ทุกวันนี้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ไม่ใช่เรื่องใหม่อีกต่อไป เราพบเห็นผลงานจาก AI ได้ตั้งแต่สิ่งของในชีวิตประจำวัน แอปพลิเคชันที่โต้ตอบได้อย่างชาญฉลาด หรือแม้กระทั่งเหล่าเน็ตไอดอล (Net Idol) ที่หลายครั้งดูคล้ายมนุษย์เสียจนต้องตั้งคำถามทั้งกับ AI และมนุษย์ตัวจริงด้วยกันเองว่า นี่คือคนหรือ AI
แม้รูปร่างหน้าตาจะดูคล้ายมนุษย์ แต่ว่ากันว่า AI กลับมีแววตาว่างเปล่าทั้งที่มุมปากยกยิ้มอยู่ จุดนี้อาจเป็นข้อสังเกตสำคัญในการแยกว่า สิ่งไหนมีชีวิตจริงหรือไม่ และในบางทีความกึ่งสมจริงที่ว่านี้ก็กลายเป็นสิ่งที่ทำให้ผู้คนรู้สึกไม่สบายใจขึ้นมา
Uncanny Valley คือคำที่ใช้เรียกความไม่สบายใจไปจนถึงกังวล หวาดกลัว ขนลุก เมื่อได้มองสิ่งที่คล้ายแต่กลับไม่ใช่มนุษย์ ไม่ว่าจะเป็น AI หุ่นยนต์หรือแอนิเมชันจำลองภาพมนุษย์ที่ดูมีความสมจริงจนเกินไป ซึ่งหากมองผิวเผินเราจะคิดว่า สิ่งเหล่านี้ดูเหมือนมนุษย์เหลือเกิน ถึงอย่างนั้นเมื่อพิจารณาดูจะพบว่า ความสมจริงทั้งที่ไม่จริงของมันอาจทำให้เราติดอยู่ในความรู้สึกอันแปลกประหลาดโดยไม่ทันรู้ตัว
ในปี 1970 มาซาฮิโร โมริ (Masahiro Mori) ผู้เชี่ยวชาญด้านหุ่นยนต์ชาวญี่ปุ่น นำคำว่า ‘บูคิมิโนะ ทานิ เก็นโช’ (Uncanny Valley) มาอธิบายถึงปรากฏการณ์นี้ โดยตั้งสมมติฐานว่า หุ่นยนต์ที่มีลักษณะคล้ายมนุษย์จะทำให้ผู้คนรู้สึกหวาดกลัว ทั้งยังมีการยกตัวอย่างถึงสิ่งประดิษฐ์หลากหลาย ตั้งแต่หุ่นยนต์จนถึงมือเทียม แต่ด้วยการเติบโตของเทคโนโลยีที่ยังไม่มากเท่าสมัยปัจจุบัน ทำให้ข้อสังเกตของเขาจึงยังคงไม่ได้รับความสนใจมากนักในตอนนั้น ต่างกับปัจจุบันที่ปรากฏการณ์นี้สามารถนำมาใช้อธิบายกับเทคโนโลยีใหม่ๆ อย่าง AI หรืออวตาร์ได้เป็นอย่างดี
ทำไมจึงเกิดปรากฏการณ์แบบ Uncanny Valley
บ้างว่าเป็นเพราะความคลุมเครือไม่แน่ใจว่า สิ่งที่เห็นคืออะไรกันแน่ บ้างว่าเป็นเพราะความแตกต่างกันของแต่ละองค์ประกอบ มีคำอธิบายจำนวนมากเกี่ยวกับความรู้สึกหวาดกลัวต่อสิ่งที่คล้ายมนุษย์ตั้งแต่เรื่องของความรู้สึกส่วนตัวไปจนถึงเหตุผลทางวัฒนธรรม แต่มีข้อสังเกตหนึ่งที่ผู้เขียนอยากหยิบยกขึ้นมาอธิบาย คือเรื่องของการหลีกเลี่ยงภัยคุกคามเพื่อความอยู่รอด ซึ่งเป็นสัญชาตญาณโดยทั่วไปของมนุษย์
งานศึกษาเกี่ยวกับ Uncanny Valley ในปี 2021 อธิบายว่า เรากลัวหุ่นยนต์ที่คล้ายมนุษย์เพราะความไม่เหมือนจริงของมัน และนั่นอาจเป็นสัญญาณของความผิดปกติ นอกจากนี้ ความมีชีวิตอย่างไม่มีชีวิตยังทำให้เรานึกถึงความตายของตนเองได้ด้วยเช่นกัน คล้ายกับความกลัวซอมบี้ โดยเราอาจนำ Uncanny Valley มาอธิบายถึงความกลัวต่อสิ่งที่ไม่ใช่เทคโนโลยีได้ เช่น การกลัวผีหรือวิญญาณที่มีหน้าตาคล้ายกับคน หรือแม้แต่เวลาที่เรามองพระพุทธรูปหรือรูปปั้นเสมือนจริงแล้วพบว่า ทางนั้นก็กำลังจ้องเราอยู่เช่นกัน
ในอดีตมีตัวอย่างสิ่งประดิษฐ์ที่สร้างความรู้สึกแบบ Uncanny Valley อยู่ไม่มากนัก เช่น อาซิโม่ (Asimo) หุ่นยนต์เสมือนคนที่โด่งดังในปี 2000 หรือชาวนาวีตัวสีฟ้าในภาพยนตร์เรื่อง Avatar ทว่าทุกวันนี้เรากลับพบเจอสิ่งที่ทำให้รู้สึกหวาดกลัวจากความคล้ายมนุษย์ได้จนเป็นปกติ และปกติมากเสียจนเปลี่ยนความกลัวให้กลายเป็นเทรนด์ได้
ช่วงปี 2023 ที่ผ่านมา แฮชแท็ก #UncannyValley กลายเป็นกระแสในแอปพลิเคชัน TikToK เมื่อผู้คนหันมาทำคอนเทนต์เปลี่ยนตนเองให้มีลักษณะคล้ายกับหุ่นยนต์ที่เลียนแบบมนุษย์อีกทีหนึ่ง โดยเฉพาะการแต่งหน้าหลากหลายวิธี เช่น ทาสีเปลือกตาด้วยสีดำเพื่อให้ตาดูใหญ่และกลวงโบ๋ ใช้เทคนิคคอนทัวร์เพื่อให้ใบหน้าตอบและแข็งทื่อ หรือขยายริมฝีปากให้ใหญ่ด้วยดินสอสีดำ ประกอบกับท่าทางการขยับร่างกายที่ดูคล้ายสิ่งไม่มีชีวิต
ความคุ้นเคยกับเทคโนโลยียังทำให้แนวคิดแบบ Uncanny Valley ถูกนำไปใช้ในผลงานสร้างสรรค์มากมาย เช่น วง Aespa ศิลปินเกิร์ลกรุ๊ปจากเกาหลี ที่นอกจากจะมีการวางคอนเซปต์ให้ AI ชื่อว่า นาวิส (Nævis ) มีบทบาทในวงแล้ว ฉากหนึ่งของมิวสิกวิดีโอ Supernova ยังได้มีการนำรูปภาพของสมาชิกทั้งสี่มาปรับแต่งให้ขยับแค่ส่วนปากจนยากที่จะแยกออกว่าเป็นมนุษย์หรือ AI กันแน่ สร้างความรู้สึกแปลกประหลาดให้แก่ผู้รับชมได้ไปตามๆ กัน หรือการไลฟ์แบบ NPC (Non-Player Character) โดยสตรีมเมอร์ทำการพากย์เสียงหรือทำท่าทางตามตัวละครในเกมซึ่งไม่มีชีวิตอยู่จริง เป็นการไลฟ์แบบสวมบทบาทเสมือนจริงที่กำลังได้รับความนิยม
การปรับตัวเพื่ออยู่กับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วได้กลายเป็นทักษะสำคัญแห่งยุคสมัย เพราะนอกจากเทคโนโลยีที่ถูกนำมาใช้จนกลายเป็นเรื่องปกติ ความเปลี่ยนแปลงก็ยังเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา แม้จะหวาดกลัวต่อสิ่งที่ไม่รู้จัก แต่ก็คงยากที่จะหนีการเปลี่ยนแปลงได้
ที่มา
https://www.verywellmind.com/what-is-the-uncanny-valley-4846247
https://spectrum.ieee.org/the-uncanny-valley
https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC8024776/
Tags: AI, ปัญญาประดิษฐ์, ghost, ความกลัว, Wisdom, Uncanny Valley