ในอนิเมะเรื่องดังอย่าง Death Note ผู้ชมอาจจะสังเกตเห็นว่า ตัวละครแอล (L) หรือฮิเดกิ ริวกะ (Hideki Ryuga) มีพฤติกรรมการกินอาหารที่ค่อนข้างแปลกประหลาด โดยเขามักบริโภค ‘ของหวาน’ ในปริมาณมากจนอาจเรียกได้ว่า เป็นอาหารหลัก ทั้งเค้ก เยลลี พุดดิ้ง และลูกอม ซึ่งตัวละครนี้ให้เหตุผลว่า เขาต้องการน้ำตาลมากกว่าปกติ เพื่อเอื้อต่อการทำงานของสมอง เนื่องจากเขาเป็นนักวิเคราะห์อาชญากรรมระดับโลก ที่ต้องใช้ความคิดอยู่ตลอดเวลา น้ำตาลจึงเป็นแหล่งพลังงานที่มีประสิทธิภาพที่สุดสำหรับสมองที่จำเป็นต่อการทำงานของเขา 

นำมาสู่คำถามที่น่าสนใจคือ ในโลกแห่งความเป็นจริง น้ำตาลทำให้สมองแล่นจริงหรือ

ถึงแม้องค์การอนามัยโลก (WHO) และกระทรวงสาธารณสุขของทุกประเทศ ออกมาย้ำเตือนถึงความอันตรายของการบริโภคของหวาน แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า น้ำตาลอันแสนอร่อยนี้ สามารถสร้างพลังงานให้กับสมองของเราได้จริง โดยปกติแล้วเวลาที่มนุษย์กินน้ำตาลเข้าไป ร่างกายจะย่อยสลายผ่านกระบวนการเมตาบอลิซึม (Metabolism) จนโมเลกุลของน้ำตาลแตกตัวเป็นหน่วยที่เล็กที่สุด เรียกว่า กลูโคส (Glucose) และจะดูดซึมเข้าสู่ผนังกระเพาะอาหารไปยังกระแสเลือดต่อไป ซึ่งกลูโคสเป็นพลังงานที่จำเป็นในการหล่อเลี้ยงเซลล์ โดยเฉพาะสมองที่มีเซลล์เป็นจำนวนมหาศาล ยิ่งเรียกร้องพลังงานจากกลูโคสในปริมาณมากเช่นกัน

และอย่างที่ทราบกันดีว่า หน้าที่หลักของสมองคือ การคิด การจดจำ และการเรียนรู้ ซึ่งต้องอาศัยพลังงานในการส่งสารสื่อประสาท เพื่อประมวลผลสิ่งต่างๆ ในระดับมิลลิวินาที หากสมองของเราได้รับกลูโคสไม่เพียงพอ สารสื่อประสาทและสารเคมีในสมองก็จะไม่ถูกผลิตขึ้นหรือผลิตออกมาน้อยลง ส่งผลให้การสื่อสารระหว่างเซลล์ประสาทหยุดชะงัก หรือทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ สังเกตได้จากผู้ป่วยโรคเบาหวานที่มีภาวะแทรกซ้อนเกี่ยวกับระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ จะมีสมาธิสั้นลงและการทำงานของสมองที่ช้ากว่าปกติ ซึ่งเกิดจากการที่สมองสูญเสียพลังงานที่จำเป็น

ในงานวิจัย The Impact of Free and Added Sugars on Cognitive Function: A Systematic Review and Meta-Analysis ที่เผยแพร่ในปี 2024 ศึกษาเกี่ยวกับความเชื่อมโยงระหว่างการรับน้ำตาลเข้าร่างกายกับประสิทธิภาพในการคิดวิเคราะห์ ระบุว่า น้ำตาลมีผลต่อการทำงานของสมอง ทั้งในเชิงของความจำในชีวิตประจำวันและการทำงาน การโฟกัสในอะไรบางอย่าง รวมถึงความคล่องแคล่วในการพูด คิด ตัดสินใจ วางแผน และการคำนวณเชิงตัวเลข ที่สำคัญคือช่วยส่งเสริมทักษะด้านการเคลื่อนไหว ที่ทำงานสอดประสานระหว่างมือและการมองเห็น แต่การบริโภคน้ำตาลมากเกินไปก็ส่งผลเสียต่อสมองเช่นกัน

ดร.เวรา โนวัค (Vera Novak) ผู้ช่วยศาสตราจารย์สาขาการแพทย์จากศูนย์การแพทย์ Beth Israel Deaconess ในสหรัฐอเมริกา กล่าวว่า สมองจำเป็นต้องใช้น้ำตาลเป็นพลังงานหลัก และไม่สามารถขาดมันได้อย่างสิ้นเชิง เนื่องจากระดับน้ำตาลหรือกลูโคสเชื่อมโยงกับการทำงานของสมอง ทว่าหากระดับน้ำตาลในเลือดสูงเกินไป จะส่งผลต่อเส้นเลือดและเนื้อสมอง ทำให้อาจเกิดโรคหลอดเลือดหรือสมองฝ่อในอนาคต แน่นอนว่า สิ่งเหล่านี้กระตุ้นให้เกิดภาวะสมองเสื่อม และผลกระทบด้านสติปัญญา และส่งผลในทางตรงกันข้ามกับข้อดีที่กล่าวไปข้างต้น

เหรียญมีสองด้าน ดาบมีสองคม ประโยชน์ของน้ำตาลอาจส่งผลให้สมองหลั่งโดปามีน (Dopamine) หรือสารแห่งความสุขออกมา ทำให้ร่างกายเกิดความกระตือรือร้น อารมณ์ดี และมอบรอยยิ้มสดใสในระหว่างวัน ทว่าขณะเดียวกันมันทำให้ร่างกายของคุณเกิดการอักเสบง่าย มีภาวะไกลเคชัน (Glycation) ในกระแสเลือด ซึ่งเร่งกระบวนการเสื่อมของผิวหนัง ทำให้หน้าแก่เร็ว อีกทั้งยังเสี่ยงต่อโรคตับ โรคไต และโรคอื่นๆ อีกมากมายที่เกี่ยวกับระบบการไหลเวียนเลือด ไขมัน และน้ำหนัก 

ดังนั้นหากคุณรู้สึกเบลอ ไม่กระปรี้กระเปร่า สมองไม่แล่น กินลูกอมสักเม็ด น้ำหวานสักแก้ว หรือเค้กนิดหน่อย ก็อาจเพียงพอต่อการทำให้สมองกลับมาสดชื่นขึ้นอีกครั้ง แต่ระวังอย่าหลวมตัวรับประทานมากจนเกินไป พยายามรักษาสมดุลและจัดการการกินของคุณให้อยู่ในระดับที่พอเหมาะ หมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และดูแลตนเองในทุกด้านเท่าที่มนุษย์คนหนึ่งจะสามารถทำได้

Tags: , , , , ,