‘ศีลเสมอกัน’
คำพูดคุ้นหูที่มักจะได้ยินกันอยู่บ่อยๆ โดยคนส่วนใหญ่ชอบใช้คำนี้เป็นข้อสรุป หากต้องอธิบายถึงเหตุผลที่ทำให้คนสองคนมีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้น เข้ากันได้เป็นปี่เป็นขลุ่ย ดูสนิทสนมกันเอามาก ซึ่งรวมไปถึงคู่รักที่ดูเหมาะสมกันดี
ความหมายของคำว่า ‘ศีล’ ในที่นี้ ครอบคลุมถึงการกระทำ ความประพฤติ ภูมิหลัง รูปแบบการใช้ชีวิต นิสัยใจคอทั้งด้านดีและไม่ดี รวมไปถึงสถานะและคุณลักษณะเฉพาะบางอย่างที่บ่งบอกตัวตนของคนคนหนึ่งได้ชัดเจน เช่น ความคิดอ่าน ทัศนคติ อุดมการณ์ ความสนใจในเรื่องต่างๆ การศึกษา หน้าที่การงาน ฐานะทางบ้าน ความยากดีมีจน และหน้าตาในสังคม ซึ่งทั้งหมดนี้ต้องอยู่ในระดับเดียวกัน ใกล้เคียงกันมากที่สุด หรือไม่แตกต่างจากกันมากจนเกินไป จึงจะนับว่าเป็นคนที่มีศีลเสมอกัน
แต่ถึงอย่างนั้น ก็น่าสนใจไม่น้อยว่า ทำไมคนเราเลือกใช้ความเหมือนและความคล้ายคลึงกัน เป็นเกณฑ์ตัดสินใจว่าจะเลือกทำความรู้จักและพัฒนาความสัมพันธ์กับใครบ้าง ในทางกลับกัน จะมีโอกาสเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน หากคนสองคนที่แทบไม่มีอะไรเหมือนกันเลยจะได้คบหากัน
ในมุมมองจิตวิทยา สามารถอธิบายประเด็นนี้ได้หลายแง่มุม แต่มุมที่เด่นชัดที่สุดคือปรากฏการณ์ที่เรียกว่า Similarity-attraction Effect หรือ Similarity Attracts หมายถึง ความเหมือนเป็นแรงดึงดูดให้คนเข้าหากันได้
เพราะธรรมชาติของมนุษย์ต่างต้องการมีตัวตน อยากเป็นที่จดจำ ได้รับการยอมรับ และอยู่ในความสนใจของคนในกลุ่มสังคมใดสังคมหนึ่ง เช่น ที่เรียน ที่ทำงาน แม้แต่ในที่ทำกิจกรรมยามว่าง เมื่อไรก็ตามที่เรารู้ว่ามีคนนิสัยคล้ายกับเรา มีความชอบตรงกัน หรือเกลียดสิ่งเดียวกัน ความเหมือนเหล่านี้จะกลายเป็นจุดร่วมที่สร้างแรงจูงใจให้เราอยากทำความรู้จักเขาหรือเธอผู้นั้นมากขึ้น กระตุ้นให้เกิดบทสนทนาที่เน้นแบ่งปันมุมมองและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับสิ่งที่มีเหมือนกัน นี่คือก้าวแรกแต่เป็นก้าวสำคัญ ที่นำไปสู่ความสัมพันธ์ฉันมิตรและคู่ชีวิตในอนาคตได้
ในปี 2017 วารสารจิตวิทยาสังคมและบุคลิกภาพ (Journal of Personality and Social Psychology) ได้ตีพิมพ์ผลการศึกษาเกี่ยวกับความเหมือนในความสัมพันธ์ของคนสองคนซึ่งใกล้ชิดกัน จำนวน 1,523 คู่ โดยกำหนดให้ทุกคู่ทำแบบทดสอบในหลายๆ เรื่อง ตั้งแต่ข้อมูลส่วนตัวที่แสดงถึงสถานะทางเศรษฐกิจและสังคม บุคลิกภาพ ทัศนคติต่อผู้คนและเหตุบ้านการเมือง ไปจนถึงกิจวัตรและสิ่งที่ทำสม่ำเสมอในแต่ละวัน รวมทั้งระยะเวลาที่ทั้งคู่รู้จักกัน จากนั้นจึงนำมาวิเคราะห์เพื่อหาความเชื่อมโยงกันระหว่างความคล้ายและความเข้ากันได้
ส่วนผลลัพธ์ที่ออกมานั้น ต่อให้เป็นคู่ที่เพิ่งรู้จักกันหรือซี้มานานแล้วก็ไม่สำคัญ เพราะคนเราจะคบกันได้ ย่อมต้องมีจุดร่วมที่เหมือนกับค่อนข้างสูง อย่างคนที่คบหาเป็นคู่รักกันได้ หากเทียบเป็นสัดส่วน ต้องมีลักษณะที่ตรงกันหรือไปในทางเดียวกันไม่ต่ำกว่า 86% และหากสืบข้อมูลย้อนกลับไปในแต่ละคน จะพบว่าต่างฝ่ายต่างเป็นคนที่มีอะไรๆ เหมือนกันอยู่ก่อนแล้ว พอได้โอกาสทำความรู้จัก จึงเข้ากันง่ายและรู้สึกสะดวกใจที่จะคบหากันต่อไป
ถึงตรงนี้ จึงเป็นเรื่องเข้าใจได้ว่า ท่ามกลางผู้คนมากมายที่รายล้อมรอบตัวเรา จะมีแค่บางคนเท่านั้น ที่เราให้ความสนใจเป็นพิเศษมากกว่าคนอื่นๆ หากรู้ว่าคนผู้นั้นมีบางอย่างที่ตรงกันกับเรา แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า คนที่ศีลไม่เสมอกัน หรือแตกต่างกันมากๆ จะไม่มีทางคบกันได้เลย เพราะมนุษย์เรายังมีอีกหนึ่งความสามารถที่ช่วยเพิ่มโอกาสให้คนสองคนรู้จักกันได้ เพียงแต่ต้องอาศัยความพยายามปรับตัวหรือเปลี่ยนตัวเอง ซึ่งหลายคนอาจมองว่าเป็นเรื่องยุ่งยากและเบื่อหน่าย
เปรียบเทียบให้เห็นภาพแบบสุดโต่ง คงต้องยกตัวอย่างนวนิยายและละครน้ำเน่า ที่เรามักจะเห็นความรักของตัวละครต่างฐานะ ฝ่ายหนึ่งเพียบพร้อมทุกสิ่งอย่างอยู่ในวงสังคมที่นับหน้าถือตา ส่วนอีกฝ่ายอัตคัดขัดสนเป็นคนสู้ชีวิตที่ไม่มีหน้าไม่มีตาในสังคม เป็นต้น
ตามทฤษฎี Communication Accommodation Theory หรือ Speech Accommodation Theory ได้อธิบายเรื่องนี้ว่า คนเราจะพยายามปรับการพูดเพื่อเข้าหาอีกฝ่าย โดยคำนึงถึงสถานะและสถานภาพของคู่สนทนาเป็นสำคัญ หากต้องการรักษาสัมพันธภาพเอาไว้ จึงจำเป็นต้องทำให้การพูดคุยเป็นไปอย่างเข้าใจกันและราบรื่นที่สุด ซึ่งแบ่งแยกย่อยเป็น 2 กรณี
กรณีแรก คนที่อยู่ในสถานะสูงกว่าต้องการสื่อสารกับคนที่มีสถานะต่ำกว่า จะปรับลดระดับการพูดลงเพื่อเข้าหา (Downward Convergence) อีกฝ่าย เช่น ใช้คำที่เข้าใจได้ง่าย ส่วนกรณีที่สอง คนที่อยู่ในสถานะต่ำกว่า เมื่อต้องสื่อสารกับคนที่มีสถานะสูงกว่า จะปรับเพิ่มระดับการพูดขึ้นเพื่อเข้าหา (Upward Convergence) อีกฝ่าย เช่น ใช้คำและรูปประโยคที่ซับซ้อน สื่อความคิดนามธรรม
ท้ายที่สุดแล้ว แม้คนส่วนมากมีแนวโน้มเลือกคบหาแต่คนที่ศีลเสมอกันหรือชอบอะไรคล้ายๆ กับตัวเอง แต่นั่นก็ไม่นับและถือว่าเป็นกฎตายตัว เพราะบางครั้งคนที่มีหรือชอบอะไรเหมือนกัน อาจไม่อยากเข้าหากันก็ได้ คำว่า ‘ศีลเสมอกัน’ จึงไม่ใช่หลักประกันหรือข้อพิสูจน์เที่ยงแท้ ว่าจะทำให้คนสองคนคบหากันได้เสมอไป ในทางกลับกัน คนที่แตกต่างกันมากๆ หรือศีลไม่เสมอกัน ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีโอกาสรู้จักมักจี่ เพราะคนเราปรับตัวให้เข้ากันได้ หากต่างฝ่ายต่างสนใจกันและกัน
ที่มา:
– Bahns, Angela & Crandall, Chris & Gillath, Omri & Preacher, Kristopher. (2017). Similarity in Relationships as Niche Construction: Choice, Stability, and Influence Within Dyads in a Free Choice Environment. Journal of Personality and Social Psychology. 11. 329-355. 10.1037/pspp0000088.
– Giles, Howard. (2016). Communication Accommodation Theory. 10.1002/9781118766804.wbiect056
Tags: จิตวิทยา, Wisdom, ศีลเสมอกัน, Similarity Attraction Effect, Similarity Attracts, Communication Accommodation Theory