฤษ และเป็นที่นิยมแพร่หลาย แต่ว่าการเรียกชื่อไพ่แบบเดิมยังเป็นที่นิยมอยู่ ทำให้คนเรียกไพ่ดอกจิก (ซึ่งแต่เดิมคือไพ่กระบอง) ด้วยชื่อเดิมว่า clubs นั่นเอง

 

ชมรม

ถึงแม้ว่า ‘club’ จะแปลว่ากระบองและดอกจิกได้อย่างที่เราเห็นกันไปด้านบน แต่เวลาที่เราพูดถึงคำว่า club ในปัจจุบัน ความหมายแรกๆ ที่เรานึกถึงจะเป็นชมรมหรือสมาคมมากกว่า

ส่วนที่กระบองมาเกี่ยวกับการรวมตัวเป็นชมรมหรือสมาคมได้นั้น นักวิชาการเชื่อว่ามีจุดเริ่มต้นมาจากการที่คำว่า club ถูกนำไปใช้เป็นคำกริยา ที่หมายถึงการรวมเข้าด้วยกันให้มีลักษณะเป็นก้อนขนาดใหญ่คล้ายปลายไม้กระบอง (ในยุคหนึ่ง การรวบผมเป็นมวยหรือกำมือเป็นหมัดก็ใช้กริยา club ได้) ก่อนที่ความหมายจะขยายกว้างขึ้นไปอีก กลายเป็นความหมายว่า ‘การรวมกันเป็นกลุ่มก้อน’

แน่นอนว่าการรวมกันเป็นกลุ่มก้อนนี้ก็นำมาใช้กับคนได้ด้วย ไม่ว่าจะเป็นการรวมตัวเพื่อสังสรรค์ตามผับหรือตามบ้าน หรือรวมตัวกันเนื่องจากมีความสนใจตรงกัน เช่น คนที่รวมตัวกันอ่านหนังสือก็เรียก book club หรือชมรมหมากรุกก็เรียก chess club 

นอกจากนั้น คำว่า ‘club’ ยังนำมาใช้เรียกสถานที่ที่คนเหล่านี้มารวมตัวกันได้ด้วย เช่น gentlemen’s club และ nightclub เป็นต้น

ทั้งนี้ ในช่วงศตวรรษที่ 18 สถานที่เช่นผับบาร์หรือโรงแรมขนาดเล็กหลายแห่งเริ่มถูกใช้เป็นที่พบปะสังสรรค์ของผู้ที่มีความสนใจตรงกัน จนท้ายที่สุดก็ถูกยึดครองเป็นสถานที่ประจำของสมาคมเหล่านี้ เริ่มมีการนำสิ่งของอำนวยความสะดวกและอุปกรณ์ต่างๆ เข้ามาติดตั้งให้พร้อมสรรพสำหรับสมาชิก จนกลายเป็นเป็นฐานทัพหรือบ้านหลังที่สองก็คงไม่ผิดนัก สถานที่เหล่านี้จึงได้ชื่อว่า ‘clubhouse’ นั่นเอง

 

เต้นยันเช้า

ในช่วงศตวรรษที่ 20 คำว่า ‘club’ ยังวิวัฒนาการไปไกลอีกขั้น เกิดเป็นคำว่า clubbing หมายถึง การออกไปไนต์คลับเพื่อสังสรรค์ เช่น หากเรามีเพื่อนเป็นขาแดนซ์ที่สุดสัปดาห์เมื่อไหร่ต้องออกไปสังสรรค์ แบบนี้เราก็สามารถพูดว่า ‘He goes clubbing every weekend’

นอกจากนั้น ในช่วงศตวรรษที่ 20 ยังเกิด club ใหม่ๆ ที่น่าสนใจและไม่เคยมีมาก่อน เช่น fan club ที่ใช้เรียกกลุ่มคนที่ชื่นชอบดาราคนเดียวกัน อีกตัวอย่างหนึ่งก็คือ strip club หมายถึงสถานบันเทิงที่มีคนมาระบำเปลื้องผ้าเพื่อให้ความบันเทิงแก่ผู้ชม และอีกคลับที่จะขาดไปไม่ได้เลยก็คือ mile high club ซึ่งหมายถึงกลุ่มคนที่นิยมมีอะไรกันบนเครื่องบินเพื่อความตื่นเต้นเร้าใจ

 

 

บรรณานุกรม

http://oed.com/

American Heritage Dictionary of the English Language

Ayto, John. Word Origin: The Hidden Histories of English Words from A to Z. 2nd ed. A&C Black: London, 2008.

Barnhart, Robert K. The Barnhart Concise Dictionary of Etymology: The Origins of American English Words. H. W. Wilson: New York, 1995. 

Cambridge Advanced Learners’ Dictionary

Elizabeth, Mary. Barron’s American Slang Dictionary and Thesaurus. Barron’s Education Series: New York, 2009.

Hoad. T. F. (Ed.). Oxford Concise Dictionary of English Etymology. OUP: Oxford, 2003.

Longman Dictionary of Contemporary English

Merriam-Webster Dictionary

Oxford Advanced Learners’ Dictionary

Oxford Idioms Dictionary for Learners of English. OUP: New York, 2006.

Shorter Oxford English Dictionary

Skeat, Walter. A Concise Etymological Dictionary of The English Language. Forgotten Book: NY, 2012.

 

Fact Box

  • เวลาที่เราเห็นใครเผชิญปัญหาแบบเดียวกับเราอยู่ เราสามารถใช้สำนวน ‘Join the club’ ได้ เพื่อสื่อให้เขารู้ว่าเราก็ประสบปัญหาแบบเดียวกันอยู่ บางครั้งใช้บ่งเป็นนัยได้ว่าปัญหานี้แกไม่ได้เจอคนเดียว คนอื่นก็เจอเหมือนกัน เช่น “You’re feeling overworked? Join the club!” (รู้สึกว่าทำงานหนักเกินกำลังเหรอ เหมือนกันเลยครับพี่น้อง!)

 

Tags: , ,