โอ๊ย … หิวจัง
วันนี้คุณหิวไส้แทบขาด จึงมุ่งหน้าไปยังร้านบุฟเฟ่ต์ชื่อดังที่สรรหาอาหารนานาชาติทุกชนิดมาเสิร์ฟคุณได้ ราวกับเป็นร้านที่หลุดออกมาจากจินตนาการ
ทันทีที่พนักงานพาคุณมาถึงโต๊ะ คุณรีบนั่งลงและเปิดเมนู
ทันใดนั้นเอง คุณก็เหลือบไปเห็นเมนูนี้
Bruschetta
(ขนมปังหั่นเป็นแผ่น ย่างให้ผิวนอกกรอบ ถูด้วยกระเทียม โรยหน้าด้วยมะเขือเทศสับ น้ำมันมะกอก และเกลือ)
จึงหันไปบอกพนักงานว่า “ขอ … ที่หนึ่ง”
ก. บรูเช็ตต้า
ข. บรูสเก็ตต้า
เฉลย
แม้ชาวอเมริกันบางคนจะออกเสียงอาหารชนิดนี้ว่า บรูเช็ตต้า แต่อันที่จริงแล้วคำนี้ออกเสียงว่า บรูสเก็ตต้า (หรือถ้าจะลงเสียงหนักเบาแบบภาษาอังกฤษก็จะออกเสียงทำนองว่า บรุสเก็ตเทอะ) นั่นก็เพราะ ch ในภาษาอิตาเลียนซึ่งเป็นภาษาต้นทางออกเสียง ค นั่นเอง
ในขณะเดียวกัน คุณก็กำลังอยากดื่มอะไรสดชื่นๆ ตาของคุณไปหยุดอยู่ที่เมนูนี้
Mojito
(ค็อกเทลสัญชาติคิวบานี้ มีส่วนผสมได้แก่ รัม น้ำตาล น้ำมะนาว โซดา และใบสะระแหน่)
คุณจึงหันไปบอกพนักงานว่า “แล้วก็ขอ … แก้วหนึ่งด้วย”
ก. โมจิโต้
ข. โมฮิโต้
เฉลย
หลายคนพอเห็น j ในชื่อค็อกเทลแล้ว สัญชาตญาณก็อาจบอกให้เรียกเครื่องดื่มนี้ว่า โมจิโต้ แต่เนื่องจากชื่อเครื่องดื่มนี้มาจากภาษาสเปนและในภาษาสเปนออกเสียงตัว j เป็นเสียง ฮ ในแถบละตินอเมริกา ดังนั้น ชื่อค็อกเทลชนิดนี้จึงอ่านว่า โมฮีโต้ นั่นเอง (ส่วนในสเปน ตัว j จะออกเสียงขากๆ ก็อาจจะถ่ายเสียงได้ทำนองว่า โมฆีโต้)
ชื่ออาหารที่มีตัว j และมาจากภาษาสเปนอีกก็เช่น jalapeño (พริกฮาลาเปนโย ซึ่งในภาษาอังกฤษบางทีก็เรียก ฮาเลอะพีโนว) และ jamón (ฆาม่น) หรือแฮมประเภทต่างๆ
คุณอยากได้ซุปอุ่นๆ สักถ้วย ทันใดนั้นเองคุณก็ระลึกชาติได้ว่ามีซุปชนิดหนึ่งที่คุณชอบ
Minestrone
(ซุปข้นใส่มะเขือเทศ หัวหอม เซเลอรี่ แครอท และผักอื่นๆ พร้อมเส้นพาสต้า)
คุณจึงบอกพนักงานไปว่า “ขอซุป … ที่หนึ่งด้วย”
ก. มิเนสโตรเน
ข. ไมน์สโตรน
เฉลย
แม้ว่าชื่อซุปจะชวนให้คิดว่าประกอบจาก mine ที่ออกเสียงว่า ไมน์ ในภาษาอังกฤษ และ strone ที่น่าจะออกเสียงว่า สโตรน แต่อันที่จริงแล้วซุปนี้เป็นอาหารอิตาเลียน จึงอ่านเรียงพยางค์ว่า มิเนสโตรเน (ส่วนในภาษาอังกฤษออกเสียงเป็น มินิสโตรนี)
คุณมีนิมิตตั้งแต่ก่อนเข้าร้านแล้วว่าจะกินพาสต้าให้ได้ คุณจึงไม่รอช้า รีบพลิกเมนูไปยังหน้าพาสต้า มีเมนูหนึ่งที่เตะตาคุณเหลือเกิน
Spaghetti alla Bolognese
(สปาเก็ตตี้ซอสเนื้อสับ ใส่มะเขือเทศ ไวน์แดง)
คุณจึงเงยหน้าจากเมนูแล้วบอกพนักงานว่า “เอา … ด้วย”
ก. สปาเก็ตตี้ อัลลา โบโลเนซ
ข. สปาเก็ตตี้ อัลลา โบโลนเยเซ
เฉลย
คำว่า Bolognese เป็นคุณศัพท์ของ Bologna ซึ่งเป็นเมืองหนึ่งทางตอนเหนือของอิตาลี เนื่องจากอักษรควบ gn ในภาษาอิตาเลียน ออกเสียงเป็น ย แบบขึ้นจมูก ดังนั้น ซอสนี้จึงออกเสียงว่า โบโลนเยเซ (เสียง ย แบบขึ้นจมูก) แต่ชาวอังกฤษและอเมริกันนำไปพูดว่า โบโลเนซ กันจนเป็นที่แพร่หลายแล้ว ดังนั้น จึงออกเสียงได้ทั้งสองแบบ เพียงแต่แบบหลังน่าจะเป็นที่รู้จักกว้างขวางกว่า
แต่พนักงานหันมาบอกคุณว่าคุณเลือกเส้นอื่นที่ไม่ใช่สปาเก็ตตี้ก็ได้ คุณครุ่นคิดเพียงเสี้ยววิก็ตัดสินใจได้ว่าพาสต้าที่จะเหมาะกับซอสที่สั่งไปที่สุดจะต้องเป็นพาสต้าชนิดนี้
Tagliatelle
(เส้นพาสต้าลักษณะคล้ายริบบิ้น กว้างราว 1 เซนติเมตร)
คุณจึงตอบพนักงานว่า “ถ้างั้น ขอเป็นเส้น … แล้วกัน”
ก. ตาเกลียเตลเล
ข. ตาเลียเตลเล
เฉลย
อักษรควบ gl ในภาษาอิตาเลียน ไม่ออกเสียง กล แต่จะออกเสียงเหมือน ล และ ย ควบกัน (คล้ายๆ เสียงพยัญชนะตรงกลางในชื่อ Elliot) ดังนั้นถ้าจะถ่ายเสียงให้ใกล้เคียงก็น่าจะได้เป็น ตาเลียเตลเล นั่นเอง (ส่วนในภาษาอังกฤษนำไปออกเสียงว่า แทลเยียเทลลี)
ในทำนองเดียวกัน คำว่า aglio ที่แปลว่า กระเทียมในเมนู spaghetti aglio e olio หรือสปาเก็ตตี้ใส่กระเทียมและน้ำมัน จึงไม่ได้ออกเสียงว่า อากลิโอ แต่ออกเสียงคล้ายๆ อัลโย
คุณอยากกินเนื้อบ้าง จึงสั่งสเต็กไป แต่รู้สึกว่ารสชาติไม่ถูกปาก อยากได้ซอสรสเปรี้ยวมาเติม
Worcestershire sauce
(ซอสเปรี้ยวสีเข้ม หมักจากปลา น้ำส้มสายชูมอลต์ กากน้ำตาล และเครื่องเทศอื่นๆ)
คุณจึงบอกพนักงานว่า “พอจะมีซอส … ไหม”
ก. วูสเตอร์เชอร์
ข. วอร์เซสเตอร์เชียร์
เฉลย
ซอสชนิดนี้มาจากแคว้น Worcestershire ในประเทศอังกฤษ แน่นอนว่าเมื่อขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองหรือแคว้นในอังกฤษแล้ว ก็มีความเป็นไปได้สูงที่ชื่อจะออกเสียงไม่ตรงรูปที่เห็น แคว้นนี้แท้จริงแล้วมีชื่อเสียงเรียงนามว่า แคว้นวูสเตอร์เชียร์ แต่ฝั่งอเมริกันจะออกเสียงว่า วูสเตอร์เชอร์ ดังนั้น ซอสชนิดนี้ก็เรียกว่า วูสเตอร์เชียร์ หรือ วูสเตอร์เชอร์ ก็ได้ แค่ไม่ใช่ วอร์เซสเตอร์เชียร์ เป็นใช้ได้
แม้ว่าคุณจะกินอาหารลงไปแล้วมากมาย แต่ท้องมารของคุณก็ยังคงหิวโหย คุณจึงพลิกเมนูต่อและพบกับเมนูนี้เข้า
Quesadilla
(แผ่นแป้งพับ ใส่ไส้ชีส แล้วนำไปนาบในกระทะ)
คุณจึงเรียกพนักงานและพูดว่า “ขอ … ด้วยที่หนึ่ง”
ก. ควิซาดิลลา
ข. เกซาดีย่า
เฉลย
อาหารชนิดนี้เป็นอาหารเม็กซิกัน ชื่ออาหารชนิดนี้จึงไม่ได้อ่านแบบภาษาอังกฤษ แต่อ่านแบบภาษาสเปนแทน ในภาษาสเปน qu ไม่ได้ออกเสียง คว เหมือนในภาษาอังกฤษ แต่ออกเสียง ก ธรรมดา ส่วน ll ก็ไม่ได้ออกเสียง ล แต่ออกเสียง ย แทน ดังนั้น อาหารจานนี้จึงเรียกว่า เกซาดีย่า (ส่วนในภาษาอังกฤษออกเสียงว่า เคะเซอะดีเยอะ)
ทั้งนี้ ชื่ออาหารที่เป็นภาษาสเปน และมีตัว ll ที่ออกเสียง ย ยังมีอีก เช่น paella (ปาเอย่า หรือ ข้าวผัดสเปน) และ tortilla (ตอร์ตีย่า ซึ่งในสเปนเป็นไข่ใส่มันฝรั่ง ส่วนในอเมริกาใต้ใช้หมายถึง แผ่นแป้ง)
หลังจากกินอาหารหนักๆ มาหลายอย่าง คุณก็อยากจะกินสลัดขึ้นมา จึงพลิกดูเมนูและตกลงปลงใจที่สลัดชนิดนี้
Niçoise salad
(สลัดใส่มะเขือเทศ ไข่ต้ม มะกอก ราดด้วยน้ำสลัดน้ำมันมะกอกใส่น้ำส้มสายชู)
คุณจึงบอกกับพนักงานว่า “ขอสลัด … ด้วยหนึ่งจาน”
ก. นิซวาซ
ข. นิคอยส์
เฉลย
คำว่า Niçoise เป็นคุณศัพท์ของชื่อเมือง Nice (นิซ) ในฝรั่งเศส ในภาษาฝรั่งเศส ตัว c ที่มีเส้นหยึกๆ ข้างล่าง (c-cedilla หรือ cé cédille ในภาษาฝรั่งเศส) ออกเสียง ซ (แบบในคำว่า façade ที่ภาษาอังกฤษยืมมาใช้ หมายถึง ด้านหน้าของอาคาร หรือ ฉากหน้า) ดังนั้น คำนี้จึงออกเสียงว่า นิซวาซ
หลังจากกินสลัดไปแล้ว คุณตัดสินใจกินชีสเพื่อเตรียมจบมื้ออาหาร จึงไล่ดูรายการชีสและตัดสินใจเลือกชีสชนิดนี้
Gouda
(ชีสนมวัวสีเหลืองเข้มจากเนเธอร์แลนด์)
คุณจึงบอกกับพนักงานว่า “ขอชีส … ด้วย”
ก. กูด้า
ข. เกาด้า
เฉลย
อันที่จริงแล้ว Gouda เป็นชื่อเมืองในประเทศเนเธอร์แลนด์ที่เป็นต้นกำเนิดของชีสชนิดนี้ ในภาษาดัชต์อ่านว่า เกาด้า (เสียง ก เป็นเสียงเสียดแทรก คล้ายผสมเสียง ฮ เข้าไปด้วย) คนในอังกฤษส่วนใหญ่จึงเรียกชีสชนิดนี้ว่า เกาด้า ด้วย (ออกเสียงประมาณว่า เกาเดอะ)
แต่ชาวอเมริกันส่วนใหญ่ออกเรียกชีสนี้ว่า กูด้า (ออกเสียงในภาษาอังกฤษว่า กูเดอะ) จนพจนานุกรมอเมริกันระบุว่าออกเสียงเช่นนี้ ดังนั้น จะเรียกว่า เกาด้า หรือ กูด้า ก็น่าจะยังได้รับประทานชีสชนิดนี้อยู่ดี
ในที่สุด คุณก็อิ่มเสียที
คุณจ่ายเงินแล้วเดินออกจากร้าน ในใจพลางคิดว่า
พอแล้วอาหารยุโรป จะสั่งทีก็เกร็งไปหมด มื้อหน้าส้มตำโลด
บรรณานุกรม
- http://www.etymonline.com/
- American Heritage Dictionary of the English Language
- Barnett, Martha. Ladyfingers & Nun’s Tummies: A Lighthearted Look at How Foods Got Their Names. Times Book: New York, 1997.
- Cambridge Advanced Learners’ Dictionary
- Jones, Daniel. Cambridge English Pronouncing Dictionary. Cambridge University Press: Cambridge, 2003.
- Longman Dictionary of Contemporary English
- Oxford Advanced Learners’ Dictionary
- Shorter Oxford English Dictionary
- Wells, J. C. Longman Pronunciation Dictionary. Pearson Education: Essex, 2008.