ในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา มีวลีหนึ่งที่มาแรงแซงทางโค้ง ไม่ว่าจะไถฟีดไหนในโลกอินเทอร์เน็ตก็ต้องพบเจอ นั่นก็คือ ‘ช็อตฟีล’

ถึงแม้ว่าส่วนประกอบในวลีนี้จะแลดูมาจากภาษาอังกฤษทั้งสองส่วน แต่วลีนี้ไม่ได้มีต้นกำเนิดในภาษาอังกฤษ แต่เป็นความสร้างสรรค์ทางภาษาของคนไทยเอง คือนำคำว่า ช็อต แบบไฟฟ้าช็อต (ซึ่งว่ากันว่ามาจาก short circuit หรือไฟฟ้าลัดวงจร ส่วนโดนไฟฟ้าช็อต ในภาษาอังกฤษใช้ electric shock หรือ electrocution) มารวมกับ ฟีล ที่น่าจะมาจาก feeling หมายถึง ความรู้สึก 

ดังนั้น วลีนี้จึงใช้ในความหมายทำนองว่า หักอารมณ์ ขัดมู้ด พูดขัดให้ชะงัก ทำให้เห็นภาพว่า ถูกไฟฟ้าช็อตทำให้อารมณ์หยุดหรือเปลี่ยนโดยฉับพลัน (หลายครั้งมักพูดว่า ช็อตฟีลไฟฟ้าแสนโวลต์ ซึ่งมีที่มาจากท่าโจมตีไฟฟ้าแสนโวลต์ของปิกาจูจากแฟรนไชส์โปเกมอน)

เนื่องจาก ช็อตฟีล มีบริบทการใช้มากมายหลายรูปแบบ ทั้งยังมีภาพของไฟฟ้ามาเกี่ยวข้อง จึงอาจหาสำนวนในภาษาอังกฤษที่เทียบเคียงได้เป๊ะๆ ลำบากหน่อย แต่ถึงอย่างนั้น ก็ยังมีหลายสำนวนที่น่าจะใช้สื่อความหมายทำนองเดียวกันในนี้ในสถานการณ์ต่างๆ ได้  

ดังนั้น สัปดาห์นี้ Word Odyssey จะขอพาไปดูว่า ถ้าอยากจะพูดถึงการช็อตฟีลในสถานการณ์ต่างๆ เป็นภาษาอังกฤษ จะมีสำนวนอะไรที่เราหยิบมาใช้ได้บ้าง

Kill the mood

ก: กรี๊ดดดด ชั้นถูกสองตัวท้าย ได้มา 2,000 แบบนี้มันต้องฉลอง!

ข: ได้มา 2,000 หรอ งั้นก็มีเงินมาคืนชั้นสิเนอะ

ในกรณีที่ใช้คำว่า ช็อตฟีล หมายถึง ทำให้เสียบรรยากาศ ขัดให้เสียอารมณ์ เบรกอารมณ์คนกำลังสนุกหรือมีความสุขแบบหัวทิ่มจนเจื่อนหรือเซ็ง แบบนี้เราก็อาจจะใช้สำนวน kill the mood, kill the vibe หรือ kill the buzz แปลตรงๆ ได้ว่า ทำลายอารมณ์ อย่างในกรณีด้านบนนี้ เราก็อาจจะพูดประชดกลับไปว่า What a way to kill the mood! Thanks a lot! ก็คือ ช็อตฟีลเว่อร์ ขอบคุณมากนะจ๊ะ หรือถ้าเกิดกำลังจะเข้าด้ายเข้าเข็มกับคนรักแล้วเจ้านายโทรมาพอดี ทำเอาหมดมู้ดโดยพลัน แบบนี้ก็ใช้สำนวนนี้ได้เช่นกัน

Buzzkill

ก: ไปแฮงก์เอาต์กัน วันนี้ไม่เมาไม่เลิกเว้ย!

ข: เราไม่ไปนะ พรุ่งนี้สอบนะ ใจคอจะไม่อ่านหนังสือกันเหรอ

ถ้าเราพูดถึงคนที่ชอบช็อตฟีลชาวบ้าน เบรกอารมณ์สนุกของคนอื่น เขาทำอะไรกันก็ไม่ยอมไปทำด้วย แถมยังพูดให้คนอื่นหมดสนุก แบบนี้เราก็อาจใช้คำว่า a buzzkill หรือ a killjoy อย่างในกรณีข้างบนนี้ เราก็อาจพูดว่า What a buzzkill! ก็คือ ช็อตฟีลเก่งจังแม่ หรือไม่ก็อาจใช้คำว่า a party pooper ซึ่งก็ใช้เรียกคนที่สร้างอารมณ์ขุ่นมัวให้กับงานสังคมที่ควรจะรื่นเริงสนุกสนาน ขัดอารมณ์สนุกของคนอื่นๆ เพราะไม่ยอมร่วมกิจกรรมกับเขาหรือไปพูดติว่าสิ่งที่คนอื่นเขาทำกันอยู่มันไม่ดีอย่างไร

Ruin the moment

ก: แก นี่คือนาทีประวัติศาสตร์ ศาลสั่งให้ประยุทธ์หยุดทำหน้าที่ชั่วคราวแล้ว จะไม่ต้องเห็นหน้าลุงในทีวีอีกแล้วโว้ย

ข: เขายังมาทำหน้าที่ รมว.กลาโหม แกยังหนีเขาไม่พ้นจ้ะ

ถ้าคนอื่นกำลังฉลองช่วงเวลาดีๆ นาทีที่น่าจดจำ แล้วเราเข้าไปช็อตฟีล พูดอะไรที่ทำลายโมเมนต์นั้นจนป่นปี้ แบบนี้เราก็อาจจะพูดว่า ruin the moment หรือ spoil the moment อย่างในตัวอย่างข้างบน คนที่หลงดีใจแต่ถูกเพื่อนบดขยี้โมเมนต์ดีๆ ก็อาจจะพูดว่า Don’t ruin the moment for me! ก็คือ อย่าช็อตฟีลกันสิ

Shut someone down

ก: มากินรามยอนที่ห้องผมไหมครับ

ข: ไม่กินคาร์บครับ ถ้าจะกินก็ไม่กินที่ห้องคุณครับ

ในกรณีที่ช็อตฟีลหรือหักอารมณ์ด้วยการปฏิเสธแบบเบรกหัวทิ่ม ทำให้อีกฝ่ายหยุดชะงัก ไปต่อไม่ถูก แบบนี้เราอาจพูดว่า to shut someone down อย่างในกรณีข้างบนนี้ เราก็อาจจะพูดว่า He got completely shut down. ก็คือ โดนช็อตฟีลไฟฟ้าแสนโวลต์ หรือไม่งั้นก็อาจใช้สำนวน to stop someone (dead) in their tracks คือทำให้อีกฝ่ายชะงักโดยสมบูรณ์ หักอารมณ์แบบไม่ให้ได้ผุดได้เกิด

Pour cold water on something

ก: เธอๆ มาดู Netflix ห้องเรามั้ย

ข: บ้านเธอไม่ใช่ใกล้นะ ฝนตกรถติดขนาดนี้ ต่างคนต่างกลับบ้านเนอะ

ถ้ามีคนชวนเราทำอะไร แล้วเราช็อตฟีลดับไอเดียด้วยการแสดงให้เห็นว่าแผนนี้ไม่ดีอย่างไร หรือไม่น่าทำเพราะอะไร แบบนี้เราก็อาจพูดว่า to pour cold water on something เห็นภาพทำนองว่าเอาน้ำราดไฟจนดับมอด อย่างในกรณีข้างบนนี้ เราก็อาจบรรยายว่า She poured cold water on his plan. ก็คือ ช็อตฟีลดับแผน

Throw a spanner into the works

ก: อาจารย์ครับ สัปดาห์หน้าที่รัฐบาลประกาศวันหยุดเพิ่มให้ เราไม่เรียนใช่ไหมครับ ผมจะไปเที่ยวกับที่บ้าน

ข: เรียนครับ สอบเก็บคะแนนในห้องด้วยครับ

ถ้าเป็นการช็อตฟีลด้วยการขัดแผนชาวบ้านชาวช่อง แบบนี้เราอาจจะใช้สำนวน to throw a spanner into the works เห็นภาพเหมือนโยนประแจเข้าไปขัดฟันเฟืองชิ้นส่วนต่างๆ ในเครื่องจักร หรือ to put a spoke in someone’s wheel ซึ่งให้ภาพทำนองว่า เอาท่อนเหล็กไปขัดในซี่ล้อ (spoke จริงๆ แปลว่า ซี่ล้อ แต่ในที่นี้ว่ากันว่าน่าจะแปลผิดคำว่า spaak ในภาษาดัตช์ หมายถึง ของที่มีลักษณะเป็นท่อน)

อย่างในกรณีข้างบน เราก็อาจจะบรรยายว่า The student had his vacation planned out, but the professor threw a spanner into the works. ก็คือ ครูช็อตฟีลทำแผนวันหยุดนักเรียนพังป่นปี้

Jolt someone back to reality

ก: แก พี่แจ็คสันเขาหันมายิ้มให้ฉันด้วย

ข: เขายิ้มมองกล้อง มึงดูเขาผ่านจอ ตื่นค่ะ

ถ้าเป็นการช็อตฟีลแบบเบรกอารมณ์คนที่กำลังฝันกลางวันให้หายเพ้อ ทำนองว่าปลุกกระชากคนเคลิ้มให้ตื่นกลับมาสู่โลกความเป็นจริง แบบนี้ก็อาจใช้สำนวน to jolt someone back to reality อย่างในกรณีนี้ ก็อาจจะบอกว่า Her friend jolted her out of daydreaming and back to reality. ก็คือ คนเพ้อโดนเพื่อนช็อตฟีล กลับสู่โลกความจริง 

 

บรรณานุกรม

http://oed.com/

Ammer, Christine. The American Heritage Dictionary of Idioms: American English Idiomatic Expressions & Phrases. 2nd ed. Houghton Mifflin Harcourt: Boston, 2013.

American Heritage Dictionary of the English Language

Ayto, John. Oxford Dictionary of English Idioms. OUP: Oxford, 2009.

Gulland, Daphne M., and Hinds-Howell, David. The Penguin Dictionary of English Idiom. Penguin Books: London, 2002.

Longman Dictionary of Contemporary EnglishWordOdyss

 

Tags: , ,