‘หล่อนมีพิรุธอีกแล้วนะ!’
วลีคลาสสิคของ เจ๊มดดำ (แสดงโดย เอกชัย ศรีวิชัย) ที่พูดกับเจ๊พยูน (แสดงโดย ชาญณรงค์ ขันทีท้าว) จากฉากหนึ่งในภาพยนตร์แฟรนไชส์ ‘หอแต๋วแตก’ อาจไม่ได้เป็นเพียงแค่ประโยคฮาๆ หากเรามองจากอีกมุม
อธิบายเพิ่มเติม ในภาพยนตร์ เจ๊มดดำเกิดความสงสัยต่อเจ๊พยูน เกี่ยวกับเรื่องความตายของ ‘บอย’ ที่เจ๊พยูนดูจะร้อนตัวแปลกๆ จึงพูดประโยคดังกล่าวออกมา ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ความขี้สงสัยแบบเจ๊พยูนนั้นมีอยู่ในตัวมนุษย์เราทุกคน
บ่อยครั้งที่ ‘ความสงสัย’ นำพาเราไปสู่การไขกระจ่างต่อคำถามและความเคลือบแคลงบางสิ่ง หรือช่วยไขปริศนาเหตุการณ์ เรื่องราว ทั้งเล็กน้อยไปจนใหญ่โตได้ ดังที่เป็นมาตั้งแต่อดีต
แต่แน่นอนว่าเหรียญมี 2 ด้านเสมอ ยิ่ง ‘มัน’ อยู่ในสิ่งที่เรียกว่ามนุษย์ เป็นไปได้ว่ามันอาจผลักให้กลายเป็นขั้วตรงข้ามกับข้อดีได้ หากสิ่งเหล่านี้มีมากเกินไป
ทำไมมนุษย์ถึงช่างสงสัย
ปฏิเสธไม่ได้ว่า เรามักจะรู้สึกสงสัยด้วยเหตุผลบางอย่าง สมองของเราจะทำงานอย่างหนักเพื่อแจ้งเตือนเมื่อมีภัยคุกคามต่อความปลอดภัยของเรา และช่วยให้เราตัดสินใจว่า ใครหรืออะไรที่เราไว้วางใจได้ และอะไรควรระวัง ในแง่นี้ ความสงสัยเป็นความสามารถสำคัญที่จะช่วยให้เราใส่ใจกับสภาพแวดล้อมรวมถึงความอยู่รอดของเรา
ลองเปรียบเทียบง่ายๆ กับเรื่องราวชีวิตรักของใครสักคน เมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเกิดความรู้สึกสงสัยต่ออีกฝ่าย โดยทั่วไปแล้ว มักจะเริ่มต้นด้วยความรู้สึกในจิตใต้สำนึกว่ามีบางอย่าง ‘ผิดปกติ’ โดยที่ยังไม่รู้ว่าคืออะไรหรือเพราะเหตุใด (เช่น ทำไมวันนี้แฟนกลับดึกทั้งที่ปกติเลิกงานแล้วจะกลับบ้านทันที)
สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเพราะทุกคนล้วนมี ‘เครื่องตรวจจับความน่าเชื่อถือ’ คอยเตือนให้สงสัยเสมอ ซึ่งแต่ละคนก็มีเครื่องตรวจจับที่ละเอียดอ่อนต่างกันไป
หรือในแง่หนึ่ง ความรู้สึกสงสัยเกิดขึ้นเพราะมี ‘บางสิ่งที่ใหญ่กว่า’ กำลังเกิดขึ้นกับร่างกายของเรา สมองของมนุษย์ทำงานอยู่เสมอ มันคอยควบคุมความคิด ความรู้สึก และแม้กระทั่งการตัดสินใจของเรา บางครั้งเหตุการณ์ที่เกี่ยวกับเรื่องสุขภาพหรือเหตุการณ์ในชีวิตของเรา เปลี่ยนวิธีการทำงานของสมอง ส่งผลต่อวิธีคิด ความรู้สึก และการกระทำของเรา
สรุปแล้ว ความรู้สึกสงสัยนั้นเป็นการทำงานปกติของสมอง แต่หาก ‘ความปกติ’ นั้นมีมากขึ้น ก็อาจกลายเป็นสัญญาณของปัญหาบางอย่างที่ใหญ่ขึ้นเช่นกัน และเมื่อมันเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก ก็ไม่ต่างกับการที่สมองทำงานหนักเกินไป และแม้ว่าในสถานการณ์จริงเราจะปลอดภัยหรือไม่ได้มีอะไรอันตราย สมองเราก็ยังคุ้นชินกับการ ‘มองหา’ ภัยคุกคามในปริมาณเท่าเดิม
แทนที่จะเห็นอันตรายน้อยลงและรู้สึกไว้วางใจมากขึ้น สมองก็อาจบอกว่า สิ่งที่ไม่เป็นอันตรายนั้นเป็น ‘ภัยคุกคาม’ หรือทำให้เราเกิดความ ‘สงสัย’ แม้จะไม่จำเป็นเลยก็ตาม
นั่นจึงนำมาซึ่งสิ่งที่เรียกว่า ความหวาดระแวง
สงสัยจะหวาดระแวง
ความสงสัยเป็นภาวะที่เราเชื่อว่า เบื้องหลังของสิ่งที่มองเห็น มักจะมีแรงจูงใจอื่นแอบแฝงอยู่เสมอ ซึ่งเป็นระดับที่ ‘เป็นประโยชน์’ แต่เมื่อความสงสัยมีมากเกินไป ไม่ต่างกับการพยายามมองหาแรงจูงใจที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังของทุกสิ่งทุกอย่าง และนั่นกำลังนำมาซึ่งความเสียหายต่อเรา ไม่ต่างกับภาวะหวาดระแวง (Paranoia) โดยคำนี้ถูกใช้ครั้งแรกโดย คาร์ล ลุดวิก คาห์ลบาม (Karl Ludwig Kahlbaum) จิตแพทย์ชื่อดังชาวเยอรมัน ที่อธิบายว่ามันคือ ความ ‘ผิดปกติ’ ที่มีหลายระดับ ซึ่งในระดับสูงสุดอาจเป็นสัญญาณของการป่วยทางจิตเลยทีเดียว
ลองสังเกตง่ายๆ ภาวะของความหวาดระแวงอาจมีระดับความรุนแรงของอาการแตกต่างกันไปตามสาเหตุ โดยส่วนใหญ่มักเป็นอาการไม่ไว้วางใจใครง่ายๆ ระวังผู้อื่นตลอดเวลา คิดว่าคนอื่นจะทำร้ายหรือพูดถึงตนเองในทางเสียหาย มีพฤติกรรมไม่เป็นมิตรกับบุคคลรอบข้าง อ่อนไหวกับคำวิจารณ์ ชอบแยกตัวอยู่คนเดียว ไปจนถึงเคลือบแคลงสงสัยในสิ่งที่มีหลักฐานยืนยัน แต่กลับเชื่อข่าวลือโดยไม่มีเหตุผล
ในมุมหนึ่งการขาดความมั่นใจในตนเอง ก็มีส่วนทำให้เกิดความสงสัยและความหวาดระแวง ซึ่งมีงานวิจัยที่เผยให้เห็นว่า ภาวะหวาดระแวงมีต้นกำเนิดมาจากความเจ็บป่วยทางธรรมชาติบางอย่างในสมอง
ท้ายที่สุดแล้วคงไม่มีใครอยากเผชิญกับภาวะหวาดระแวง เพราะมันอาจทำให้ความปกติสุขในชีวิตกลายเป็นเรื่องยากเกินไป หากต้องรู้สงสัยเคลือบแคลงบางสิ่งตลอดเวลา
ความสงสัยเป็นสิ่งที่ดี อย่างที่บอกว่ามันช่วยไขความลับบางอย่างที่เป็นประโยชน์มาตลอด แต่เช่นเดียวกับทุกสิ่งบนโลก ที่หากมีมากเกินไป สุดท้ายแล้วมันอาจตีกลับจนกลายเป็นการทำร้ายเราได้เช่นกัน
ที่มา
https://www.kemalarikan.com/en/suspiciousness.html
https://lepageassociates.com/articles-and-podcasts/the-suspicion-is-killing-me/
https://ctstronger.org/mental-health/feelings-and-symptoms/feelings/suspicious/
.
Tags: Wisdom, ความขี้สงสัย, ความหวาดระแวง