สภาวะโลกร้อนทำให้แรงงานกำลังเผชิญหน้ากับสภาพการทำงานที่ร้อนยิ่งขึ้น ข้อมูลล่าสุดจากสำนักงานสถิติแรงงานระบุว่า ในปี 2018 มีแรงงานถึง 60 คน ที่เสียชีวิตเนื่องจากอากาศร้อนจัด อย่างไรก็ตาม มีเพียงรัฐแคลิฟอร์เนีย วอชิงตัน และมินเนโซตาเท่านั้นที่มีมาตรฐานป้องกันการทำงานในสภาพที่ร้อนจัดเกินไป 

อาชีพที่มักจะเกิดความสูญเสียเนื่องจากการทำงานท่ามกลางอากาศร้อนจัดคืออาชีพที่เกี่ยวกับระบบโทรคมนาคม โดยข้อมูลจาก สหภาพแรงงานด้านโทรคมนาคมแห่งสหรัฐอเมริกา (CWA) ระบุว่า เบรนท์ โรบินสัน ช่างเดินสายโทรศัพท์วัย 55 ปี ของบริษัท เวอริซอน (Verizon) ที่เสียชีวิตหลังทำงานท่ามกลางอุณหภูมิเกิน 38 องศาเซลเซียส ในปี 2011 เป็นหนึ่งในกรณีเสียชีวิตที่ทำให้สหภาพแรงงานเริ่มผลักดันให้มีมาตรฐานป้องกันการทำงานในสภาพที่ร้อนจัดเกินไป

เดวิด ลากรองด์ อดีตผู้อำนวยการด้านอาชีวอนามัยของ CWA และหนึ่งในหัวเรี่ยวหัวแรงของสหภาพแรงงานที่สืบสวนการเสียชีวิตของโรบินสัน กล่าวว่า “น่าเศร้าที่โศกนาฏกรรมครั้งนั้นเกิดขึ้นเพื่อให้นายจ้างหันมาให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อย่างเพียงพอ เท่าที่รู้ เราเป็นสหภาพแรงงานแรกที่ยืนกรานต่อรองอย่างเต็มที่กับฝั่งนายจ้างที่แต่เดิมทำตามเฉพาะมาตรฐานของรัฐ” โดย CWA ได้นำเสนอรายงานการเสียชีวิตของโรบินสันให้ทางบริษัท เวอริซอน อย่างไรก็ตาม เวอริซอนปฏิเสธที่จะให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว

จากแบบจำลองของ Climate Central ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลประโยชน์ ระบุว่าวันที่อากาศร้อนจนถึงจุดอันตรายใน 133 เมืองของสหรัฐอเมริกา จะเพิ่มขึ้นจาก 20 วันต่อปีโดยเฉลี่ย เป็น 58 วันต่อปี ในปี 2050 โดยวันที่อากาศร้อนจนถึงจุดอันตรายคือวันที่อุณหภูมิและความชื้นทะลุ 40 องศาเซลเซียส (104 องศาฟาเรนไฮท์)

“การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกมีแต่จะทำให้อากาศร้อนขึ้น และแรงงานก็ต้องเผชิญหน้าโดยตรงกับความร้อนที่สูงขึ้น” จูดี้ ชู สมาชิกสภาคองเกรส พรรคเดโมแครตจากแคลิฟอร์เนีย กล่าวกับสำนักข่าว ดิ การ์เดี้ยน โดยเมื่อต้นปีที่ผ่านมา เธอได้เสนอพระราชบัญญัติอัสซุนซิออน วัลดิเวีย เพื่อป้องกันอาการเจ็บป่วย และการสูญเสียเนื่องจากความร้อน (Asuncion Valdivia Heat Illness and Fatality Prevention Act) โดยกำหนดให้ สำนักงานบริหารความปลอดภัย อาชีวอนามัย กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ (Osha) ออกข้อกำหนดและบังคับใช้มาตรฐานในการปกป้องแรงงานจากความเสี่ยงในการทำงานที่มีอุณหภูมิสูงเกินไป โดยชื่อของพระราชบัญญัติมาจากชื่อของคนงานเก็บองุ่นที่ทำงานกลางอุณหภูมิสูงกว่า 40 องศาเซลเซียส นานกว่า 10 ชั่วโมง จนเสียชีวิตด้วยภาวะ ฮีท สโตรค

ทั้งนี้ ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแรงงาน ระบุว่า ระหว่างปี 1992 – 2016 แรงงานในสหรัฐอเมริกาจำนวน 783 คนเสียชีวิตจากความร้อนในการทำงาน และมีอีก 69,000 คน ที่บาดเจ็บสาหัส ขณะที่องค์กรแรงงานเชื่อว่าตัวเลขที่แท้จริงจะต้องสูงกว่านี้ แต่มีการปกปิดตัวเลข และบางกรณีนายจ้างมองว่าแรงงานเสียชีวิตจากเหตุที่ไม่เกี่ยวข้องกับการทำงาน

ขณะที่แรงงานในสหรัฐอเมริกากำลังเผชิญกับสภาพการทำงานที่ร้อนขึ้น และสภาพอากาศที่รุนแรงขึ้น ก็มีเสียงวิจารณ์ถึงรัฐบาลของโดนัลด์ ทรัมป์ว่าไม่ตระหนักถึงปัญหานี้เพียงพอ โดยรายงานของ AFL-CIO เมื่อเดือนเมษายนปีที่แล้ว ระบุว่า ภายใต้การบริหารสองปีแรกของยุคประธานาธิบดีทรัมป์ Osha ออกรายงานการสอบสวนเหตุไม่พึงประสงค์ในการทำงานที่เกิดจากความร้อนของลดลงถึง 49% นอกจากนี้ Osha ยังไม่ตอบสนองข้อเรียกร้องขององค์กรต่างๆ ที่ต้องการให้รัฐบาลประกาศมาตรฐานเกี่ยวกับการทำงานท่ามกลางอากาศร้อนจัด

อ้างอิง:

https://www.theguardian.com/us-news/2020/jan/22/heat-deaths-workers-safety-climate-crisis

 

  ภาพ: REUTERS/Brian Snyder

Tags: , , ,