ช่วงบอลโลกนับเป็นฤดูกาลอดตาหลับขับตานอนที่คอบอลตั้งตาคอย แม้หลายคนจะเข้าไม่ถึงความสนุกของการดูมนุษย์วิ่งแย่งลูกบอลลูกเดียวกันในสนามสี่เหลี่ยมผืนผ้า แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าฟุตบอล (หรือที่ชาวอเมริกันเรียก ซอคเกอร์ หรือ soccer) เป็นกีฬาที่เป็นที่นิยมและส่งอิทธิพลต่อโลกในหลายๆ ด้าน แม้แต่สำนวนที่เราใช้กันในชีวิตประจำวันก็ไม่เว้น

สัปดาห์นี้ เราไปดูกันว่ามีสำนวนอะไรบ้างที่เราใช้กันจนคุ้นชิน ซึ่งอันที่จริงแล้วมีที่มาหรือเกี่ยวข้องกับกีฬาชนิดนี้

Kick off – เตะเปิด

สำนวนนี้เป็นสำนวนไม่เป็นทางการ หมายถึง เริ่มต้น มีที่มาจากการเตะเปิดเวลาเริ่มต้นแมตช์ฟุตบอล ภายหลังนำมาใช้กับอย่างอื่นมากมาย ไม่ว่าจะเป็นโครงการ การประชุม และกิจกรรมอื่นๆ ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเตะหรือลูกฟุตบอลแต่อย่างใด เช่น The manager kicked off the meeting by congratulating us on the success of the project. ก็จะหมายถึง ผู้จัดการเริ่มการประชุมด้วยการแสดงความยินดีกับพวกเราที่ทำโครงการประสบความสำเร็จ

สำนวนนี้มีรูปคำนาม kick-off ด้วย แปลว่า สิ่งที่ทำเพื่อเป็นการเริ่มต้น เช่น The appetizer was a perfect kick-off to the meal. ก็จะหมายถึง อาหารเรียกน้ำย่อยนี้เป็นจานเปิดมื้ออาหารที่เหมาะเจาะมาก

Move the goalposts – ย้ายประตู

สำนวนนี้ถ้าแปลตรงตัวแล้ว หมายถึง ย้ายโกล (goalpost หมายถึง เสาประตู ในที่นี้หมายถึง ทั้งตัวประตูนั่นเอง)

แน่นอนว่าปกติแล้วประตูควรต้องอยู่กับที่และอยู่ในที่ที่ควรอยู่ ถ้าอยู่ๆ มีการย้ายตำแหน่งประตูขึ้นมา นักเตะที่ฝึกฝนกันมาก็คงจะงงเป็นไก่ตาแตกและทำประตูได้ลำบากขึ้น ดังนั้น สำนวนนี้จึงเป็นความเปรียบ หมายถึง เปลี่ยนเกณฑ์หรือกติกา มีนัยว่าเปลี่ยนแล้วไม่เป็นธรรมหรือมีผู้เสียเปรียบ

สำนวนนี้ใช้ในแวดวงอะไรก็ได้ที่มีเหตุการณ์ลักษณะนี้ เช่น ถ้าผู้มีอำนาจเปลี่ยนเกณฑ์การรับเข้ามหาวิทยาลัยอยู่ตลอดเวลา จนนักเรียนทดท้อเอือมระอาจน นักเรียนก็อาจจะพูดว่า Ugh, if the powers that be moves the goalposts one more time, I’m gonna friggin’ give up on education. คือ เปลี่ยนเกณฑ์อีกรอบนี่จะเลิกเรียนแม่งละนะ

Score an own goal – ยิงเข้าประตูตัวเอง

วนเวียนแถวหน้าประตูกันอีกสักนิด สำนวนนี้หากใช้ในแวดวงฟุตบอล ก็จะหมายถึง การยิงลูกเข้าประตูตัวเอง ซึ่งแน่นอนว่าเป็นความผิดพลาดที่ทำให้ฝ่ายตัวเองเสียเปรียบ

ดังนั้น เมื่อนำมาใช้เป็นความเปรียบจึงหมายถึง การทำอะไรที่ทำให้ตัวเองเสียเปรียบหรือเสียประโยชน์ หรือทำอะไรที่นึกว่าจะให้ผลดีแต่กลับให้ผลตรงข้ามขึ้นมา เรียกง่ายๆ ว่า ทำตัวเอง ตัวอย่างเช่น หากคนกลุ่มหนึ่งไปสนับสนุนให้คนที่ตัวเองคิดว่าจะเข้ามาทำให้บ้านเมืองดีขึ้นเพื่อให้ได้ขึ้นสู่อำนาจ แต่พอถึงเวลาคนคนนี้กลับกลายเป็นทรราชเผด็จการบ้าอำนาจ ก็อาจจะบอกว่า They scored an own goal by supporting a man who turned out to be a power-mad despot.

On the sidelines – จากขอบสนาม

เราไปต่อกันที่ขอบสนามหรือที่ในภาษาอังกฤษเรียกว่า sideline (ซึ่งเป็นคนละ sideline ที่แปลว่า งานเสริม)

ปกติแล้วนักฟุตบอลที่เป็นตัวสำรองหรือยังไม่ได้ลงสนามก็จะนั่งอยู่ที่ที่นั่งขอบสนาม เรียกได้ว่าเป็นคนที่ไม่ได้มีส่วนร่วมกับเกมฟุตบอลอันเป็นกิจกรรมหลักที่กำลังเกิดขึ้นในสนาม

ดังนั้นเมื่อนำมาใช้เป็นสำนวน จึงหมายถึง ไม่เข้าไปยุ่ง ไม่เข้าไปมีส่วนร่วม ใช้ได้ทั้งในกรณีที่ตั้งใจไม่เข้าไปยุ่งเพราะจะสังเกตการณ์อย่างเดียว (เช่น He decided to remain on the sidelines as his friends went at each other. หมายถึง เขาตัดสินใจไม่เข้าไปยุ่งระหว่างนั่งดูเพื่อนทะเลาะกัน)

และกรณีที่ทำตัวมือไม่พายเอาเท้าราน้ำทั้งที่ควรจะเข้าไปมีส่วนร่วม ออกแนวดูดาย (เช่น I’m furious that all our boss did when we were getting dressed down by our client was watch from the sidelines. คือ โมโหที่ระหว่างที่โดนลูกค้าด่ายับ เจ้านายไม่ยอมลงมือทำอะไรเลย)

ทั้งนี้ sideline ยังใช้เป็นกริยาได้ด้วย ถ้าใช้กับนักกีฬาก็คือจับไปนั่งข้างสนาม ไม่ให้ลงเล่น (คล้ายคำว่า bench ที่เป็นกริยา) หรือถ้าเป็นวงการอื่น ก็คือถูกสั่งระงับไม่ให้มีส่วนร่วมหรือถูกลดบทบาท เช่น After he clashed with the client, he was sidelined. ก็จะหมายถึง หลังปะทะกับลูกค้าเขาจึงถูกสั่งไม่ให้เข้ามามีบทบาท

Blow the whistle on someone – เป่านกหวีดร้องเรียน

ปกติแล้วเมื่อกรรมการเห็นว่ามีผู้ทำผิดกติกา ก็จะเป่านกหวีดเพื่อหยุดเกมและมอบใบเหลืองหรือใบแดงตามสมควร ด้วยการเป่านกหวีดเป็นการใช้ส่งสัญญาณว่ามีผู้ไม่ทำตามกติกา สำนวน blow the whistle on someone จึงหมายถึง ร้องเรียนว่ามีผู้กระทำความผิด ฝ่าฝืนกฎเกณฑ์ ว่ากันว่ามาจากกรรมการในกีฬาฟุตบอล (แต่บางแหล่งก็บอกว่ามาจากกีฬาชนิดอื่นบ้างหรือมาจากตำรวจบ้าง) แต่ปัจจุบันมักใช้ในวงการธุรกิจหรือสังคม

เช่น Despite threats, she decided to blow the whistle on the director who had been taking money from the company. ก็จะหมายความว่า แม้จะถูกข่มขู่ เธอก็ตัดสินใจร้องเรียนผู้อำนวยการที่ยักยอกเงินบริษัท

ทั้งนี้ ผู้ร้องเรียนชี้เบาะแสการทำความผิดลักษณะนี้จะเรียกว่า whistleblower ก็ได้ ว่ากันว่าคนที่เริ่มรณรงค์ให้ใช้คำนี้ ตั้งใจลบความคิดที่ว่าคนเหล่านี้คือพวกขี้ฟ้อง (คำว่า informer ที่ใช้แต่เดิมบ่งนัยว่าขี้ฟ้อง) แต่ว่าเป็นผู้ผดุงความยุติธรรมและลุกขึ้นมาทำสิ่งที่ถูกต้อง คำนี้ยังเจอได่ใน whistleblowing policy หรือนโยบายคุ้มครองผู้ร้องเรียนการทำผิด ที่เรามักพบเจอได้ในองค์กรต่างๆ ในปัจจุบันอีกด้วย

 

 

บรรณานุกรม

  • Ayto, John. Oxford Dictionary of English Idioms. OUP: Oxford, 2009.
  • Brenner, Gail. Webster’s New World American Idiom Handbook. Wiley Publishing: Indianapolis, 2003.
  • Cambridge Advanced Learners’ Dictionary
  • Gulland, Daphne M., and Hinds-Howell, David. The Penguin Dictionary of English Idiom. Penguin Books: London, 2002.
  • Longman Dictionary of Contemporary English
  • Oxford Advanced Learners’ Dictionary
  • Shorter Oxford English Dictionary
Tags: , , , ,