‘ทำไมคนนี้ถึงได้ดื้อขนาดนี้’
หลายคนอาจเคยพบเจอบางคนที่ทำให้รู้สึกเช่นนี้ ไม่ว่าจะในสถานการณ์ไหนหรือกับใครก็ตาม
ทุกคนอาจมีมุมมองที่แตกต่างกันเกี่ยวกับนิยามของคำว่า ‘ดื้อรั้น’ แต่ส่วนใหญ่มักจะหมายถึงลักษณะบุคลิกภาพที่บุคคลปฏิเสธจะเปลี่ยนความคิด ตั้งใจยึดมั่นในความคิดเห็นของตัวเอง และไม่เห็นด้วยกับความคิดเห็นของคนอื่น ไม่ว่าสถานการณ์จะเป็นอย่างไร บุคลิกภาพเช่นนี้มักต่อต้านการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก อันเป็นลักษณะที่ทำให้ยากต่อการเปลี่ยนแปลงในชีวิต
หรือบางครั้ง ความดื้อรั้นอาจเป็นเครื่องมือเพื่อประโยชน์บางอย่างของตัวเอง ความดื้อเช่นนี้จะทำให้บุคคลยากที่จะรับฟังความคิดเห็นส่วนตัวของผู้อื่น เพราะยึดมั่นในความคิดเห็นของตัวเอง และไม่พยายามเข้าใจสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ส่งผลให้ไม่สามารถรับรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับสถานการณ์นั้นๆ ได้
ยิ่งในสังคมปัจจุบันกับโลกโซเชียลฯ ที่ทุกอย่างรวดเร็ว หลายครั้งก็ขาดการกลั่นกรอง การตัดสินว่า ใครบางคน ‘ดื้อ’ ผ่านโพสต์ความคิดเห็น หรือการแสดงออกต่อบางเรื่องของคนเหล่านั้นเป็นเรื่องง่าย โดยเฉพาะกับบุคคลสาธารณะหรือมีชื่อเสียง บางครั้งจึงทวีความหมั่นไส้ให้ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตที่พร้อมเข้าไปผสมโรงส่งพลังลบให้แก่บุคคลเหล่านั้น เพราะมองว่าพวกเขาดื้อ จนเส้นของความเข้าใจพร่าเลือน
ความอันตรายคือ เมื่อความดื้อรวมกับความหมั่นไส้ มันจึงกลายเป็นความเกลียดชังได้อย่างง่ายดาย
แล้วความดื้อนั้นสามารถเกิดได้จากสาเหตุใดบ้าง
ความต้องการควบคุม
มีข้อสังเกตพบว่า คนดื้อรั้นมักรู้สึกว่าตนเองจำเป็นต้องสั่งการหรือรับผิดชอบทุกสิ่งทุกอย่าง และต่อต้านการเปลี่ยนแปลงใดๆ สิ่งเหล่านี้ปรากฏชัดขึ้นในหลายด้านของชีวิต เช่น การตัดสินใจและความสัมพันธ์
หากต้องการรู้เกี่ยวกับจิตวิทยาเบื้องหลังความดื้อรั้น จำเป็นต้องเข้าใจถึงรากฐานของความดื้อรั้นในประสบการณ์ที่ผ่านมา และบุคลิกภาพของบุคคลนั้นๆ กล่าวได้ว่า มีหลายสาเหตุที่ทำให้บุคคลดื้อรั้น แต่สาเหตุสำคัญประการหนึ่งอาจเป็นเพราะความไม่มั่นคง เนื่องจากบุคคลนั้นอาจกลัวจะสูญเสียการควบคุมบางสิ่งบางอย่างหรือถูกมองว่าอ่อนแอ ปัจจัยทั้งหมดนี้ทำให้บุคคลนั้นแสดงความเป็นผู้นำและปฏิเสธการเปลี่ยนแปลงใดๆ
ดังนั้นพวกเขาจึงรู้สึกว่า การสร้างอัตลักษณ์ที่แข็งแกร่งให้ตนเองเป็นสิ่งสำคัญ พฤติกรรมทั้งหมดนี้อาจเป็นผลมาจากความรู้สึกนับถือตนเองที่ต่ำ และต้องการพิสูจน์ตนเองอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ตนเองรู้สึกว่าคู่ควรกับบางสิ่งบางอย่าง
ความกลัวการเปลี่ยนแปลง
ความกลัวเป็นอารมณ์ที่อาจเป็นสาเหตุของความดื้อรั้น ธรรมชาติของมนุษย์มักจะยึดติดกับสิ่งที่รู้สึกสบายใจและอยู่ในเซฟโซนที่ทำให้รู้สึกปลอดภัยและมั่นคง หากมีสิ่งที่ทำให้รู้สึกว่าเป็นอันตราย ไม่ว่าเล็กน้อยหรือใหญ่โต บุคคลเหล่านี้จะมองว่าภัยคุกคามนั้นเป็นตัวกระตุ้นที่ทำให้รู้สึกกลัวหรือวิตกกังวล
นอกจากนี้ความกลัวต่อความล้มเหลวก็อาจเป็นสาเหตุหลักของความดื้อรั้น ความกลัวนี้อาจทำให้บางคนหลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่ต้อง ‘เสี่ยง’ ซึ่งส่งผลให้พลาดโอกาสในชีวิตไป และหลายคนสามารถใช้ความกลัวเป็นกลไกป้องกัน เพื่อหลีกเลี่ยงความเจ็บปวดหรือความผิดหวังเมื่อเผชิญกับความล้มเหลว
ยึดติดความสมบูรณ์แบบ
ความดื้อรั้นและความสมบูรณ์แบบมีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด เนื่องจากลักษณะบุคลิกภาพนี้อาจทำให้บางคนตั้งมาตรฐานที่ ‘เกินจริง’ สำหรับตนเอง ซึ่งอาจทำให้รู้สึกหงุดหงิด ผิดหวัง และโกรธเคือง ผู้ที่มีความคิดนิยมความสมบูรณ์แบบมักปฏิเสธทุกสิ่งที่ไม่สมบูรณ์แบบ ‘ตามที่ตนเองคิด’ และเมื่อความคาดหวังไม่เป็นไปตามนั้น ก็จะเกิดความรู้สึกสงสัยในตัวเองและรู้สึกว่าตัวเองไม่ดีพอ
บางครั้งความดื้อรั้นอาจเป็นผลจากความปรารถนาเป็นอิสระ ซึ่งสำคัญสำหรับคนดื้อรั้น และเมื่อใดก็ตามที่คนอื่นรุกล้ำหรือยัดเยียดบางสิ่งให้ พวกเขาอาจรู้สึกว่าถูกคุกคามได้ นอกจากนี้ประสบการณ์ในวัยเด็กก็มีความสำคัญเช่นกัน เนื่องจากอาจเป็นสาเหตุของการพัฒนาลักษณะนิสัยดื้อรั้น เพราะหากความต้องการและความปรารถนาช่วงวัยเด็กถูกละเลยอยู่เสมอ อาจทำให้เด็กคนหนึ่งเติบโตกลายเป็นคนดื้อรั้น เพื่อ ‘ยืนยัน’ ความเป็นอิสระของตนเอง
ว่ากันตามตรง แท้จริงแล้วเราทุกคนต่างมีความดื้อรั้นไม่มากก็น้อย บางคนดื้อเฉพาะในสถานการณ์เลวร้ายที่ต้องปกป้องตัวเองหรือคนอื่นเท่านั้น กล่าวได้ว่า เป็นการดื้อรั้นเฉพาะเมื่อจำเป็น และไม่ได้ใช้ความดื้อรั้นของตนเองในเชิงลบ แต่ใช้ในลักษณะที่ทำให้ยืนหยัดได้
บางครั้งเราอยากยึดมั่นกับมุมมองของตัวเอง ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติ ไม่ว่าจะเพื่อปกป้องตัวเอง หรือแค่ชอบรู้สึกว่าตนเองถูกต้อง เพราะทุกคนต่างก็เคย ‘หัวแข็ง’ กันทั้งนั้น
แต่หากความดื้อรั้นนั้นกลับกลายเป็นสิ่งที่ทำให้ชีวิตของเราต้องพบกับความทุกข์มากกว่าสุข และในเมื่อเราต่างต้องเติบโตและเรียนรู้สิ่งต่างๆ เมื่อเวลาผ่านไป ก็อาจถึงเวลาต้องหันมาพิจารณาว่า แท้จริงแล้วความดื้อรั้นของเรามีไว้เพื่อสิ่งใดกันแน่
ที่มา:
– https://pittnews.com/article/185517/opinions/opinion-stubbornness-why-is-it-so-hard-to-overcome/
Tags: ความดื้อรั้น, Relationship, จิตวิทยา, ความสัมพันธ์, การเปลี่ยนแปลง, ความกลัว, Wisdom