หากเราลองไปเดินดูส่วนประกอบทางสถาปัตยกรรมต่างๆ ตามวัดหรือเรือนไทย จะสังเกตได้ว่ามีองค์ประกอบจำนวนไม่น้อยที่ได้ชื่อมาจากสัตว์ (หรือสิ่งมีชีวิตในนิยาย) ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น อกไก่ ใบระกา หางหงส์ งวงไอยรา นาคสะดุ้ง หรือสะพานหนู

การนำชื่อสัตว์มาใช้เรียกส่วนต่างๆ ในงานสถาปัตยกรรมแบบนี้ ไม่ใช่เรื่องที่พบได้แต่ในภาษาไทยเท่านั้น เพราะชื่อองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมในภาษาอังกฤษเองก็มีสัตว์ซ่อนอยู่ไม่น้อยเหมือนกัน (แม้ว่าอาจจะแฝงตัวอย่างแนบเนียนจนเราดูไม่ออกเมื่อมองเผินๆ)

สัปดาห์นี้ Word Odyssey ขอชวนทุกคนไปตามล่าหาสัตว์ที่ซ่อนอยู่ในชื่อส่วนประกอบทางสถาปัตยกรรมต่างๆ ในภาษาอังกฤษ ตั้งแต่คันทวยไปจนถึงจันทัน

นกอีกาในคันทวย?

หากใครเคยแหงนหน้าดูใต้ชายคาอุโบสถหรือระเบียงทางเดินเวลาไปวัด อาจสังเกตว่าบางแห่งมีส่วนก่อยื่นออกมาจากเสาหรือผนังเพื่อค้ำยันชายคานั้นไว้ ซึ่งในภาษาไทยเรียกว่า คันทวย หรือ ทวย

แม้ในประเทศไทย องค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมนี้อาจเกี่ยวโยงกับสัตว์ตรงที่มักหล่อหรือแกะสลักเป็นลายสิ่งมีชีวิตตามความเชื่ออย่าง พญานาค หรือ ครุฑ แต่ในภาษาอังกฤษ องค์ประกอบนี้สัมพันธ์กับสัตว์ในระดับชื่อเลย เพราะคันทวยเรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า corbel มาจากคำว่า corbellus ในภาษาละตินที่หมายถึง นกอีกาขนาดเล็ก ซึ่งเป็นรูปบอกความเล็ก (diminutive) ของคำว่า corvus ที่แปลว่า นกอีกา อีกทอด (ญาติของคำนี้ที่ยังหลงเหลือในภาษาอังกฤษปัจจุบันก็เช่น corvine ที่แปลว่า เกี่ยวกับนกอีกา)

ส่วนที่ก่อยื่นลักษณะนี้ไปเกี่ยวข้องกับอีกาได้ ก็เพราะว่าคนฝั่งตะวันตกเขามองว่ามันเป็นปลายแหลมยื่นออกมาคล้ายจะงอยของนกอีกานั่นเอง (ในขณะนี้จะงอยอีกากลายมาเป็นชื่ออุปกรณ์ที่เราใช้เขียนหนังสือในภาษาไทย

 

ยุงในหลังคากันสาด?

คำหนึ่งในภาษาอังกฤษที่เราสามารถใช้เรียกโครงสร้างคล้ายหลังคาที่ใช้กันแดดกันฝน ไม่ว่าจะแบบที่เห็นตามซุ้มต่างๆ หรือแบบกันสาดที่เราเห็นตามลานจอดรถกลางแจ้ง ก็คือคำว่า canopy

แต่ที่จริงแล้ว คำนี้ไม่ได้ใช้เรียกหลังคากันสาดได้อย่างเดียว เพราะความหมายหลักของคำนี้คือมุ้งแบบที่ไว้แขวนครอบเหนือที่นอน หรือจะใช้เรียกยอดไม้ในป่าที่แผ่ปกคลุมเป็นเรือนยอดก็ได้

แต่หากลองย้อนรอยที่มาที่ไปของคำนี้ จะพบว่า canopy มาจาก konopeion ในภาษากรีก หมายถึง เก้าอี้ยาวที่ครอบด้วยมุ้งกันยุง และสร้างขึ้นจากคำว่า konops ในภาษากรีกที่แปลว่า ยุง (ว่ากันว่า konops นี้ มาจากคำว่า konos ซึ่งประกอบจาก konos ที่หมายถึง ทรงกรวย และ ops ที่แปลว่า หน้า รวมได้ความหมาย สัตว์ที่มีหน้าเป็นทรงกรวย ซึ่งก็นับเป็นคำพรรณนาที่ตรงกับยุงพอควรเลยทีเดียว)

แต่เมื่อคำว่า konopeion เดินทางไปสู่ภาษาละติน ก็เพี้ยนไปเป็นคำว่า canopeum และท้ายที่สุด ความหมายส่วนที่หมายถึง เก้าอี้ยาว ก็หดหายไป เหลือเพียงแค่มุ้งที่ครอบอยู่ด้านบนเท่านั้น และกลายมาเป็น canopy ที่ใช้เรียกมุ้งหรือโครงสร้างคล้ายหลังคาที่สร้างครอบด้านบนอย่างในปัจจุบัน

แต่ที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือ คำว่า canopeum ยังพัฒนาไปเป็นอีกคำหนึ่งที่เป็นคู่แฝดกันด้วย เพียงแต่คราวนี้ ความหมายส่วนที่หายไปคือมุ้งที่ครอบด้านบน เหลือเพียงแต่เก้าอี้ยาวด้านล่าง คำนั้นคือคำว่า canapé ที่ใช้เรียกอาหารเรียกน้ำย่อยชิ้นพอดีคำ ด้านล่างเป็นขนมปังที่ทำหน้าคล้ายเก้าอี้นั่งให้หน้าต่างๆ ที่อยู่ด้านบนนั่นเอง

 

ผีเสื้อในศาลา?

เรือนภายนอกไม่กั้นฝาที่คนไทยเรียกว่า ศาลา นั้น หากอยากเรียกเป็นภาษาอังกฤษก็มักใช้คำว่า pavilion กัน

แต่อันที่จริงแล้ว สิ่งปลูกสร้างที่เรียกว่า pavilion ในภาษาอังกฤษก็ไม่ได้เหมือนศาลาเลยเป๊ะๆ เสมอไป ตรงที่ว่าอาจมีการกั้นฝา ไม่ได้เปิดโล่งโจ้งอย่างศาลาแบบไทย แต่ที่เหมือนกันก็คือมักปลูกสร้างเพื่อใช้หย่อนใจ ไม่ได้ใช้เป็นที่อยู่อาศัยหลัก

คำว่า pavilion นี้มีที่มาจากคำว่า papilionem ในภาษาละติน ซึ่งแต่เดิมหมายถึง ผีเสื้อ หรือ ตัวชีปะขาว (และกลายไปเป็นคำว่า papillon ในภาษาฝรั่งเศสที่ใช้เรียก ผีเสื้อ ในปัจจุบัน) แต่ในเวลาต่อมา นำมาใช้เรียกเต็นท์ด้วย เพราะคนแต่ก่อนมองว่าผ้าใบที่ขึงเป็นเต็นท์หน้าตาคล้ายผีเสื้อสยายปีก จึงพัฒนากลายมาเป็นคำว่า pavilion ที่แต่เดิมใช้เรียกเต็นท์หรือที่พักชั่วคราวแบบที่ขึงด้วยผ้าใบและย้ายไปไหนต่อไหนได้ ก่อนที่จะกลายมาใช้หมายถึงสิ่งปลูกสร้างขนาดย่อมๆ แบบศาลาในปัจจุบัน

 

หอยเม่นในบัวหงายหัวเสา?

หากเราสังเกตหัวเสาแบบไทยๆ บางครั้งเราจะเห็นส่วนที่มีรูปทรงบานออกคล้ายดอกบัว หรือที่เรียกว่าบัวหัวเสา

ทั้งนี้ ส่วนประกอบแบบนี้ไม่ได้มีแต่ในสถาปัตยกรรมแบบไทย หากเราลองสังเกตหัวเสาของกรีก เช่น หัวเสาแบบดอริก (Doric) หรือแบบคอรินเธียน (Corinthian) ก็จะสังเกตว่ามีส่วนที่รูปทรงป้านออกคล้ายๆ กันที่ไว้รองรับแป้นหัวเสาด้านบน

ในภาษาอังกฤษ บัวหงายหัวเสาแบบนี้เรียกว่า echinus ซึ่งเป็นคำในภาษาละติน หมายถึง เม่น หรือ หอยเม่น ส่วนที่สัตว์สองชนิดนี้มาโยงกับองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมนี้ได้มีหลายทฤษฎี บ้างก็ว่าบอกว่าเพราะส่วนนี้หน้าตาคล้ายเปลือกหอยเม่น บ้างก็บอกว่าเพราะรูปร่างคล้ายเม่นที่นอนขดอยู่ แต่ส่วนตัวขอสารภาพว่าดูยังไงก็ยังไม่เหมือน พลังความสร้างสรรค์อาจสูงไม่เท่าคนสมัยก่อนจริงๆ

 

แพะในจันทัน?

หลายคนอาจรู้จัก Chevron ในฐานะบริษัทพลังงานขนาดใหญ่ แต่คำนี้จริงๆ แล้วใช้หมายถึงลายรูปบั้งคล้ายตัววีแบบที่เจอในสถาปัตยกรรมได้ด้วย ไม่ว่าจะเป็นบัวรูปบั้งหรือลายกระเบื้องเรียงเป็นรูปบั้ง รวมไปถึงจันทันในหลังคาทรงจั่วที่หน้าตาเป็นบั้งกลับหัว (คล้ายตัววีกลับหัว) และทำหน้าที่รองรับแผ่นกระเบื้องหลังคาด้วย

คำว่า chevron นี้สืบสาวย้อนกลับไปได้ถึงคำว่า caper ในภาษาละตินที่หมายถึง แพะ ส่วนที่แพะมาเกี่ยวข้องกับจันทันหรือลายรูปบั้งต่างๆ ได้ ว่ากันว่าเป็นเพราะขาหลังของแพะมีรูปทรงหักงอในลักษณะคล้ายๆ กันนั่นเอง

ทั้งนี้ คำว่า caper ยังเป็นที่มาของคำว่า Capricorn ที่แปลว่า ราศีมกร (แพะมีเขา) และ caper ที่แปลว่า กระโดดโลดเต้น ทั้งยังเกี่ยวโยงไปถึงคำว่า cab ที่หมายถึง รถแท็กซี่ด้วย (อ่านเพิ่มเติมว่าแพะเกี่ยวอะไรกับรถแท็กซี่ได้ที่นี่: https://themomentum.co/tax-and-taximeter-cab/)

 

บรรณานุกรม

http://oed.com/

https://coined-word.orst.go.th/

https://www.classicist.org/articles/classical-comments-architectural-etymology/

American Heritage Dictionary of the English Language

Ayto, John. Word Origin: The Hidden Histories of English Words from A to Z. 2nd ed. A&C Black: London, 2008

Merriam-Webster Dictionary

Oxford Advanced Learners’ Dictionary

Shorter Oxford English Dictionary

The Merriam-Webster New Book of Word Histories. Merriam-Webster, 1991.

The Oxford-Duden Pictorial Thai & English Dictionary. River Books, 1999.

Tags: , , , , ,