“ลูกฉันแพ้ถั่ว ฝากแจ้งในครัวด้วยว่าห้ามใส่ถั่วเด็ดขาด”
หลังจบมัธยมปลาย ผู้เขียนเคยใช้เวลาประมาณ 6 เดือนก่อนเข้าเรียนมหาวิทยาลัยทำงานพาร์ตไทม์ที่ห้องอาหารของโรงแรม 4 ดาวใกล้ๆ บ้าน และตลอด 6 เดือนนั้น พนักงานในห้องอาหารได้ยินคำว่า ‘Nut Allergy’ จากแขกต่างชาติอยู่บ่อยๆ น่าจะบ่อยกว่าคำว่า ‘แพ้อาหารทะเล’ จากแขกชาวไทยเสียอีก ที่ผู้เขียนจำได้แม่น เพราะเมื่อไรก็ตามที่มีลูกค้าแจ้งว่าแพ้อาหาร ในครัวจะต้องวุ่นกับการเช็ดถูสเตชันทำอาหารใหม่และเปลี่ยนไปใช้ภาชนะกับอุปกรณ์ครัวอีกชุดที่ไม่ปนเปื้อน
คำว่า Nut Allergy หรือ ‘แพ้ถั่วเปลือกแข็ง’ ในที่นี้ ถ้าอธิบายให้เฉพาะเจาะจงลงไป ถั่วที่แพ้กันมากมักจะเป็นถั่วลิสง แต่ด้วยความที่ส่วนผสมประเภทถั่วเปลือกแข็งหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นอัลมอนด์ วอลนัต เม็ดมะม่วงหิมพานต์ ฯลฯ มักจะถูกนำเข้ากระบวนการภายในโรงงานเดียวกันทำให้เสี่ยงเกิดการปนเปื้อน คนที่มีอาการแพ้ถั่วจึงมักหลีกเลี่ยงถั่วเปลือกแข็งทั้งหมดไปเลยเพื่อความสบายใจ
คำแนะนำอย่างหนึ่งที่ผู้จัดการห้องอาหารให้ไว้คือ แขกที่แพ้ถั่วมักจะเป็นชาวอเมริกันหรืออังกฤษ น้อยมากที่จะเป็นชาวจีน อินเดีย หรือยุโรปชาติอื่นๆ ซึ่งนับว่าเป็นข้อสังเกตที่น่าสงสัย ถ้าแค่จีนกับอินเดียยังพอว่า เพราะชาติพันธุ์ต่างกัน แต่ชาวอเมริกันผิวขาวส่วนใหญ่ก็มักจะสืบเชื้อสายจากฝั่งยุโรปไม่ใช่หรือ แล้วจะมีแค่คนอเมริกันที่แพ้ถั่วได้อย่างไร
แต่วันดีคืนดี ผู้เขียนก็ได้เรียนรู้ว่า ผู้จัดการท่านนั้นน่าจะมีหูตาที่แหลมคมและประสบการณ์ทำงานที่โชกโชนมากทีเดียว
หากมีใครมาบอกคุณว่า โรคภูมิแพ้ถั่วที่พบบ่อยใน ‘ฝรั่งอเมริกัน’ เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจากน้ำมือมนุษย์ คุณจะเชื่อไหม
แต่นี่แหละ คือสาเหตุที่แม้ว่าประชากรอเมริกันว่า 60% จะเป็นอเมริกันเชื้อชาติยุโรป แต่กลับพบว่าชาวยุโรปมีอาการแพ้ถั่วเป็นโรคประจำตัวน้อยกว่าคนอเมริกัน แถมไม่ใช่แค่คนขาวเท่านั้นที่มักมีอาการแพ้
อันที่จริงไม่ว่าคุณจะมีเชื้อชาติอะไร แต่หากคุณเติบโตมาในสหรัฐฯ ในช่วงเวลา 30 ปีที่ผ่านมา คุณจะมีโอกาสแพ้ถั่วมากว่าคนที่เติบโตที่อื่นอย่างมีนัยสำคัญ ต่อให้ในประเทศภูมิลำเนาที่ปู่ย่าตายายคุณจากมา อาการแพ้ถั่วจะเป็นโรคภูมิแพ้ชนิดที่หายากมากก็ตาม
เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น
หากจะเข้าใจเรื่องนี้ให้ถ่องแท้ เราต้องย้อนเวลากลับไปในช่วงยุค 90s ที่เรียกได้ว่าเป็น ‘ยุคตื่นถั่ว’ แห่งแวดวงการแพทย์อเมริกัน
ยุคตื่นถั่วลิสง
เดิมทีชาวอเมริกันไม่ได้มีแนวโน้มจะแพ้ถั่วลิสงมากกว่าคนชนชาติอื่น โดยมีอัตราการแพ้ถั่วของประชากรอยู่ที่ 0.6% เท่านั้น กล่าวคือในประชากรทุกๆ 1,000 คน จะพบคนแพ้ถั่วลิสงแค่ 6 คนเท่านั้น แต่แล้วหลังผ่านพ้นยุค 90s เป็นต้นมา ตัวเลขดังกล่าวก็เริ่มทะยานสูงขึ้น 3 เท่า เป็น 2% กล่าวคือเราจะพบคนแพ้ถั่วลิสง 2 คนในประชากรทุก 100 คนนั่นเอง
สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ ก็เพราะตลอดยุค 90s มีการประโคมข่าวเด็กเล็กที่เสียชีวิตเพราะแพ้ถั่วจนดังครึกโครม ทำให้มีแพทย์ชาวอเมริกันหันมาเขียนและศึกษาประเด็นดังกล่าวมากขึ้น จนกระทั่งในปี 2000 ที่มีแพทย์หลายคนตั้งข้อสังเกตว่า อาการแพ้ที่พบรุนแรงขึ้นกว่าหลายปีก่อนหน้าอย่างมาก
สถาบันกุมารเวชศาสตร์แห่งอเมริกา (American Academy of Pediatrics: AAP) ต้องการที่จะรับมือกับสถานการณ์น่าเป็นห่วง ด้วยการให้คำแนะนำกับผู้ปกครองว่า มีวิธีใดบ้างที่พวกเขาสามารถใช้เป็นแนวทางในการปกป้องบุตรหลานให้ปลอดภัยอย่างไร
ปัญหาใหญ่คือทางสถาบันเองก็ไม่รู้วิธีรับมือเช่นกัน
แต่แทนที่จะยอมรับต่อสาธารณชนว่ายังไม่พบทางออกแน่ชัด พวกเขากลับออกประกาศคำแนะนำออกสู่สาธารณะโดยที่ยังไม่แน่ใจ เนื้อหาระบุว่า
“เด็กเล็กอายุตั้งแต่ 0-3 ปี หญิงตั้งครรภ์ และมารดาที่อยู่ในช่วงให้นมบุตร จะต้องหลีกเลี่ยงการบริโภคถั่วลิสง
“จำง่ายๆ แค่ 1-2-3 ซึ่งหมายถึง อายุ 1 ปีเริ่มกินนม อายุ 2 ปีเริ่มกินไข่ แล้วอายุ 3 ปีจึงค่อยลองถั่วลิสง
“แม่ที่รับประทานถั่วลิสงมีแนวโน้มจะคลอดลูกออกมามีอาการแพ้ถั่วลิสง”
กุมารแพทย์ที่เรียนจบมาหลายต่อหลายรุ่นนับจากนั้นยึดถือคำแนะนำนี้เป็นสรณะ และแน่นอนว่าคนทั่วไปในสังคมอเมริกันย่อมเชื่อฟังคำของแพทย์ แม้จะมีงานวิจัยหลายชิ้น รวมถึงรายงานในวารสาร British Medical Journal ที่บ่งชี้ว่า แนวปฏิบัตินี้ไม่ได้ช่วยลดความเสี่ยง
แต่ไม่ทันการแล้ว กว่าจะถึงตอนนั้นคำแนะนำจาก ‘ผู้เชี่ยวชาญ’ ก็ได้ถูกเผยแพร่ออกไปแล้ว
ยุคภูมิแพ้ถั่วระบาด
ยิ่งปล่อยเรื่องนี้คาราคาซังนานเท่าไร สถานการณ์ก็ยิ่งย่ำแย่ลง ในปี 2007 โรงเรียนหลายแห่งในรัฐเวอร์จิเนียแบนถั่วลิสงและกวาดล้างเมนูถั่วออกจากโรงอาหารอย่างเด็ดขาด และไม่กี่ปีหลังจากนั้น เขตโรงเรียนในรัฐมิซูรีก็รายงานตัวเลขทางสถิติว่า มีเด็กแพ้อาหารรุนแรงจำนวนมากขึ้นกว่า 6 ปีก่อนถึงเท่าตัว โดยอาการแพ้ทั้งหมดเกี่ยวข้องกับถั่วลิสง
และท้ายที่สุด ความซวยลำดับถัดมาคือเมื่อปี 2015 กิเดียน แล็ก (Gideon Lack) แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิแพ้และนักภูมิคุ้มกันวิทยา ดันค้นพบข้อพิสูจน์ที่ว่า จริงๆ แล้วการที่แม่และเด็กอายุ 0-3 ปีไม่แตะต้องผลิตภัณฑ์จากถั่วลิสงนั่นแหละ คือสาเหตุที่มีเด็กโตมาแพ้ถั่วลิสงเพิ่มขึ้นตลอด 20 ปีที่ผ่านมา
“การให้เด็กสัมผัสกับถั่วลิสงตั้งแต่แบเบาะ (ช่วงอายุประมาณ 4-11 เดือน) จะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดอาการแพ้ถั่วได้ถึง 86% เห็นผลทันทีที่เด็กอายุครบ 5 ปี เมื่อเทียบกับเด็กอีกกลุ่มที่พ่อแม่ปฏิบัติตามไกด์ไลน์ของสถาบันกุมารเวชศาสตร์แห่งอเมริกา” แล็กระบุ
งานวิจัยนี้เริ่มตั้งไข่ตั้งแต่ช่วงแรกๆ ที่สถาบันกุมารเวชศาสตร์แห่งอเมริกาเผยแพร่คำแนะนำออกมา โดยได้แรงบันดาลใจมาจากข้อสังเกตที่ว่า เด็กที่ไปเจาะร่างกายมักมีอาการแพ้เครื่องประดับนิกเกิล แต่เด็กที่จัดฟันมาตั้งแต่อายุน้อยมักจะไม่มีอาการแพ้ เพราะบางส่วนของเหล็กจัดฟันก็ทำมาจากนิกเกิลเช่นกัน
นอกจากนี้แล็กยังตั้งข้อสังเกตอีกว่า ในขณะที่เด็กชาวยิวในอังกฤษและอเมริกาเริ่มมีอาการแพ้ถั่วกันมากขึ้น เด็กชาวยิวในอิสราเอลกลับแทบไม่แพ้ถั่วเลย ตอนที่แล็กไปบรรยายที่อิสราเอล เขาถามกุมารแพทย์ชาวอิสราเอลกว่า 200 คนที่นั่งอยู่ในห้องเรียนว่า ใครเคยเจออาการแพ้ถั่วในเด็กบ้าง มีกุมารแพทย์เพียง 2 คนเท่านั้นที่ยกมือขึ้น จากนั้นเขาก็ได้ไปรู้ในภายในหลังว่า เด็กชาวอิสราเอลแทบทุกคนจะต้องเคยกินขนมถั่วบดสำหรับเด็กอ่อนที่เรียกว่า ‘แบมบา’ (Bamba)
นั่นหมายความว่า ในสังคมที่ทุกคน รวมถึงแม่และเด็กอ่อนกินถั่วลิสงเป็นปกติอย่างอิสราเอล ภูมิแพ้ถั่วลิสงจะเป็นโรคที่พบได้ยาก
แต่ในสังคมที่แม่และเด็กอ่อนไม่แตะต้องถั่วลิสงเลยอย่างสหรัฐฯ เราจะเริ่มพบภูมิแพ้ถั่วลิสงได้บ่อยขึ้นนั่นเอง
เมื่อคิดได้ดังนั้น แล็กจึงเริ่มทำการวิจัยในหัวข้อนี้ต่อเนื่องมาเป็นเวลายาวนานหลายสิบปีและค้นพบความจริงว่า ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา มีเด็กและเยาวชนเป็นล้านๆ คนที่ตกเป็นเหยื่อผู้ได้รับผลกระทบจากความหน้าบางและกระบวนการคิดแบบติดกลุ่มในแวดวงการแพทย์
อ้างอิง
Makary, M. (2024, March 14). How pediatricians created the peanut allergy epidemic. The Wall Street Journal. https://www.wsj.com/health/how-pediatricians-created-the-peanut-allergy-epidemic-952831c4
Makary, M. (2024). Blind Spots. HarperCollins.
Tags: Nut Allergy, Peanut Allergy, แพ้ถั่ว, การแพทย์, ภูมิแพ้, Wisdom